ยิ่งนับวัน ภาวะโลกรวนจะยิ่งส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ดังที่หน่วยงานตรวจสอบสภาพอากาศ องค์การสหประชาชาติ เปิดเผยเมื่อวานนี้ (28 ตุลาคม 2567) ว่า ระดับก๊าซเรือนกระจกที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมีจำนวนมากขึ้น และทำลายสถิติใหม่ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) ระบุในวารสารก๊าซเรือนกระจกประจำปี (International Journal of Greenhouse Gas Control) ว่าความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่กำลังสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศแตะระดับความเข้มข้นบนพื้นผิวโลกสูงสุดใหม่ที่ 420 ppm (parts per million) มีระดับก๊าซมีเทน หรือก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 1,934 ppb (parts per billion) และก๊าซไนตรัสออกไซด์อยู่ที่ 336.9 ppb
ซึ่งข้อมูลในปี 2023 ค่าเหล่านี้อยู่ที่ 151%, 265% และ 125% ของระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม (ก่อนปี 1750) โดยคำนวณจากข้อมูลการสังเกตการณ์ในระยะยาวภายในเครือข่ายสถานีตรวจวัดของ Global Atmosphere Watch และในปัจจุบัน ความเข้มข้นของ CO2 สูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 51% ในขณะที่ก๊าซมีเทนที่เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพอีกชนิดหนึ่งสูงกว่าระดับในปี ค.ศ. 1750 ถึง 165%
‘ออคซานา ทาราโซวา (Oksana Tarasova)’ เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์อาวุโสขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกกล่าวว่า “เราไม่เคยเห็นระดับ CO2 ขนาดนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ครั้งสุดท้ายที่เราพบ CO2 ในสัดส่วน 400 ส่วนต่อล้านส่วน ในชั้นบรรยากาศคือ เมื่อ 3 ถึง 5 ล้านปีก่อน” ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว อุณหภูมิจะสูงขึ้น 3 ถึง 4 องศา และระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 10-20 ปี”
‘อันเดรอา เซเลสต์ เซาโล (Andrea Celeste Saulo)’ ผู้อำนวยการสำนักงานองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกกล่าวไปในทางเดียวกันว่า “เป็นอีกหนึ่งปีและอีกหนึ่งสถิติที่ควรเป็นสัญญาณเตือนให้บรรดาผู้มีอำนาจตื่นตัวกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพราะตอนนี้เรากำลังหลงทางอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีสในการจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และตั้งเป้าให้สูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม 1.5 องศาเซลเซียส สิ่งเหล่านี้เป็นมากกว่าสถิติ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทุกส่วนในล้านส่วนและทุกเศษส่วนขององศามีผลกระทบต่อชีวิตและโลกของเราอย่างแท้จริง”
รายงานนี้กำลังย้ำเตือนกับเราทุกคนว่า ขณะนี้เราใกล้ถึงห้วงเวลาแห่งวัฏจักรอันเลวร้าย เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามธรรมชาติมีบทบาทสำคัญในวัฏจักรคาร์บอน แต่ในอนาคตอันใกล้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ระบบนิเวศกลายเป็นแหล่งก๊าซเรือนกระจกขนาดใหญ่ ไฟป่าอาจปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น ในขณะที่มหาสมุทรที่อุ่นขึ้นอาจดูดซับ CO2 น้อยลงดังนั้น CO2 อาจคงอยู่ในชั้นบรรยากาศมากขึ้นจนเร่งให้โลกร้อนขึ้น
และตราบใดที่การปล่อยมลพิษยังคงดำเนินต่อไป ก๊าซเรือนกระจกจะยังคงสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เมื่อพิจารณาจากอายุของ CO2 ในชั้นบรรยากาศขณะนี้ คาดการณ์ว่ามันจะยังคงอยู่ต่อไปอีกหลายทศวรรษ แม้ว่าการปล่อยมลพิษจะลดลงอย่างรวดเร็วจนเหลือค่าเฉลี่ยเป็นศูนย์ก็ตาม
ที่มา