ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธ์

วันนี้ (28 พฤษภาคม 2567) เวลา 10.00 – 11.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เขตปทุมวัน ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ และทีมรองผู้ว่าฯ นัดส่งการบ้านเนื่องในวาระทำงานครบ 2 ปีมีผลงานอะไรบ้าง และแผนเมืองน่าอยู่ช่วงครึ่งเทอมหลังจะเป็นไปอย่างไร

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้กล่าวว่า ต้องการพัฒนาเมืองเพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองประสิทธิภาพต่ำ ทำให้ผู้คนเหน็ดเหนื่อยกับการใช้ชีวิตในเมืองนี้ อยากให้ผู้คนเหนื่อยน้อยลง โดยผลงานช่วง 2 ปีแรก ได้มีการปรับ Traffy Fondue ที่ใช้สำหรับรับเรื่องร้องเรียนออนไลน์เพื่อความสะดวก ได้ลดคำถามจาก 5 คำถามเป็น 3 คำถาม และได้ทำการแก้ไขเรื่องที่ร้องเรียนไปแล้วทั้งหมด 465,291 เรื่อง จากทั้งหมด 588,842 เรื่อง

นอกจากนี้ยังมีนโยบายการลงพื้นที่ผู้ว่าสัญจรรอบที่ 2 ทุกสำนัก – เขต เพื่อรับรู้ถึงปัญหาของประชาชน และได้มีการสั่งให้แก้ไขปัญหาในพื้นที่ไปแล้วกว่า 1,779 รายการ ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วกว่า 1,251 รายการ โดยจะมีการลงพื้นที่ครั้งที่ 2 เพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับหลัก ‘หันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ประชาชน’

ส่วนเรื่องของ ‘ทางเท้า’ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการปรับปรุงทางเท้าไปแล้ว 785 กม. และได้มีการปรับปรุงทางเท้าสำหรับผู้พิการด้วยการลดความสูงของทางเท้าให้เหลือ 10 ซม. และ 18 ซม. ทั้งยังได้เพิ่มการติดเบรลล์บล็อกแนวตรงเพื่อให้ผู้พิการและผู้สูงอายุใช้งานได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น เมื่อพูดถึงทางเท้าแล้วปัญหาที่ตามมาด้วยก็คือ ‘ปัญหาหาบเร่แผงลอย’ ทางกรุงเทพฯ ได้มีการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยเพราะมองว่าหากห้ามไม่ให้ขายเลยอาจจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงอาหารราคาถูกและเศรษฐกิจ โดยจัดระเบียบไปแล้วกว่า 257 จุด และในปีนี้ได้มีการสร้าง Hawker Center เพื่อในอนาคตจะใช้เป็นพื้นที่สำหรับร้านค้าหาบเร่แผงลอย นอกจากนี้ยังมีการจัดระเบียบสายไฟไปแล้วกว่า 627 กม. ตลอดจนมีการตรวจสอบหลอดไฟที่เสียและแก้ไขอย่างรวดเร็วด้วยการเชื่อมระบบ IOT

ในด้านของปัญหาเรื่อง ‘น้ำท่วม’ ได้มีการวิเคราะห์เมืองด้วยการถอดบทเรียนจากน้ำท่วมขังเมื่อปี 2565 มีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 737 จุด ในปี 2567 แก้ไขไปแล้ว 278 จุด และมีการเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมด้วยการล้างท่อ, ล้างคลอง, ขุดลอกคลอง, บำรุงรักษาประตูระบายน้ำทุกแห่ง, บำรุงรักษาสถานีสูบน้ำทุกแห่ง, ตรวจสอบเครื่องสูบน้ำทุกเครื่องให้พร้อมใช้งาน, ล้างอุโมงค์ทุกแห่ง 

นอกจากนี้ยังมี ‘การปรับปรุงคุณภาพพื้นที่สาธารณะ’ เพราะอยากให้ประชาชนออกมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยได้ปรับปรุงสวนสาธารณะ 12 แห่ง, ศูนย์นันทนาการ 9 แห่ง, เพิ่ม Co-Working Space 20 แห่ง, พิพิธภัณฑ์เด็ก 2 แห่ง, ศูนย์กีฬา 12 แห่ง และมีการเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ เช่น ลุมพินีสถาน, Street Performer, ทรงวาด มีการเพิ่มและปรับปรุงสวนขนาดใหญ่ ได้แก่ บ่อฝรั่ง, เชื่อมบึงหนองบอน – สวนหลวง ร.9 และสวนป่าชุ่มน้ำบางกอก มีการปลูกต้นไม้ 935,000 ต้นรอบกรุงเทพฯ มีการจัดทำสวน 15 นาทีที่เกิดขึ้นไปแล้วกว่า 100 แห่ง คาดว่าจะครบ 500 แห่งภายใน 4 ปี

ทางด้านคุณภาพชีวิต ได้มีการปรับบริการสุขภาพ ปูพรมตรวจรักษา สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี จัดให้มีการตรวจสุขภาพฟรี 1,000,000 คน ยาวไปจนถึงเดือนกันยายน 2567 ได้ทุกคนไม่จำกัดสิทธิ์ ขยายบริการสาธารณสุขให้เปิดบริการตรวจรักษานอกเวลายาวถึง 2 ทุ่ม ในวันเสาร์ – อาทิตย์ ทุกพื้นที่ มีการขยายศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ (กายภาพบำบัด) ใกล้บ้าน ที่ปัจจุบันเปิดไปแล้ว 8 ศูนย์ มีผู้ใช้หมื่นกว่าราย มี Pride Clinic คัดกรอง ปรึกษาฟรี เพื่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยพัฒนาจาก 6 แห่งเป็น 31 แห่ง 

ส่วนทางด้านของการทุจริตคอรัปชั่น มีการร้องเรียนเข้ามา 781 เรื่อง มีมูลทุจริต 56 เคส ให้ออกจากราชการไปแล้ว 29 เคส อยู่ระหว่างการดำเนินการของ กทม. 449 เคส ส่งต่อให้ ป.ป.ช.และ ป.ป.ท. 5 เคส ซึ่งพิจารณาแล้วไม่ใช่คดีทุจริต 271 เคส นอกจากนี้ในแง่ของการบริหารเงินให้มีประสิทธิภาพ ได้มีการปลดหนี้ BTS ไปแล้วกว่า 23,000 บาท และโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของ กทม.

ส่วนก้าวต่อมาได้มีการเสนอให้รัฐบาลยกเลิกคำสั่ง ม. 44 และนำระบบรถไฟฟ้ากลับสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างร่วมทุนตามกฏหมายให้โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน 

ส่วนก้าวต่อไปของแผนเมืองน่าอยู่ช่วงครึ่งเทอมหลัง หรือ 2 ปีหลัง ทีมรองผู้ว่ากรุงเทพฯ ได้แบ่งออกมาเป็นทั้งหมด 4 ประเด็น ได้แก่

  • ด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเปลี่ยนรถสันดาปสู่รถ EV และเร่งรัดก่อสร้างโรงเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า เป็นการประหยัดเงินค่าจัดการขยะได้ถึง 172 ล้านบาท/ปี
  • ด้านการเดินทางจะมีการจัดทำป้ายรถเมล์ดิจิทัล Real Time, ปรับปรุงศาลารถเมล์, ติดจอดิจิทัลในศาลา เพื่อให้ประชาชนเดินทางสะดวกขึ้นและมีการเพิ่มตัวเลือกการเดินทาง รวมถึงจะมีการอัปเกรดสัญญาณไฟจราจรทั่วกรุงเทพฯ ไปจนถึงการปรับระบบการขออนุญาตก่อสร้างให้เป็นแบบออนไลน์
  • ด้านสาธารณะสุข จะมีการสร้างศูนย์บริการสาธารณะสุขใหม่ 21 แห่ง ปรับปรุงใหม่ 31 แห่ง ผลักดัน 3 โรงพยาบาลเดิม เพิ่ม 4 โรงพยาบาลใหม่ ขยาย 1,272 เตียงเพื่อดูแลคนไข้ในกรุงเทพฯ และจะมีการปรับปรุงสถานีดับเพลิง 13 แห่ง สร้างใหม่ 3 แห่ง
  • ด้านการศึกษา จะมีตั้งแต่การดูแลเด็กปฐมวัยที่จะดูแลเร็วขึ้น พัฒนาหลักสูตรและกายภาพให้ดีขึ้น พัฒนาหลักสูตรขั้นพื้นฐาน พัฒนาทักษะอาชีพ และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นเพียงผลงานที่ผ่านมาของผู้ว่าฯ ชัชชาติ และทีมรองผู้ว่าฯ รวมถึงแผนงานในอนาคตอีก 2 ปีข้างหน้าว่าจะทำอะไรต่อไปบ้าง ซึ่งผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้สรุปในตอนท้ายว่ายังมีข้อจำกัดอีกหลายอย่างที่เกิดขึ้นและต้องพัฒนา ปรับปรุงกันต่อ และหากจะให้คะแนนในการทำงานของตนเองและทีมงานตลอดทั้ง 2 ปีที่ผ่านมาก็จะอยู่ที่กลาง ๆ คือ 5 เต็ม 10 และคนที่น่าจะให้คะแนนได้ดีที่สุดก็คือ ‘ประชาชน’ นั่นเอง