“ชุดขาวยาวพลิ้ว ใบหลิวลิ่วลม สร้อยหยกงามผ่อง และ แจกันน้ำอมฤต” ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่แสดงถึงลักษณะของ ‘พระโพธิสัตว์กวนอิม’ หรือที่เรา ๆ คุ้นชินในชื่อเจ้าแม่กวนอิม หนึ่งในพระโพธิสัตว์ที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตา จนถูกขนานนามว่าเป็น The Goddess of Mercy แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เชื่อว่าหลายคนคงยังไม่ทราบถึงตำนานที่ว่า เจ้าแม่กวนอิมนั้น ไม่ใช่ผู้หญิง แต่แท้จริงคือ ‘บุรุษเพศ’
หากจะให้กล่าวถึงตำนานของพระโพธิสัตว์กวนอิมที่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนนั้นคงเป็นเรื่องยากด้วยระยะเวลาที่ผ่านมากว่าพันปีทำให้เรื่องราวถูกเปลี่ยนไปตามบริบท และวัฒนธรรมของสังคมในแต่ละยุคสมัย เพราะเดิมทีแล้วนั้นความเชื่อเรื่องพระโพธิสัตว์เข้ามาสู่จีนตั้งแต่สมัยสามก๊ก ซึ่งนับมาได้ 1,700 กว่าปีมาแล้ว และเชื่อกันว่าแนวคิดเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ได้เผยแพร่จากอินเดียพร้อมกับพระพุทธศาสนา ไปยังประเทศใกล้เคียงอย่าง ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาจนถึงประเทศไทย และถูกผสมผสานกับเรื่องเล่าพื้นถิ่นกลายเป็นความเชื่อในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยวิถีความเชื่อแบบพุทธและศาสนาเต๋าที่ผนวกจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ทำให้ พระโพธิสัตว์กวนอิมของศาสนาพุทธถูกนับเป็นเทพอีกองค์ของศาสนาเต๋าที่ผู้คนต่างนับถือกันอย่างแพร่หลาย
ซึ่งตำนานที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คงหนีไม่พ้นตำนานของเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน ราชนิกุลสูงศักดิ์ผู้ผักใฝ่ในธรรมะ แต่เมื่อถึงคราวออกเรือนก็เลือกที่จะออกบวชแทน จึงถูกขัดขวางจากผู้เป็นพ่ออย่างพระราชาเมี่ยวจงจนตัวตาย แต่ด้วยความมีเมตตาและความเสียสละของเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านนั้นเอง ทำให้พระพุทธเจ้าที่สถิตอยู่ในแดนสุขาวดี (ในความเชื่อของศาสนาเต๋า) จึงได้มอบพระกร 1 พันกร และพระเนตร 1 พันดวง เพื่อเป็นการตอบแทนในความมีเมตตาของเจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน และได้จุติเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิมในที่สุด ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานพระโพธิสัตว์กวนอิมปางพันกร ที่ผู้คนเชื่อกันว่าเป็นปางแห่งความเมตตา ปกปักรักษา นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง ร่มเย็นเป็นสุข อุดมสมบูรณ์ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเพียงเรื่องราวที่ถูกผนวกรวมด้วยศาสนาและวัฒนธรรมเท่านั้น
แล้วอะไรคือหลักฐานว่าเพราะโพธิสัตว์กวนอิมอาจจะไม่ใช่เพศสตรีอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ?
มีความเชื่อว่า ‘พระโพธิสัตว์กวนอิม’ ของจีนนั้นเป็นเทพองค์เดียวกับ ‘พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร’ ที่มีต้นกำเนิดจากพระสูตรนิกายมหายานในประเทศอินเดีย ในราวพุทธศตวรรษที่ 6-7 โดยชื่อของเจ้าแม่กวนอิม (หรือกวนอิน) นั้นเดิมที่ย่อมาจากคำว่า ‘กวนซื่ออิน’ ซึ่งมีความหมายพ้องกับชื่อของพระอวโลกิเตศวร ที่แปลว่าผู้ได้สดับฟังเสียงของโลก หรือ ผู้ที่มองลงมายังโลก ตามตำนานกล่าวว่าพระอวโลกิเตศวรนั้นเป็นร่างอวตารภาคหนึ่งของอดีตพระพุทธเจ้าที่มีร่างอวตารถึง 33 ปาง และหนึ่งในนั้นมีปางหนึ่งที่เป็นเพศสตรี โดยนักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่าร่างนั้นคือพระโพธิสัตว์กวนอิมนั่นเอง
และในพุทธศักราชที่ 800-1100 สมัยราชวงศ์จิ้น (晉朝) ปรากฏรูปประติมากรรมของพระโพธิสัตว์กวนอิม มีริมฝีปากหนาและมีหนวดเครา ตามลักษณะของบุรุษเพศ
แต่เมื่อมาถึงราชวงศ์ถังพระโพธิสัตว์กวนอิมเริ่มถูกมองในรูปของสตรีเพศมากขึ้น เพราะจิตรกรได้ใช้แบบจากสตรีในราชสำนักทำให้มีความคล้ายคลึงกับผู้หญิงมากยิ่งขึ้น เพื่อแสดงถึงความอ่อนโยน มีเมตตากรุณา ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน ในชื่อ ‘เจ้าแม่กวนอิม’ ที่เรารู้จักกัน
และเหตุผลที่นักวิชาการได้สันนิษฐานว่าทำไม พระโพธิสัตว์กวนอิมถึงได้รับความนิยมนั่นเป็นเพราะว่า ในยุคจีนโบราณนั้นผู้หญิงมักเป็นเพศที่ถูกกดขี่ข่มเหง และลำบากกว่าเพศชายมากนัก พระอวโลกิเตศวร (หรือพระโพธิสัตว์กวนอิม) จึงได้อวตารลงมาในรูปของสตรี เพื่อโปรดสัตว์ และช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากให้หลุดพ้นจากบ่วงกรรมด้วยความเมตตากรุณา เฉกเช่นความรักของมารดาที่มีต่อบุตร
ในปัจจุบันพระโพธิสัตว์กวนอิมก็ยังคงได้รับความนิยม และถูกยกย่องบูชาอย่างแพร่หลายจนถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของผู้ที่มีเชื้อสายจีนในต่างแดน ที่เราเชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้กราบไหว้หรือเห็นรูปเคารพของเจ้าแม่กวนอิมผ่านตากันมาบ้าง โดยปางที่ได้รับความนิยมที่สุดก็คือ
“ปางหยางหลิ่วกวนอิน” พระหัตถ์หนึ่งถือกิ่งต้นหลิว อีกพระหัตถ์ถือน้ำอมฤตเป็นปางประทารพรเกี่ยวกับการรักษาเยียวยาโรคภัยไข้เจ็บ
“ปางไป๋อีกวนอิน” ที่ฉลองพระองค์ด้วยชุดสีขาว เป็นปางที่คอยช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก
และ “ปางซ่งจื่อกวนอิน” เป็นปางที่ประทานบุตรให้กับผู้ที่มากราบไหว้
สรุปแล้วไม่ว่าพระโพธิสัตว์กวนอิมและพระอวโลกิเตศวรจะเป็นองค์เดียวกันหรือไม่ สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการศึกษาเรื่องนี่คือ คติชนที่พยายามหลอมรวมเป็นหนึ่งในความเชื่อ และความศรัทธา เพื่อให้เพื่อนมนุษย์รู้จักเมตตาซึ่งกันและกัน
อ้างอิง
- https://kindconnext.com/kindcult/history-of-guanyin/
- https://thethaiger.com/th/news/607597/
- https://www.nasatta.com/th/?p=255