ฟรานซิสโก ฟรังโก, นายพลฟรังโก, เอลกลาซิโก, เรอัล มาดริด, บาร์เซโลนา

ศึกฟุตบอลคู่ใหญ่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ไม่มีศึกใดจะเหนือไปกว่าการประชันกันของ 2 ยอดทีมในฟุตบอลลีกสเปน “ลาลีกา” ระหว่าง “ราชันชุดขาว” เรอัล มาดริด ปะทะ “อาซูลกรานา” บาร์เซโลนา กับศึกใหญ่ของโลกลูกหนังที่กล่าวขานกันในนาม “เอลกลาซิโก” 🇪🇸

เอลกลาซิโก คือ ภาษาสเปน สื่อความหมายถึงการแข่งขันสุด “คลาสสิก” ระหว่างทีมตัวแทนจาก 2 เชื้อชาติ 2 อุดมการณ์ 2 แนวคิด มากกว่าการเผชิญหน้ากันเพื่อแย่งชิงชื่อชั้นและศักดิ์ศรีในแบบฉบับของการแข่งขันฟุตบอลโดยทั่วไป มีเรื่องราวในประวัติศาสตร์มากมายของศึกนี้ หากจะยกหนึ่งในเรื่องราวที่ส่งผลเป็นอย่างมากถึงความบาดหมางระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ ก็คงหนีไม่พ้นหนึ่งในผู้จุดชนวนนั่นก็คือ “ฟรานซิสโก ฟรังโก” หรือจอมเผด็จการแห่งยุคมืดของสเปน “นายพลฟรังโก” 🇪🇸

การเข้ามาของฟรังโกได้เปลี่ยนสเปนให้กลายเป็นประเทศแห่งเผด็จการอย่างเต็มตัว ความเป็นชาตินิยมอย่างสุดขั้วได้แพร่ขยายอิทธิพลไปกระทบยังแคว้นต่าง ๆ ในสเปนเวลานั้น หนึ่งในแคว้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงนั่นก็คือ “กาตาลุญญา” ซึ่งมีบาร์เซโลนาเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นนี้ โดยเรื่องราวสุดเข้มข้นในศึกฟุตบอลนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องฟุตบอลในสนาม รากฐานความขัดแย้งถูกกลั่นกรองมาเป็นการเผชิญหน้ากันบนผืนหญ้า ถ่ายทอดส่งต่อมายังปัจจุบันที่มีเหล่าแฟนบอลทั่วโลกตั้งตารอรคอยที่จะได้รับชมศึกใหญ่นี้ อีกทั้งเรื่องราวก็ยังเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ทางการเมืองอันเข้มข้นที่ใครก็พลาดไปไม่ได้ ⚽🇪🇸

การเข้ามาของเผด็จการ “นายพลฟรังโก”

ประเทศสเปนเคยประสบปัญหาทางการเมืองในอดีตจากช่วงวิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจร่วมกับปัญหาสะสมเกี่ยวกับเรื่องของ “ราชวงศ์” ที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะดังกล่าวภายในประเทศ ทำให้เกิดการปฏิวัติต่อราชวงศ์ในปี 1868 นำไปสู่การเป็น “สาธารณรัฐ” ของสเปน

การเป็นสาธารณรัฐของสเปนไม่ได้ทำให้ทุกอย่างดีขึ้นจากเดิม เพราะเกิดเรื่องวุ่นวายภายในประเทศจากการต่อสู้กับการรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจมาฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ใหม่ หรือแม้กระทั่งการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในหมู่คนธรรมดาที่แพร่ออกไปในขณะนั้น ได้สร้างความหวั่นเกรงต่อเหล่าชนชั้นสูง หรือผู้มีอำนาจทางการทหารกับกรณีที่ได้กล่าวมา นำไปสู่การฟาดฟันกันในช่วงยุค “30s” เมื่อค่าเงินของสเปนตกต่ำลงมาก จนเกิดเป็นกระแสเรียกร้องอย่างหนักให้สเปนกลับมาเป็นสาธารณรัฐอีกครั้งจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองในปี 1936 ระหว่างลัทธิ “คอมมิวนิสต์” จากกลุ่มรากหญ้า และ ลัทธิ “ฟาสซิสต์” จากเผด็จการรัฐประหาร

แต่สิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญโดยเฉพาะฝั่งกลุ่มหลัง เมื่อการมาของถึง “นาซี” จากเยอรมนี และ “เบนิโต มุสโสลินี” จากอิตาลีหนุนหลังให้กับทหาร “ฟรานซิสโก ฟรังโก” จนนำไปสู่ชัยชนะของสงครามในปี 1939 ทำให้สเปนตอนนั้นกลายเป็นเผด็จการไปอย่างเบ็ดเสร็จ โดยมีผู้นำอำนาจคือ “นายพลฟรังโก”

อำนาจของ “นายพลฟรังโก” สู่การรุกรานไปยัน “บาร์เซโลนา”

แต่เดิมประเทศสเปนถูกแบ่งออกเป็นแคว้นมากมาย โดยหนึ่งในแคว้นใหญ่ที่มีชื่อเสียงคือ “กาตาลุญญา” สามเหลี่ยมหัวมุมขวาของสเปน มีเมืองหลวงโด่งดัง อย่าง “บาร์เซโลนา” ที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวกาตาลัน พวกเขาเป็นเขตการปกครองที่มีเศรษฐกิจดีและยังมีความเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองอย่างเด่นชัด ทำให้กาตาลุญญาที่ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของสเปนในช่วง “ศตวรรษที่ 15” เริ่มเรียกร้องสิทธิในช่วง “ศตวรรษที่ 19” ออกมาเป็นเอกราชของตัวเองนับตั้งแต่นั้น

หนึ่งในสัญลักษณ์ที่ใช้เรียกร้องเอกราชของพวกเขานั่นก็คือสโมสรฟุตบอล “บาร์เซโลนา” ที่ก่อตั้งในปี 1899 จากนักธุรกิจชาวสวิส “ฮานส์ แม็กซ์ แกมเปอร์ เฮสซิง” ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น “โจอัน กัมเปร์” เพื่อแสดงถึงการเข้าถึงหัวใจของชาวกาตาลัน เนื่องจากในช่วงแรกเริ่มของสโมสร ผู้คนต่างสนใจไปที่การเรียกร้องทางการเมืองมากกว่าเรื่องของกีฬาฟุตบอล ทำให้กัมเปร์เล็งเห็นโอกาสนี้เพื่อเรียกศรัทธาให้ชาวกาตาลันโดยเฉพาะในเมืองบาร์เซโลนา เขาได้ใช้สโมสรแห่งนี้เป็นตัวแทนความภาคภูมิใจของพวกเขาด้วยหลายสิ่งหลายอย่างของสโมสร ดั่งคำขวัญที่ว่า Més que un club หรือแปลได้ว่า “มากกว่าสโมสรฟุตบอล”

สิ่งนี้ทำให้สโมสรฟุตบอลแห่งนี้มักถูกรัฐบาลของสเปนเพ่งเล็งเป็นพิเศษ เพราะการแสดงออกถึงการต่อต้านของชาวกาตาลันมักมีให้เห็นบ่อย ๆ จากหลายการแข่งขันฟุตบอล หนึ่งในผู้ที่คอยติดตามการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ก็คือนายพลฟรังโกที่ยึดติดในความเป็นชาติของสเปน ต้องการให้ผู้คนในประเทศนี้เป็นหนึ่งอันเดียวกัน หากใครที่คิดต่อต้านเขาเมื่อใด ชีวิตก็จงเตรียมหมดสิ้นโดยไร้ความปรานีจากเขา ทำให้กลายมาเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่สร้างความบาดหมางระหว่างสเปนและกาตาลุญญา

เหตุการณ์สำคัญของนายพลจอมเผด็จการคนนี้ มีเรื่องราวในช่วงของสงครามกลางเมืองที่เขามีส่วนสำคัญต่อการโจมตีใส่ชาวกาตาลันในปี 1936 อดีตประธานสโมสรของบาร์เซโลนา “โจเซป ซูโยล” ถูกสังหารเพราะเขาก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของพรรครีพับลิกันในการเคลื่อนไหวต่อสู้กับเผด็จการ หรือแม้กระทั้งในปี 1938 ก่อนฟรังโกจะชนะในสงครามกลางเมือง กองทัพผู้สนับสนุนจากอิตาลีได้ทิ้งระเบิดลงที่เมืองบาร์เซโลนา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3 พันราย และสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเมือง สร้างความไม่พอใจแก่ชาวกาตาลันที่ถูกกดขี่จากความโหดเหี้ยมของผู้นำเผด็จการคนนี้

อิทธิพลของ “นายพลฟรังโก” ลามไปสู่ศึกใหญ่อย่าง “เอลกลาซิโก”

แน่นอนว่าฟุตบอลของบาร์เซโลนาก็กลายเป็นหนึ่งในหมากสำคัญทางการเมืองของชาวกาตาลัน นายพลฟรังโกต้องการให้ทั่วประเทศคือสเปน อีกทั้งกีฬาฟุตบอลในขณะนั้นเริ่มมีความนิยม มันจะเป็นผลดีมากหากนำใช้เป็นกระบอกเสียงโฆษณาชวนเชื่อได้ ทำให้นายพลฟรังโกเลือกที่จะสนับสนุน “เรอัล มาดริด” ทีมดังจากเมืองหลวง ที่แสดงออกให้เห็นถึงความเป็นสเปนอย่างชัดเจน เพราะคำว่า “เรอัล” เป็นพระบรมราชูปถัมภ์จาก “พระเจ้าอัลฟองโซที่ 13” สื่อถึงคำว่า “โรยอล (Royal) “ ติดไว้เป็นตรามงกุฎเหนือตราสโมสรและชื่อที่ถูกเรียกนำหน้า

ความอัปยศของศึกฟุตบอลนี้ได้เริ่มขึ้นในปี 1943 เป็นศึกชิงถ้วย “โกปา เดล เกเนราลิสิโม” หรือที่เรียกในปัจจุบันของถ้วยสเปนว่า “โกปา เดล เรย์” ในรอบรองชนะเลิศระหว่างบาร์เซโลนาและเรอัล มาดริด โดยจะแข่งขันกันถึง 2 เกม ในเกมแรกเป็นบาร์ซานำไปก่อน 3-0 ในบ้านของมาดริด เพื่อสร้างความได้เปรียบเอาไว้ก่อนการเจอกันในนัดสอง แต่อิทธิพลก็ได้เข้ามาสู่ห้องแต่งตัวของบาร์ซา เมื่อมีเจ้าหน้าที่เดินทางเข้ามาคุยกับนักเตะชาวกาตาลันที่กล่าวไว้ว่า “พวกคุณบางคนมาแข่งขันในเกมนี้ได้เพราะความกรุณาของนายพลฟรังโก อย่าลืมซะล่ะ” นั่นส่งผลต่อการแข่งขันในนัดสองที่นักเตะต่างกังวลต่อคำขู่ก่อนเกมที่จะเริ่มขึ้น

ปรากฏว่ามาดริดกลับมาชนะได้ถึง 11-1 เป็นสกอร์การแข่งขันที่ดูเวอร์วังเป็นอย่างมาก โดยครึ่งแรก มาดริดนำบาร์ซาไปได้ถึง 8-0 และบาร์ซายังเสียผู้เล่นที่ออกไปหนึ่งคนจากการแข่งขันนี้ กลายเป็นหนึ่งในนัดที่ถูกมองว่าเหมือนดู “ละครสัตว์โบราณ” มากกว่าการรับชมฟุตบอลในสนาม

ซึ่งในนัดดังกล่าวนี้ แม้ผลจะเข้าข้างไปทางมาดริดอย่างเต็มประดา แต่พวกเขาไม่เคยภาคภูมิใจต่อการแข่งขันที่เกิดขึ้นในนัดนี้เลย แล้วกล่าวว่านัดดังกล่าวคือความเลวร้ายและเป็นยุคมืดในสเปนที่มีนายพลฟรังโกเป็นผู้นำ แน่นอนว่ากับฝั่งตรงข้ามอย่างบาร์เซโลนาก็ยิ่งรังเกียจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านเผด็จการผู้ทำแสบกับพวกเขา

แม้ว่ายุคของฟรังโกจะอยู่มาอย่างยาวนานในสเปนถึง 30 กว่าปี สิ่งหนึ่งที่ฟรังโกอาจจะเคยตักเตือนต่อชาวกาตาลันผ่านกีฬาฟุตบอลก็ไม่ได้ทำให้ความตั้งใจของพวกเขาในการเป็นเอกราชของตัวเองจะห่างหายจากไป อัตลักษณ์ยังคงอยู่กับพวกเขาและการถ่ายทอดไปยังฟุตบอลก็ยังคงส่งต่อสืบทอดในศึกเอลกลาซิโกต่อไป แม้จะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วงเวลาอื่น ๆ ที่น่าสนใจเป็นอย่างมากกับศึกนี้ แต่ความทรงจำในปมความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้น คงไม่มีครั้งไหนเข้มข้นดุดันได้เท่ากับศึก “เอลกลาซิโก” ในยุคของ “ฟรานซิสโก ฟรังโก” ที่สร้างบาดแผลรอยต่อมาสู่การแข่งขันที่ยังคงดำเนินต่อไปจนมาถึงทุกวันนี้

อ้างอิง