รับสมัครงานปลอม, Ghost Job, รับสมัครงาน

เชื่อว่าในช่วงที่เราเรียนจบใหม่ ๆ การรีบหางานทำคงเป็นสิ่งแรกที่หลาย ๆ คนเลือกทำ ในปัจจุบันการรับสมัครงานมีหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นบนเว็บไซต์บริษัทหรือเว็บไซต์รับสมัครงานต่าง ๆ, บนเฟซบุ๊ก, สื่อสิ่งพิมพ์ หรือการเดินเข้าไปส่งใบสมัครที่บริษัทโดยตรง แต่หลายคนอาจจะเห็นว่ามีบางบริษัทที่เปิดรับสมัครงานตำแหน่งเดิม ๆ ซ้ำ ๆ และในบางครั้งการประกาศหางานเหล่านั้นมันก็กินระยะเวลานานถึงหลักปี แล้วเพราะอะไร? บริษัทถึงไม่สามารถหาบุคลากรได้เป็นหลักปีเลยหรอ? หรือว่าตำแหน่งงานเหล่านั้นไม่ได้มีอยู่จริงกันนะ?

เรื่องนี้อาจจะพอเห็นคำตอบได้จากผลสำรวจของ MyPerfectResume ที่ได้ทำการสำรวจผู้จัดหางานกว่า 700 คนในสหรัฐฯ และพบว่ากว่า 81% ของผู้จัดหางานได้มีการโพสต์ประกาศรับสมัครงานปลอม ๆ (Ghost Job) ด้วยเหตุผลที่ว่า นายจ้างอาจจะต้องการสำรวจข้อมูลของผู้ที่มีความสามารถและสนใจในตำแหน่งเหล่านี้ เพื่อที่อาจจะมีโอกาสเรียกมาสัมภาษณ์งานหรือร่วมงานด้วยในภายหลัง หรือบางตำแหน่งก็อาจจะได้คนทำงานไปครบถ้วนแล้ว แต่ยังเปิดรับสมัครงานไว้บนเว็บไซต์หางาน และเมื่อนำมาคำนวณแล้วพบว่าประมาณ 36% ของการประกาศรับสมัครงานบนหน้าเว็บไซต์หรือช่องทางออนไลน์ที่มีเปอร์เซ็นต์มากกว่าหนึ่งในสาม “ไม่ใช่ตำแหน่งที่ว่างงานจริง”

ในขณะเดียวกัน ข้อมูลจากทาง  Resume Builder ก็ได้ระบุว่า จากการสำรวจผู้จัดการฝ่ายสรรหาทรัพยากรบุคคลกว่า 1,641 คน ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 40% ยอมรับว่ามีการโพสต์หางานปลอมในปี 2024 และจากสามในสิบคนกล่าวว่า ในปัจจุบันก็ยังมีการโพสต์หางานปลอม ๆ อยู่ นอกจากนี้ เมื่อถามว่าแนวคิดในการโพสต์ประกาศรับสมัครงานปลอมมาจากใคร คำตอบส่วนใหญ่ระบุว่ามาจากฝ่ายทรัพยากรบุคคล (37%) รองลงมาเป็นผู้บริหารระดับสูง (29%) ผู้บริหาร (25%) และอื่น ๆ ตามลำดับ

และเมื่อถามถึงเหตุผลในการโพสต์หางานปลอม ๆ ผลจากการสำรวจพบว่า กว่า 67% ต้องการให้บริษัทดูเหมือนว่าเปิดรับบุคลากรจากภายนอก, 66% ต้องการให้ดูว่าบริษัทกำลังเติบโต อีก 63% ต้องการให้พนักงานในบริษัทเชื่อว่ากำลังจะมีพนักงานใหม่และภาระงานในมือของพวกเขากำลังจะเบาลง อีก 62% ต้องการให้พนักงานในบริษัทรู้สึกว่าสามารถมีคนมาแทนที่ตนได้ และอีก 59% เพื่อต้องการเก็บประวัติเอาไว้ โดยสามารถนำมาใช้ในภายหลังได้หากต้องการพนักงานใหม่ นอกจากนั้นก็ยังมีเหตุผลอื่น ๆ ตามลำดับ

ทั้งนี้ หลายคนน่าจะพอเห็นแล้วว่ามันมีการประกาศรับสมัครงานที่ยังไม่ได้ต้องการคนเข้ามาทำงานจริง ๆ เพราะฉะนั้นหลายคนโดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่หางานอยู่แล้วเกิดรู้สึกวิตกกังวลว่า เราไม่เก่งพอ หรือผิดหวังกับการไม่ถูกเรียกสัมภาษณ์ หรือถูกเลือกให้ทำงาน มันจึงอาจจะไม่ใช่ความผิดของคุณเสียทีเดียว ซึ่งวิธีการที่พอจะช่วยได้บ้างก็คือ หากตำแหน่งนั้นเปิดรับสมัครเกินกว่า 30 วัน หรือไม่มีวันที่หรือเวลาระบุไว้อย่างชัดเจน, ตำแหน่งงานนั้น ๆ ถูกโพสต์ซ้ำ, คำอธิบายในหน้าที่ขอบเขตงานหรือรายละเอียดต่าง ๆ ไม่ชัดเจน รวมถึงช่วงเงินเดือนที่ดูกว้างมากจนเกินไป ให้คุณสงสัยไว้ก่อนว่านั่นอาจจะไม่ใช่การโพสต์สมัครรับพนักงานจริง ๆ 

อย่างไรก็ดี ช่วงจบใหม่กับการหางานแรก อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ใครหลายคนรู้สึกกดดันกับการหางาน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การหางานเป็นไปอย่างอยากลำบาก ในโลกของการหางานมีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดรับสมัครปลอม ๆ ดังที่ได้กล่าวไป รวมถึงอาจจะมีมิจฉาชีพที่เข้ามาในรูปแบบของบริษัทรับสมัครงาน, การหลอกให้มาสัมภาษณ์งานเพื่อทำงานบางอย่างที่ไม่ตรงกับตำแหน่ง ซึ่งแน่นอนว่าการเดินทางไปสัมภาษณ์งานแต่ละครั้งล้วนมีค่าใช้จ่ายและต้นทุนต่าง ๆ ที่ต้องเสียไป ดังนั้น คนที่กำลังหางานอาจจะต้องระมัดระวังตัวและตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน เพื่อที่จะไม่ได้ตกเป็นเหยื่อของการโพสต์หางานปลอมหรือมิจฉาชีพนั่นเอง

อ้างอิง