นับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่เดือนมีนาคม หนึ่งในประเด็นที่ยังอยู่ในความสนใจของผู้คนมาตลอด 1 – 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นคอนเสิร์ต ‘TAYLOR SWIFT THE ERAS TOUR IN SINGAPORE’ คอนเสิร์ตครั้งใหญ่ของ ‘แม่เทย์’ หรือ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ศิลปินสาวชาวอเมริกันชื่อดังที่มีผลงานมากมาย ขวัญใจของแฟนคลับอย่างชาวสวิฟตี้และแฟนเพลงอีกมากหน้าหลายตา

ในปีนี้เป็นโอกาสอันดีที่เธอได้จัดคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ และได้มาเยี่ยมเยียนที่ประเทศฝั่งเอเชียอีกครั้ง ทว่าแฟนคลับก็อาจยังดีใจได้ไม่สุดเพราะว่าประเทศที่เธอเลือกมาจัดการแสดงในทวีปเอเชียมีเพียงแค่ 2 ที่ ได้แก่ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งหากนับด้วยภูมิภาคที่เฉพาะเจาะจงลงไปอีก ‘สิงคโปร์’ เป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เทย์เลอร์เลือกจัดคอนเสิร์ต

ด้วยความที่ประเทศไทยเราก็อยู่ในภูมิภาคนี้เช่นกัน นั่นจึงทำให้หลายคนเลือกที่จะออกเดินทางไปคอนเสิร์ตเทย์เลอร์ที่สิงคโปร์ โดยเธอเลือกจัดการแสดงคอนเสิร์ตที่สิงคโปร์นานถึง 6 วัน ได้แก่วันที่ 2 – 4 มีนาคม และ 7 – 9 มีนาคม 2567 ที่สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ (Singapore National Stadium)

สาเหตุที่เทย์เลอร์เลือกจัดการแสดงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงแค่ประเทศเดียวนั่นอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เป็นไปได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเหตุผลในทางธุรกิจ หรือว่าการเมือง แต่อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจและยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่จนถึงวันนี้คือประเด็นว่าด้วย ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ (Infrastructure) ของสถานที่จัดงาน

วันนี้เราจึงอยากชวนทุกคนย้อนดูและคิดตามว่าประเด็นนี้จะเกี่ยวข้องอย่างไรและมากน้อยแค่ไหนกับการตัดสินใจเลือกจัดคอนเสิร์ตเพียงแค่ที่เดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นนี้

เมื่อประวัติศาสตร์ ‘ซ้ำรอย’

อันที่จริงแล้วกรณีนี้ไม่ได้เกิดเป็นกรณีแรก แต่ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์ที่คล้ายกัน

เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา สโมสรลิเวอร์พูล (Liverpool Football Club) กลับมาเยือนแผ่นดินเอเชียอีกครั้งในช่วงอุ่นเครื่องก่อนหน้าการเปิดฤดูกาลแข่งขันใหม่ (Pre-season) แต่เป็นที่น่าเสียดายว่ารอบนี้หงส์แดงไม่ได้มาที่ประเทศไทยเช่นดังปีก่อนหน้าแต่อย่างใด แต่กลับเลยไปที่สิงคโปร์แล้วจัดแมตช์การแข่งขันชุดใหญ่กับ ‘เสือใต้’ หรือสโมสรบาเยิร์น มิวนิค (FC Bayern) และ ‘จิ้งจอกสยาม’ หรือสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ (Leicester City F.C.)

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2565 นั้น ลิเวอร์พูลได้มาเข้าร่วมเกมการแข่งขันอุ่นเครื่องที่ประเทศไทย โดยเป็นการแข่งขันกระชับมิตรกับทีม ‘ปีศาจแดง’ หรือ สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (Manchester United F.C.) ในชื่อว่า THE MATCH Bangkok Century Cup 2022 ในวันที่ 12 กรกฎาคม และเมื่อเสร็จสิ้นเกมการแข่งขันที่กรุงเทพแล้ว ทั้งทีมก็ได้เดินทางต่อไปยังสิงคโปร์เพื่อทำการแข่งขันกระชับมิตรกับทีมคริสตัล พาเลซ (Crystal Palace) ที่มีโปรแกรมต่อในวันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ที่สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ทันที

จากที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าลิเวอร์พูลเลือกไป Pre-season ที่สิงคโปร์ถึง 2 ปีซ้อน ซึ่งสถานที่จัดก็เป็นที่เดียวกันคือสนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์

และนั่นก็เป็นสถานที่เดียวกันกับที่เทย์เลอร์ สวิฟต์จัดคอนเสิร์ตของเธอด้วยเช่นกัน

แล้วเพราะเหตุใดจึงเป็นที่ ‘สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์’

อาจกล่าวได้ว่า ‘สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์’ ถูกสร้างขึ้นมาในฐานะ ‘สนามกีฬาเอนกประสงค์’ มาตั้งแต่แรกเริ่ม

ทั้งที่นั่งกว่า 55,000 ที่ ในพื้นที่ 200 ไร่ การยกระดับให้เป็น ‘ฮับ’ (HUB) ทั้งในแง่ศูนย์รวมกีฬาและความบันเทิง พร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งหมดนี้จึงทำให้สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์สามารถจัดได้หลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬาที่มากกว่าแค่ฟุตบอลแต่ยังรวมไปถึง รักบี้ คริกเก็ต และกรีฑา ส่วนในทางบันเทิงไลฟ์สไตล์ก็ยังเป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตแบบเปิด (Outdoor Stadium) ได้

ยิ่งไปกว่านั้น สนามแห่งนี้ยังมีระบบที่สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ไม่หวั่นว่าฝนจะมาหรือแดดจะจ้าเพียงใด เพราะว่ามีการออกแบบระบบการทำความเย็นและการระบายความร้อน ทั้งยังมีการออกแบบหลังคาที่สามารถเปิด – ปิดได้ นั่นจึงทำให้ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร ที่นี่จึงยังคงสามารถ ‘รับมือ’ ได้ ไม่ว่าจะในสถานการณ์ไหนก็ตาม

สำหรับในส่วนของการเดินทางด้วยระบบการขนส่งสาธารณะก็ง่ายแสนง่าย เพราะว่ามีรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินรองรับถึง 3 สถานีหลัก และยังมีที่พักในบริเวณใกล้เคียงชนิดที่ว่าสามารถเดินทางมาสนามเองได้เลยอีกหลายที่

จะเห็นได้ว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานที่กล่าวมานั้นไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ตัวสถานที่จัดอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงสิ่งอำนวยความสะดวกรอบข้างและการเดินทางที่เอื้ออำนวย นี่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่อาจส่งผลไปถึงการเลือกทำเลจัดงานคอนเสิร์ตเช่นกัน

ความเป็นไปได้ของ ‘ประเทศไทย’

อาจกล่าวได้ว่าสถานที่จัดคอนเสิร์ตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยตอนนี้คือ ‘ราชมังคลากีฬาสถาน’ ด้วยเพราะเป็นสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ ขณะนี้ และเป็นที่ที่สามารถจุผู้ชมได้จำนวนมากหากจัดงานคอนเสิร์ตกลางแจ้ง

แต่ด้วยหลายเหตุผลและปัจจัยที่ทำให้ราชมังฯ ยังคงมีข้อบกพร่อง อันดับแรกคือด้วยสถานที่การจัดงานที่เป็น ‘กลางแจ้ง’ ที่หมายถึงกลางแจ้งจริงๆ ไม่มีหลังคาปกคลุมรองรับเมื่อแดดออกหรือฝนตกหนัก

ต่อมาคือการคมนาคมขนส่งที่อาจยังไม่สะดวกมากนัก เพราะว่าตอนนี้ยังไม่มีสถานีรถไฟฟ้าที่เปิดบริการแล้วในบริเวณที่สามารถเดินทางต่อเดียวถึงราชมังฯ ได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งตอนนี้มีแค่สถานีแต่ยังไม่ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการ คือ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ทุกคนก็ต่างรอคอยให้มันเปิดเสียที ยังไม่นับรวมมอเตอร์ไซค์รับจ้างโก่งราคา แท็กซี่เรียกค่าโดยสารทีละพัน ไหนจะถนนเข้าออกในบริเวณนั้นที่สุดแสนจะแคบเท่าที่คุณจะจินตนาการภาพได้ ภาพเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะธรรมดาและคุ้นตาเมื่อเราพูดถึงบรรยากาศหลังการเลิกคอนเสิร์ตในสถานที่แห่งนี้

มาจนถึงตอนนี้ หลายคนอาจตั้งคำถามว่าที่จริงแล้วหลายศิลปินเบอร์ยักษ์ใหญ่ก็ยังจัดคอนเสิร์ตที่ราชมังฯ ได้ และสิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่แท้จริงของการเลือกจัด – ไม่จัดคอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ เพราะศิลปินอาจไมได้คำนึงถึงสถาพแวดล้อมรอบ ๆ สถานที่จัดงานขนาดนั้น

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้ก็มีความเกี่ยวข้องด้วยอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้อาจต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จริงอยู่ที่ว่าภาคธุรกิจก็อาจวางแผนขยายสถานที่จัดคอนเสิร์ตให้ใหญ่กว่าที่เป็นอยู่ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่สู้ภาครัฐก็ควรให้การสนับสนุนไปพร้อม ๆ กัน เพื่อที่คนไทยจะได้ไปคอนเสิร์ตระดับโลกอย่างสาแก่ใจ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสถานที่จัดงานและการเดินทางเสียที

เรื่อง : รุอร พรหมประสิทธิ์
ภาพ : มณฑล ชลสุข

อ้างอิง

CREATED BY

หนังสือ ไพ่ทาโรต์ กาแฟส้ม แมวสามสี และลิเวอร์พูล