งานมหกรรมพืชสวนโลก เป็นงานจัดแสดงด้านพืชสวนกลางแจ้ง โดยมีสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (International Association of Horticultural Producers หรือ AIPH) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 65 ประเทศ โดยมีหลักเกณฑ์ว่าประเทศสมาชิกจะเวียนกันจัดงานตามประเภทแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ A1 : World Horticultural Exposition, B : International Horticultural Exhibition, C : International Horticultural Show และ D : International Horticultural Trade Exhibition ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยได้รับสิทธิ์การจัดงานอีกถึง 2 ครั้งด้วยกัน คือ ในปี 2569 ที่ จ.อุดรธานี และ ปี 2572 ที่จ.นครราชสีมา
สำหรับงานมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 มาในธีมวิถีชีวิต สายน้ำ และพืชพรรณ ซึ่งมีรูปแบบงานเป็นประเภท B จัดขึ้นบริเวณทุ่งหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่จัดงาน 1,030 ไร่ โดยมีกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 – 14 มีนาคม 2570 หรือ 134 วัน ซึ่งการจัดงานครั้งนี้คณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณการดำเนินงาน 2,500 ล้านบาท คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้เข้าชมงาน 3.6 ล้านคน แบ่งเป็นชาวไทย 70% และชาวต่างประเทศ 30% ทำให้เกิดรายได้สะพัด 32,000 ล้านบาท และส่งผลทำให้ GDP เติบโตขึ้นรวมกว่า 20,000 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 81,000 อัตรา สร้างรายได้จากการจัดเก็บภาษี 7,700 ล้านบาท
ล่าสุดในงานการประชุมประจำปี 2567 ของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศที่กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ในวันที่ 6 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังได้คว้าสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ประเภท A1 เพิ่มอีกงาน ภายใต้ชื่องานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ. 2572 หรือ โคราช เอ็กซ์โป 2029 โดยการจัดงานครั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณการดำเนินงาน 4,280 ล้านบาท คาดการณ์ว่าตลอดระยะเวลาการจัดงานโคราช เอ็กซ์โป 2029 จะก่อให้เกิดเงินสะพัดกว่า 18,942 ล้านบาท เพิ่ม GDP อีกกว่า 9,163 ล้านบาท และทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 3,429 ล้านบาท ทั้งยังสร้างงาน 36,003 อัตรา
สำหรับการได้รับสิทธิ์จัดงานระดับโลกครั้งนี้ จะช่วยยกระดับจังหวัดนครราชสีมาให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนในอุตสาหกรรมพืชสวน ภายใต้แนวคิด “ธรรมชาติและพรรณพืชเขียวขจี อนาคตแห่งโลกสีเขียว” โดยมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน 2572 – 28 กุมภาพันธ์ 2573 บริเวณพื้นที่สาธารณะประโยชน์โคกหนองรังกา อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา บนเนื้อที่ 678 ไร่
ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลกแล้ว 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2549 ภายใต้ชื่อมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ประเภท A1 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 – 31 มกราคม 2550 บริเวณศูนย์วิจัยเกษตรหลวง ต.แม่เหียะ จ.เชียงใหม่ บนพื้นที่ 470 ไร่ เป็นงานที่รวมสุดยอดความมหัศจรรย์แห่งพรรณไม้ในพื้นที่เขตร้อนชื้นที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ที่มีความหลากหลายมากที่สุด ของพรรณไม้กว่า 2,200 ชนิด มากกว่า 2.5 ล้านต้น ทั้งยังเป็นการประกาศศักยภาพการผลิตพืชผลทางการเกษตรของไทย ด้านพรรณไม้ดอกไม้ประดับ ไม้สมุนไพร พืชสวนครัว ไม้แปลกหายาก และพืชผลทางการเกษตร สู่เวทีตลาดการค้าโลก
การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกครั้งนี้ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 2,404 ล้านบาท และตลอดช่วงการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ได้ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่คิดเป็นมูลค่าประมาณ 23,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทย 65% และเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35%
และครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2554 ภายใต้ชื่อมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2554 (The International Horticultural Exposition: Royal Flora Ratchaphruek 2011) ณ จ.เชียงใหม่ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2554 – 14 มีนาคม 2555 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ต.แม่เหียะ อ.เมือง โดยแม้จะเป็นมหกรรมพืชสวนโลกที่จะได้รับการรับรองมาตรฐานระดับ A2B1 ขณะที่งานมหกรรมพืชสวนโลกเมื่อ 5 ปีก่อนจะได้รับการรับรองมาตรฐานระดับ A1 ก็ตาม แต่ถือเป็นงานระดับโลกอีกครั้งที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพด้านการเกษตรให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ การจัดงานครั้งนี้ใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น 838 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเชียงใหม่รวมทั้งสิ้น 2.2 ล้านคน ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในเชียงใหม่คิดเป็นมูลค่าประมาณ 16,000 ล้านบาท
การคว้าสิทธิ์จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกได้อีกถึง 2 ครั้ง สะท้อนถึงความพร้อมและศักยภาพของไทย ที่จะมีโอกาสในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ ชื่อเสียงและการรับรู้เกี่ยวกับประเทศไทยในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของท้องถิ่นและโอกาสในการพัฒนาท้องถิ่น และอุตสาหกรรมในพื้นที่ ตามนโยบายบายการส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาลที่ตั้งเป้าสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 25% ของ GDP ในอีก 3 ปีข้างหน้าหรือภายในปี 2570