‘สื่อมวลชน’ หรือ ‘นักข่าว’ คือ คนที่คอยสื่อสารและรายงานสถานการณ์ความเคลื่อนไหวบ้านเมืองในแต่ละประเทศ แต่หลังจากที่มีนักข่าวเสียชีวิตจากการรายงานข่าวภาคสนามและถูกจับกุมตัวกันมากขึ้น องค์การยูเนสโก (UNESCO) จึงได้เสนอสมัชชาต่อองค์การสหประชาชาติ (UN) ให้ประกาศให้ทุก ๆ วันที่ 3 พฤษภาคม เป็น ‘วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก’ (World Press Freedom Day) เพื่อเปิดพื้นที่ให้สื่อได้มีอิสระ และเสรีภาพรายงานข่าวตามความเป็นจริง โดยเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2534 ซึ่งจากผลการจัดดัชนีสิทธิและเสรีภาพสื่อทั่วโลกในปี 2024 เทียบเคียงกับปี 2023 มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

ปี 2024 (5 อันดับแรก)

  • อันดับที่ 1 ประเทศ นอร์เวย์ ดัชนีอยู่ที่ 91.89% ซึ่งในปี 2023 มีดัชนีอยู่ที่ 95.18%
  • อันดับที่ 2 ประเทศ เดนมาร์ก ดัชนีอยู่ที่ 89.60% ซึ่งในปี 2023  มีดัชนีอยู่ที่ 89.48%
  • อันดับที่ 3 ประเทศ สวีเดน ดัชนีอยู่ที่ 88.32% ซึ่งในปี 2023  มีดัชนีอยู่ที่ 88.15%
  • อันดับที่ 4 ประเทศ เนเธอร์แลนด์ ดัชนีอยู่ที่ 87.73% ซึ่งในปี 2023 มีดัชนีอยู่ที่ 87%
  • อันดับที่ 5 ประเทศ ฟินแลนด์ ดัชนีอยู่ที่ 86.55% ซึ่งในปี 2023 มีดัชนีอยู่ที่ 87.94%

ปี 2024 (4 อันดับสุดท้าย)

  • อันดับที่ 177 ประเทศเกาหลีเหนือ ดัชนีอยู่ที่ 20.66% ซึ่งในปี 2023 มีดัชนีอยู่ที่ 21.72% 
  • อันดับที่ 178 ประเทศ อัฟกานิสถาน ดัชนีอยู่ที่ 19.09% ซึ่งในปี 2023 มีดัชนีอยู่ที่ 39.75%
  • อันดับที่ 179 ประเทศ ซีเรีย ดัชนีอยู่ที่ 17.41% ซึ่งในปี 2023 มีดัชนีอยู่ที่ 27.22%
  • อันดับที่ 180 ประเทศ เอริเทรีย ดัชนี้อยู่ที่ 16.64% ซึ่งในปี 2023 มีดัชนีอยู่ที่ 27.86% 

ส่วนสถานการณ์ ‘เสรีภาพสื่อ’ ในประเทศไทยปีนี้อยู่อันดับที่ 87 และมีดัชนีอยู่ที่ 58.12% ซึ่งหากเทียบเคียงในปี 2023 จะอยู่อันดับที่ 106 และมีดัชนีอยู่ที่ 55.24% ถือว่ามีอันดับและดัชนีที่ดีขึ้นหากเทียบเคียงกับปีที่แล้ว ที่อาจจะมาจากการที่ประเทศไทยได้มีการเลือกตั้งในปี 2566 ครั้งใหญ่ขึ้น หลังจากที่ตกอยู่ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารมาอย่างยาวนาน และมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2563 ที่มีการรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งและมีการตั้งคำถามถึงโทษทางกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่ามีโทษที่มากเกินไปหรือไม่

นอกจากนี้ ‘สื่อกระแสรอง’ หรือ ‘สื่อออนไลน์’ เช่น ประชาไท, The Reporter เมื่อพยายามที่จะรายงานข่าวในมุมอื่น ๆ มักจะถูกคุกคามด้วยการแบนจากเจ้าหน้าที่ ทำให้ต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้ได้ข่าวสาร และรายงานข่าวอย่างน่าเชื่อถือ

นอกจากนี้ในบริบทของความปลอดภัยของสื่อ นักข่าวจำเป็นต้องตระหนักอย่างถี่ถ้วนในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เพราะหลังจากการรัฐประหารปี 2557 มีนักข่าวรวมถึงประชาชนคนอื่น ๆ ถูกบีบบังคับให้เลือกระหว่างลี้ภัยทางการเมืองหรือจำคุก รวมถึงในการประท้วงช่วงปี 2564 – 2565 มีนักข่าวได้รับบาดเจ็บสาหัสจากตำรวจเนื่องจากการสลายการชุมนุม เช่น ช่างภาพจาก The MATTER ถูกยิงด้วยกระสุนยาง หรือ ช่างภาพอิสระถูก ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ยกปืนลูกซองขู่ให้หยุดถ่ายภาพ เป็นต้น

อย่างไรก็ ‘สิทธิและเสรีภาพสื่อ’ เป็นเรื่องสากลที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และเนื่องด้วยวันสิทธิและเสรีภาพสื่อสากล SUM UP จึงจัดทำ Video Series พิเศษที่จะพาไปคุยกับนักข่าวคนสำคัญที่ทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี ทั้ง “แจ็ค-ศรีสุภางค์ ธรรมาวุธ” จากสำนักข่าววันนิวส์, “อาร์ท-เอกรัฐ ตะเคียนนุช” ผู้สื่อข่าวและผู้ประกาศข่าวจาก PPTV HD36 และ “มิลค์-เขมสรณ์ หนูขาว” ผู้ประกาศข่าวและนักอาชญาวิทยา จากไทยรัฐทีวี ที่จะพาไปค้นคำตอบเกี่ยวกับเส้นทางนักข่าวและเสรีภาพสื่อมวลชนในเมืองไทยไปด้วยกัน พบกันได้ทุกวันพุธ 6 โมงเย็น ตลอดเดือนพฤษภาคม 2567 บน SUM UP ทุกช่องทาง ทั้ง Facebook, YouTube และ www.sumupth.com พลาดไม่ได้! 

อ้างอิง