กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันบนโซเชียลมีเดียทันที เมื่อผู้ใช้เฟสบุ๊กท่านหนึ่งได้โพสต์รูปที่ตัวเองกำลังนั่งดื่มกาแฟและทานขนมอยู่ที่คาเฟ่แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ โดยร้านคาเฟ่ดังกล่าวคือพื้นที่ของโรงงานใบยาสูบ ซึ่งได้แบ่งส่วนหนึ่งให้กลายเป็นคาเฟ่สุดชิค แต่ภาพเบื้องหลังที่เป็นโรงงานนั้นกำลังมีคนงานนั่งคัดแยกใบยาสูบอยู่ โดยในแคปชันยังเล่าว่า เบื้องหลังนั้นคือวิถีชีวิตที่ไม่ได้พบเห็นกันง่าย ๆ เป็นภาพที่ชวนให้ตั้งคำถามว่าวิวของคาเฟ่สุดชิค คือชนชั้นกรรมาชีพที่กำลังนั่งทำงานกันอย่างหนัก ถือเป็น Human Zoo หรือสวนสัตว์มนุษย์หรือไม่ ?

Human Zoo จุดเริ่มต้นของการเหยียดชนชาติ
จุดเริ่มต้นของ Human Zoo เริ่มขึ้นในช่วงเดียวกับที่โลกเริ่มถูกค้นพบดินแดนใหม่โดยนักสำรวจชื่อดัง คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ซึ่งเป็นนักเดินทางที่ได้ค้นพบทวีปอเมริกาเป็นคนแรกในช่วงปี ค.ศ. 1500 เป็นต้นมา และด้วยแนวคิดของ “ผู้ล่าอาณานิคมผิวขาว” เป็นผู้ค้นพบดินแดนใหม่ ดังนั้นวิถีชีวิต เชื้อชาติ และชนเผ่าที่ได้ไปค้นพบจึงถือเป็น “ของแปลกใหม่” และชวนให้ตื่นตา ฉะนั้นการเริ่มจัดแสดงชนเผ่าที่แตกต่างจากคนขาวจึงเริ่มแพร่หลายนับแต่นั้นมา เพื่อให้เหล่าคณะผู้เดินทางได้ทำความรู้จักกับเหล่าคนที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากตัวเอง
แม้จุดเริ่มต้นจะดูเป็นการทำความรู้จักวัฒนธรรมใหม่ในดินแดนใหม่ แต่วิธีที่เหล่าผู้ล่าอาณานิคมผิวขาวกระทำต่อชนพื้นเมืองต่าง ๆ นั้น กลับเป็นการกระทำที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่มาก เช่น ในงานโอลิมปิกคนป่าเถื่อนปี 1904 และ World Fair เมื่อปี 1958 ที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม มีการเอาคนดำมาล้อมคอก แล้วให้พวกเขาเล่นการละเล่นพื้นถิ่นของตัวเองท่ามกลางสายตาของคนขาว รวมไปถึงการแต่งกายที่ปกปิดร่างกายแค่บางส่วนขณะที่พวกเขาต้องทำการแสดงอยู่ในลาน โดยกลุ่มคนขาวที่แต่งตัวมิดชิดต่างยืนล้อมดูด้วยความบันเทิง ซึ่งหลังจากสวนสัตว์มนุษย์นี้ถูกจัดแสดงในหน้าประวัติศาสตร์มาร่วมร้อยปี จนกระทั่งเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ที่เริ่มมีการตั้งคำถามถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมองว่าการจัดแสดงดังกล่าวเต็มไปด้วยการทารุณกรรมต่อชนชาติอื่น ๆ Human Zoo จึงค่อย ๆ หายไปตามพลวัฒน์ทางสังคมโลกที่พัฒนาขึ้น
การเหยียดเชื้อชาติ กลายร่างเป็นความบันเทิงทางชนชั้น
เมื่อก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่ การล่าอาณานิคมได้จบไป การตระหนักรู้เรื่องการเคารพในวัฒนธรรมที่หลากหลาย รวมไปถึงการยุติการเหยียดเชื้อชาติและสีผิวถูกให้ความสำคัญมากขึ้น แม้การจัดแสดงสวนสัตว์มนุษย์ที่โหดร้ายทารุณจะหมดไปจากหน้าประวัติศาสตร์ แต่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมยังคงมาในรูปแบบอื่น ๆ โดยเฉพาะภาพความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากระบบทุนนิยม การเหยียดจึงมาในรูปแบบอื่นที่ซ่อนเร้นมากกว่าเดิม เนื่องจากช่องว่างของการกระจายความเท่าเทียมการเข้าถึงทรัพยากรและความเจริญยังไม่ทั่วถึง สังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำจึงเกิดเป็นภาพที่ชวนตั้งคำถามว่าสิ่งเหล่านี้คือความบันเทิงที่เหมาะสมมากน้อยอย่างไร
ความบันเทิงที่ยังคงกลายร่างมาในยุคปัจจุบัน คือการใช้ “ความยากจน” เป็นความบันเทิงหรือสะพานบุญให้กับผู้คนตามหน้าสื่อบันเทิงต่าง ๆ โดยการฉายภาพให้เห็นถึงชีวิตที่ยากแค้น ขัดสน หรือชวนให้เกิดความเศร้าต่อผู้ชม ซึ่งภาพความสงสารเหล่านั้นอาจจะนำไปสู่การมอบรางวัล การให้คนที่ขัดสนได้แสดงความสามารถเพื่อชิงโอกาสการได้เลื่อนชนชั้นต่อไปผ่านรูปแบบเกมต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อความบันเทิงเป็นที่ตั้ง แต่ทว่ากลับไม่ได้ลบภาพความเหลื่อมล้ำหรือแก้ปัญหาที่แท้จริงที่กำลังเกิดขึ้น หากแต่เป็นเพียงความบันเทิงที่ถูกฉาบหน้าเอาไว้เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเท่านั้นเอง
ซึ่งรูปแบบความบันเทิงเหล่านี้ แม้จะไม่ได้ถูกจำกัดความว่าเป็นสวนสัตว์มนุษย์ที่โหดร้ายทารุณแบบในสมัยก่อน แต่ความบันเทิงที่เกิดจากการส่องดูชีวิตกลุ่มคนที่อยู่คนละชนชั้นกับผู้รับชม ก็เป็นรูปแบบที่หยิบยืมโครงสร้างเดิมมาใช้ทำงานไม่ต่างจากในสมัยก่อน แม้ว่ารูปแบบความบันเทิงจะมาจากการยินยอมของผู้ขัดสนทางโอกาสเองก็ตาม
รู้จัก Power Dynamic พลวัฒน์อำนาจของสังคม
คำถามสำคัญคือ “แค่ไหนถึงจะกลายเป็น Human Zoo” คำตอบสำคัญอยู่ที่ “พลวัฒน์ทางอำนาจของสังคมนั้น” ว่ากำลังทำงานกับกลุ่มชนชั้นต่าง ๆ มากน้อยแค่ไหน ซึ่ง Power Dynamic หรือพลวัฒน์ทางอำนาจของสังคมจะเป็นตัวกำหนดว่ากลุ่มชาติพันธุ์ เพศ เชื้อชาติ สีผิวต่าง ๆ อยู่ในระนาบไหนทางสังคมเป็นหลัก หรือกำลังผลักให้ใครเป็นกลุ่มคนชายขอบเพื่อความบันเทิงอยู่หรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น ในบางสังคมที่ให้คุณค่าเรื่องมาตรฐานความงาม ผอม ขาวเป็นค่ากลางหลัก ดังนั้นในสื่อความบันเทิงต่าง ๆ การหยิบเอากลุ่มบุคคลที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในค่ากลางมาตรฐานความงาม เช่น อ้วน ผิวดำมาล้อเลียนเป็นเรื่องตลก ก็จะถือว่าเป็นการบีบให้กลุ่มคนเหล่านั้นกลายเป็นชายขอบ และถูกล้อเลียนเพื่อความบันเทิงไปเสีย แม้ว่าผู้จัดทำรายการบันเทิงจะมีเจตนาตั้งใจหรือไม่ก็ตามที
เช่นเดียวกับประเด็นดรามาที่เกิดขึ้น การคำนวณว่าพนักงานโรงงานใบยาสูบนั้นมีคุณภาพชีวิต ค่าแรงขั้นต่ำ สวัสดิการการทำงานในโรงงานคัดแยกใบยาสูบนั้นอยู่ในระดับใด สามารถมีคุณภาพชีวิตแรงงานที่ดีได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อนำมาเทียบกับบรรดา “ลูกค้า” ที่มาถ่ายรูป ใช้สภาพชีวิตแรงงานเบื้องหลังเป็นฉากสำหรับคอนเทนต์ในร้านกาแฟ ก็พอจะคำนวณได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงภาพที่ถูก Setting ขึ้นมาเพื่อความบันเทิง หรือเป็นสวนสัตว์มนุษย์ที่กำลังเอาชนชั้นแรงงานมาเป็นฉากหลังหรือไม่
เพราะในความเป็นจริง สภาพสังคมและความเหลื่อมล้ำย่อมเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ควรเพิกเฉยในการผลิตคอนเทนต์ต่าง ๆ ไม่ว่าผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์จะตั้งใจให้เกิดสวนสัตว์มนุษย์หรือไม่ก็ตาม ความเหลื่อมล้ำและชนชั้นการเหยียด ยังคงทำงานต่อไป และผู้ผลิตคอนเทนต์คงต้องตระหนักถึงสิ่งที่จะนำเสนออย่างถี่ถ้วนด้วยเช่นกัน
อ้างอิง
- https://www.tnnthailand.com/tnnexclusive/184838/
- https://www.blockdit.com/posts/63e465307f9884cd2f23fe54