“ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย
ตราบใดที่ขั้วอำนาจเดิมยังแข็งแรงและฝังรากลึกในสังคมอย่างเป็นกลุ่มก้อน”

ประโยคนี้น่าจะสะท้อนฉากทัศน์ของการ ‘ยุบพรรค’ ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มการเมือง ‘อนาคตใหม่-ก้าวไกล’ ได้เป็นอย่างดี เพราะตลอดระยะเวลากว่า 6 ปี ที่ขั้วอำนาจใหม่ทางการเมืองเริ่มผงาด กลุ่มขั้วอำนาจเดิมที่เคยเกรียงไกรในทางการเมืองก็เริ่มถูกแย่งกระแสและความนิยมไป จนเกิดการขัดขาผ่านกระบวนการหลากหลายวิธีที่ทำให้ขั้วอำนาจใหม่นี้อ่อนกำลังลง

สำคัญไปกว่านั้นคือกระบวนการหลักที่เกิดขึ้นสำหรับกลุ่มการเมืองใหม่นี้คือการ ‘ยุบ’ เพื่อทำให้การเติบโตต่อมีปัญหา แต่อย่างไรก็ตามการโค่นต้นกล้าพันธุ์ใหม่เหล่านี้ทำให้ก็ส่งผลให้ต้นกล้าต้นใหม่จากหน่อกล้าเดียวกันยิ่งแผ่ขยายขจรไกลไปทั่วไทยมากขึ้น และน่าสนใจว่าในอนาคตกลุ่มผู้สนับสนุนต้นกล้าพันธุ์ใหม่ทางการเมืองนี้มากขึ้นอย่างไรบ้าง

วันนี้ SUM UP ขอพาคุณไปย้อนวันที่ ‘พรรคอนาคตใหม่’ ถูกยุบ ดูรายละเอียดการยุบพรรคในวันนั้นและวันนี้ เพื่อให้ภาพรวมของฉากทัศน์ ณ เวลานี้ของเกมการเมืองที่ ‘อนาคตใหม่-ก้าวไกล’ กำลังพบเจออยู่

ภาพโพสต์ปิดท้ายของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 บน Facebook Page ของพรรคอนาคตใหม่ – ภาพจาก อนาคตใหม่

ย้อนเหตุการณ์วันยุบพรรคอนาคตใหม่ 21 กุมภาพันธ์ 2563

ในช่วงเวลาเดียวกันของวันนั้นและวันนี้ 15.00 น. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลฯ อย่างนายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้นั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีที่ กกต. รับคำร้องจาก ‘นายศรีสุวรรณ จรรยา’ ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ จากการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

ข้อกล่าวหาของคดีที่นำมาซึ่งการยุบพรรคในวันนั้นสืบเนื่องมาจากการที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในเวลานั้น ให้พรรคกู้ยืมเงิน 191.2 ล้านบาท เพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งถือเป็นคดีที่ 2 ที่ถูกยื่นยุบพรรค หลังจากที่คดีแรกรอดจากการยุบด้วยกรณีการกระทำการเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากการถูกกล่าวหาว่ามีความเชื่อมโยงกับองค์กรลับ ‘อิลลูมินาติ (Illuminati)’ และมีการอ่านคำวินิจฉัยไปเมื่อ 21 มกราคมปีเดียวกัน

คดีกู้ยืมเงินของพรรคในครั้งนี้ถูกถือว่าเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดที่ต้องห้ามทางกฎหมาย ซึ่งเป็นรายรับทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากสัญญากู้เงินที่มีพฤติการณ์ช่วยเหลือพรรคเป็นพิเศษ ไม่เป็นไปตามวิสัยทัศน์ทางการค้าโดยทั่วไป และเข้าข่ายการรับบริจาตเงิน ทรัพย์สินตามมาตรา 66 จนนำมาสู่การยุบพรรคตามมาตรา 92 วรรคสอง

ในวันนั้นทางพรรคจัดแคมเปญ ‘ไม่ถอยไม่ทน รวมคนอนาคตใหม่’ ณ ที่ทำการพรรค ที่อาคารไทยซัมมิท ถ.เพชรบุรี เพื่อฟังคำวินิจฉันจากศาลรัฐธรรมนูญอยู่ที่นั่น หลังจากผลคำวินิจฉัยออกมา มวลชนที่ตามไปให้กำลังใจต่างเสียใจกับคำตัดสิน แต่เหล่ากรรมการบริหารพรรค และ สส. ต่างกล่าวว่าเหตุการณ์ในวันนั้น

“ประเทศไทยเลือกใช้นิติสงครามในการกำจัดศัตรูทางการเมืองแบบเดิมที่เคยทำมานานกว่าทศวรรษ และนิติสงครามเช่นนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ ตรงกันข้าม นิติสงครามแบบนี้จะตอกลิ่มความขัดแย้งมากกว่าเดิม” ปิยบุตรกล่าวในบางช่วงบางตอนของคำแถลงการณ์ในวันนั้น

นอกจากการยุบพรรคแล้ว คณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ทั้ง 16 คน ก็ยังถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี โดยห้ามลงสมัครเลือกตั้ง ห้ามไปเป็นกรรมการบริหารพรรคใหม่ และห้ามมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ตลอดระยะเวลาที่ถูกสั่งห้าม รายชื่อผู้ถูกตัดสิทธิ์ในครั้งนั้นประกอบไปด้วย

1. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ – หัวหน้าพรรค
2. กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ – รองหัวหน้าพรรค
3. ชำนาญ จันทร์เรือง – รองหัวหน้าพรรค
4. พล.ท. พงศกร รอดชมภู – รองหัวหน้าพรรค
5. รณวิต หล่อเลิศสุนทร – รองหัวหน้าพรรค
6. ปิยบุตร แสงกนกกุล – เลขาธิการพรรค
7. สุนทร บุญยอด – กรรมการบริหารพรรค
8. เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ – กรรมการบริหารพรรค
9. สุรชัย ศรีสารคาม – กรรมการบริหารพรรค
10. เจนวิทย์ ไกรสินธุ์ – กรรมการบริหารพรรค
11. ชัน ภักดีศรี – กรรมการบริหารพรรค
12. จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ – กรรมการบริหารพรรค
13. นิรามาน สุไลมาน – กรรมการบริหารพรรค
14. พรรณิการ์ วานิช – โฆษกพรรค
15. นิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ – เหรัญญิกพรรคฅ
16. ไกลก้อง ไวทยาการ – นายทะเบียนสมาชิกพรรค

ซึ่งหากนับเวลาดูแล้ว จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมาแล้วราว 4 ปี 3 เดือน เหลือเวลาอีกราว 5 ปี 7 เดือน พวกเขาทั้ง 16 คนก็จะพ้นจากข้อห้ามทางการเมืองนี้ต่อไป

สู่วันยุบพรรคก้าวไกล 7 สิงหาคม 2567

มาถึงวันนี้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดดูคล้ายคลึงกัน พรรคก้าวไกลถูกคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นำโดยนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้นัดแถลงด้วยวาจา จากคำร้องที่ กกต. มีมติเอกฉันท์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคก้าวไกล จากกรณีที่พรรคได้หาเสียงด้วยนโยบายเกี่ยวกับการเสนอพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

และศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากคำร้องนั้นมีหลักฐานที่ควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 92 วรรค 1 และ 2 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 

รวมถึงมีการตัดสิทธิ์คณะกรรมการบริหารพรรค 11 คน เป็นเวลา 10 ปี โดยห้ามลงสมัครเลือกตั้ง ห้ามไปเป็นกรรมการบริหารพรรคใหม่ และห้ามมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ตลอดระยะเวลาที่ถูกสั่งห้ามด้วยเช่นกัน เหมือนกับที่คณะกรรมการบริหารอดีตพรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสิน ซึ่งรายชื่อผู้ถูกตัดสิทธิ์ในครั้งนี้ประกอบไปด้วย

1. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ – ประธานที่ปรึกษาพรรค
2. ชัยธวัช ตุลาธน – หัวหน้าพรรค
3. ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ – เหรัญญิกพรรค
4. ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตรตระกูล – นายทะเบียนสมาชิกพรรค
5. ปดิพัทธ์ สันติภาดา – อดีตกรรมการบริหารพรรค
6. สมชาย ฝั่งชลจิตร – กรรมการบริหารพรรค
7. อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล – กรรมการบริหารพรรค
8. เบญจา แสงจันทร์ – กรรมการบริหารพรรค
9. อภิชาติ ศิริสุนทร – กรรมการบริหารพรรค
10. สุเทพ อู่อ้น – กรรมการบริหารพรรค
11. อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ – กรรมการบริหารพรรค

และสำหรับผลสืบเนื่องจากคดีนี้ ทำให้ สส.ก้าวไกลต้องหาพรรคสังกัดใหม่ในกรอบเวลา 60 วัน, ห้ามใช้ชื่อ และโลโก้ของพรรคก้าวไกลอีกต่อไป, ห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคก้าวไกล, ไม่มีการเลื่อนลำดับ สส.บัญชีรายชื่อแต่อย่างใด, ‘สำหรับ สส. เขต 1 ประจำจังหวัดพิษณุโลกอย่าง ‘ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ ที่โดนตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปด้วย จะมีการเลือกตั้งซ่อมใหม่ในพื้นที่นั้น รวมถึงในตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ปดิพัทธ์ถูกให้ออกจากตำแหน่ง จะมีการเลือกรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ใหม่ในอีกไม่นานนี้

แม้จะเป็นเวลากว่า 4 ปี นับตั้งแต่การยุบพรรค ‘อนาคตใหม่’ ในวันนั้น สู่วันที่พรรค ‘ก้าวไกล’ ถูกยุบลงในวันนี้ ก็ยิ่งทำให้เราเห็นว่าเกมการเมืองดูจะดุเดือดเชือดนิ่มพอสมควร ไม่ว่าความหวังของผู้คนจะมีมากแค่ไหนก็ยังคงแพ้อำนาจที่แข็งแรงอยู่เสมอ

ที่มา

CREATED BY

Content Creator

พนักงานมือใหม่ที่สนุกกับการหาเรื่องมาเล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบตายตัว มีแต่สิ่งที่ชอบแล้ว และกำลังหาสิ่งใหม่ที่ชอบต่อไป