ในยุคที่ร้าน Mixue ครองส่วนแบ่งทางการตลาดเครื่องดื่มแบบสะบั้นหั่นแหลก และร้านชาบูหมาล่ารุ่งเรืองจนกลายเป็นกำลังจะเสื่อมความนิยมลงไปทุกขณะจิตแบบนี้ มีหลากหลายประเด็นวนเวียนอยู่โดยรอบที่ชวนให้ตั้งข้อสงสัย และขบคิดกันทั้งนั้น
เรื่องหนึ่งที่สังคมค่อนข้างให้ความสนใจเลยก็คือชิ้นงานกราฟิกบนร้านรวงเหล่านี้ ที่มักจะเลือก System Font ภาษาไทยที่มีติดเครื่องอยู่แล้วมาใช้ อย่างฟอนต์ ‘Tahoma’ ซึ่งเป็นหนึ่งฟอนต์ที่ครองใจคนทำงานมาเป็นหลักสิบปี ก่อนจะถูกผู้คนในสายกราฟิกเอาไปใช้ผิดที่ผิดทาง เสมือนมันกำลังถูกย่ำยีจนสิ้นมนต์ขลัง
อย่างไรก็ตาม หากเราตัดประเด็นดรามาทั้งหลายออก กลับมามองเพียงแค่ตัว Typeface เพียงอย่างเดียว ‘Tahoma’ นั้นก็เป็นฟอนต์พื้นฐานติดเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่ของมันได้อย่างเหมาะสมตลอด 30 ปีที่ผ่านมา วันนี้เราเลยอยากพาคุณไปสำรวจที่ไปที่มา และประวัติศาสตร์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของฟอนต์ตัวนี้กัน
จุดเริ่มต้นของเจ้าฟอนต์ Tahoma คือเมื่อปี 2537 โดย ‘แมทธิว คาร์เตอร์ (Matthew Carter)’ นักออกแบบตัวอักษรมือฉมังชาวอังกฤษ ที่ถูกว่าจ้างจาก Microsoft Corporation ให้ออกแบบ Typeface สำเร็จรูปเพื่อใช้สำหรับงานพิมพ์ โดยมีโจทย์จากปัญหาของรูปแบบความละเอียดของหน้าจอเป็นตัวกำหนดความเป็นไปได้ของการออกแบบตัวอักษรเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานบนพื้นที่แสดงผลคุณภาพต่ำ
ก่อนหน้านั้นทาง Microsoft มี System Font ตัวหนึ่งอยู่ก่อนแล้วอย่าง Microsoft Sans Serif (ชื่อเดิม Helv และ MS Sans Serif ตามลำดับ) ซึ่งเป็นฟอนต์ที่พยายามนำกลิ่นของฟอนต์ยอดฮิต Helvetica มาทำให้กลายเป็นฟอนต์ที่รองรับการใช้งานผ่านการแสดงผลบนหน้าจอที่เป็นแบบ Bitmap ได้ดี หลังจากนั้นทาง Microsoft จึงมีแนวคิดที่อยากสร้างคลัง Typeface เป็นของตัวเองแต่เพียงผู้เดียว จึงเกิดเป็นโปรเจกต์ Microsoft Font Pack หรือการเปิดตัวคลังฟอนต์ใหม่หลากหลายรูปแบบ ทั้งฟอนต์แนว Sans Serif แนว Serif แนว Decorative หรือแม้แต่ฟอนต์ Symbols เพื่อให้รองรับกับการใช้งานทุกรูปแบบ
“ในวงการออกแบบกราฟิก ผู้คนมักคิดว่า Typeface บนหน้าจอเป็นแค่โหมดแสดงตัวอย่าง เราจะเลือกใช้มันได้ตัวอักษรเหล่านั้นกระทบเนื้อไม้ที่ใช้ในการพิมพ์เท่านั้น นั่นเป็นมุมมองที่ตื้นเขินมาก ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ใช้เวลาทั้งหมดอยู่หน้าจอและไม่เคย (หรือแทบจะไม่) พิมพ์เนื้อหาอะไรออกมาเลย
ดังนั้นสำหรับเรานี่คือเรียงลำดับความสำคัญของวิธีคิดในการทำงานใหม่ เราไม่ควรตั้งต้นการออกแบบด้วยการทำ Typeface สำหรับการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ แล้วค่อยปรับให้เหมาะกับหน้าจอ แต่เราควรออกแบบให้เป็น Typeface ที่เหมาะสมกับการใช้งานบนหน้าจอตั้งแต่เริ่มแรก ส่วนความเหมาะสมกับการใช้งานในงานพิมพ์ถือเป็นเหตุผลสำรองในกรณีนี้” Matthew Carter ให้สัมภาษณ์กับ Daniel Will-Harris ถึงเหตุผลในการมีฟอนต์เป็นของตัวเองของ Microsoft
ซึ่งเจ้า Tahoma ก็เป็นหนึ่งฟอนต์ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดนี้นี่แหละ
ขั้นตอนการออกแบบ Tahoma นั้นเริ่มจากการทดลองทำเป็นฟอนต์ขนาดเล็กสุดในระดับ Pixel ก่อน ทั้งตัวปกติ ตัวหนา หรือแม้กระทั่งตัวเอียง จากนั้นจึงค่อย ๆ ออกแบบในรูปแบบ Pixel อีกครั้งขยายตาม Point Size ไปเรื่อย ๆ แล้วจึงเอารูปร่างตัวอักษรนั้นมาวาดเส้นรอบนอกครอบไป เพื่อให้กลายเป็น Typeface ที่มีหน้าตาเรียบขึ้นโดยสมบูรณ์
คนัช อุยยามาฐิติ กล่าวถึงวิธีการออกแบบฟอนต์นี้ในบทความ ‘Tahoma กับภาษาไทย’ ของ Cadson Demak ว่าเป็นกระบวนการทำงานแบบย้อนกลับ (Reverse Engineering) นั่นคือการออกแบบที่เอาผลลัพธ์สุดท้ายมาเป็นโจทย์ จากนั้นจึงค่อย ๆ ตะล่อมผลลัพธ์ให้กลายเป็นผลงานสำเร็จ
ต่างจากการออกแบบ Typeface โดยทั่วไป ที่มักจะตั้งต้นจากการออกแบบรูปร่างหน้าตาของอักขระทั้งหมดเป็นอันดับแรก ก่อนจะค่อยแก้ปัญหาการแสดงผลที่ยังชัดเจนได้ในพื้นที่แสดงผลที่มีขนาดตัวอักษรเล็กลงด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘Hinting’ เทคโนโลยีที่ช่วยให้ตัวอักษรแสดงผลในรูปแบบ Bitmap ได้ดีขึ้น จากการกำหนดให้หน้าจอแสดงผลจุดสี Pixel ในบางส่วนสลับกัน ทั้งส่วนสีแดง สีน้ำเงิน และสีเขียว ซึ่งจะช่วยให้ตัวอักษรเกิดข้อบกพร่องในการมองเห็นน้อยลง แต่ก็เป็นวิธีการทำงานที่ยุ่งยากพอสมควร เพราะเหมือนเป็นการรื้อทุกอย่างมาทำใหม่หมด
อีกทั้งหน้าตาของฟอนต์ตัวนี้เต็มไปด้วยความละเอียดรอบคอบของการออกแบบมากมาย เพื่อทำให้มันรองรับการอ่านในขนาดเล็กระดับ Pixel ได้อย่างไร้ที่ติ อย่างเช่นการออกแบบตัวอักษรภาพรวมให้มีความโปร่ง มีช่องว่างภายในตัวอักษรมากเพื่อทำให้ตัวอักษรไม่ทึบตัน ซึ่งส่งผลดีต่อการอ่านได้ง่าย
หรือการออกแบบตัวอักษร ‘คู่สับสน’ บางตัว ที่เมื่ออยู่ในชุดคำใกล้กันก็อาจพาลให้อ่านผิดพลาดได้ เช่นการออกแบบตัว I (ไอ) พิมพ์ใหญ่ให้มีขีดบนและล่าง เพื่อให้แยกแยะออกจากตัว l (แอล) พิมพ์เล็กได้ หรือวิธีการออกแบบตัว C (ซี) ทั้งพิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ ที่ออกแบบให้ปลายเริ่มต้นและปลายจบมีความห่างกันมากกว่าฟอนต์ปกติ เพื่อป้องกันการที่ตัวอักษรนี้แสดงผลผิดพลาดในการพิมพ์บนพื้นที่แสดงผลขนาดเล็ก จากการที่ปลายจบของด้านบนและล่างใกล้กันมากเกินไป จนทำให้มองเพี้ยนจากตัว C (ซี) กลายเป็นตัว O (โอ) แทน
ส่วนที่มาของชื่อ Tahoma นั้นมาจากการที่สำนักงานใหญ่ของ Microsoft อยู่ที่เมืองเรดมอนด์ รัฐวอชิงตัน เป็นเมืองที่มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่าง ‘Mount Rainier’ กรวยภูเขาไฟสลับชั้นที่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ห่างจากสำนักงานใหญ่ราว 75 ไมล์ แต่ถือเป็นหนึ่งวิวยอดฮิตของเมืองเรดมอนด์เลย และอีกชื่อเรียกของภูเขาแห่งนี้ก็คือ ‘Mount Tahoma’ ซึ่งเป็นภาษา Twulshootseed แปลว่า “แม่แห่งผืนน้ำ” หรือ “สถานที่ที่น้ำเริ่มต้น”
ท้ายที่สุดผลลัพธ์ที่ได้อย่างตัวฟอนต์ Tahoma นั้นจัดได้ว่าเป็นฟอนต์แนว Humanist Sans Serif หรือแบบอักษรไร้เชิงแบบมนุษยนิยม หรือการใส่จริตบางอย่างที่คล้ายคลึงกับการเขียนด้วยมือของมนุษย์ลงไป โดยฟอนต์ต้นฉบับมาใน 2 ขนาดน้ำหนัก นั่นคือน้ำหนักปกติ (Regular) และน้ำหนักหนา (Bold) หรือน้ำหนักที่หนาขึ้น 1 เท่า สมมติว่าแกนแนวตรงของน้ำหนักปกติเท่ากับ 1 Pixel แกนแนวตรงของน้่ำหนักหนาจะเท่ากับ 2 Pixel นั่นเอง
อีกทั้ง Typeface ต้นฉบับนั้นยังถือได้ว่าเป็น Global Font ในยุคแรก ๆ ของประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ มันรองรับหลายภาษาจากการบรรจุชุดตัวอักษรไว้มากมาย ทั้งละติน, ยุโรปตะวันออก, ซีริลลิก, กรีก, ตุรกี, ฮิบรู, อารบิก, ไทย และเวียดนาม
นอกจากนี้ Tahoma ยังมีลูกพี่ลูกน้องข้างเคียงอีก 2 ตัวด้วยกัน นั่นคือฟอนต์ที่ชื่อ Verdana (1996) ที่เป็นตัวอักษรขนาดใกล้เคียงกัน แต่ช่องไฟระหว่างตัวอักษรกว้างกว่า และ Nina (1999) ที่ทำตัวอักษรให้แคบลง ลดช่องไฟลง ทำให้กินพื้นที่แสดงผลน้อยลงไปด้วยเช่นกัน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Tahoma รับใช้ผู้คนในโอกาส และช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป แต่หน้าที่หลักที่มักถูกใช้ก็คือการใช้เป็นแบบอักษรหลักของระบบปฏิบัติการ Windows ที่เราเห็นจากทั้งหน้าจอคำสั่งทั่วไป และปรากฏเป็นต้วอักษรพื้นฐานบนหน้าเว็บไซต์ทั่วไป
จนมา 10-20 ปีที่ผ่านมานี่เอง ที่มันถูกนำมาใช้ในโอกาสที่ไม่ได้ต้องการทำมาให้ใช้ขนาดนั้น และก็กลายเป็นจำเลยสังคมจากหน้าตาของฟอนต์ที่ไม่ได้ออกแบบมาให้สวยงามเท่าไหร่นัก แต่ก็ถูกหยิบมาใช้ในงานสื่อสารแบบตะโกนมากมายหลายครั้ง อย่างงานสื่อประชาสัมพันธ์ ป้ายบิลบอร์ด ป้ายร้านอาหาร ป้ายไฟร้านชาบูหมาล่า หรือแม้แต่ใช้เป็นฟอนต์บนปกหนังสือ Mock Up ‘ลิลิตตะเลงพ่าย’ บนไทม์ไลน์เวลาช่วงรัชกาลที่ 5 ในละครเรื่องนางทาส (2559) ซึ่งก็ชวนงงว่ามันกลายไปเป็นตัวอักษรบนปกหนังสือยุคนั้นได้ยังไงกัน
สุดท้ายแล้วไม่ว่าฟอนต์ชุดนี้จะถูกครหาจากผู้คนในสังคมได้มากมายเพียงใด แต่หากคุณก็เป็นคนหนึ่งที่ใช้ Facebook บน PC ท่องเว็บออนไลน์อยู่บ่อย ๆ แล้วอ่านข้อความเล็ก ๆ ได้แบบไม่ปวดตา เราก็น่าจะขอบคุณคุณค่าจริง ๆ ของมันสักครั้งเหมือนกันนะ