ในโลกของการเมือง เรามักจะได้ยินคำว่า ‘บ้านใหญ่’ กันอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะการเมืองในระดับท้องถิ่น แต่ไม่ใช่แค่คำว่าบ้านใหญ่เท่านั้น ในการเมืองไทยมักจะมีคำว่าครอบครัว อย่างครอบครัวเพื่อไทย หรือการนับญาติอย่าง ลุง ป้า น้า อา ซึ่งคำพูดเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการเอื้อกันทางผลประโยชน์และการอุปภัมภ์
‘บ้านใหญ่’ ความหมายของมันก็คือ การเป็นบ้านที่ใหญ่ทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม อธิบายง่าย ๆ คือ การใหญ่ในด้านเศรษฐกิจจะเชื่อมโยงไปถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่คนกลุ่มนี้ได้ประโยชน์จนมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่มั่นคงร่ำรวยกว่าคนอื่น ๆ ในพื้นที่ และเมื่อเขานำต้นทุนทางเศรษฐกิจมาแบ่งปันให้กับคนอื่น ๆ ในพื้นที่ก็เกิดเป็นเครือข่ายทางสังคมที่มาจากการช่วยเหลืออุปถัมภ์กันจนบ้านของเขามีความใหญ่ในด้านสังคม มีคนไปมาหาสู่ที่บ้านเยอะเพื่อขอความช่วยเหลือต่าง ๆ ซึ่งบ้านใหญ่คอนเซ็ปต์โดยภาพรวมไม่ได้ต่างจากความเป็น ‘เจ้าพ่อ’
หากจะยกตัวอย่างบ้านใหญ่สักหนึ่งหลังในการเมืองไทย คนชลบุรีคงคุ้น ๆ กับ ‘ตระกูลคุณปลื้ม’ และ ‘กำนันเป๊าะ’ สมชาย คุณปลื้ม กันเป็นอย่างดี โดย ‘โอฬาร ถิ่นบางเตียว’ อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ช่วง 30 – 40 ปีที่ผ่านมา กำนันเป๊าะและตระกูลคุณปลื้ม เป็นกลุ่มที่ครองอำนาจทางการเมืองสูงที่สุดในชลบุรี
ซึ่งต้องอธิบายก่อนว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจในยุค พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้กระจายการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้าสู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ทำให้การเมืองท้องถิ่นในจังหวัดที่มีทะเลหรือชายฝั่งเริ่มมีบทบาททางการเมืองสูง อย่างเช่น พัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นต้น และตัวกำนันเป๊าะเองได้สะสมความยิ่งใหญ่ทางด้านสังคมด้วยการให้ความช่วยเหลือกับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน เพราะตนเองมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าคนอื่น ๆ ด้วยการทำอาชีพประมง และวิธีคิดของกำนันเป๊าะอีกอย่างหนึ่งก็คือ การวางตัวเองเป็นกึ่งนักธุรกิจกึ่งนักเลง ก็คือการแบ่งการทำธุรกิจเพื่อผลประโยชน์ให้คนหลาย ๆ กลุ่มจนเกิดเป็นเครือข่ายอำนาจที่ใหญ่ขึ้นมา นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมกำนันเป๊าะและตระกูลคุณปลื้มถึงได้กลายเป็นบ้านใหญ่ของจังหวัดชลบุรี และหลังจากที่กำนันเป๊าะเสียชีวิต ขั้วอำนาจทางการเมืองก็แตกออกเป็น 3 ขั้ว คือ กลุ่มสนธยา คุณปลื้ม, กลุ่มสุชาติ ชมกลิ่น และกลุ่มสิงโตทอง
นอกจากนี้ ปรากฏการณ์บ้านใหญ่ในการเมืองไทยไม่ได้มีแต่ในจังหวัดชลบุรีเท่านั้น เราจะเห็นบ้านใหญ่อยู่ตามกลุ่มการเมืองในจังหวัดต่าง ๆ เต็มไปหมด ซึ่งเรื่องนี้อธิบายได้ว่า การเกิดขึ้นของบ้านใหญ่สะท้อนให้เห็นภาพของระบบราชการที่ไม่สามารถแก้ไขหรือตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดีพอ ในทางกลับกัน การขอความช่วยเหลือจากการใช้เครือข่ายอำนาจแบบไม่เป็นทางการกลับสามารถที่จะตอบสนองและช่วยแก้ไขปัญหาพวกเขาได้ดีมากกว่า กล่าวคือ หากกำนันเป๊าะวางตัวเป็นคนในครอบครัวด้วยการช่วยเหลือสารทุกข์สุขดิบของประชาชนที่วิ่งเข้ามา ประชาชนรู้สึกว่าเขาจับต้อง พึ่งพิง และอาศัยความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ จากการใช้อำนาจที่ไม่เป็นทางการได้
ดังนั้น ปัญหาสำคัญของเรื่องนี้จริง ๆ เลยก็คือ โครงสร้างระบบราชการที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้คล่องตัวมากพอ ทำให้ประชาชนมองหาวิธีอื่น ๆ ในการช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น และเมื่อมีการเลือกตั้งมาถึงกลุ่มที่มีเครือข่ายทางอำนาจที่แข็งแรงก็จะสามารถเข้าสู่เส้นทางการเมืองได้อย่างไม่ยากเท่าไหร่นักเพราะมีฐานเสียงมาจากประชาชนในพื้นที่นั่นเอง
อ้างอิง
- https://prachatai.com/journal/2023/02/102766
- https://www.youtube.com/watch?v=IPM39l9g7SU
- https://thematter.co/social/outside-bangkok-khumpluem-chonburi/207012