เวลาเราไปเดินเลือกซื้อจอสำหรับใช้งานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา มันมีอยู่หลากหลายรูปแบบ, ขนาด, สเปก และราคามากมายเต็มท้องตลาดไปหมด แต่จอหนึ่งที่เป็นที่ถกเถียงกันเยอะมาก ๆ คือ หน้าจอที่หลาย ๆ แบรนด์เคลมมาสำหรับการเล่นเกมโดยเฉพาะ จุดหนึ่งของจอในกลุ่มนี้จะมีค่า Refresh Rate ที่สูงมาก ๆ ไปถึงระดับ 360 Hz หรือมากกว่านั้นเลยทีเดียว วันนี้เราจะมาเล่ากันว่า คนเราสามารถรับรู้ Refresh Rate ด้วยตาเนื้อได้มากขนาดนั้นจริง ๆ เหรอ
Refresh Rate คืออะไร ?
ค่า Refresh Rate บนหน้าจอ คือค่าที่หน้าจอตัวนั้น ๆ จะสามารถเปลี่ยนสถานะตัวเองได้ โดยใช้หน่วยเป็น Hertz (Hz) หากเราเคยเรียนฟิสิกส์มาอาจจะคุ้นเคยกับหน่วยนี้ในเรื่องความถี่ต่าง ๆ เมื่อนำมาใช้ในฝั่งของจอหลักการมันเหมือนกัน เช่น จอเรามี Refresh Rate 60 Hz หมายความว่า ใน 1 วินาที จอตัวนี้สามารถเปลี่ยนภาพไปเรื่อย ๆ ได้ 60 ครั้ง
เราอาจจะสับสนกับคำว่า Frame Per Second (FPS) แต่จริง ๆ มันต่างกันนิดน่อย ฝั่ง FPS เรากำลังพูดถึงว่า ใน 1 วินาที เรามีภาพ (Frame) อยู่ทั้งหมดเท่าไหร่ เช่น เราบอกว่า 60 FPS เท่ากับ 1 วินาที เรามีอยู่ 60 Frame
ในความเป็นจริง ค่าทั้งสองนี้อาจจะไม่ต้องเท่ากันก็ได้นะ เช่น เราบอกว่าหน้าจอของเรามี Refresh Rate 60 Hz และเกมที่เราเล่น ณ ตอนนั้นสามารถทำได้ 120 FPS มันไม่ได้แปลว่าหน้าจอเราแสดงผล 120 Frame ใน 1 วินาทีจริง ๆ เพราะหน้าจอเราสามารถเปลี่ยนสถานะได้แค่ 60 ภาพต่อวินาทีเท่านั้น ทำให้หน้าจอจะต้องเลือก Frame แค่ครึ่งเดียวจากที่เครื่องคอมพิวเตอร์ส่งมาให้ หรือกลับกัน เวลาเราเล่นเกมหรืออยากจะแสดงผลสิ่งที่มี FPS ต่ำกว่าหน้าจอ ตัวหน้าจอมันจะทำการสร้าง Frame ตรงกลางที่ขาดมาเสียบ สามารถทำได้หลากหลายวิธีมาก ๆ สามารถไปหาในเรื่องของ Frame Interpolation ได้ มันทำเพื่อให้หน้าจอสามารถแสดงผลได้ตามที่มันควรจะทำได้
หน้าจอแบบ Variable Refresh Rate
จากปัญหาที่เกิดขึ้นว่า บางครั้งสิ่งที่เราแสดงผลออกทางหน้าจอมันไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเยอะขนาดที่หน้าจอทำได้ เช่น เวลาเราอ่านหนังสือ หรือทำให้หน้าจออยู่นิ่ง ๆ เป็นเวลานาน การต้องมานั่งทำ Frame Interpolation กับไม่ทำค้างหน้านั้นไว้ มันให้ผลที่ไม่ได้ต่างกันเลย เพราะเราอยู่นิ่ง ๆ จึงมีคนเริ่มคิดว่า หรือว่าเราลองมาทำหน้าจอที่สามารถปรับ Refresh Rate ได้กันดีนะ มันเลยออกมาในหน้าจอแบบ Variable Refresh Rate
หน้าจอพวกนี้ส่วนใหญ่ที่เราเห็นกันจะอยู่บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ อย่าง โทรศัพท์ และ แท็บเล็ต มากกว่า เพราะข้อดีของหน้าจอลักษณะนี้คือ มันมีการกินพลังงานน้อยกว่าหน้าจอแบบ Refresh Rate คงที่ ทำให้เวลาเราอ่านสเปกของหน้าจอพวกนี้จริง ๆ เรามักจะเจอว่าหน้าจอแบบ 120 Hz แต่เอาเข้าจริงเราจะได้ใช้ 120 Hz จริง ๆ สักเท่าไหร่กันเชียว ส่วนใหญ่อาจจะอยู่ที่ 90 Hz เท่านั้น เช่น หน้าจอแบบ ProMotion ของ Apple ที่มีสื่อออกมาเปิดเผยว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ได้ทำงานแบบ 120 Hz ตลอดเวลา มันลดไปเยอะมาก ๆ และบางหน้าจอเลือกใช้ความที่มันปรับได้มาเป็นลูกเล่น โดยบอกว่ามันสามารถลด Refresh Rate ตัวเองเหลือ 1 Hz เท่านั้นเพื่อประหยัดพลังงาน
Refresh Rate สูงสุดเท่าไหร่ที่มนุษย์จะรู้สึกได้ ?
ในท้องตลาดเราตอนนี้มีหน้าจอ Refresh Rate ที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ทำให้มันนำมาสู่คำถามดั่งในหัวข้อว่า แล้วการที่ Refresh Rate สูง ๆ คนรู้สึกได้จริง ๆ เหรอ แล้วมันจะไปถึงมากแค่ไหนกันนะ
ก่อนจะไปสูงสุด ขอมาที่ต่ำสุดกันก่อน โดยทั่วไปคนเราจะเริ่มรับรู้ว่าสิ่ง ๆ นั้นมันเคลื่อนไหวจริง ๆ ไม่ได้รู้สึกกระตุก ๆ เริ่มต้นมันอยู่ที่ 24 Hz อาจจะรู้สึกว่ามันน้อยมาก ๆ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ภาพยนตร์ที่เราดูอยู่ในทุก ๆ วันนี้เขาทำมาโดยกำหนด Frame Rate ไว้ที่ 24 FPS เท่านั้น แต่เราก็สามารถดูหนังได้โดยที่ไม่รู้สึกว่ามันกระตุกหรืออะไรทั้งนั้น เราก็รู้สึกว่ามันคือภาพเคลื่อนไหวปกติเท่านั้นเอง
แต่ถ้าถามว่า สูงสุด มันจะไปจบตรงไหน เรื่องนี้คงยังบอกไม่ได้ เนื่องจากทุกวันนี้เราไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนจากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่สิ่งที่บอกได้คือ ยิ่งเราเพิ่ม Refresh Rate ให้สูงมากขึ้นเรื่อย ๆ การรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของ Refresh Rate จะน้อยลงเรื่อย ๆ เช่น เรารู้สึกกับการเปลี่ยนหน้าจอที่มี Refresh Rate 30 Hz เป็น 60 Hz มากกว่า การเปลี่ยนจาก 120 Hz เป็น 240 Hz หรือก็คือการเพิ่ม Refresh Rate มากขึ้นเรื่อย ๆ แพงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผลความแตกต่างที่ได้ก็จะน้อยลงเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน
แปลว่าหน้าจอที่มี Refresh Rate สูง ๆ ก็การตลาดล้วน ๆ สิ ?
อ้าว… แล้วแบบนี้พวกหน้าจอ Refresh Rate สูง ๆ ระดับ 360 Hz มันก็ไร้ค่า เป็นแค่การตลาดเท่านั้นจริง ๆ ? ต้องบอกว่า มันอาจจะไม่ใช่แบบนั้นซะทีเดียว เพราะว่าคนบางคนสามารถรับรู้การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วแบบนั้นได้จริง ๆ โดยเฉพาะคนที่ผ่านประสบการณ์การต้องเจอการเปลี่ยนแปลงบนหน้าจอเร็ว ๆ บ่อย ๆ อย่างกลุ่มคนที่เล่นเกมจำพวก FPS ดังนั้นหน้าจอพวกนี้เลยยังจำเป็นสำหรับคนที่เล่นเกมอยู่นั่นเอง หรือกระทั่งคนบางคนที่เคยชินกับการใช้หน้าจอ Refresh Rate มากกว่า 60 Hz ไปแล้ว พอต้องกลับไปใช้หน้าจอ 60 Hz อีกครั้งก็อาจจะรู้สึกไม่สบายตา เพราะตาของเขามันถูกทำให้คิดว่า Refresh Rate สูง ๆ มันเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว เรียกว่าถ้าหากลิ้มลองมันก็ออกไม่ได้เลยละ
แต่สำหรับการใช้งานทั่ว ๆ ไป การใช้หน้าจอ Refresh Rate ระดับ 60 FPS ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว และสำหรับคนที่อยากได้หน้าจอที่ Refresh Rate ในราคาที่น่ารักไม่ขูดรีดกระเป๋าตังค์เรามากนัก การใช้หน้าจอที่มี Refresh Rate ระดับ 120 – 144 Hz น่าจะเป็นจุดตรงกลางที่ราคาไม่รุนแรงมาก และสร้างความแตกต่างในการใช้งานให้กับเราได้