ในชีวิตการสัมภาษณ์ของผมร่วมๆ 4-5 ปีมานี้ ผมมักจะเจอหลากหลายบุคคล บ้างก็สนุกสนาน บ้างก็ยังเขินอายกับการออกสื่อครั้งแรกๆ ของเขา บ้างก็คร่ำวอดกับประสบการณ์มากเหลือเกิน จนทำให้เราได้เรียนรู้การดำเนินชีวิต แต่เมื่อ 1 ปีที่แล้ว สมัยที่ผมทำสื่อของตนเองในนาม The Track จู่ๆ ผมก็ได้รับสายจากรุ่นพี่ที่ได้รู้จัก หลังจากที่ผมสัมภาษณ์ศิลปินอีกคนเสร็จและรอถ่ายรูปอยู่ว่า
“ปังปอนด์ มีคิวพิเศษ พี่เพิ่งหาให้ได้ด่วนๆ เลย สนใจไหม”
“วันไหนนะครับพี่ พอดีตอนนี้ผมอยู่ตึกแกรมมี่”
“วันนี้ อีก 2 ชั่วโมง”
“ห่ะ! วงอะไรนะพี่”
“getsunova สนใจมะ ชั้น 21 นะ ขึ้นลิฟต์มาๆ”
ผมครุ่นคิดสักครู่ว่าจะเอาไงดีว่ะ คำถามกูก็ไม่ได้เตรียม ตายห่าละ แต่คิดไปได้สองวินาที ก็นึกได้ว่าผมยังไม่เคยสัมภาษณ์เค้าเลยนี่หว่า ฟังแต่เพลงเค้าอย่างเดียว อ่ะ ก็ได้ว่ะ ลองดูสักตั้ง ผมก็เลยตอบตกลงว่าจะสัมภาษณ์ และได้เดินทางไปที่ชั้น 21 เพื่อสัมภาษณ์ getsunova จริงๆ ซึ่งตอนนั้นเขากำลังออกเพลง “ทำดีเป็นพิธี (Ceremony)” อยู่ในขณะนั้น
บรรยากาศการสัมภาษณ์ที่ผมกังวลมากๆ เนื่องจากไม่ได้มีลิสต์คำถามคร่าวๆ เลย กลับออกมาดีมากๆ เป็นการคุยที่ไม่ใช่การสัมภาษณ์ เหมือนมาคุยกับพี่ๆ แบบตัวต่อตัว เราคุยกันไปเรื่อยมากๆ และในขณะนั้นในห้องยังมี MONICA (วีดา ปุณณะหิตานนท์) ศิลปินรุ่นน้องอีกด้วย เราจบแบบหัวเราะ และกลับบ้านอย่างมีความสุข
และผมไม่นึกมาก่อนว่าในอีก 1 ปีถัดมา เขาก็มีชื่อเพลงจากการสัมภาษณ์ของผมในชื่อเพลง “ไม่ต้องมีที่ที่ให้ฉันอยู่ แต่ขอแค่มีฉันอยู่ก็พอ (Spaceless)” ซึ่งหลังจากนั้นผมก็ได้มีโอกาสกลับมาทำงานที่ตึกแกรมมี่อีกครั้งในฐานะพนักงานประจำ และก็ได้สัมภาษณ์เค้าอีกครั้งในรายการ “ขอใส่ใจ” อีกด้วย แต่ครั้งนี้พิเศษ เพราะบรรยากาศกลับเป็นการที่เขาสัมภาษณ์เราเสียมากกว่า (หัวเราะ)
บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เลยถือโอกาสนำบทสัมภาษณ์การเติบโตจาก 1 ปีของ getsunova ระหว่างตอนที่ให้สัมภาษณ์ผ่านทาง The Track ซึ่งปัจจุบันเว็บไซต์ได้ปิดตัวไปแล้ว และในปัจจุบันที่สัมภาษณ์ผ่านรายการ “ขอใส่ใจ” ผ่านทาง SUM UP ทั้งสองบทสัมภาษณ์นี้ที่ทำให้เกิดเพลง “ไม่ต้องมีที่ที่ให้ฉันอยู่ แต่ขอแค่มีฉันอยู่ก็พอ (Spaceless)” ที่กำลังเป็นกระแสอยู่เลยก็ว่าได้
และแน่นอนว่าวันนี้พวกเขามากันครบทั้งวง ไม่ว่าจะเป็น เนม-ปราการ ไรวา (นักร้องนำ), นาฑี โอสถานุเคราะห์ (กีตาร์), นต-ปณต คุณประเสริฐ (กีตาร์ และซินธิไซเซอร์) และไปร์ท-คมฆเดช แสงวัฒนาโรจน์ (กลอง) โดยในบทสัมภาษณ์นี้พี่เนมและพี่นตรับเป็นตัวแทนหลักอย่างเป็นทางการในการพูดคุย มาลองเปิดอีกมุมมองของพวกเขากันครับ
ที่มาของเพลง “ไม่ต้องมีที่ที่ให้ฉันอยู่ แต่ขอแค่มีฉันอยู่ก็พอ (Spaceless)”
เนม : เพลงชื่อว่า “ไม่ต้องมีที่ที่ให้ฉันอยู่ แต่ขอแค่มีฉันอยู่ก็พอ (Spaceless)” ก็เป็นประโยคที่พูดตอนที่เมื่อปีที่แล้ว (2566) ที่เราสัมภาษณ์กัน ที่เราเป็นการตอบคําถามคําถามนึง เป็นคําถามว่า getsunova จะอยู่ในจุดไหนของวงการเพลงไทย เราก็เลยบอกว่าเออแบบเราอ่ะไม่ต้องเราไม่ต้องอะไรนะ
นต : ไม่ต้องมีที่เราอยู่ก็ได้ แต่ขอแค่มีเราอยู่ก็พอ ตอนนั้นในห้องสัมภาษณ์ก็รู้สึกทุกคนมองตากันแล้วแบบ เฮ้ย! นี่มันเป็นชื่อเพลง Getsunova ได้นี่หว่า (หัวเราะ) เราก็เหมือนเชียร์กันว่า เอ้ยต้องเอาไปเขียนนะ แล้วเหมือนก็เหมือนนั่งแซวเล่นกันด้วยว่ามันต้องเป็นเนี่ยเรื่องราวเกี่ยวกับคนแบบแอบรักเขา แต่เราไม่สามารถไปแบบเป็นแฟนเขาได้ เราไม่ได้เป็นสถานะอะไรกับเขาได้ แต่ก็แบบขอแค่เราอยู่ มันนั่งคุยเล่นกัน ณ วันนั้น แล้วไม่ถึงปีให้หลังก็เกิดมาเป็นเพลงนี้ขึ้นมา
เรื่องราวที่ซ่อนอยู่ของเพลง “ไม่ต้องมีที่ที่ให้ฉันอยู่ แต่ขอแค่มีฉันอยู่ก็พอ (Spaceless)”
นต : เพลงนี้มันก็จะพูดถึงว่าคนที่กําลังรักหรือชอบใครสักคนอยู่ โดยที่เราไม่สามารถไปเป็นเจ้าของเค้าได้ เราก็พูดกับเขาตรงๆ ว่าเราไม่ได้ต้องการสถานะความเป็นเจ้าของ เราไม่ได้จะต้องการไปมีอะไรมากกว่านี้แล้ว ขอแค่ได้รักเธอ แล้วอย่างน้อยให้เขารู้ว่าเราได้อยู่ตรงนี้ คอย Support เขาอยู่ไกล ๆ ก็พอ ก็เลยเป็นเนื้อหาให้เราได้ตีความออกมาว่าเหมือนจะเศร้า แต่จริง ๆ ก็เป็นคนที่เข้าใจในตัวเอง แล้วก็มีความเข้าใจที่จะใช้ชีวิตต่อกับความรักที่เขาได้เลือกแล้ว
จุดเริ่มต้นการรวมตัวมาทำเพลงคืออะไร
เนม : ก็คงเป็นเหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่อยากจะมีวงดนตรีเป็นของตัวเอง คือตัวเนมเองเป็นคนชอบฟังเพลงแล้วก็ไปดูนักดนตรี ไปดูหลายๆ วงทำการแสดงบนเวที เราก็เลยอยากขึ้นเวทีทำการแสดง อยากจะมีเพลงเป็นของตัวเอง แล้วก็อยากมีวงเป็นของตนเอง ไปทัวร์ทำการแสดงในที่ต่างๆ ก็เลยเชิญชวนกันมาอยู่ในวง ตอนนั้นก็ยังเรียนกันอยู่เมืองนอก แต่ละคนก็อยู่คนละพื้นที่ แล้วก็การทำเพลงช่วงนั้นก็ไม่ได้ง่ายดายเหมือนทุกวันนี้ ก็ส่งไฟล์ก็ไม่รวดเร็วเหมือนทุกวันนี้ที่มีอินเตอร์เน็ต ฉะนั้นมันก็ทำให้เกิดการล่าช้ากัน ซึ่งปิดเทอมก็จะมาทำเพลงด้วยกัน แล้วก็มีโอกาสไปเล่นตามปาร์ตี้บ้านเพื่อนจนมีโอกาสได้มาคุยกับ ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้บริหารของสนามหลวงมิวสิค ก็เลยได้ปล่อยเพลงและได้ทำอัลบั้มกับสนามหลวง ตอนนั้นมีเพลงที่อาจจะรู้จักก็คือเพลง เศษส่วน แล้วพวกเราก็ลงมาลุยจริงจังหลีงเรียนจบที่ต่างประเทศ ผ่านไป 2 ปีถึงจะได้มามีเพลง ไกลแค่ไหนคือใกล้ ซึ่งตอนนั้น 100 ล้านวิว ปีนี้ (2567) ก็ครบรอบ 11 ปีของเพลงนี้พอดี หลังจากเพลงนั้นก็เลยได้ทำงานอยู่ในวงการเพลงมาตลอดเวลาหลังจากนั้น
ทำไมชื่อเพลงต้องย้อนแย้งด้วย
นต : คือพี่เนมเขาเป็นคนค่อนข้างจะย้อนแย้งในตัวเองค่อนข้างบ่อย เราเลยหยิบนิสัยของพี่เนมนั้นเข้ามาเขียนในเพลง (หัวเราะ) แต่จริง ๆ แล้วผมว่า มันเริ่มแรกก็คือทดลองแล้วแหละ ก็จากเพลง ไกลแค่ไหนคือใกล้ ซึ่งช่วงนั้นก็ได้มาจากพวกหนังสือที่เป็นกลอนคําเท่ ๆ ที่เขาชอบเขียนหนังสือ แล้วมันก็เวิร์ค เสร็จแล้วก็ลองมาเรื่อย ๆ แต่พอพักหลัง ๆ มันก็ไม่ใช่แค่เพลงของเราแหละ หลัง ๆ เริ่มมีไปอยู่ในชื่อเพลงหลาย ๆ คนแล้ว เราก็รู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่เจ๋งดีว่าวันนึงเราเห็นว่าไม่ใช่แค่วงเราที่ใช้ หลาย ๆ วงเค้าก็ใช้เหมือนกัน แต่ก็คงจะหนีไม่พ้นว่าเวลามันเกิดชื่อเพลงนี้ขึ้นมา คนมักจะแบบยิงมาหาเรา แบบนี่ getsunova หรือเปล่า ก็ขอบคุณทุก ๆ คนที่นึกถึง เพราะเหมือนไปร์ทก็พูดไปนะว่า มันเหมือนแบบว่าเป็นความชัดเจนของวงอะไรบางอย่าง
ไปร์ท : จริง ๆ ผมรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ผมมองว่าการเป็นศิลปิน คําว่าเอกลักษณ์สําคัญมาก มันทําให้คนจดจําคุณได้ ซึ่งแบบเราโชคดีมาก ๆ ด้วยเหมือนกันที่เรามีเอกลักษณ์ที่คนจําได้กันจนทุกวันนี้ครับ
กว่าจะมาเป็นแต่ละเพลงของ getsunova ใช้เวลานานเท่าไหร่
เนม : จริงๆ การแต่งเพลงของวงเรากว่าจะได้หนึ่งเพลงใช้เวลาค่อนข้างนาน เราไม่ใช่วงที่แบบแต่งเพลงได้อย่างรวดเร็ว แบบที่แต่งเสร็จเข้าห้องอัดทันที ส่วนใหญ่วงเราจะมีกระบวนการทำเพลงที่ค่อนข้างนาน ซึ่งแต่ละเพลงจุดเริ่มต้นของมันก็คือการได้คอนเทนต์หรือหัวข้อเพลงมาก่อนว่าเพลงนี้จะใช้ชื่อว่าอะไร พอได้ชื่อเพลงแล้วก็จะมาหาวิธีการเล่าและเรื่องที่จะเล่า และนำไปสู่การพัฒนาต่อว่าจะไปในทิศทางไหน แล้วก็จะได้หนึ่งเพลง
ใช้แรงบันดาลใจในการแต่งแต่ละเพลงนานแค่ไหน
นต : น่าจะประมาณ 3-4 เดือนที่กว่าจะเสร็จสิ้น ซึ่งกระบวนการก็คือพอหลังจากได้ Demo มาแล้วก็ค่อย ๆ ขยี้คิดไอเดีย แล้วก็ทำ Master กัน แต่จะทำไม่นานไปกว่า 4 เดือน ถ้านานกว่านั้นก็จะเริ่มขี้เกียจและจะเบื่อ
แต่งเพลงยากขึ้นไหมในวันที่ศิลปินมีมากขึ้น
นต : ทํางานง่ายขึ้นนะ เพราะว่าเมื่อก่อน 1 เพลง ช่องทางส่งออกจริงๆ มันมีขีดจำกัดไง เพราะฉะนั้นการจะแต่งเพลงเพื่อให้มันผ่านออกมาได้ไปวางอยู่บนเชลฟ์มันเลยยาก เพราะว่าหนึ่งเดือนเค้าจะมีวางแค่กี่อัลบั้มเอง มันก็จะแต่งยาก แต่ว่าทุกวันนี้ อยากจะแต่งเพลงเหรอ ทุกคนมีช่องตัวเอง เพราะฉะนั้นการที่เราแต่งเพลงขึ้นมาได้เรื่อย ๆ มันก็มีโอกาสที่จะได้ปล่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมว่าอันนี้มันเป็นข้อดีของนักแต่งเพลง หรือคนที่กําลังพยายามฝึกหัดอยู่ ก็ไม่ได้จะต้องไปหาค่ายเพลงเท่านั้น หรือไปหาศิลปินที่โด่งดังเท่านั้น เพื่อที่จะให้เพลงคุณมีที่ยืนในสังคมของวงการ แต่ว่าเราสามารถเอาไปปล่อยเอง หรือไปเจอเพื่อนแล้วให้เพื่อนช่วยร้อง ปล่อยเรื่องราวเหล่านี้ มันเกิดขึ้นง่ายขึ้น
มีช่วงไหนที่คนในวงเข้าใจไม่ตรงกันบ้างไหม
นต : มันก็คงมีอยู่แล้วเรื่อย ๆ แต่ผมว่าคงไม่ถึงกับขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งกัน มันจะไม่ถึงขนาดนั้น ผมว่ามันมีการแชร์กันว่าในมุมใครเป็นยังไง? ผมว่ามันจะเป็นฟีลนั้นมากกว่า แต่ด้วยความที่วงเรามันเป็นวงแบบอยู่กันง่าย ๆ ส่วนใหญ่ก็คุยกันได้ วงเราไม่ค่อยมีแบบ “มึงต้องทำแบบนี้” เลยซะทีเดียว คือถ้าคนหนึ่งร้อนขึ้นมา อีกสามคนก็ต้องใจเย็น คือการที่จะไปเข้าไปคุยในจังหวะที่เขาร้อนอยู่ ส่วนใหญ่มันจะไม่ค่อยคุย ก็คือรู้ว่าคนนี้เดือดอยู่ก็ปล่อยให้เขาหายเดือดไง แล้วเราก็จะไม่เข้าไปถามว่าโอเคเปล่า? ให้เขาอารมณ์เย็นลงเอง แล้วก็ไม่ค่อยวกกลับไปประเด็นเดิม จบไปเลย
แบ่งหน้าที่การทำงานกันอย่างไรบ้าง
เนม : ก็แบ่งให้เขา (นต) ทําเลยคนเดียว แบ่งชัดมากเลยไม่ต้องแบ่ง คนเดียวเลย (หัวเราะ)
นต : ผมก็จะเริ่มมาคนเดียวก่อน เสร็จแล้วค่อย ๆ มาโยนให้พี่เนมได้มาลองร้องว่าเข้าปากมั้ย ซึ่งมันก็จะมีกลุ่มเพลงที่มาแล้วไม่รอดไง ไม่ชอบ เราก็เข้าใจกัน เคารพกัน หรือว่าร้องเสร็จแล้วให้ไปร์ทฟังและมาตีกลอง นาฑีนี้น่าจะโอเคหมดทุกอย่าง ก็สนุกดี ผมว่ามันก็คงจะเกี่ยว ว่าทําไมถึงได้แบบไม่ทะเลาะกัน ก็เนื่องด้วยว่ามันเรียกว่าแบ่งงานกันชัดเจนเรียบร้อยแล้ว
วันนี้เติบโตจากวันแรกอย่างไรบ้าง
นต : มากครับ มากแค่ไหน ก็มากจนจะมีลูกคนที่สองและมีภรรยากันหมดแล้วดีกว่า (หัวเราะ)
เนม : แต่ถ้าในในแง่การทำงานผมว่าพวกเราก็โตขึ้นเยอะนะ ตอนเมื่อก่อนก็จะเป็นมีความเป็นเด็กไฟแรง อยากใช้ไฟในตัวเอง แต่ว่าไฟก็ค่อนข้างจะไหม้ตัวเองค่อนข้างบ่อย ตอนนี้ผมว่ามันก็เป็นช่วงเวลาที่ไฟนั้นเย็นลง ควบคุมสติสตางค์ได้แล้ว
มีช่วงที่หมดไฟจนไม่อยากทำเพลงกันบ้างไหม
นต : มีตลอด ผมว่าบางทีมันก็ไม่ใช่แค่ทำเพลงด้วย ไปทัวร์เยอะ เราเล่นกันมาต่อยาวไม่รู้ กี่สิบงาน เดือนนึงไม่ค่อยได้กลับบ้าน ก็มีช่วงที่อยากพัก อยากไปเที่ยว อยากมีชีวิตส่วนตัว อยากเจอเพื่อน เราก็ไปเที่ยวเลย จัดวันให้ไป แต่คือเหนื่อยนี่แหละ แล้วการที่มันต้องทำอะไรซ้ำ ๆ ร้องเพลงเดิม ๆ ไม่ได้กลับบ้าน ไม่ได้เจอครอบครัว มันก็มีบ่นกันตามประสา แต่ว่าพอทุกวันนี้พอมันเปลี่ยนความคิดพวกนั้นได้ กลับกลายเป็นว่าการที่เราได้ไปร้องเพลงมันคือการที่เราได้ปลดปล่อย เป็นตัวของตัวเองในอีกช่วงเวลาหนึ่ง แล้วก็การที่เราได้เห็นคนดูมีความสุขหรือมีความสนุกกับเพลงที่เราร้องให้เขาฟัง แล้วได้เห็นสีหน้าคนดูมันก็เป็น เป็นอะไรที่ทำให้เราหายเหนื่อย แล้วก็มันก็เป็นคุณค่าทางจิตใจ แล้วก็เป็นเป็นรางวัลชีวิตเหมือนกัน ซึ่งเราก็รู้สึกโชคดีที่ยังได้ทำตรงนี้อยู่
ไปทัวร์คอนเสิร์ตที่ประเทศไทนแล้วประทับใจที่สุด
เนม : อังกฤษก็ประทับใจ เพราะว่าส่วนตัวเคยเรียนและเติบโตที่นั่นมา แล้วเหมือนกับการได้ไปเล่นคอนเสิร์ตที่นั่นก็เป็น Achievement อันหนึ่งที่รู้สึกดี
นต : ของผมมีญี่ปุ่นเนี่ยแหละ เพราะว่ามันมีรอบหนึ่งที่เราไปก่อนโควิด-19 เราไปแล้วทัวร์ทีเดียว 3 จังหวัด แล้วก็อันนี้คือพวกเราจัดกันเองไง คือเวลาเราไปทัวร์ก็จะมีเจ้าภาพ เขาก็จะไปถึงปุ๊บมีรถมารับ โรงแรมอะไรจองให้ แต่รอบนี้มันคือเราจัดการเองหมดเลย ผมนั่งกด Agoda ตัวเอง แล้วก็นับกันว่าไปกันสิบกว่าคน มันจะเดินจากโรงแรมนี้ไปที่ร้านเล่นใกล้แค่ไหน โอ้โห (เสียงลากยาว) แล้วทรหดมากเพราะไป 3 จังหวัด แล้วเดี๋ยวก็คนหนึ่งตื่นสาย คนหนึ่งลืมมือถือบนแท็กซี่ จบตัวกูจะบ้าตาย (หัวเราะ) แล้วเราก็จำได้ว่าพี่เนมก็เดินมาตบหลังหลังจากเสร็จไป 3 เมืองว่า “สนุกดีเนาะ” แบบเราไม่ไหวแล้ว ก็จะเชียร์ให้ทำปีหน้าอีก
แฟนคลับในต่างประเทศ ต่างจากแฟนคลับคนไทยมากน้อยแค่ไหน
เนม : จริง ๆ ในงานที่เราไปแน่นอนว่าส่วนใหญ่ก็เป็นคนไทย แต่ว่าที่ญี่ปุ่นมันจะมีคนญี่ปุ่น และคนไทยผสมกัน แล้วก็คนที่มาฟังเพลงที่เป็นคนญี่ปุ่นก็จะน่ารักมาก คือเขาก็คงฟังเพลงเรามาแล้วแต่เขาร้องไม่ได้ใช่ไหม? เขาก็จะเหมือนปรินต์เนื้อเพลงเป็นภาษาคาราโอเกะแล้วก็ร้องตามเลย น่ารัก คนญี่ปุ่นสนุกอยู่แล้ว เพราะเขาโอเคกับเรา เขาพร้อมที่จะรับ แล้วเขาพร้อมที่จะสนุกกับศิลปินที่ไปอยู่แล้ว
ช่วยเล่าเรื่องที่ได้มีโอกาสไปเล่น Summer Sonic หน่อย
เนม : ตอนปี 2014 ที่ไปเล่น แล้วด้วยความที่วงชอบไปเที่ยวเทศกาลนี้กันอยู่แล้ว การที่ได้ขึ้นเล่นเวทีระดับโลก ถึงแม้ว่าจะเป็นเวทีที่เล็กที่สุดในงานก็ตาม แต่ก็เป็นความรู้สึกที่ดี เพราะว่าอย่างน้อยเวทีเรามันอยู่เป็นทางผ่านระหว่างการที่จะเดินไปถึงเวทีใหญ่ เพราะฉะนั้นอย่างน้อยคนที่ไปที่นั่นก็ต้องผ่านเราอยู่ดี เราเล่นแบบดี ๆ มันก็เป็นตัวแทนประเทศไทยได้ไป ก็สุดยอดอยู่แล้ว เป็น อีกหนึ่ง achievement ที่แบบภูมิใจ
นต : แค่มีชื่อวงอยู่ติดกับชื่อวง Arctic Monkeys แค่นั้น อยู่เสื้อยืดเดียวกันแล้ว โคตรเท่อย่างงี้
ไปร์ท : ห่างกันอย่างนี้เลยนะ
นต : นาฑีซื้อเสื้อมา 10 กว่าตัว ไม่รวมกับของที่เค้าให้มาปีนั้นด้วย บอกเลยวันนั้นขนเสื้อกลับอย่างเยอะมาก
ไปร์ท : ผมยังเอาป้ายชื่อ getsunova ที่ติดอยู่ห้องพักเอากลับบ้านอยู่เลย ก็มันมีชื่อ Summer Sonic อยู่ด้วย จากคนที่ไปเสพทุกปี ไปดูทุกปี แล้ววันนึงได้มาเล่น มันรู้สึกสุดยอดมากเลย
นต : คือต้องเกริ่นว่า เราไปดูกันแบบทุกปี แบบเกือบทุกปีจริง ๆ ก่อนที่จะมีเพลงที่เราเป็นที่รู้จักด้วยซ้ําไป คือมันเหมือนเป็นแรงบันดาลใจคอยส่งให้เราอยากทําเพลง เพราะว่าไปดู Summer Sonic แล้ววันนึงได้ขึ้นไปเล่น แล้วมันก็พีกมาก ๆ แล้วก็เลยเป็นที่มาว่าทําไม 10 ปีผ่านมา เขาจะมาจัดที่เมืองไทย คือเราขอแค่ได้ส่งรายชื่อไปให้อยู่บน Set-list ให้ได้ มันก็เป็นอะไรที่พวกเราดีใจ แล้วอินมาก ๆ แล้ว
เคยมีโอกาสไปร้องเพลงตัวเองในร้านคาราโอเกะไหม
เนม : ต้องมีคนขอร้องให้ร้องเพลง แบบต้องตื๊อนานเหมือนกันกว่าจะยอมร้องเพลงตัวเองในคาราโอเกะ คือก็มันร้องเพลงตัวเองทุกวันอยู่แล้ว มันตลก (หัวเราะ) มันไปร้องเพลงตัวเองในคาราโอเกะนึกออกปะ มันก็ต้องอยากร้องเพลงคนอื่นดิ เรามาคาราโอเกะเราก็ต้องแบบอยากร้องเพลงร้องเพลงคนนั้นคนนี้ แต่เอาจริงๆ อยู่ที่ความเมา ซึ่งปกติถ้าร้องเพลงคนอื่นที่ชอบๆ ก็จะมี ทุกสิ่ง-พรู อันนี้ร้องประจำ ถ้าเขาเก็บลิขสิทธิ์ก็น่าจะโดนเยอะที่สุด (หัวเราะ) ถึงได้ร้องทุกงานเลยครับ
แล้วเวลาเราได้คาราโอเกะนี่ตั้งใจมากหรือว่าแบบปลดปล่อยเต็มที่เลย
เนม : ก็ร้องให้ไม่เขินว่าว่าทําไมนักร้องร้องไม่ดี คือถ้าร้องแบบไม่ตั้งใจ ผมก็จะอาจจะโดนด่า แต่ก็ร้อง แบบร้องให้มันโอเคหน่อย
นต : อย่างผมจะไม่ค่อยร้อง แล้วก็ยิ่งแบบเวลาเขามี Live Band มาแล้วก็ชวนเล่น ผมจะเป็นคนที่ไม่อยากเล่นที่สุดเลย เพราะเราเป็นมือกีตาร์ด้วยมั้ง เพราะเราจะเห็นว่าเวลาในวง วง Live Band หรือวงเหล้าคนเมานะ ก็จะร้องเพลงสักสองสามประโยค แล้วมันก็จะเปลี่ยนเพลงแล้ว เราก็เพิ่งจำของได้แป๊บหนึ่ง เปลี่ยนเพลงไปอีกคนหนึ่งวิ่งมาแล้วเปลี่ยนเพลงแล้ว ผมก็เลยคิดว่าถ้าเจอแบบนี้จะหนีก่อน แค่งานปกติก็ยากแล้ว อันนี้งานเอาใจคนเมา
เนม : แต่อาจจะกลับกันถ้าเป็นงานอย่างนี้ เนมชอบร้อง เพราะว่ามันก็เป็นฟีลปาร์ตี้สนุกสนาน อยู่กับเพื่อนก็ร้องแบบไม่ต้องสนใจใคร แล้วก็มีคนเล่นกีตาร์ให้ อยากเล่นเพลงอะไรเขาก็เปิดให้
มีเพลงไหนที่คนในวงไม่ชอบ แต่ปล่อยออกมาแล้วดังบ้างไหม
เนม : ถ้าจะมีใครไม่ชอบคนแรกก็คือผม เพราะต้องร้องก่อนที่จะไปให้เพื่อนอีกสองคนฟัง ก็จะบอกเพลงนี้เฉย ๆ ถ้าเพลงไหนไม่ชมเยอะก็รู้แล้วว่าเพลงนั้นจะไม่ประทับใจ
นต : ถ้าผมจำได้แม่น ๆ ตอนนั้นมันจะมีเพลง ความเงียบดังที่สุด ใช่ไหม? กับ ดวงจันทร์กลางวัน ออกมาใกล้ ๆ กัน ตอนนั้นก็จะสัมผัสได้ว่าถ้าพูดถึงว่าตอนนี้กําลังทำเพลงดวงจันทร์กลางวันอยู่ พี่เนมจะถามว่าถึงไหนและเป็นยังไง แต่ถ้าถามเรื่องเพลงความเงียบดังที่สุดเนมก็จะบอกว่า “แล้วแต่มึง” ก็พอออกมากลายเป็นเพลงความเงียบดังที่สุดมามากกว่า
เนม : ตอนนั้นต้องต้องฝืนร้องอยู่ตอนแรกๆ ก่อนจะชิน จะรู้สึกได้ว่าจิกเท้าอยู่ (หัวเราะ) แต่พอมีเวลาโชว์ก็จะพบว่าถ้าแบบมีคนขอเพลงนี้มา มันก็จะมีความรู้สึกว่าเราก็ไม่ได้อยากร้องขนาดนั้นนะ เพลงนี้แหละว่าจะร้องก็ร้องๆ กันไป แต่ถ้าเลือกได้ก็ไม่ร้องเพลงนี้นะ แล้วเวลาคนอยากฟังแล้วเรา แล้วพอเราร้องเพลงขึ้นมาก็โอเค เพราะคนมันก็ร้องตามมันก็ทำให้อารมณ์เราดีขึ้น
ทำงานกันมา 17 ปี เบื่อหน้ากันบ้างไหม
เนม : มันไม่ใช่ความเบื่อแต่มันคือความปลง (หัวเราะ) คือบางทีเจอกันมันไม่ต้องพูดอะไรกันแล้ว แต่มันก็อยากดีอย่างหนึ่งเพราะว่ามันจะมีเรื่องคุยกันโดยที่เราไม่ต้องสร้างสถานการณ์ แบบอยู่ดีๆ มันก็จะมีเรื่องนี้เรื่องนั้นคุยกันไปเองโดยธรรมชาติของมัน
มีวิธีการบริหารทีมยังไงให้อยู่มาได้ 17 ปี
เนม : ก็เหมือนเราโตกันเป็นพี่น้องกันมา 17 ปี มันก็เหมือนเป็นอีกครอบครัวหนึ่งที่มันก็เหมือนเข้าใจ แต่ละคนบุคลิกเป็นยังไง แต่ละคนต้องชอบหรือไม่ชอบอะไร มันเหมือนไม่ต้องเดาใจอะไรกันแล้ว เพราะรู้จักแต่ละคนดี ทำให้ไม่ต้องบริหารอะไรมากมาย เพราะว่ามันเหมือนครอบครัวที่เราเกิดมาเรามีแค่ครอบครัวเดียว การรวมตัวเป็นวงดนตรีก็เหมือนกัน เพราะว่าชะตามันลิขิตให้วงมันมาอยู่ด้วยกันนะ คือเนมคิดว่าถ้าวันหนึ่งเกิดใครจะเลิกทำวง getsunova สักคนหนึ่งในสี่คน เราก็จะจบวันนั้นเลย แล้วก็จะไปทำอะไรต่อกันก็ได้ แต่ก็คือชื่อวง getsunova มันคือแค่ 4 คนนี้ ถ้ามันไม่มี 1 ใน 4 คนนี้ วงนี้คือจบในวันนั้นเลย
นต : คือที่ผมได้ยินมาก็จะเป็นแบบว่าถ้าค่ายเพลงมีปัญหากับใครสักคนหนึ่งแล้วมันจะต้องมีการแตกหักล้ม แตกหักเสียบหรือว่ามีปัญหาคนนั้น แต่คือเราจะไม่ได้เอาคนนอกมา มาเป็นที่ตั้งไง เราจะเอาของข้างในเป็นที่ตั้งก่อน แล้วก็ถ้ามันมีปัญหาอะไรข้างนอกก็ต้องพยายามเคลียร์ข้างนอกให้ได้ก่อน ก่อนต้องมาข้างใน ในขณะที่บางที วงหรือว่าบุคลากรบริษัทต่าง ๆ ถ้าเกิดปัญหาจากภายนอกมาข้างใน เขาอาจจะต้องนึกออกใช่ไหม มีการเชื่อมคนข้างนอกมากกว่ามีการเลือกคนข้างในมากกว่า แต่เราก็จะบริหารแบบเหมือนก็จะดูแลกันเองให้เรียบร้อยก่อน ค่อย ๆ ไป ไม่งั้นเราก็จะบริหารยาก
แล้วอยากสลับเป็นใครในวงบ้าง
นต : ผมจะไปเป็น นาฑี โอสถานุเคราะห์ แทนครับ ก็คือมือกีต้าร์ไปเป็นมือกีต้าร์ (หัวเราะ) แต่ว่านาฑีมันมีหน้ากากแล้วก็ใส่แว่นดำ แล้วก็วันที่จะต้องเล่นคอนเสิร์ตก็สามารถเอาคนอื่นมาใส่หน้ากากแล้วทำให้ทุกอย่างได้ แล้วผมก็ไปเที่ยวได้โดยที่ได้ค่าจ้างเท่าเดิม ทุกอย่างครบเหมือนเดิมนะฮะ (หัวเราะ)
เนม : ผมเคยตอบคําถามนี้มาแล้วเมื่อไม่นานมานี้เองว่าจะไม่สลับ เพราะว่าผมเกิดมาเพื่อเป็นนักร้องอย่างเดียว คือจะสลับเป็นมือกีต้าร์ที่ร้องเพลงก็ได้ แต่ว่าก็คือต้องร้องเพลงเป็นหลัก
แล้วถ้าวันหนึ่งต้องสลับร่างกับศิลปินคนอื่น อยากไปอยู่กับใครมากที่สุด
นต : ก็ไปอยู่กับ Blackbeans เพราะว่าส่วนตัวชอบมาก เราเป็นแฟนคลับเบอร์หนึ่งในเมืองไทยเลยตอนนี้
เนม : คือคิดว่าจะได้ไปอยู่จริง ๆ นะเนี่ย (หัวเราะ) คือแบบจะมีรถตู้มารับผมแล้วได้ไปสลับตัวจริงๆ เลยใช่ไหม ก็เลยคิดว่าอยากไปอยู่ในวง Death of A Salesman
ศิลปินรุ่นใหม่เกิดขึ้นมามาก ปรับตัวอย่างไร
เนม : ไม่ได้ทํางานยากขึ้นนะ เพราะว่ามันก็เป็นพื้นที่ของเขา คือทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะปล่อยผลงานของตัวเอง คือเดี๋ยวนี้ Social Media มันไม่ได้แค่คนนี้ดัง อันนี้ทําได้แค่นี้จบ อย่างอื่นห้ามทําหรือไม่ตอนนี้ ทุกคนมันมันมีแอคเซสที่จะเรียนรู้ หรือว่าทําสิ่งต่าง ๆ มากมาย เราก็สามารถทํามาเป็นคอนเทนต์ก็ได้ อย่างพี่ไปร์ทล่าสุดก็ตีกลองแล้วก็ทําอาหารไปด้วยก็เป็นคอนเทนต์ คือมันไม่ได้แบบเจาะจงว่าฉันเป็นนักดนตรี อย่างแฟนคุณนต (เนะ-อโณทัย นิรุตติเมธี) ก็เป็น YouTuber ด้วย แล้วก็เป็นศิลปินร้องเพลงด้วย คือสนามนี้มันเปิดให้ทุกคนได้เข้ามาทำได้
นต : ผมว่าเป็นข้อดีนะ เพราะว่าจริง ๆ เวลาเราเป็นศิลปิน มันจะมีหมวกหรือมันมีกรอบอะไรบางอย่างที่ศิลปินบอกว่าเราเป็นศิลปินเราจะทําแค่ประมาณนี้ แต่พอการไปเป็น Influencer หรือไปเป็น YouTuber เสร็จแล้วค่อยมาร้องเพลง เขาจะมีอีกมุมมองนึงในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งมันจะค่อนข้างแตกต่างกันนะ แล้วผมว่าดี มันทําให้เกิดความหลากหลายในมาร์เก็ตเพลงมากขึ้น บางทีเขาทําออกมา ศิลปินเรามอง เห้ย! ทําได้ไงวะ ทําให้เราเองก็กล้าจะทําอะไรแบบเขาบ้างเหมือนกัน ขณะเดียวกัน เขาก็มองมาที่ศิลปิน เขาก็ดึงอะไรบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันแบบเป็นแรงบันดาลใจให้เขาด้วยเหมือนกัน ผมก็เริ่มเลยเป็นการส่งต่อพลังกัน อย่างนี้ผมว่าดี แล้วก็ส่งเสริมให้ใครที่แบบชอบร้องเพลงแล้วทําอาชีพอื่น กระโดดมาร้องเพลง ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดีมากมากเลย ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องไปแบบ YouTuber ต้องเป็นคนดังนะ ผมว่าวันนึงถ้าคุณจะเป็นนักบัญชีแล้วแบบก็มีความฝันอ่ะ อยากร้องเพลงหาเพลงทํา หาวิธีทำ แล้วก็พยายามหาพื้นที่ตัวเองผมก็เป็นเรื่องที่ดี
คิดว่าจะเกษียนวงเมื่อไหร่
นต : ก็จนกว่าจะไม่มี 4 คนนี้ ซึ่งก็รอดูกันว่าใครจะไม่สามารถออกจากบ้านมาเล่นได้ แต่ว่าจริง ๆ ยุคนี้มันไม่ได้มีฟีลแบบว่าคนหนึ่งไม่ไหวแล้ว แล้วต้องมาหยุดงานเลิกงานอะไรกันขนาดนั้น ผมว่าถ้าจะถึงตอนที่ถ้ามันยังออกไปไหวกัน ผมว่าอาจจะไม่ได้คงไม่ได้รับงานกัน แบบตลอดอย่างงั้นหรอก แต่ผมว่าจนถึงช่วงอายุหนึ่งถ้ามันยังไปมีโชว์ 2-3 งานต่อเดือน ต่อให้แก่แล้วผมว่าถ้ายังมีคนอยากดู เราก็ยังไหวนะ
เนม : เหมือน Blackhead ที่ต่อเดือนเขาก็เล่นกันแค่ 1-2 ครั้งแต่เล่นใหญ่เลยนะ แต่ว่า พี่ปู-อานนท์ สายแสงจันทร์ ไปเดี่ยวเยอะ แล้วถ้าพวกแกอยากเล่นเองที่แบบทั้งวงอยากรวมกันเอง มันก็จะมีมาเรื่อย ๆ แล้วจะได้ความรู้สึกแบบครอบครัวไปเจอจริง ๆ หลังเวทีเขาคือนาน ๆ ทีมาเจอกัน
แฟนคลับมีผลยังไงต่อวง getsunova บ้างครับ
เนม : ก็ถ้าเกิดว่าไปร้องเพลงที่ไหนแล้วรู้สึกว่าไม่มีคนที่อยากมาฟังเรา มันจะหมดไฟในการที่อยากจะไปร้อง แล้วไฟที่อยากจะทำผลงานตรงนี้มันก็น้อยลง เราก็อยากร้องเพลงที่แบบเขาก็ยังอยู่กับเรามาตั้งแต่ยุคแรก ๆ หลายคนก็แบบพี่หนูฟังเพลงพี่มาตั้งแต่หนูเรียนอยู่มัธยม แล้วตอนนี้หนูทำงานแล้ว มันก็มีความคุณค่าทางจิตใจนะ คือมันอาจจะฟังดูแล้วเราจะเริ่มเข้าใจพี่เบิร์ดขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเวลาเราไปหาพี่เบิร์ดแล้วบอกว่าคุณแม่ฟังเพลงพี่เขา ทําไมพี่เขาถึงไม่ได้ทำหน้าดีใจเหมือนกันนะ ตอนนี้เราเริ่มเข้าใจแล้ว (หัวเราะ)
มีเพลงแนวไหนที่อยากทำอีกไหมในตอนนี้
นต : อยากทำแบบเพลงลูกทุ่ง แต่คิดว่ายาก อย่างแบบ ต่าย อรทัย เคยทำ แต่ผมรู้สึกว่าน่าจะไปทางหมอลำได้เลย แต่ก็ทำแบบร่วมสมัยได้นะ อย่างของ Youngohm (รัธพงศ์ ภูรีสิทธิ์) ก็เน้นจะทำให้มันแบบร่วมสมัย ฟังแล้วแบบ โห! เจ๋งว่ะ ผมว่ายังโอมก็ทำได้ดีอย่างนี้ ก็ถ้ามีอะไรอย่างนั้นก็สนุกดี
เนม : ก็อยากทำเพลงสากลที่ไม่ใช่เพลงสากลเพื่อคนไทย ก็คือเพลงสากลแบบ Modern หน่อย
ถ้าวันนี้ไม่ได้เป็นศิลปิน อยากทำอะไร
เนม : อยากเป็นหลายอย่างเลย ก็อยากเป็นโปรแกรมเมอร์สร้างเกม หรือไม่ก็อยากเป็นพวก นักวาดการ์ตูน หรืออย่างผู้กำกับนี่ก็คือเป็นสิ่งที่อยากทำอยู่แล้วก็ไม่ได้ทำสักที แล้วก็อยากเป็นเจ้าของบาร์ทั่วโลก อยากทำงานต่างประเทศบินไปบินมา เยอะมาก อยากทำเยอะเหลือเกิน
นต : ถ้าไม่ได้ทำดนตรีก็วาดรูปแบบ Fine Art เลย ผมก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่าตอนเกษียณจากการทำเพลงแล้ว จะไปเป็นศิลปินเต็มตัว
getsunova จะอยู่ในจุดไหนของวงการเพลงไทย
นต : ไม่ได้มีที่ที่เราต้องไปอยู่นะ แค่มีเราอยู่ก็พอแล้วนะ ผมว่าวงการเพลงน่ารัก ทุกคนมันเป็นเพื่อนกันหมดจริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้มีคู่แข่งจริง ๆ ผมรู้สึกว่าเรามองหน้าไปงานอีเวนต์ เจอพี่น้องที่รู้ว่าเป็นศิลปิน ทุกคนจะเอ็นดู เป็นมิตรกัน แล้วก็ช่วยเหลืออะไรกันได้เป็นพิเศษ ผมรู้สึกว่าโชคดีที่ได้อยู่ในวงการนี้ครับ