ยุคดอกเบี้ยแพง

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 กุมภาพันธ์ 2567) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 4/2556 และทั้งปี 2566 รวมถึงไปถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ขยายตัว 1.7% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.4% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าและลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจทั้งปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 2.5% ในปี 2565 และต่ำกว่าเป้าคาดการณ์ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 66 จะขยายตัวได้ 2.7 – 3.7% (ค่ากลางอยู่ที่ 3.2%)

ในแถลงข่าวครั้งนี้สภาพัฒน์ได้แสดงความกังวลถึงหนี้ภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งช่วงที่ผ่านมาจะมีสินเชื่อที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SML) เริ่มเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ หรือ หนี้เสีย (NPL) ซึ่งเพิ่มจำนวนเพิ่มขึ้นมาก สะท้อนถึงปัญหาหนี้ที่อยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ดังนั้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปจึงควรที่ต้องพิจารณามาตรการด้านการเงินอย่างการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ที่ผ่านมาทางฝั่งภาครัฐ หรือรัฐบาลได้ใช้มาตรการต่างๆ เกือบทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว มาตรการสนับสนุนการลงทุนใหม่ในประเทศ และการเร่ง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 การเร่งรัดเบิกจ่ายที่เป็นงบประจำและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นถึงเวลาที่จะต้องใช้มาตรการด้านทางการเงินเข้ามาช่วยเศรษฐกิจในยามนี้

ต่อมาในช่วงค่ำวันเดียวกันนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ผ่าน X “วิงวอนให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เรียกประชุม กนง. นัดพิเศษเพื่อพิจารณาลดดอกเบี้ย” หลังตัวเลขเศรษฐกิจต่ำกว่า 2% และตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 เดือน ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยมาจากการอุดหนุนพลังงานของรัฐบาล ประกอบกับรายได้จากการท่องเที่ยวยังต่ำอยู่และการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องหลายเดือน

ล่าสุดผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ออกมาโต้กลับว่าไม่เห็นด้วยกับการให้เรียกประชุมนัดพิเศษเพื่อลดอัตราดอกเบี้ย แม้จะรับรู้ถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงต่อผู้กู้ยืม แต่การลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควรอาจสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 90% ของ GDP และขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะลดอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตามจากการประชุม กนง. ครั้งล่าสุด (7 กุมภาพันธ์ 2567) กนง. ยังมองเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียงระดับ 1.0% ในปีนี้ และโอกาสมากขึ้นที่ กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยในช่วงกลางปีหลังจากมติไม่เป็นเอกฉันท์หรือ 5-2 ให้คงอัตราดอกเบี้ย 2.50% ซึ่งจากแรงกดดันจากฟากฝั่งรัฐบาลที่พยายามที่พยายามสื่อสารออกมาว่าเศรษฐกิจวิกฤติและกดดันให้ลดดอกเบี้ยเพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้ รวมไปถึงการผลักดันให้โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล อาจจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเลือกเดินส่วนทางกับสิ่งที่รัฐบาลร้องขอ เพราะหาก ธปท. รับลูกรัฐบาลโดยดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้อยทั้งที่เศรษฐกิจไม่วิกฤติอาจจะเป็นภาพสะท้อนว่ารัฐบาลเข้ามาแทรกแซงภาคการเงินทำให้ไม่มีอิสระต่อการดำเนินนโยบาย ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้

ยุคดอกเบี้ยแพง

เรื่อง : ประกฤติ โคตพงษ์