จากหลากหลายงานวิจัยที่เผยแพร่โดย Psychological Bulletin ระบุเอาไว้ว่าหากไล่เรียงประชากรโลกทั้งหมด 90% ของจำนวนทั้งหมดจะเป็นคนถนัดขวา และอีก 10% ที่เหลือคือคนถนัดซ้าย และทำให้นอกจากอำนาจชายเป็นใหญ่บนโลกใบนี้แล้ว อำนาจแห่ง ‘คนถนัดขวา’ เป็นใหญ่ ก็ดูจะทำให้ชีวิตของชนกลุ่มน้อยอย่างคนถนัดซ้ายนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก
และความลำบากที่ว่าก็ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ระดับที่สร้างปัญหาให้กับชีวิต แต่ดันเป็นความลำบากที่สร้างความน่ารำคาญเสียเป็นส่วนใหญ่ จากอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาโดยไม่ได้คำนึงถึงพวกเขาอย่างจริงจัง
ไล่เรียงตั้งแต่ ‘สายฉีดก้น’ ตามห้องน้ำ ที่ปกติมักจะติดไว้ในฝั่งที่คนถนัดขวาใช้งานได้สะดวก แล้วคนถนัดซ้ายล่ะ เวลาที่พวกเขาใช้สายถึงกับพัวพันไปมา หรือไม้บรรทัด ที่ทำออกมาเพื่อให้คนถนัดขวาใช้ลากเส้นตามทิศทางมือได้ง่ายกว่า แล้วลองสลับมือกันใช้ดูสิ จะเห็นเลยว่าไม้บรรทัดก็ไม่ได้สร้างมาเพื่อคนถนัดซ้ายด้วยเหมือนกัน
ด้วยเหตุนี้ ในวันคนถนัดซ้ายสากล 13 สิงหาคม 2561 ‘ชินโกะ คาโตะ’ Copy Writer ชาวญี่ปุ่น จึงได้มองเห็นลู่ทางการทำธุรกิจที่ใส่ใจคนถนัดซ้าย ผ่านการขายสินค้าในชีวิตประจำวันที่เหมาะกับพวกเขาอย่าง ‘Hidari-kiki no Doguten’ และกลายเป็นร้านขายสินค้ากระจุกกระจิกที่มีแนวคิดน่ารัก และน่าบอกต่อให้ทุกคนได้รู้จักสิ่งนี้มากขึ้น
ชินโกะพิมพ์บันทึกของเขาไว้ในบทความที่ชื่อ “ฉันเริ่มร้านขายเครื่องมือสำหรับคนถนัดซ้าย” และเริ่มต้นเล่าถึงที่มาที่ไปของธุรกิจนี้ ว่ามาจากการที่ ‘อายะ คาโตะ’ ภรรยาของเขาเป็นคนถนัดซ้ายมาตั้งแต่เกิด ทำให้เธอเป็นคนสนใจสินค้าที่ทำมาเพื่อคนถนัดซ้ายแต่ไหนแต่ไรตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี แต่ในตอนนั้นภรรยาของเขายังไม่เห็นเลยว่าจะมีร้านค้าร้านไหนที่ใส่ใจคนถนัดซ้ายจริง ๆ บ้าง ชินโกะและภรรยาของเขาจึงตั้งแต่เริ่มต้นทำสิ่งนี้ด้วยตัวเอง ในฐานะบริษัทที่มีเพียงคน 2 คนดำเนินธุรกิจโดยไม่มีประสบการณ์มาก่อน
“โปรเจกต์ที่ไม่มีผู้ทุ่มเทจะอยู่ได้ไม่นาน” คาโตเขียนไว้ตอนหนึ่งของบทความ เพื่อเล่าถึงความตั้งใจของเขาและภรรยาที่อยากทำให้ธุรกิจนี้สร้างรากฐานที่แข็งแรงและอยู่ไปได้นานอีก 5 ปี 10 ปี
ร้านเครื่องมือคนถนัดซ้ายของพวกเขาเริ่มต้นด้วยสินค้าเพียงไม่กี่ชิ้นที่ขายผ่านระบบออนไลน์ โดยสินค้าเหล่านั้นล้วนเป็นเครื่องไม้เครื่องมือทั่วไปในชีวิตประจำวัน ที่หากจะหาซื้อด้วยเงื่อนไขของการออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้คนถนัดซ้ายใช้นั้นจะเป็นเรื่องยากมาก ชินโกะและอายะจึงเลือกสรรสินค้าที่ ‘น่าสนใจ’ และมี ‘ดีไซน์คุณภาพเยี่ยม’ ทำให้อยากใช้งานไปนาน ๆ และที่สำคัญคือคนถนัดซ้ายต้องใช้งานได้อย่างสะดวก ไร้ปัญหากวนใจ
แม้แต่ตัวโลโก้ของร้านที่วาดโดยนักวาดภาพประกอบถนัดซ้าย ‘โยชิมิ อิโตะ’ ซึ่งออกแบบมาเป็นคาแรกเตอร์ลายเส้นขยุกขยักรูปหมีขั้วโลก เพราะมันเป็นสัตว์ที่มีตำนานจากชาวเอสกีโมเล่าขานกันว่า “หมีขั้วโลกทุกตัวล้วนถนัดซ้าย” นั่นเอง ใส่ใจทุกกระเบียดนิ้วจริง ๆ
โปรเจกต์นี้ของพวกเขาเริ่มต้นขึ้นอย่างง่าย ๆ และค่อย ๆ เติบโตอย่างมั่นคง ผ่านการสรรหาสินค้ามาเติมในร้านทีละชิ้นสองชิ้น ก่อนที่พวกเขาจะได้เริ่มออกแบบสินค้า Original สำหรับคนถนัดซ้ายของร้านขึ้นมา โดยเริ่มต้นจากอะไรง่าย ๆ อย่าง ‘แฟ้มใสอเนกประสงค์’ ที่ตั้งใจออกแบบมาให้เหมาะกับคนถนัดซ้ายและขวาเหมือนกัน ในราคาย่อมเยาที่ 220 เยน (ราว 52 บาท)
หรือสินค้าอีกชิ้นที่เราชอบแนวคิดของมันมากก็คือ ‘ไม้บรรทัดแบบใส’ ที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยใช้งานกัน และคนถนัดขวาอย่างเราก็นึกไม่ถึงว่าในมุมหนึ่งผลิตภัณฑ์นี้ก็สร้างความลำบากให้คนถนัดซ้ายไม่น้อย เพราะโดยปกติที่คนถนัดขวาขีดเส้นบนไม้บรรทัด พวกเขาจะใช้มือซ้ายในการจับไม้บรรทัดให้มั่น ก่อนใช้มือขวาหยิบอุปกรณ์การเขียน แล้วลากเส้นเข้าหาตัวเองไปตามแรงไล่จากฝั่งซ้ายไปขวา ทำให้สามารถควบคุมน้ำหนักได้ดี
ในขณะที่คนถนัดซ้าย พวกเขาต้องใช้มือขวาจับไม้บรรทัดให้มั่น แล้วใช้มือซ้ายเขียนลากเส้นจากซ้ายไปขวา ซึ่งเป็นการลากเส้นออกจากตัว ซึ่งทำให้การควบคุมน้ำหนักทำได้ไม่ดี และมองไม่เห็นว่าเส้นที่ลากไปแล้วเป็นอย่างไรบ้างเพราะมือที่ลากไปขวางสายตาอยู่
สินค้าของพวกเขาจึงทำมาเป็นไม้บรรทัดระบบเซนติเมตรล้วนทั้งสองฝั่ง ซึ่งมีความแตกต่างกันที่ฝั่งหนึ่งจะใส่ตัวเลขให้เหมาะกับคนถนัดขวา คือใส่ตัวเลขกำกับขนาดเริ่มต้นจาก 1 – 15 ซม. ไล่จากทางซ้ายไปขวา ส่วนอีกฝั่งใส่ตัวเลขกำกับที่เหมาะกับคนถนัดซ้าย คือใส่ตัวเลขย้อนกลับ 15 – 1 ซม. จากซ้ายไปขวาแทน ทำให้รูปแบบการลากเส้นเหมาะมือมากขึ้น และแชร์อุปกรณ์ระหว่างกันได้ทั้งคนถนัดซ้ายและถนัดขวา ง่าย ๆ แบบนี้เอง
นอกจากไอเดียของไม้บรรทัดที่สลับมาตรวัดแล้ว ก็ยังมีไอเดียของสินค้าประเภทตวงที่สร้างปัญหาให้คนถนัดซ้ายในการใช้งานจริง ลองคิดดูว่าสินค้าส่วนใหญ่ประเภทกระบวยหรือถ้วยตวง หากไล่ไปจากด้ามจับที่ทำมาเพื่อคนถนัดขวา ปากกระบวยมักจะอยู่ทางซ้ายเสมอ เพื่อให้เราเทไปทางซ้ายได้ตามหลักการหมุนข้อมือ แล้วคนถนัดซ้ายล่ะ พวกเขาก็ต้องเจอความลำบากจากการใช้งานอย่างที่บอกไป สินค้าที่ ‘Hidari-kiki no Doguten’ เลือกสรรมาก็คือกระบวยหรือถ้วยตวงที่มีปากหันไปทางขวา เพื่อให้คนถนัดซ้ายใช้งานได้ง่ายขึ้น
หรือสินค้าประเภทอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันที่ปกติมักจะเปิดจากซ้ายไปขวา ก็เปลี่ยนวิธีคิดเป็นจากขวามาซ้าย อย่างเช่นกระเป๋าสตางค์ หรือกล่องใส่ดินสอที่ถูกออกแบบมาอย่างญี่ปู๊น..ญี่ปุ่น กล่องคลีน ๆ สีขาว ที่มีคาแรกเตอร์หมีขั้วโลกยืนกางแขนซ้ายอยู่บริเวณขวาล่างของหน้ากล่อง และเมื่อคุณเปิดมันออก ก็จะเจอคำว่า “Left-handed” เล็ก ๆ อยู่บนนั้น
‘Hidari-kiki no Doguten’ เติบโตขึ้นอย่างมั่นคง ด้วยฐานลูกค้าที่มองหาร้านที่รวบรวมสินค้าสำหรับคนถนัดซ้ายเหมือน ๆ กัน “เมื่อคุณพูดคุยกับใครสักคนและพบว่าพวกเขาถนัดซ้าย จู่ๆ คุณก็รู้สึกถึงความเป็นเครือญาติกับพวกเขา ฉันคิดว่ามันน่าสนใจที่มีความรู้สึกของความสนิทสนมกันอยู่เหนืออายุและเพศ” อายะกล่าวกับ Oricon News สำนักข่าวของประเทศญี่ปุ่น
ภายในเวลาราว ๆ 3 เดือนแรก พวกเขามีผู้ติดตามบน Twitter ถึงหลักพันคนเป็นครั้งแรก และมีคนสนใจสิ่งนี้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ มีสื่อมาสัมภาษณ์ มีผู้ร่วมอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สินค้าเพิ่มขึ้น ยอดขายก็กระเตื้องขึ้นตามลำดับ จนพวกเขาขยายการรับรู้ออกไปมากมายตลอดระยะเวลา 6 ปีเต็มในวันนี้ และเริ่มมี Pop-up Store ขึ้นครั้งแรกที่ Shibuya Tsutaya รวมถึงยังขยายตลาดไปยังต่างประเทศในชื่อแบรนด์ ‘Hidari’ ที่ตั้งใจตั้งชื่อให้สั้นและจำง่าย รวมถึงเขย่าแบรนด์ให้เข้าถึงความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น
จนกระทั่งในปีนี้ พวกเขาเพิ่งปรับปรุงสำนักงานและโกดังสินค้าเดิมของธุรกิจครึ่งหนึ่งให้กลายเป็นร้านค้าจริงเมืองคาคามิกาฮาระ จังหวัดกิฟุ และเปิดให้ลูกค้าเข้าร้านเพียง 4 วันต่อเดือนเท่านั้น บรรยากาศภายในร้านเรียกได้ว่า ‘อบอุ่น’ ตามสไตล์ญี่ปุ่นอย่างแท้จริง วัสดุไม้ ๆ และพื้นผิวสีเบจคลุมบรรยากาศของร้านให้ดูน่าไว้ใจและมอบความรักให้กับผู้คนที่แวะเวียนไปที่ร้านได้เป็นอย่างดี ชนิดที่เรียกได้ว่าหากเรามีโอกาสไปญี่ปุ่น ยังอยากแวะเวียนไปจริง ๆ เลย
ในมุมมองของเรา ‘Hidari-kiki no Doguten’ คือธุรกิจที่ดูไม่ได้มุ่งหวังเอาแต่ผลกำไร พวกเขาให้กำเนิดสิ่งนี้ขึ้นด้วยปัญหาที่พวกเขาพบเจอ เหมือนกับคนถนัดซ้ายอีกหลายล้านคนบนโลกใบนี้ และถึงแม้การเติบโตจะไม่พุ่งกระฉูดนัก แต่ความสำเร็จของแบรนด์นี้การทำให้ผู้ผลิตที่ทุ่มเทกับสิ่งนี้อย่างจริงจัง ได้พบเจอกับกลุ่มลูกค้าที่ตรงจุดกลางเป้าหมายพอดีแบบเป๊ะ ๆ ซึ่งเป็นการพบกันอย่างอบอุ่น และเข้าใจคนหัวอกเดียวกันได้อย่างเต็มเปา
ที่มา
- https://www.oricon.co.jp/special/52499/
- https://hidari.com/pages/our-stores
- https://note.com/katoshingo/n/n0ef0c1d78685?magazine_key=me734f008f8d0