คิดถึงวัยเด็กกันบ้างไหม และวัยเด็กของคุณมีหน้าตาเป็นแบบใด
วัยเด็กของเรามีหน้าตาเป็นพื้นที่ขนาดยักษ์ที่เอื้ออำนวยต่อการปีนป่าย เดินขึ้นทางลาด ไถลตัวลงทางลื่น หรือยืนเฉย ๆ บนเบาะนุ่ม ๆ ในนั้น ที่ ๆ ไม่ได้มีแต่ความว่างเปล่า แต่เต็มไปด้วยวัสดุพลาสติกทรงกลมเบาหลากสีสัน ที่อยู่รวมกันเป็นหมู่คณะคอยต้อนรับเรา วัยเด็กนั้นของเราคือ ‘บ่อบอล’
สถานที่นี้น่าสนใจตรงที่ว่า นอกจากมันจะเป็นพื้นที่แห่งความสุขของเหล่าเด็ก ๆ แล้ว บ่อยครั้งในยุคสมัยนี้มันกลายเป็นโปรเจกต์น้อยใหญ่ที่นำเอา ‘บ่อบอล’ มาเป็นพื้นที่แห่งความผ่อนคลายของผู้ใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน ผ่านงานนิทรรศการที่จัดแสดงในพื้นที่ศิลปะต่าง ๆ ที่สร้างอารมณ์ให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเกิดดความผ่อนคลายได้เหมือนกัน
SUM UP เลยอยากพาคุณเดินทางผ่านวันเวลากลับไปยังจุดเริ่มต้นว่าเจ้าบ่อบอลนี้ถือกำเนิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมพื้นที่แห่งความผ่อนคลายนี้ถึงถือกำเนิดมาเพื่อพวกเขาโดยเฉพาะ
‘บ่อบอล (Ball Pit)’ ถือกำเนิดขึ้นด้วยฝีมือของ ‘เอริค แมคมิลแลน (Eric McMillan)’ นักออกแบบชาวแคนาดาที่เริ่มต้นชีวิตการทำงานผ่านการเป็นนักออกแบบนิทรรศการ ชีวิตวัยเด็กของเขาที่บ้านเกิด มีซากบ้านเรือนและสถานที่ก่อสร้างที่ถูกทิ้งร้างในพื้นที่ ‘Strangeways’ หรือพื้นที่เรือนจำเก่าแก่ของท้องถิ่นในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ที่ถูกทิ้งระเบิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสนามเด็กเล่นของเขา สนามเด็กเล่นที่มากด้วยความเป็นไปได้ของวิธีการเล่นสนุกอย่างไร้ข้อจำกัด
เมื่อโตขึ้น เขาเลือกเรียนต่อในโรงเรียนศิลปะ และวิทยานิพนธ์จบการศึกษาของเขาว่าด้วยเรื่องของเด็กที่เล่นสนุกกันในพื้นที่ยากแค้น เพื่อดูว่าการแยกออกจากการทางความคิดของเด็ก ๆ ทำงานอย่างไร
และทำงานแรก ๆ เป็นนักออกแบบนิทรรศการในคณะกรรมการนิทรรศการของรัฐบาลแคนาดา ผลงานแรก ๆ ที่สร้างชื่อให้เขาประสบความสำเร็จในฐานะนักออกแบบนิทรรศการ คือ Explosions (1971) นิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวการวิวัฒนาการของภาคสังคมและเศรษฐกิจของเมือง Ontario ตลอด 300 ปี ใน 10 นาที ผ่านห้องที่ผนังทั้ง 4 ด้านเป็นกล่องสี่เหลี่ยมวางเรียงกันแบบไล่ระดับความลึก-ตื้น และฉายภาพแบบผสมผสานผ่านโปรเจ็กเตอร์กว่า 90 เครื่อง
งานนั้นทำให้เขาขยับขึ้นเป็นหัวหน้าของคณะกรรมการนิทรรศการของรัฐบาลแคนาดาได้สมความตั้งใจ
ปีถัดมา เอริคได้รับมอบหมายให้สร้าง ‘Children’s Village’ ใน Ontario Place เพื่อทำให้เป็นสถานที่สำหรับเด็กที่มีไอเดียจากความต้องการให้พื้นที่สำหรับเด็กนี้มีความแตกต่างจากที่อื่นที่แสนน่าเบื่อ และดูเหมือน ๆ กันไปหมด
ภายหลังระดมความคิดกันกว่า 2 สัปดาห์ เขาและเดวิด ลอยด์ (David Lloyd) ผู้ช่วยของเขาก็มาพร้อมไอเดียที่น่าสนใจ อย่างรูปแบบการเล่น ‘Soft Play’ ที่ดูจะเป็นขั้วตรงข้ามของรูปแบบการเล่นอื่น ๆ ของเด็กยุคนั้น เขาสร้างพื้นที่อิสระขนาด 2 เอเตอร์ ที่มีทั้งภูเขาจำลองทำจากแผ่นไวนิลและโฟมสีสดใส สร้างบันไดตาข่ายที่ดูเหมือนใยแมงมุมจากเชือก สร้างสิ่งที่ดูเหมือนเตียงนอนขนาดยักษ์ หน้าตาเป็นเบาะนุ่ม ๆ บรรจุลมให้เดินหรือวิ่งได้ ทั้งหมดนี้ดูเหมือนจะเป็นพื้นที่ที่เหล่าเด็ก ๆ จะ ‘เล่นอะไรก็ได้’ มากกว่าที่จะดูเป็นการบอกว่าพื้นที่เครื่องเล่นเหล่านี้มัน ‘เล่นยังไง’
‘Children’s Village’ เปิดทำการอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม 1972 และประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง “ผู้คนชื่นชอบมัน และมันก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของ Ontario Place อย่างรวดเร็ว ทันใดนั้นผมก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการเล่นของเด็ก” เอริคกล่าว
ด้วยเหตุนี้เอง เขาจึงได้รับหน้าที่ให้ออกแบบพื้นที่สนามเด็กเล่นสำหรับเด็กอีกเกือบ 10 แห่ง และเขาจึงได้หยิบเอารูปแบบของ ‘บ่อบอล’ มาทำให้เป็นพื้นที่สำหรับเล่นอย่างเรื่องเป็นราว จากการทำบ่อขนาดยักษ์แรก ๆ ที่มีลูกบอลพลาสติกจำนวนกว่า 40,000 ลูก โดยมีแรงบันดาลใจมาจากการมองดูภาชนะใส่หัวหอมดองในห้องครัว แล้วเขาก็คิดกับตัวเองว่าหากเราสามารถคลานผ่านมันไปได้ล่ะ เขาเลยตัดสินใจว่าจะลองสร้างมันขึ้นมา
เขาเลือกใช้พื้นที่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสวนสนุกหรือสนามเด็กเล่นที่เขาสร้างหลากหลายแห่ง อย่าง SeaWorld Captain Kids World (1976) ในซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา หรือ Sesame Place (1980) ในเขตชานเมืองของฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกาเช่นกัน
ความน่าสนใจของพื้นที่เล่นสนุกในรูปแบบนี้คือความ ‘ไม่ตายตัว’ ที่สะท้อนผ่านหน้าตาที่มีความเป็นกลาง ไม่ได้สื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและเฉพาะเจาะจงว่าตัวเองจะต้องใช้เท้าก้าวขึ้นไปนั่ง แล้วปล่อยให้ตัวเองหมุนอยู่บนฐานวงกลมอย่างม้าหมุน หรือต้องไปหาเพื่อนมาอีกคนหนึ่งเพื่อนั่งบนเครื่องเล่นที่เรียกว่าไม้กระดก เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างออกแรงยกตัวเองขึ้นแล้วลงสลับกัน
เครื่องเล่นของเอริคนั้นเปิดกว้างให้กับทุกความหลากหลายทางรูปแบบความคิดของเด็ก ๆ พวกมันแทบไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องเล่นเสียด้วยซ้ำ แต่พวกมันกำลังทำหน้าที่ของการเป็นแหล่งรวมตัวของเด็กมากหน้าหลายตา ในหน้าตาของพื้นที่ที่แตกต่างออกไปจากวิถีชีวิตจริงที่เป็นอยู่ เพื่อทำให้ความแตกต่างนั้นสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของจินตนาการที่อาจทำให้เด็กคนหนึ่งได้รู้ ได้เห็น ได้ลองทำอะไรที่ไม่เคยทำ และได้เป็นตัวเองในพื้นที่สมมติแบบนี้
แนวคิดการเล่นของเอริคทำให้โลกของการเล่นเปลี่ยนไปตลอดกาล เขาได้รับเสียงชื่นชม และนิยามว่าเป็น ‘บิดาแห่งวงการการเล่นแบบ Soft Play’ และเคยได้รับการขนานนามจากนิตยสาร Time ว่าเขาคือวอลต์ ดิสนีย์ คนต่อไปของโลกนี้ได้เลยทีเดียว
ที่มา
- https://www.vox.com/the-goods/2019/4/4/18292466/ball-pit-history-playground-plyplce-soft-play?src=longreads
- https://www.bbc.com/worklife/article/20191223-who-invented-the-ball-pit
- https://en.wikipedia.org/wiki/Eric_McMillan