เพราะความเสวไม่เข้าใครออกใคร ผู้คนในแต่ละยุคสมัยจึงมีรูปแบบการปลดปล่อยสิ่งเหล่านี้ในท่าทีที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นยุคเรา การเข้าดู X (ที่หมายถึงอดีตทวิตเตอร์ และแพลตฟอร์มวิดีโอที่มีชื่ออะไรห้อยต่อท้ายตัวอักษรนี้) Onlyfan Telegram หรือ VK ก็อาจจะเห็นหนทางการหาความเสวได้อย่างเต็มรูปแบบ ไม่เหมือนกับคนยุคก่อนที่อาจจะหาได้ยาก หรือไม่ก็ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ กัน
หนังสือโป๊ หนังสือปกขาว ปฏิทินเซ็กซี่แถมจากเครื่องดื่มมึนเมา วิดีโอโป๊ เซ็กส์สตาร์ หนังสือเรื่องสั้นแนววาบหวาม ทั้งหมดคือรูปแบบของสื่อทางเพศในสังคมยุคก่อน ที่มักจะถูกเก็บซ่อนไว้ตามมุมต่าง ๆ ของสังคมไทย อาจจะถูกหนังสือนิตยสารเล่มอื่นทับอยู่บนแผงขาย หรืออาจจะถูกเก็บอยู่ใต้ตู้ ใต้เตียงของห้องนอนใครสักคนเพื่อพรางตาจากคนใกล้ตัว หรือมองในเชิงภาพรวมกว่านั้นคือการแอบซ่อนจากความเป็นสังคม
แม้แต่ความรู้ทางเพศที่ก็ไม่มีการนำเสนออย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทำให้ทุกเหตุการณ์ที่เกี่ยวพันกับจู๋และจิ๋ม ต่างเป็นปัญหาที่รอใครสักคนมาให้คำตอบแบบทุกด้านทุกมุมได้จริง ๆ
วันนี้ SUM UP เลยขอพาคุณไปรู้จักกับคอลัมน์ตอบปัญหาข้อสงสัยทางเพศแห่งประวัติศาสตร์ ‘เสพสม บ่มิสม’ ที่อยู่คู่ชาติไทยมากว่า 46 ปี บนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ จนกลายมาเป็นหน้าบทความบนเว็บไซต์ และกำลังจะกลายเป็นรายการออนไลน์ในปี 2567 นี้แล้ว
คอลัมน์ ‘เสพสม บ่มิสม’ ห้อยท้ายชื่อผู้เขียนว่า ‘นพ.นพพร’ ซึ่งจริง ๆ แล้วเขาคือ ‘นพ.นวรัต ไกรฤกษ์’ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโรคผิวหนัง ที่มีความสนใจใครรู้ด้านพฤติกรรมทางเพศ เพศสัมพันธ์ และความบกพร่องทางเพศ รวมถึงยังศึกษาหาความรู้เรื่องราวเหล่านี้ผ่านการอ่านตำราเพศวิทยาจากต่างประเทศ
จนได้หยิบเนื้อหาทางเพศบางส่วนมาแปลในนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายฉบับ โดยเริ่มต้นการเป็นนักเขียนคอลัมน์ ‘วิทยาศาสตร์การแพทย์’ บนนิตยสาร ‘รวมข่าวจักรวาลรายสัปดาห์’ หรือ ‘จักรวาล’ เมื่อปี 2513 จากการชักชวนของ ‘ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ’ นักเขียนนวนิยายและศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2540 เจ้าของนามปากกา ‘พนมเทียน’ ผู้แต่งเรื่อง เพชรพระอุมา ผู้เป็นบรรณาธิการหนังสือในขณะนั้น

โดยตั้งแต่ครั้งแรกที่เขาเขียนคอลัมน์ขึ้นมา เขาเลือกใช้ชื่อ ‘นพ.นพพร’ มาแต่ไหนแต่ไร ซึ่งชื่อนี้มาจากหลานชายคนหนึ่งที่เขารักเหมือนกับลูกตัวเอง
อธิบายตัวคอลัมน์ ‘วิทยาศาสตร์การแพทย์’ โดยคร่าว ๆ คอลัมน์จะแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือเนื้อหาวิชาการทางเพศที่มีทั้งการสรุปรวบยอดมาจากหนังสือ หรือแปลมาจากตำราภาษาอังกฤษ และส่วนที่สองมีชื่อว่า ‘นพ.นพพร ตอบปัญหาคุณผู้อ่าน’ ที่เมื่อเนื้อหาก่อนหน้าเล่าเรื่องทางเพศมาแล้ว ผู้อ่านก็เหมือนจะเก็ํต และส่งคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องเพศมาเป็นส่วนใหญ่ จะเหมือนกลายเป็นคอลัมน์ตอบปัญหาทางเพศอยู่เนือง ๆ มานับตั้งแต่นั้น
ก่อนที่ห้วงเวลาไล่เลี่ยกันในปี 2515 คุณนพรัตและคณะแพทย์จำนวนหนึ่งจะร่วมกันทำนิตยสารรายเดือนในรูปแบบ Subscription ‘เพศศึกษาและปรัชญา’ ที่เน้นไปยังเนื้อหาทางเพศศึกษา และสุขภาวะเรื่องเพศอย่างรอบด้าน รวมถึงยังมีคอลัมน์ตอบปัญหาทางเพศของเขาในนามปากกา ‘นพ.นพพร’ เช่นเคยในชื่อ ‘ท่านถาม นพพรตอบ’ ซึ่งอยู่ได้ไม่นานก็ปิดตัวลงเมื่อปี 2519
ถัดมาเพียง 2 ปี คุณนพรัตก็ได้รับคำเชิญชวนจาก ‘พนมเทียน’ เช่นเคย เพื่อให้มาเขียนคอลัมน์ตอบปัญหาทางเพศ แต่คราวนี้ไม่ได้เขียนเป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือน แต่ให้มาเขียนเป็นคอลัมน์รายวันบนหนังสือพิมพ์ ‘เดลินิวส์’
และในวันที่ 17 มีนาคม 2521 นั่นเอง คอลัมน์ตอบปัญหาทางเพศที่ชื่อ ‘เสพสม บ่มิสม’ ก็ออกสู่สายตาผู้อ่านทั่วประเทศ โดยมีข้อความโปรยบนหน้าหนึ่งว่า “เริ่มแล้วในฉบับนี้ “นายแพทย์นพพร” ตอบปัญหาความลับคับอกทางเพศ ซู่ซ่าส์ดึ๋งดั๋ง หน้า 11” และเมื่อเปิดไปยังหน้าดังกล่าว จะพบกับการกล่าวเปิดคอลัมน์อย่างเป็นทางการ เนื้อความในนั้นก็น่าสนใจที่จะหยิบยกมาให้อ่านกัน
เซ็กส์เป็นสิ่งที่มนุษย์รู้จักมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มันเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่ง สัญชาตญาณของการสืบพันธุ์ ถ้าไม่มีเซ็กส์ มนุษย์ย่อมสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ความรู้เรื่องเซ็กส์ได้วิวัฒนาการมาเรื่อยๆ ตราบจนปัจจุบันนี้ ทั่วโลกได้มีการตื่นตัวกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นคว้าและวิจัยทางแพทย์ เซ็กโซโลยี่ (Sexology) เป็นวิชาการแพทย์แขนงสุดท้าย ที่ได้รับการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงๆ จังๆ ในระยะเวลาเพียง 20 กว่าปีมานี้เอง ทั้งๆ ที่มันควรจะได้กระทำการค้นคว้าโดยละเอียดนานมาแล้ว
นพ.นพพร – คอลัมน์ ‘เสพสม บ่มิสม’ ประจำวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2521
สิ่งนี้น่าจะพอฉายให้เห็นถึงภาพของเรื่องเพศในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ‘ความตื่นตัวทาง (เรื่อง) เพศ’ เป็นสิ่งที่คนไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง และมองว่าอวัยวะพิเศษตรงหว่างขาคือเรื่องพิลึกพิลั่นหากเอามาพูดกันบนโต๊ะ ทั้ง ๆ ที่มันก็เป็นอวัยวะหนึ่งเหมือนกันกับร่างกายทั้งหมด
และดูเหมือนกับว่าหลังจากการตอบปัญหาทางเพศบนพื้นที่สื่อ Mass Media ในสมัยนั้นเริ่มทำได้อย่างเปิดเผย เรื่องทางเพศในมิติอื่น ๆ ก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้นตามลำดับ อย่างในปัจจุบันหากจะยกตัวอย่างเนื้อหาบนโลกออนไลน์ผ่านช่องทาง Youtube เราจะเห็นว่าบาง Channel ค่อย ๆ เปิดพื้นที่เรื่องเพศบนโลกออนไลน์ในมุมของการหยิบความเซ็กซี่ของคนแต่ละเพศมานำเสนอผ่านชุดนุ่งน้อยห่มน้อย พร้อมกิจกรรมบางอย่างที่ทำให้อากัปกิริยาของผู้คนเหล่านั้นเกิดความเคลื่อนไหวจนกลายเป็นความหวือหวา
แตกต่างจากหลาย Channel ในสมัยนี้ที่ ‘ความตื่นตัวทาง (เรื่อง) เพศ’ ถูกนำเสนออย่างตรงไปตรงมาผ่านประเด็นหรือข้อสงสัยและข้อสังเกตุในมุมต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศ และมีความกล้านำเสนอเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างมีความเป็นมนุษย์ ทั้งการเชิญดาราหรือคนดังมาเปิดประสบการณ์เรื่องเพศ หรือการนำวิธีการตอบปัญหาทางเพศให้กลายเป็น Video Content

เหมือนอย่างที่คอลัมน์ ‘เสพสม บ่มิสม’ ขยับตัวเองจากหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ สู่บทความบนหน้าเว็บไซต์ และกำลังจะกลายเป็นรายการออนไลน์ในชื่อ ‘เสพสมบ่มิสม Stories’ ที่นำเอาดารามาเป็นพิธีกรผู้ถ่ายทอดเรื่องราวจากแขกรับเชิญ พร้อมทั้งยังมีแพทย์เฉพาะทางที่มานั่งให้ความรู้อยู่ข้าง ๆ แบบตรงไปตรงมา และเข้าใจง่าย
หรืออย่างซีรีส์ ‘Doctor Climax ปุจฉาพาเสียว’ ก็หยิบเอาแรงบันดาลใจจากการตอบปัญหาทางเพศบนสื่อหนังสือพิมพ์ในยุค 70 มาเป็นห้วงเวลาของการเสนอประเด็นสะท้อนกลับมายังโลกปัจจุบัน ซึ่งทำให้ผู้คนหันมาสนใจเรื่องราวนี้กันมากขึ้น เหมือนอย่างที่เราอยากหยิบเรื่องราวของคอลัมน์ ‘เสพสม บ่มิสม’ ของ นพ.นพพร มาให้อ่านกัน
ที่มา
- https://socanth.tu.ac.th/wp-content/uploads/2014/05/JSA-31-1-napak.pdf
- https://www.thenormalhero.co/moo-nopporn/