คุณเอจาน งามกอง “ลูกค้าชมเชยแม่บ้านมีความซื่อสัตย์ เก็บทรัพย์สินของลูกค้าได้ และนำมาส่งที่จุดประชาสัมพันธ์”
คุณสมพงศ์ กันยาประสิทธิ์ “ลูกค้าชมเชยเจ้าหน้าที่ รปภ. ลานจอด สังเกตเห็นรถลูกค้ายางแบน และได้ทำการช่วยเหลือลูกค้า”
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการชื่นชมพนักงานระดับปฏิบัติงานของ ห้างเซ็นทรัลพระราม 9 และมันไม่ใช่การชื่นชมแบบกระซิบกระซาบ แต่เป็นการชื่นชมผ่านแผ่นป้ายขนาดใหญ่ที่ถูกวางเอาไว้ในจุดที่ทุกคนน่าจะมองเห็น สิ่งนี้ถูกแชร์ต่อในโลกออนไลน์และได้รับเสียงตอบรับในเชิงบวกว่า นี่ดูจะเป็นการกระทำที่สะท้อนให้เห็นการให้คุณค่าของคนทำงาน ทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร และส่วนตัวเรามองว่ามันเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยสร้างวัฒนธรรมที่ดีให้กับองค์กรได้อีกด้วย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘วัฒนธรรมองค์กร’ (Organizational Culture) เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เข้ามามีความสำคัญต่อองค์กรอยู่ไม่น้อย โดยความหมายของมันก็คือ ค่านิยม ชุดความคิด ความเชื่อ รวมถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เข้ามากำหนดพฤติกรรมของพนักงาน ซึ่งในบางทฤษฎี การจัดการและการบริหารองค์กรมองว่าพนักงานจะสามารถทำงานด้วยความสามารถสูงสุดของพวกเขาได้ หากองค์กรสนับสนุนพวกเขาและมอบความเป็นอยู่ที่ดีใหักับพวกเขา แต่ถ้าหากองค์กรไหนมีวัฒนธรรมที่ป่วยไข้ แสดงว่าองค์กรนั้นมี ‘วัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษ’ (Toxic Organization Culture) และแน่นอนว่าอะไรที่เป็นพิษย่อมส่งผลเสียตามมา
จากการศึกษาของ MIT Sloan ได้วิเคราะห์สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิด ‘ปรากฏการณ์ลาออกครั้งใหญ่’ (Great Resignation) เอาไว้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษ นอกจากนี้ วัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษยังเป็นสาเหตุที่ทำให้พนักงานมีแนวโน้มที่จะลาออกมากกว่าปัจจัยเรื่องเงินเดือนอีกด้วย หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันสักนิด วัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษจะมีลักษณะในทำนองที่ว่า คนในองค์กรขาดความไว้ใจซึ่งกันและกัน, ไม่มีพื้นที่ให้กับความผิดพลาด, ขอบเขตหน้าที่งานไม่ชัดเจน, การทำงานมีความตึงเครียดสูง, พนักงานรู้สึกไม่มีกำลังใจในการทำงานและมีทัศนคติเชิงลบ, การสื่อสารภายในองค์กรไม่มีคุณภาพ, พนักงานรู้สึกถูกด้อยค่า ดูหมิ่น หรือไม่ให้เกียรติกัน เป็นต้น
ในทางกลับกัน วัฒนธรรมองค์กรที่ดีจะมีความเกี่ยวข้องกับการใช้จิตวิทยาเชิงบวก มุ่งเน้นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับพนักงาน และสนับสนุนให้พวกเขาได้มีโอกาสเติบโต สิ่งนี้จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ อีกทั้งคนทำงานก็จะมีความสุขไปด้วย ซึ่งการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ตัวอย่างเช่น
- การสร้างความไว้ใจและความรู้สึกปลอดภัยทางใจ กล่าวคือ การที่พนักงานสักคนกล้าที่จะเสนอแนวคิดที่แตกต่างจากคนที่มีอำนาจมากกว่า หรือไม่รู้สึกกลัวที่จะถูกเพื่อนร่วมงานหักหน้า เพราะพวกเขามีความรู้สึกปลอดภัยทางใจ สิ่งนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี
- พนักงานมีความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่ง ดังที่เรารู้กันดีว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม และการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มทำให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่า การได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม การทำงานของเขาที่มีความหมายขององค์กรจะทำให้เขารู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในการทำงานมากยิ่งขึ้น และหากองค์กรสามารถสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งให้กับพนักงานได้ สิ่งนี้จะทำให้พวกเขารู้สึกถูกมองเห็น ไม่ได้เป็นแค่ฟันเฟืองอันเล็ก ๆ ที่ขับจะเคลื่อนองค์กรและถูกมองข้ามอยู่เป็นเนือง ๆ
- การสนับสนุนการเติบโตในหน้าที่การงาน ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นกระบวนการทำงานก็ต้องมีการปรับตัวตามไปด้วย องค์กรควรลงทุนกับการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน มอบโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพื่อที่จะต่อยอดความรู้ให้มีความก้าวหน้าและเติบโตในสายงานที่พวกเขาทำอยู่ หากองค์กรสามารถมอบสิ่งนี้ให้กับพวกเขาได้ นั่นก็จะช่วยให้พนักงานสามารถอยู่กับองค์กรต่อไปได้
- ความยืดหยุ่นในการทำงาน หลังจากที่เกิดโควิด-19 ระบาด ทำให้องค์กรเกิดการเรียนรู้ที่จะดำเนินงานต่อไปให้อยู่รอด แม้พนักงานจะไม่สามารถเดินทางมาเข้าออฟฟิศได้ ในขณะเดียวกันพนักงานก็เกิดการเรียนรู้ว่า พวกเขาไม่จำเป็นต้องยึดติดกับรูปแบบการทำงานเดิม ๆ อีกต่อไป ดังนั้นการปรับรูปแบบการทำงานให้ยืดหยุ่นขึ้นก็อาจจะทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงทำให้องค์กรเป็นสถานที่ที่คนอยากมาร่วมงานมากขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ดี เรามองว่าการที่เซ็นทรัลพระราม 9 เอารูปพนักงานมาติดเพื่อชื่นชมการทำงานเป็นนั้นแนวทางในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี เพราะพนักงานรู้สึกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร มีส่วนร่วมกับองค์กร และถูกมองเห็น ทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของคนภายในองค์กร ทั้งนี้ เราเชื่อเหลือเกินว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีเป็นของตนเอง หากพนักงานถูกก่นด่า ถูกทำให้อับอาย หรือรู้สึกถูกด้อยค่า พวกเขาย่อมรู้สึกแย่และโยนความไว้ใจทิ้งไป ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นการทำลายความสัมพันธ์ บวกกับเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่เป็นพิษภายในองค์กร แต่ถ้าหากองค์กรมีความให้เกียรติซึ่งกันและกัน ตำหนิในที่ลับหรือตำหนิอย่างมืออาชีพ ชื่นชมในที่สว่าง เคารพการเป็นมนุษย์ และให้คุณค่าของพนักงานทุกระดับ เราเชื่อว่าสิ่งนี้จะนำมาสู่วัฒนธรรมองค์กรที่ดีและงานที่มีประสิทธิภาพได้อย่างแน่นอน
อ้างอิง
- https://professional.dce.harvard.edu/blog/why-workplace-culture-matters/#What-is-Positive-Workplace-Culture
- https://web.facebook.com/share/p/1A9Zg859k7/
- https://www.achievers.com/blog/organizational-culture-definition/
- https://www.techtarget.com/whatis/feature/Signs-of-toxic-workplace-culture
- ทฤษฎีองค์การ : มิติเชิงโครงสร้างและเชิงบริบทขององค์การ ผู้เขียน รศ.ดร. พลอย สืบวิเศษ