เมื่อก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน ทุกคนต่างถูกกำหนดหน้าที่และบทบาทจากขอบเขตงานการที่ทำหมด ไม่เว้นแม้กระทั่งบทบาทการเป็น “หัวหน้า” และ “ลูกน้อง” ในทีมที่ทำงาน เพื่อให้สามารถใช้งานบุคคลในทีมได้อย่างประสิทธิภาพ ตามบทบาทและหน้าที่ที่รับผิดชอบ ซึ่งจะส่งผลให้งานดำเนินไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และมีประสิทธิภาพ

แต่เมื่อสถานการณ์คับขันเกิดขึ้น หากหัวหน้าคนเดิมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เหล่าบรรดาลูกน้องคงไม่สามารถที่จะหวังปาฏิหารย์ รอเบื้องบนประทานหัวหน้าที่ดีคนใหม่มาแทนได้ จะต้องมีใครคนหนึ่งในทีม ที่ต้องก้าวขึ้นมารับตำแหน่ง “ผู้นำ” ในยามฉุกเฉิน เพื่อนำทางผู้ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่มีอุปสรรคใดๆ แต่เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่มีจุดด้อยใหญ่ คือ ความไม่กล้าแสดงออกในการเป็นผู้นำ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายองค์กรต่างเผชิญปัญหา

นอกจากนี้แล้ว ใคร ๆ หลายคนต่างมีความฝันที่อยากจะเปิดองค์กรหรือธุรกิจของตนเอง แม้จะมีความรู้และความสามารถในการดำเนินการเพื่อผลักดันองค์กร หรือความรู้ขั้นสูงเฉพาะทางที่ตนเองได้ศึกษามาในการต่อยอดงานที่ทำ แต่กลับไม่มีความมั่นใจที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการบริหารองค์กรหรือธุรกิจให้สามารถผ่านพ้นไปสู่ความสำเร็จได้ ซึ่งหลายคนเลือกที่จะแก้ปัญหาในการจ้างคนอื่นมาเป็นผู้นำแทน แต่ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์มากนักหากเราต้องให้คนอื่นมาตัดสินใจแทนเจ้าขององค์กรหรือธุรกิจ

เพราะฉะนั้นแล้ว เรามาทำความรู้จักกับขั้นตอนการพัฒนาทักษะเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำ 

ทักษะความเชื่อมั่น

ก่อนที่เราจะเป็นผู้นำนั้น เราจำเป็นที่จะต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองก่อน เพราะในหลาย ๆ ครั้ง ผู้นำมักจะต้องตัดสินใจในช่วงเวลาที่สำคัญและได้รับความกดดันตลอด รวมทั้งต้องมีความสามารถควบคุมลูกน้องในทีมให้ได้ ไม่งั้นจะไม่สามารถขับเคลื่อนแผนงานที่ดำเนินไว้สำเร็จ จึงต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง เพื่อที่จะสามารถตัดสินใจและชี้นำการปฏิบัติการได้

นอกจากนี้แล้ว หากเราไม่เชื่อมั่นในตัวเอง จะทำให้ภาพลักษณ์ของเราในสายตาคนรอบข้าง รวมถึงดูไม่น่าเชื่อถือในสายตาลูกน้องและไม่มีความเป็นผู้นำได้ เพราะฉะนั้นทักษะความเชื่อมั่นในตัวเอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำ

ทักษะในการฟัง

ไม่เพียงแต่ที่จะต้องเชื่อมั่นในแนวคิดและการตัดสินใจของตัวเองเท่านั้น การรับฟังคนอื่นโดยเฉพาะลูกน้องในทีมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องฝึกฝน เพราะการรับฟังเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ดังนั้นผู้นำจึงต้องเปิดกว้างและเปิดรับแนวคิดและความเห็นต่าง ๆ ทั้งจากคนในทีมและผู้อื่น จะยิ่งช่วยให้เรามีแนวคิดและตัวเลือกในการตัดสินใจสำหรับการทำงานมากขึ้น

หากคนเป็นผู้นำปิดกั้นความคิด ความรู้อื่น ๆ ผู้นำคนนั้นก็จะรู้เพียงสิ่งที่เขารู้เท่านั้น ทักษะการฟังจึงเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนเพื่อที่จะรับความรู้ แนวคิดใหม่ พร้อมกับแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน

ทักษะการตัดสินใจ 

เมื่อเรามีความเชื่อมั่นและการรับฟังที่ดีแล้ว ทักษะต่อไปที่เราควรมี คือการตัดสินใจ ซึ่งทักษะนี้จะเชื่อมโยงกับทักษะก่อน ๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น เพราะการตัดสินใจที่ดีไม่ใช่แค่การรีบตัดสินใจโดยเร็วเท่านั้น จะต้องมีการวางแผน กรอบความคิด การพิจารณาข้อมูลก่อนการตัดสินใจอีกด้วย ซึ่งหากเกิดความไม่แน่ใจ การปรึกษาพูดคุยกับคนในทีมหรือที่ปรึกษาจะช่วยให้การตัดสินใจรอบคอบมากขึ้น

และที่สำคัญ ผู้นำที่ดีจะต้องมีความกล้าหาญในการตัดสินใจอีกด้วย ซึ่งหากผู้นำขาดทักษะใดทักษะหนึ่งก่อนหน้านี้ จะทำให้การตัดสินใจของผู้นำแย่ลงและกระทบไปถึงการทำงานได้

ทักษะการยอมรับความผิดพลาด

เพราะมนุษย์ไม่ใช่เทวดาที่จะไม่มีเรื่องผิดพลาดเกิดขึ้นเลย หรือเนรมิตให้ปัญหาและอุปสรรคหายไปได้โดยเร็ว เหตุสุดวิสัยและปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้ แม้แต่ตัวผู้นำเองก็อาจจะเป็นคนที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น หากผู้นำไม่ยอมรับความผิดพลาดหรือจุดอ่อนของตนเอง อนาคตก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นอีกครั้ง และซ้ำเติมการทำงานให้ด้อยประสิทธิภาพลง

การยอมรับความผิดพลาดจึงเป็นสิ่งที่ผู้นำควรมี เพื่อที่จะได้รู้จุดอ่อนของ ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขที่ตรงจุดและรวดเร็ว นอกจากนี้ ผู้นำไม่ควรที่จะเขินอายในการยอมรับความเห็นและความช่วยเหลือของผู้อื่นในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคที่เราไม่สามารถแก้ไขได้

ทักษะการมีส่วนร่วม

ผู้นำ ถือเป็นตำแหน่งสูงสุดของทีม ด้วยบทบาทและสภาพแวดล้อมจากหน้าที่ที่รับผิดชอบ อาจทำให้ตัวผู้นำยึดติดกับตำแหน่งและอำนาจได้ ทักษะการมีส่วนร่วม ไม่เพียงที่จะช่วยแก้ปัญหานี้เท่านั้น แต่ยังช่วยเชื่อมโยงการทำงานของทุกคนในทีม ทั้งหัวหน้าและลูกน้องอีกด้วย

ผู้นำที่ได้ใจลูกน้องนั้นจะต้องลงมารับฟังปัญหา ให้คำแนะนำแก่คนในทีม รวมทั้งต้องจับมือกับลูกน้องฝ่าฟันอุปสรรรคและปัญหาไปด้วยกัน ทั้งร่วมแสดงความยินดีแก่คนในทีมเมื่อพวกเขาประสบความสำเร็จอีกด้วย หรือพูดง่าย ๆ ว่าผู้นำต้องพร้อมที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับลูกน้อง

สรุปแล้ว ทักษะการเป็นผู้นำนั้น ไม่ว่าใครก็ตาม ก็สามารถฝึกฝนทักษะเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่น การรับฟัง การตัดสินใจ การยอมรับจุดอ่อน และการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเข้าสู่กระบวนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าทีมและลูกน้อง

การเป็นผู้นำจึงเป็นสิ่งที่คนทำงานต้องฝึกฝนทักษะผู้นำเอาไว้ เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ในภายภาคหน้าต่อไป โดยในอนาคตหลายคนอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำกลุ่ม องค์กร หรือธุรกิจได้ หากแม้จะยังคงเป็นผู้อยู่ใต้การบังคับบัญชาในทีมที่ทำงาน ทักษะหลายอย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะช่วยพัฒนาความคิดและการทำงานของเราให้ดียิ่งขึ้น และจะช่วยให้เราสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำที่ดีต่อไปในอนาคตได้

อ้างอิง : JOBDB [1] [2] , DeOne Academy

CREATED BY

นักออกแบบกราฟิกจากเชียงใหม่ สนใจในเสียงดนตรี ภาพยนตร์ และความเป็นไปของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ไปพร้อมกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น