หากใครเป็นสายชอบกินของแซ่บ คงต้องรู้จักกับร้าน After Yum ร้านยำที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ซึ่งจุดเริ่มต้นของการเกิดสาขาแรกของ After Yum ในพัทยา เกิดจากการที่เพื่อน 2 คนตั้งใจว่าจะเปิดร้านยำกันเล่น ๆ แต่ดันได้ผลตอบรับที่ดีเกินคาด ทำให้ต้องมีการปรับแผนการตลาดโดยใช้ DATA เข้ามาช่วยในการบริหารธุรกิจ
ก่อนอื่นต้องเกริ่นกันสักนิดก่อนว่า ผู้ที่เริ่มก่อตั้ง After Yum คือ คุณแต๋ง-กฤษฏิ์กุล ชุมแก้ว และคุณดุจดิว-ธีระวัฒน์ บุตรตะยา ทั้ง 2 คนเป็นเพื่อนรักกัน และโปรเจกต์ทำธุรกิจ After Yum เกิดขึ้นตอนช่วงประมาณปลายปี 2561 ตอนนั้นทั้งสองคนนั่งคุยกันเล่น ๆ ว่าลองเปิดร้านขายยำกันดูไหม? เพราะปกติทำยำกินกันเองบ่อย ๆ และรู้สึกชอบรสชาติยำในแบบของตนเอง และตั้งใจว่าจะเปิดกันเล่น ๆ เพียงแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น คิดแค่ว่า ถ้าขายไม่ดีก็แยกย้าย แต่ผลตอบรับกลับดีเกิดคาด จนได้ขยายสาขาออกมาเป็น 4 สาขา ดังนี้
- After Yum พัทยา
- After Yum Bangkok เดอะคริสตัลเอกมัย-รามอินทรา
- After Yum Bangkok เดอะเซ้นส์ ปิ่นเกล้า
- After Yum ระยองฮิ
ที่มาของชื่อ After Yum นั้นตั้งล้อไปกับร้านขายขนมหวานที่ทั้งสองคนชอบกินก็คือร้าน After You โดยข้อมูลรายได้ของ After Yum ตั้งแต่ปี 2563 – 2565 มีรายละเอียด ดังนี้
- ปี 2563 รายได้รวมประมาณ 14,250,197 บาท กำไรรวม 421,273 บาท
- ปี 2564 รายได้รวม 27,784,130 บาท กำไรรวมประมาณ 640,464 บาท
- ปี 2565 รายได้รวม 29,251,768 บาท กำไรรวมประมาณ 892,680 บาท
การขายยำที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ทันตั้งตัวของทั้งของคุณแต๋งและคุณดุจดิว ทำให้ต้องมีแผนในการบริหารธุรกิจที่ละเอียดขึ้น โดยพอจะสามารถสรุปแผนธุรกิจที่ทาง After Yum ใช้ออกมาได้ 3 ประเด็น ดังนี้
DATA IS KEY
คุณแต๋งเคยเปิดเผยว่าตนเองเป็นคนที่ชอบ Data มาก ๆ และได้เอา Data มาใช้กับการทำธุรกิจยำเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณต้นทุนให้เป๊ะที่สุด โดยเฉพาะราคาต้นทุน ซึ่งราคาตลาดจะมาทุกวันที่ 1 และ 15 ก็จำเป็นต้องคำนวณต้นทุนใหม่ทุกเดือน รวมถึงในแต่ละฤดูกาลราคาของที่นำมาใช้ยำก็จะไม่เท่ากันจำเป็นต้องมีข้อมูลตรงนี้เช่นกัน และต้องไม่ลืมราคาต้นทุนแฝง เช่น กระดาษทิชชู่ ถุงขยะ ที่จำเป็นต้องหยิบมาคำนวณทั้งหมด นอกจากข้อมูลจากทางฝั่งผู้ขายแล้ว ยังจำเป็นต้องเก็บข้อมูลฝั่งลูกค้าด้วยว่า ลูกค้าเป็นคนมีรสนิยมอย่างไร เดินทางมากินยำด้วยวิธีใด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการบริหารธุรกิจได้ทั้งหมด
บริหารร้านยำแบบ ‘งานออร์กาไนซ์’
นอกจากร้าน After Yum แล้ว คุณแต๋งยังเคยทำงานด้านโรงแรมมามากกว่า 20 ปี จึงได้ปรับเอาความรู้มาใช้ในการเปิดร้านยำ ซึ่งก็คือบริหารงานแบบออร์กาไนซ์ สิ่งนี้ต่อยอดมาจาก Data ในมือที่เก็บสถิติทั้งหมดมาอย่างละเอียดและบริหารการจัดการ เช่น เมื่อเก็บสถิติข้อมูลของต้นทุนทั้งหมดออกมาได้แล้วให้หาค่าเฉลี่ยเทียบกับปีที่แล้วว่ามีราคาขึ้นสูงลงต่ำแตกต่างกันขนาดไหน รวมถึงต้องบริหารการซื้อวัตถุดิบให้เพียงพอแบบวันต่อวันเพื่อความสดใหม่ของวัตถุดิบ นอกจากนี้จากประสบการณ์การทำงานการโรงแรมมาอย่างยาวนานทำให้การบริการลูกค้าด้วยความสุภาพอ่อนโยนประหนึ่งอยู่ในโรงแรมหรู
เป็นตัวของตัวเอง
การเป็นตัวของตัวเองเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งที่ทาง After Yum เลือกใช้ เพราะการขายยำเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปมาก ๆ แต่การลองผิดลองถูกของ After Yum จนเกิดเป็นลายเส้นที่ชัดของตัวเองทำให้ After Yum มีความเป็นตัวของตัวเองสูงโดยไม่ต้องเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร และการใส่ใจลูกค้าด้วยการขายสินค้าที่ดีคุณภาพดีและเสถียรก็เป็นอีกหนึ่งจุดแข็งเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ‘การทำธุรกิจ’ โดยเริ่มจากสิ่งที่เราชอบถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เรามีแรงจูงใจกับการทำธุรกิจสูง และปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เป็น Key ของการทำธุรกิจในยุคปัจจุบันก็คือ Data เพราะข้อมูลสามารถนำไปต่อยอดประโยชน์ทางธุรกิจแบบจับต้องได้