โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ประชาชนประมาณ 50 ล้านคน เป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านการใช้จ่ายของประชาชนในกลุ่มประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 840,000 บาท และมีเงินในบัญชีรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท โดยรัฐบาลหวังว่าการแจกเงินครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ
การแจกเงินจะดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันใหม่ที่พัฒนาขึ้นโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เป็นซูเปอร์แอปของรัฐบาล และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดกับบริการอื่น ๆ ได้ต่อไป ซึ่งวงเงิน 10,000 บาทที่แจกให้ประชาชนจะมีอายุการใช้จ่ายได้ราว 6 เดือน และสามารถใช้จ่ายได้กับร้านค้าขนาดเล็กในระดับอำเภอตามคุณสมบัติที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
ในช่วงแรก รัฐบาลตั้งเป้าที่จะแจกเงินหมื่นพร้อมกันทีเดียวทั้งประเทศ แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งแหล่งเงินที่ไม่เพียงพอ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ความเห็นของหน่วยงานเศรษฐกิจ อย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ไม่เห็นด้วยกับการนำเงินมาแจกให้กับประชาชน แทนที่รัฐบาลจะนำเงินจำนวนมหาศาลนี้ไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและรับมือกับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งสงครามในตะวันออกกลาง สงครามการค้า แต่รัฐบาลก็ยังดื้อรั้นที่จะเดินหน้าแจกเงินหมื่นต่อ โดยซอยโครงการออกเป็นหลายเฟส ซึ่งยิ่งทำให้สำนักงานเศรษฐกิจและนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักออกมาวิเคราะห์และตั้งคำถามว่า ทำแบบนี้จะเป็นพายุเศรษฐกิจได้อย่างไร และแต่ละเฟสก็แทบไม่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเงินหมื่นสองเฟสที่ผ่านมาก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายแรกของรัฐบาลที่จะแจกผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต แต่เป็นการโอนเงินเข้าบัญชีและให้ประชาชนไปใช้จ่ายได้แบบไม่มีเงื่อนไขตามที่เคยกำหนดไว้
กระทั่งเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2567 คณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้พิจารณาเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 3 ให้กับเยาวชนอายุ 16-20 ปี จำนวนประมาณ 2.7 ล้านคน สัญชาติไทย รายได้ทั้งปีไม่เกิน 840,000 บาท และมีเงินฝากรวมไม่เกิน 500,000 บาท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 และในช่วงเดือนเดียวกัน กระทรวงการคลังก็ได้เสนอร่างโครงการเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ก็ถูกฟรีซเวลาให้ลากยาวมาจนถึงพฤษภาคม ทั้งที่ขณะนั้นรัฐบาลยืนยันว่าไทม์ไลน์การแจกเงินยังคงเป็นช่วงไตรมาส 2 ของปี 2568 หรือประมาณเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน
จนมาถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 สามอรหันต์กระทรวงการคลัง นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลังก็ได้แถลงยอมรับแบบอ้อม ๆ ว่าเงินหมื่นเฟส 3 และเฟสที่เหลือไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ หรือชะลอออกไปแบบไม่มีกำหนด เนื่องจากรัฐบาลจะต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อไทยโดยตรง ประกอบกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมานั้นทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ทำให้จำเป็นที่จะต้องออกมาตรการเร่งด่วนก่อน
ซึ่งทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “พิชัย ชุณหวชิร” ก็ยืนยันว่า การชะลอโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ได้เกิดจากปัญหาด้านงบประมาณ แต่เป็นการปรับแผนการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน โดยงบประมาณที่เคยจัดสรรไว้สำหรับโครงการนี้จำนวน 157,000 ล้านบาท จะถูกนำไปใช้ในโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น การบริหารจัดการน้ำ ระบบคมนาคมขนส่ง การปรับปรุงห้องน้ำเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และมาตรการด้านการศึกษาของเยาวชน
อย่างไรก็ตาม การชะลอโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 3 สะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลในการปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน โดยเน้นการลงทุนในโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน แต่ถึงอย่างนั้น การตัดสินใจนี้อาจส่งผลกระทบต่อผู้มีสิทธิ์รับเงินในโครงการดังกล่าวที่ต้องรอการพิจารณาใหม่ในอนาคต แต่ก็เหมือนยากที่จะกลับมาแจกเงินตามเดิมอีกครั้ง นอกจากจะหามาตรการอื่น ๆ มาทดแทน เพราะรัฐบาลเหลือเวลาในการบริการประเทศราว 2 ปีที่เหลือ และงบประมาณที่ทำได้คือ งบฯ ปี 2570 แต่จะใช้ในรัฐบาลสมัยนี้ไม่ทันแล้วเช่นกัน สรุปสั้น ๆ คือโครงการเงินหมื่นคงจะต้องพับโครงการไปอย่างปริยาย