ในที่สุดรายการที่ทุกคนรอคอยจากต่างประเทศอย่าง Hell’s Kitchen ก็ได้ออกอากาศที่ประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภายใต้การดูแลและผลิตรายการจาก Heliconia H Group ผู้ผลิตรายการมากฝีมือ สิ่งที่น่าสนใจคือรายการนี้ทำให้ผู้คนได้เห็นมุมมองครัวระดับนานาชาติ การทำงาน และแรงกดดันที่ต้องเจอ จนทำให้บางคนต้องแสดงความคิดเห็นว่ารายการนี้อาจจะไม่เหมาะในประเทศไทยหรือไม่? หรือแม้กระทั่งหลายคนก็เห็นด้วยกับการกระทำบางอย่างของผู้ตัดสินเช่นกัน แน่นอนว่านอกจากการปะทะอารมณ์และเฉือนคมแบบห่ำหั่นแล้ว เรายังได้เห็นมุมมองอีกมุมที่น่าสนใจและควรเรียนรู้จากรายการในตอนแรกด้วยเช่นกัน เราจะมาแกะกันดูจากบทวิเคราะห์นี้กัน
Passion อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีฝีมือด้วย
ใน Hell’s Kitchen Thailand ตอนแรกนั้น ได้มีการแข่งขันตัวต่อตัวในแต่ละประเภทอาหาร เพื่อหาผู้ชนะในรายการให้ได้รับสิทธิพิเศษในรอบต่อไป ในช่วงหนึ่งเชฟวิลเมนท์ได้เข้าไปคุยกับ “เคอร์” หนึ่งในผู้เข้าแข่งขันซึ่งเคยมีประสบการณ์ฝึกงานขณะเรียนที่ฝรั่งเศสเป็นเวลา 3 ปี แต่ต้องแข่งกับ “เก่ง” Executive Chef ที่ชำนาญการ สิ่งหนึ่งที่เคอร์ได้ตอบคำถามของเชฟวิลเมนท์ว่า “จะชนะได้จริงๆ เหรอ?” นั่นก็คือ “เพราะว่า Passion มีมาทั้งชีวิต” แต่สิ่งที่เชฟวิลเมนท์ดึงมาสู่ความจริงก็คือ “Passion มันกินไม่ได้ มันไม่มีรสชาติ ต้องมีฝีมือเท่านั้น Passion อย่างเดียวมันไม่พอ”
ซีนนี้อาจจะเป็นซีนเล็กๆ ที่มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง แต่ถ้ามองดูดีๆ จะพบว่าจากการดูรายการเรียลลิตี้การทำอาหารในหลายๆ ครั้ง สิ่งนี้มักจะโผล่มาให้เห็นตลอดเวลา เพื่อย้ำให้กับคนดูที่กำลังจะสมัครเข้ามาอีกครั้งว่า คนเราการมีความฝันไม่ได้เท่ากับสำเร็จ ต้องผ่านการพิสูจน์และลงมือทำอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการพิสูจน์ว่าเรามีฝีมือและเป็นมืออาชีพมากพอให้คนยอมรับ ที่สำคัญคือไม่ว่าคุณจะมีตำแหน่งมากน้อยแค่ไหน ฝีมือและการกระทำของคุณคือสิ่งที่พิสูจน์งานและการพูดของคุณเท่านั้น
“ตำแหน่ง” ก็ไม่สำคัญ ถ้าคุณพลาดก็คือพลาด
อีกซีนหนึ่งที่ได้อะไรจากการดูมากๆ คือซีนการแข่งขันระหว่าง “เจมส์” F&B Executive Chef ที่ตนเองกล่าวว่า “ผมเป็นที่ปรึกษาด้านอาหารครับ เป็นเสมือนอยู่ฝ่ายบริหาร” ในขณะที่ “จิ๊บ” Executive Chef ซึ่งเป็นคู่แข่งตรงๆ ของเจมส์ก็บอกว่า “ไปวัดกันที่รสชาติค่ะเชฟ ไม่ชอบพูดมาก” แถมเมื่อเชฟอ๊อฟบอกว่าเจมส์เขากล่าวว่าเขาเป็นเจ้านายเชฟ จิ๊บก็บอกทันทีว่า “จะให้เขาเป็นไปค่ะ” แล้วจิ๊บก็กลับไปดูแลทั้งทีมและตนเองต่อ ตั้งใจทำงานอย่างระมัดระวัง
กลับกัน เจมส์ที่บอกว่าตนเองเป็นผู้บริหารเชฟ แต่สิ่งที่เจมส์พลาดอย่างร้ายแรง คือ การไม่ใช้ช้อนชิมของตนเองเพื่อชิมอาหารขณะปรุง แต่กลับใช้ช้อนคันเดียวทั้งคนและเอาเข้าปากชิม ซึ่งผิดสุขลักษณะอย่างร้ายแรง ในขณะที่คนอื่นๆ ใช้วิธีการตักมาวางหลังมือแล้วชิม หรือชิมแล้วเปลี่ยนช้อนทันที ทำให้เชฟป้อมเห็นแล้วต้องเครียดทันที และพูดว่า “ใครจะกินขี้ปากคุณ” หลังจากนั้นจึงสั่งให้เจมส์ทิ้งอาหารที่กำลังทำแล้วทิ้งทั้งหมด ซึ่งตอนนั้นเหลือเวลาไม่ถึง 20 นาทีก่อนจะหมดเวลาด้วยซ้ำ
สิ่งนี้ทำให้เราเรียนรู้หลักๆ คือ เราอย่ามั่นใจในการมีอยู่ของตำแหน่งของเรา ไม่ว่าตำแหน่งเราจะสูงเสียดฟ้าสักแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องทำงานให้ดีที่สุด ต้องพิสูจน์ว่าตำแหน่งที่เราได้มานั้นมันเหมาะสมแล้วจริงๆ รวมถึงไม่ไปดูถูกตำแหน่งของคนอื่น เพราะถึงแม้ว่าคุณจะเป็นใคร เป็นเจ้านายหรือลูกน้องใคร ทุกคนมีโอกาสที่จะทำผิดพลาดได้ทั้งหมด และพอคุณพลาดแล้ว ไม่มีใครหรอกที่จะไปโฟกัสตำแหน่งที่คุณมีอยู่ เพราะการพลาดของคุณย่อมส่งผลกระทบต่อคนอื่นรอบข้าง ไม่มากก็น้อย
“เวลา” คือสิ่งสำคัญที่ต้องมาคู่กับ “คุณภาพ”
ในช่วงเตรียมเปิดครัว เป็นอีกช่วงที่ผู้เขียนตื่นเต้นตลอดเวลา เพราะด้วยความกดดันที่เพิ่มลิมิตมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในครั้งนี้เชฟวิลเมนท์เป็น Head Chef ที่จะมาเปิดและคุมครัวด้วยตนเอง โดยมีทั้งสองทีมแข่งกัน โดยแต่ละทีมมีเวลาในการเตรียมครัวและเตรียมสูตรกันประมาณหนึ่ง และจากการชนะของฝ่ายหญิง ทำให้ฝ่ายหญิงได้เข้าไปล้วงสูตรกับเชฟวิลเมนท์ ส่วนฝ่ายชายเองก็ต้องจำสูตรเอาเอง และมาเตรียมครัวกันในวันถัดมา
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือแต่ละทีมต่าง “ลน” ทั้งการจัดเตรียมที่ไม่เรียบร้อย ฝ่ายหญิงมีทั้งทำคาราเมลไหม้ไปสองรอบ และการแหกสูตรด้วยการเอาปูไปต้ม แทนที่จะสตรีม (นึ่ง) ทำให้เชฟวิลเมนท์เข้ามาต่อว่าทันที เนื่องจากคุณภาพของสูตรจะไม่ได้รสชาติ ในขณะที่ฝ่ายชายเองก็มีการ “แบกหน้าที่” เกิดขึ้น โดยเก่งไม่ยอมแบ่งหน้าที่ให้กับคนอื่นๆ ทั้งๆ ที่คนอื่นๆ พร้อมรับผิดชอบช่วยเหลือกัน ทำให้เชฟวิลเมนท์ก็เข้ามาต่อว่าอีกเช่นกัน ยังไม่นับรวมรอบตัวต่อตัวที่ยิวไม่สามารถควบคุมเวลาได้ จนจานที่ไปเสิร์ฟให้เชฟป้อมชิม เป็นเพียงข้าวที่สุกแล้ว 1 ทัพพี
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องของ “เวลา” ที่ในเมื่อเวลาเรามีจำกัด เราจำเป็นต้องรีบจัดการบริหารให้ดีและมีประสิทธิภาพ โดยที่ต้องไม่ทำให้คุณภาพงานของเราสูญเสียไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการบริหารจัดการเวลาให้มีประสิทธิภาพ ล้วนมีผลกระทบในเชิงบวกต่อชีวิตเราทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการทำงานตรงเวลา การส่งงานตรงเวลา การลงงานตรงเวลา แม้กระทั่งการได้พักผ่อนตรงเวลา ซึ่งจะทำให้คนอื่นๆ ในกระบวนการทำงานสามารถส่งต่อและทำงานได้มีประสิทธิภาพและตรงต่อระยะเวลานั้นๆ และยังส่งผลพวงไปจนถึงงานที่มีคุณภาพในระยะเวลาที่รับได้ พองานจบทุกคนก็จะได้พักผ่อนอย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน
“อารมณ์” ไม่ช่วยให้ “ปัญหา” ดีขึ้น
ทันทีที่เปิดครัวใหญ่ สิ่งที่ทั้งสองทีม (รวมถึงผู้ชม – ผู้เขียนก็ด้วย) ต้องเจอก็คือ “แรงกดดัน” ที่เข้ามาในระหว่างการจัดอาหารเตรียมเสิร์ฟ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคุณภาพของอาหารไม่ได้มาตรฐาน ตลอดจนสถานการณ์ที่ทำให้อาหารไม่สามารถไปเสิร์ฟทัน ซึ่งสิ่งที่พบก็คือการที่ทีมสีน้ำเงินนั้นจู่ๆ ก็เตรียมอาหารจานหลักไปก่อนแล้ว ทั้งๆ ที่เชฟวิลเมนท์ไม่ได้สั่ง ทำให้หัวหน้าเชฟสั่งให้เอาไปทิ้งทันที รวมถึงทีมสีแดง ซึ่งก็คือ “จิ๊บ” ซึ่งดูแลอาหารทะเล เกิดความกดดันกับเชฟวิลเมนท์ที่เร่งอาหาร โดยเฉพาะหอยที่ต้องจี่ให้มันสุกประมาณหนึ่ง จนจิ๊บทนไม่ไหวและเกิดการใช้อารมณ์ โดยจู่ๆ ก็เสิร์ฟหอยให้เชฟวิลเมนท์ดู จนเชฟเห็นว่าไม่สุกก็เขวี้ยงถาดพร้อมหอยไป พร้อมต่อว่าว่า “คุณจะเสิร์ฟหอยดิบให้คนกินเหรอ?” ในขณะเดียวกันจิ๊บก็ให้สัมภาษณ์ในรายการว่า “ก็คุณจะเร่งอยากได้อาหาร เราก็เสิร์ฟให้คุณดูไง”
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า การใช้อารมณ์ไม่ว่าจะในสถานการณ์ไหนก็แล้วแต่ ไม่ใช่สิ่งที่ช่วยทำให้แก้ไขปัญหาได้เลย ในเมื่อคุณมีเวลาตั้งไว้ สิ่งที่คุณต้องทำคือ ต้องประเมินสถานการณ์ไปพร้อมๆ กับการคำนวณเวลาในการทำงาน เมื่อไหร่ที่เกิดปัญหา สิ่งที่แก้ไขได้ดีที่สุดคือ “คิด” ก่อนว่าปัญหาที่เข้ามา เราแก้ไขได้ไหม แล้วถ้าแก้ไขปัญหาต้องแก้ไขด้วยอะไรบ้าง? การใช้อารมณ์นอกจากจะไม่ช่วยให้ปัญหามันเบาลงแล้ว ยังทำให้เราต้องเจอปัญหาอื่นๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตด้วย ฉะนั้นอย่าใช้อารมณ์กระแทกกับปัญหา เพราะนอกจากจะได้แค่ความสะใจแล้ว คุณจะไม่ได้อะไรจากมันอีกเลย
ทำผิดก็ต้องยอมรับผิด และผู้นำไม่ได้เกิดขึ้นจากตำแหน่ง แต่เกิดจากการกระทำ
จากปัญหาที่เกิดขึ้นในครัวระหว่างการแข่งขันที่พบหลักๆ คือการที่ “แอ้ม” จากทีมสีแดง และ “ยิส” จากทีมสีน้ำเงิน ทั้งคู่รับบทเป็นผู้ดูแลการแกะปูเป็นหลัก กลับทำให้คุณภาพของอาหารจานนั้นที่มีส่วนผสมของปูลดลง ด้วยการไม่ตรวจสอบคุณภาพในขณะแกะปู ทำให้มีเศษปูและส่วนประกอบอื่นของปูปนเปื้อน ทำให้เชฟวิลเลี่ยมไม่พอใจและโดนส่งกลับไปทำใหม่ถึง 3 รอบ
แต่ปัญหาไม่ได้จบแค่นั้น เมื่อทั้งคู่ไม่ยอมรับในการกระทำทั้งสามครั้งเลย กลับกลายเป็น “มาลี” จากทีมสีแดง และ “พริกเผ็ช” จากทีมสีน้ำเงิน กลับกลายเป็นคนรับหน้าแทน เพราะคนผิดไม่ยอมรับผิด จนทำให้ทั้งคู่โดนเชิญออกจากครัว รวมถึงกินของที่คนอื่นทำผิดพลาดไว้อีก และส่งผลให้เชฟวิลเลี่ยมทำการปิดครัวทันที! สิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากนั้นคือในช่วงของการโหวตคัดคนออก ทั้ง “ยิส” และ “แอ้ม” กลับไม่โหวตตัวเองออก เพราะไม่อยากออกจากการแข่งขัน
สิ่งที่เรียนรู้จากช่วงท้ายของรายการ คือการยอมรับความจริงเมื่อเราทำผิดพลาด และต้องยอมรับทันที พร้อมกับเรียนรู้ข้อผิดพลาดว่าเราจะรีบแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง และจะเดินหน้าต่ออย่างไรบ้าง ในขณะเดียวกัน การทำงานในครัวต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม ฉะนั้นด้วยแรงกดดันทั้งหมดที่เกิดขึ้นขณะแข่งขัน ภาวะผู้นำในตัว “มาลี” และ “พริกเผ็ช” จึงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ บางทีเราอาจจะนึกว่าการเป็นผู้นำคือต้องชี้นิ้วสั่ง แต่จริงๆ แล้วภาวะผู้นำ คือการเข้าไปสนับสนุนการทำงานของทุกคนแบบไม่มีข้อแม้ เพื่อทำให้การทำงานโดยรวมราบรื่นจนจบนั่นเอง
นี่คือส่วนหนึ่งที่ได้จากรายการ Hell’s Kitchen Thailand ในตอนแรก หากสนใจอยากดูต่อ สามารถติดตามได้ในวันอาทิตย์ 18:00 น. ทางช่อง 7HD หรือติดตามย้อนหลังที่ YouTube : Hell’s Kitchen Thailand