เรียกได้ว่าเป็นคำสาปของผู้สร้างสรรค์ทุกแขนง โดยเฉพาะสายผลิตงานสื่อ อย่าง ละคร ซีรีส์ หรือภาพยนตร์ เพราะสำหรับการทำผลงานครั้งแรกที่ใช้เวลาคิด วิเคราะห์ บ่มเพาะ และทุ่มเทแรงกายแรงใจทำมันให้สำเร็จขึ้นมานั้นแทบจะไม่ใช่เรื่องง่าย และเมื่อมันได้รับเสียงตอบรับที่ดี นั่นแปลได้กลาย ๆ เลยว่า ครั้งที่สองของคุณต้องทำให้มันดีกว่านี้นะ จากความคาดหวังของผู้คนที่เห็นว่าครั้งแรกของเนื้อหามันดีได้ขนาดนี้ จนทำให้ ‘อาถรรพ์ภาค 2’ นั้นส่งผลกระทบกลับมายังผู้สร้างสรรค์สิ่งนั้นอีกครั้งมานักต่อนักแล้ว
เช่นเดียวกันกับ ‘Jung Jong-yeon (정종연)’ อดีต Producer ชาวเกาหลีใต้ของเครือ CJ ENM ที่ถนัดกับการสร้างสรรค์รายการเรียลลิตี้แข่งขันแนว Survival Game Show ที่นำคนจำนวนหนึ่งมาจับคู่และทำภารกิจหรือเล่นเกมบางอย่างร่วมกัน ซึ่งเคยฝากผลงานดัง ๆ อย่าง The Genius Game หรือ Society Game และได้รับโอกาสในการเข้ามาสร้างสรรค์รายการแนวนี้อีกครั้งในฐานะ PD ของ ‘TEO’ กับรายการชื่อ ‘The Devil’s Plan’ โดยออกซีซันแรกมาในช่วงเดือนกันยายน 2023 และเพิ่งจะออกซีซันที่สองในชื่อ ‘The Devil’s Plan: Death Room (데블스 플랜:데스룸)’ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง
เราดูจนจบทั้งซีซันแล้วก็รู้สึกดีใจที่อย่างน้อยรายการประเภทนี้ก็กลับมาโลดแล่นใน Format ที่ดีเป็นอย่างมาก และที่สำคัญคือรายการนี้ก็ได้รับเสียงตอบรับจากผู้คนมากมายทั่วโลก
เพียงแต่มันดันกลายเป็นเสียงตอบรับในแง่ลบแทน เป็นเพราะอาถรรพ์การทำภาคต่อหรือเปล่า หรือเป็นเพราะอะไรกันแน่ วันนี้เราจะมา SUM UP ให้ได้อ่านกัน
รู้จักรายการ ‘The Devil’s Plan’ ทั้งซีซัน 1 และซีซัน 2
ต้องเล่าก่อนว่ารายการแนว Survival Game Show เป็นรายการที่นำเสนอทั้งเรื่องราวของเกมการแข่งขันเพื่อชิงชัยกันไปสู่เป้าหมายบางอย่าง และนำเสนอเรื่องราวจริงที่แนบเนียนเป็นเนื้อเดียวระหว่างการเล่นเกม โดยมากแล้วเกมที่ใช้เล่นก็จะเน้นกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อขุดทักษะ และเล่ห์เหลี่ยมที่อยู่ในตัวตนของผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนออกมา และรายการประเภทนี้ก็ฮิตเอามาก ๆ ที่เกาหลีใต้ เพราะแต่ละสถานีโทรทัศน์และแพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ ทั้งในเกาหลีใต้และทั่วโลกก็ต่างสร้างสรรค์รายการประเภทนี้ออกมา
‘The Devil’s Plan (데블스 플랜)’ ก็เป็นหนึ่งในรายการนั้นที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยโปรดิวเซอร์ดัง ที่เชิญให้มาสร้างสรรค์รายการประเภทนี้อีกครั้ง รูปแบบรายการคือการนำผู้คนหัวกะทิจากสาขาอาชีพต่าง ๆ ในเกาหลีใต้ มาอยู่รวมกันในพื้นที่ปิดที่ไม่มีโอกาสติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก 7 วัน 6 คืน เพื่อเล่นเกมการแข่งขันประจำวันในทุก ๆ วัน เพื่อหาคนที่จะถูกคัดออกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเหลือเพียง 2 คนสุดท้ายที่จะเข้ามาชิงชนะเลิศกัน พร้อมด้วยการเชิญผู้เล่นที่ถูกคัดออกไปแล้วมานั่งชมการแข่งขันนี้อีกครั้งในสตูดิโอ

รูปแบบหลักของซีซันแรกคือการนำผู้เข้าแข่งขัน 12 คน มาเล่นเกมกัน 2 เกมใน 1 วัน แบ่งออกเป็นรอบ ‘Main Match’ หรือการแข่งขันหลักที่จะทำให้ผู้เล่นมีโอกาสได้ ‘Piece’ หรือ ‘ตัวต่อ’ สิ่งมีค่าที่จะทำให้ผู้เข้าแข่งขันได้เปรียบ-เสียเปรียบตลอดการแข่งขัน เพราะหากเมื่อไหร่ที่ใครก็ตามสูญเสียตัวต่อจนหมด เขาหรือเธอคนนั้นจะต้องกลับบ้านทันที
หลังจากรู้ผลของเกม ผู้แพ้จะถูกให้เข้าไปอยู่ในคุกร่วมกับผู้เล่นอีกคนที่ถูกผู้ชนะเลือก ซึ่งคุกเป็นห้องพักนอกที่อยู่อาศัยหลักที่จะลดอาหารเหลือเพียงขนมปังหรือโจ๊ก ขณะที่ผู้เล่นคนอื่น ๆ จะได้กลับไปอยู่ในพื้นที่พักอาศัยที่มีอาหารเพียบพร้อม และสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการพักผ่อนมากกว่า
และผู้คนที่เหลืออยู่จะต้องเล่นเกมรอบที่สองในช่วงกลางคืนที่เรียกว่า ‘Prize Match’ หรือเกมชิงรางวัล ที่ผู้เล่นทุกคนจะต้องร่วมมือกันเล่นเกมให้ชนะตามที่กำหนด เพื่อเงินรางวัลสะสมกองกลางที่ถูกทบไปในแต่ละวัน 50 ล้านวอนบ้าง 100 ล้านวอนบ้าง โดยผู้ชนะคนสุดท้ายเท่านั้นที่จะได้ไป
อาจจะดูเหมือนง่าย แต่การสลับบทบาทระหว่างเกมการแข่งขันหลักที่ผู้เล่นบางกลุ่มอาจจะฮั้วกัน เป็นพันธมิตรกัน หรือแตกคอกันในเกมหลัก และมาลงเอยด้วยการเล่นเกมร่วมมือกัน อีกทั้งต้องเล่นเกมแบบนี้ทุกวัน 1 อาทิตย์เต็ม ๆ คงเป็นเรื่องที่เหนื่อยไม่ใช่น้อย ยิ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบปิด และการเข้าอยู่ในพื้นที่นี้ไปเรื่อย ๆ จะทำให้พวกเขาได้เผยธาตุแท้ระหว่างการเล่นเกมออกมาจนหมด และถูกถ่ายทำตลอดเวลาเพื่อเอามาตัดต่อเป็นรายการซีรีส์ที่มีจำนวน 12 ตอนจบเพื่อให้ผู้คนทั่วโลกได้ดู

ขณะที่ซีซันที่ 2 ใช้ชื่อว่า ‘The Devil’s Plan: Death Room (데블스 플랜:데스룸)’ โดยมีจุดแตกต่างสำคัญคือการเพิ่มจำนวนผู้เข้าแข่งขันจาก 12 เป็น 14 คน และตัดเกมรอบ ‘Prize Match’ ออกไป เปลี่ยนรูปแบบการสะสมเงินรางวัลเป็นภารกิจเงินรางวัลหรือ ‘Prize Mission’ ระหว่างเกมแทน รวมถึงขยายขนาดคุกให้ใหญ่ขึ้น จากที่อยู่ได้แค่ 2 คน คราวนี้จัดให้อยู่กันเลยครึ่งต่อครึ่ง เมื่อเล่นเกม ‘Main Match’ แต่ละเกมจบ จะมีการจัดลำดับผู้เข้าแข่งขันที่มีจำนวนตัวต่อจากมากไปน้อย โดยอันดับครึ่งบนจะได้อยู่ในที่พักอาศัย และอันดับครึ่งล่างจะถูกให้ไปอยู่ในคุก
และเกมการคัดออกหลักซึ่งเป็นเกมที่ 2 ของวันจะถูกจัดขึ้นในคุกกับรอบ ‘Death Match’ ซึ่งผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดในคุกจะต้องเล่นเกมเพื่อหนีตายออกมาจากห้องเล่นเกมมรณะ เพราะหากใครแพ้คนนั้นจะตกรอบทันทีนั่นเอง โดยรูปแบบเกมจะดำเนินไปในรูปแบบคล้ายกันกับซีซันแรก อยู่ด้วยกันอาทิตย์หนึ่ง เล่นเกมแบบแพ้คัดออกทุกวันจนเหลือผู้ชนะเพียงคนเดียว นี่คือรูปแบบทั้งหมดของ ‘The Devil’s Plan’ ทั้ง 2 ซีซัน
ความแตกต่างของจุดพลิกผันทั้ง 2 ซีซัน คืออะไร
หมายเหตุ: มีการสปอยล์เนื้อหารายการบางส่วนตั้งแต่ส่วนนี้เป็นต้นไป
เกมจะสนุกได้มันต้องมีจุดพลิกผัน เริ่มจากจุดพลิกผันง่าย ๆ ก่อนก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นภายในเกมการแข่งขันหลักทั่วไป อย่างเช่นในเกม ‘หมากหลุมแห่งสมดุล (Balance Mancala)’ (Main Match วันที่ 5 / ซีซัน 2) ที่กติการะบุไว้ว่าหากผู้เล่นทำแต้มสุดท้ายได้ไม่ถึงที่กำหนด จะต้องถูกลงโทษด้วยการคืนตัวต่อครึ่งหนึ่งกลับสู่รายการ และคนที่แพ้จะต้องมอบตัวต่อ 5 ชิ้นเป็นรางวัลให้คนชนะ เรียกได้ว่าเป็นกติกาที่ทำร้ายผู้มีตัวต่อในครอบครองจำนวนน้อยได้อย่างน่ากลัว
หรือในเกม ‘สมการไฮโล (Formal High Row)’ (Main Match วันที่ 6 / ซีซัน 1) และเกม ‘เดิมพันกังขา (Doubt and Bet)’ (Main Match วันที่ 6 / ซีซัน 2) ที่เน้นการเดิมพันเพื่อเป็นผู้ครอบครองชิปในแต่ละตา และชิปที่ได้มาก็คือการใช้ตัวต่อ หรือใช้ Life Point ของแต่ละคนในการเล่นเลย ซึ่งถือเป็นเกมแห่งความเสี่ยงต่อการคัดออกของผู้เล่นที่มีจำนวนตัวต่อน้อยเป็นอย่างมาก และนำเสนอความเหลื่อมล้ำระหว่างคนที่มีตัวต่อ และไม่มีตัวต่อได้เป็นอย่างดี

ในแต่ละเกมก็จะมีการกำหนดกติกาการได้ หรือเสียตัวต่อที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้เข้าแข่งขันได้มีโอกาสเพิ่มชีวิตในเกมเพื่อการอยู่รอดไปจนถึงวันสุดท้ายได้ง่ายขึ้น เพียงแต่บางครั้งตัวต่อเหล่านี้ก็เกิดขึ้นจากความลำเอียงได้เหมือนกัน
กติกาของเกมระบุไว้ชัดเจนว่าผู้เล่นสามารถแลกเปลี่ยน หรือให้ตัวต่อกันได้เพื่อสร้างพันธมิตรระหว่างกัน โดยสามารถทำได้แค่พื้นที่อาศัยหรือคุกเท่านั้น ในพื้นที่เล่นเกมจะทำไม่ได้ ส่วนนี้คือส่วนแรกที่จะทำให้ผู้เข้าแข่งขันกลายเป็นเพื่อนหรือศัตรูกันได้เลยภายในเกม
และอีกรูปแบบของการสร้างเส้นเรื่องที่ทำให้จุดพลิกผันของรายการนี้น่าสนใจคือการซ่อน ‘เกมลับ’ เอาไว้ในฉาก อย่างพื้นที่ของคุกในซีซันแรก ที่จริง ๆ เป็นการบอกว่าคุณคือผู้แพ้ในเกมที่แล้ว แต่พื้นที่ภายในคุกนั้นซุกซ่อนโอกาสสำคัญเอาไว้มากมาย ตั้งแต่เกมเล็ก ๆ อย่าง Metal Puzzle (กลเหล็ก) ในคุกของซีซันแรกที่ผู้เข้าแข่งขันที่มีโอกาสเข้าไปไขปริศนาให้สำเร็จ และรับตัวต่อพิเศษได้ มากไปกว่านั้น ยังมีด่านลับซุกซ่อนอยู่ในทั้ง 2 ซีซัน ซึ่งจุดร่วมก็คือจะทำให้ผู้ที่หาทางเข้าไปในด่านลับ และเล่นเกมชนะได้ จะได้รับตัวต่อสูงถึง 10 ชิ้น พลิกหน้ามือเป็นหลังมือได้เลย

โดยในซีซีนแรก ด่านลับมีเพียงในคุกเท่านั้น แต่ในซีซันที่ 2 ด่านลับมีทั้งในคุกและในพื้นที่อาศัย ซึ่งข้อแรกคือมันจะทำให้ผู้เข้าแข่งขันในพื้นที่อาศัยที่ชนะด่านลับได้ตัวต่อ 10 ชิ้น และเขาจะแข็งแกร่งขึ้น ในขณะที่ผู้ชนะด่านลับในคุกที่ได้ตัวต่อ 10 ชิ้นก็แข็งแกร่งขึ้น แต่เขาจะต้องเสียพันธมิตรในพื้นที่คุก และเข้าไปเป็นตัวประหลาดในพันธมิตรพื้นที่อาศัยแทน เสมือนการมองว่าเป็นกลุ่มคนชนชั้นล่างที่เผอิญถูกหวยก็เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยจังหวะการตัดต่อ และความสามารถของผู้เข้าแข่งขันในแต่ละซีซัน ก็ทำให้จุดพลิกผันในเกมเหล่านี้กลายเป็นจุดสำคัญที่ชวนให้ผู้ชมเอาใจช่วย (?) ไปจนตลอดรอดฝั่งได้เหมือนกัน
แล้วทำไมคอมเมนต์จากผู้คนส่วนมากในซีซัน 2 จึงกลายเป็นด้านลบ
หลังจากรายการค่อย ๆ ทยอยเผยแพร่ตลอด 3 สัปดาห์ กราฟของเสียงตอบรับผู้ชมก็ค่อย ๆ กลายเป็นด้านลบอย่างมีนัยสำคัญด้วยเหตุผลมากมายหลายประการ ซึ่งความเห็นที่เรารวบรวมมาเหล่านี้ก็จะเป็นการสปอยล์เนื้อหาอีกเช่นเดียวกัน
แน่นอนว่าเมื่อรายการมีมาแล้ว 2 ซีซัน ทำให้ผู้ชมล้วนเปรียบเทียบองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ทำให้แต่ละซีซันดีเด่นกว่ากันในแต่ละด้าน ความคิดเห็นของผู้คนที่เรานำมาอ้างอิงนั้นมาจาก Reddit ห้อง ‘r/TheDevilsPlan’ และ ‘r/koreanvariety’ ซึ่งก็ทำให้เราเห็นมุมมองจากแฟนรายการแนวนี้ต่อการมาถึงของซีซันที่ 2 อย่างมากมาย
เริ่มจากประเด็นแรกคือเกมหลักที่เอาดวงมาเป็นข้อได้เปรียบของผู้เข้าแข่งขันมากเกินความจำเป็น ทำให้กลยุทธ์และทักษะที่ควรแสดงให้เห็นจึงมีภาพน้อยกว่าคนที่ดวงดีกว่าเป็นหลัก ดังที่จะเห็นได้จากการสุ่มลำดับการเล่นในบางเกม หรือเกมจำนวนไม่น้อยในซีซันนี้ที่ดำเนินไปด้วยลูกเต๋าและไพ่เป็นหลัก

ประเด็นที่สองซึ่งเป็นประเด็นใหญ่มาก ๆ ในซีซันนี้คือการเสนอเรื่องความเหลื่อมล้ำโดยไม่จำเป็น หากว่ากันด้วยสมาชิกของกลุ่มคนที่มีตัวต่อน้อยกว่าที่ถูกให้ไปอยู่ในคุก พวกเขามีโอกาสน้อยมาก ๆ ที่จะหาตัวต่อได้มากขึ้นเพื่อพลิกกลับมาอยู่ในพื้นที่อาศัย หรือเป็นคนที่มีตัวต่ออันดับต้น ๆ ได้ ในขณะที่ผู้เล่นส่วนใหญ่ในพื้นที่อาศัยก็จะมีตัวต่อมากที่สุดอยู่อย่างนั้นไปเรื่อย ๆ ยิ่งมีชัยชนะจากด่านลับที่ระบุไว้ว่าผู้เล่นสามารถร้องขอตัวต่อ 10 ชิ้นเมื่อไหร่ก็ได้ที่ต้องการ เสมือนกับเขาจะกลายเป็นอมตะ และไม่มีเส้นกราฟขึ้นลงได้เลยในเกมนี้ ลอยลำและคาดเดาได้ง่ายว่าเขาจะกลายเป็นผู้ชนะในท้ายที่สุด
อีกทั้งสภาวะกดดันในคุกยังทำให้ผู้เล่นเสียสมาธิได้เป็นอย่างมาก ทั้งการเล่นเกม 2 เกมในวันเดียว ถูกลดพลังงานจากอาหารที่ดีเพียงพอ และการเล่นเกมเพื่อจะปีนขึ้นไปอยู่ในพื้นที่อาศัยด้วยอารมณ์ของแรงแค้นในฐานะผู้น้อยในสังคม เมื่อเทียบกับพันธมิตรของผู้ที่มีตัวต่อเยอะกว่า ความเสี่ยงเข้าคุกก็น้อยกว่า และระบบเกมที่เอื้อต่อคนที่มีตัวต่อเยอะกว่า ทั้งหมดนี้ทำให้คนที่แค่แพ้เกมแรกก็อาจตกที่นั่งลำบากไปจนจบรายการได้เลย
ประเด็นถัดมาคือเรื่องของผู้เข้าแข่งขัน ที่ส่วนมากมองว่าการแข่งขันในซีซันนี้เล่นเกมการเมืองกันมากเกินไปหน่อย ทำให้อรรถรสของเกมแห่งทักษะหายไป แค่ร่วมมือกันเป็นกลุ่มใหญ่กว่าก็ชนะได้อย่างง่าย ๆ รวมถึงบุคลิกที่มีผลต่อการรับชมอย่างผู้เล่นตัวรอง (Underdog) หรือผู้เล่นสายพลิกเกม (Game Changer) มีน้อยเกินไป ทำให้เกมดูราบเรียบและคาดเดาผลแพ้ชนะได้
ไปจนถึงการที่ผู้ชมบางส่วนมองว่าผู้เล่นบางคนขาดความต้องการเอาชนะ และเน้นเล่นเอาใจพันธมิตรในกลุ่มบางคนที่มีตัวต่อมากกว่า กลายเป็นการเล่นเพื่อเสียสละให้ผู้ที่แข็งแกร่งกว่าเสียอย่างนั้น ความคิดเห็นนี้นิยามว่านี่คือสิ่งที่ทำลายความเป็นเกมการแข่งขันเอาชีวิตรอดไปโดยสิ้นเชิง และสร้างความน่าผิดหวังให้กับผู้ชมจนกลายเป็นเสียงตอบรับด้านลบมากกว่าด้านบวกอย่างที่กล่าวมา

อย่างไรก็ตาม ก็มีความเห็นบางส่วนกล่าวว่าองค์ประกอบบางอย่างในซีซันนี้ดีกว่า อย่างเพลงที่ใช้ประกอบรายการ หรือชื่นชมบุคลิกภาพระหว่างการแข่งขันของผู้เข้าแข่งขันบางคนที่ทำให้ผู้ชมอยากเอาใจช่วยมากกว่าซีซันแรก ไปจนถึงการมองว่าชัยชนะของผู้เข้าแข่งขันคนสุดท้ายของซีซันที่ 2 ที่เล่นบทตัวร้ายในรายการ ทำให้ใจความของชื่อรายการ ‘The Devil’s Plan’ สมบูรณ์ขึ้นอีกด้วย
ท้ายที่สุดแล้ว ‘The Devil’s Plan’ ก็คือการเล่นเกมเพื่อโชว์แนวคิดการสร้างกติกาของผู้สร้างสรรค์และโชว์ทักษะหรือกระบวนการคิดของผู้เล่นในสังคมปิด ที่ทั้งสองฝ่ายต่างช่วยกันเติมเรื่องราวให้เส้นเรื่องสมบูรณ์ขึ้นได้ และการที่มีความคิดเห็นมากมายมาสู่ ‘Jung Jong-yeon (정종연)’ นั่นแปลว่ารายการนี้ทำสำเร็จแล้วในการทำให้ผู้ชมทั่วโลกเห็นถึงความสามารถของทีมผู้สร้างสรรค์รายการจากเกาหลีใต้ ในการสร้างอารมณ์ ความรู้สึก และการติดตามจนสามารถสร้างซีซันที่ 2 ขึ้นมาได้อย่างยิ่งใหญ่กว่าเดิมนั่นเอง
หากใครยังไม่เคยดู ‘The Devil’s Plan’ และ ‘The Devil’s Plan: Death Room’ ทั้ง 2 ซีซันมีให้ชมแล้วทาง Netflix ที่เดียวเท่านั้น
ที่มา
- https://www.reddit.com/r/TheDevilsPlan/
- https://www.reddit.com/r/koreanvariety/comments/1krawy9/devils_plan_s1_was_much_much_better_than_s2/
- https://en.namu.wiki/w/분류:데블스%20플랜