ปัจจุบันอัตราค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยอยู่ที่ 330 – 370 บาท ซึ่งจังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำต่ำที่สุดจะอยู่ในโซนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา ส่วนจังหวัดที่มีค่าแรงสูงที่สุดอยู่ที่ ‘ภูเก็ต’ ทั้งนี้ทาง ‘พิพัฒน์ รัชกิจประการ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ออกมาย้ำถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท/วัน ที่อาจจะสามารถทำได้ภายในปีนี้ หรือภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 โดยในวันนี้ (1 พฤษภาคม 2567) เป็น ‘วันแรงงาน’ ทีม SUM UP จึงอยากชวนทุกคนลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของ ‘ผู้ใช้แรงงานจริง’ ในกรุงเทพฯ ว่าในฐานะของผู้ใช้แรงงานที่อยู่ใจกลางเมืองใหญ่ มีทัศนคติและความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไรกันบ้าง

🚩 ‘ณรงค์ ปานกลาง’ อายุ 55 ปี อาชีพ รับจ้างซ่อมรองเท้า

เริ่มต้นพูดคุยกับ ‘ณรงค์’ หากใครที่มีโอกาสได้สัญจรผ่านมาแถบเส้นถนนอโศก จะพบเห็นชายวัยกลางคนสวมแว่นสีขาวก้มหน้าก้มตาจดจ่อกับการซ่อมรองเท้าในมือแบบไม่ได้สนใจผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาเท่าไหร่นัก

‘ณรงค์’ ในวัย 55 ปี นั่งสูบบุหรี่และพูดคุยกับพวกเราถึงจุดที่พาตัวเองมาไกลถึงกรุงเทพฯ ซึ่งภูมิลำเนาเดิมของณรงค์อยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา หลังจากจบการศึกษาระดับ ป. 6 ก็รู้สึกว่าเริ่มอยากหาตังค์ได้ด้วยตนเอง เนื่องจากเป็นพี่คนโตและน้อง ๆ ยังจำเป็นต้องเรียนหนังสือ อีกทั้งอาชีพที่จังหวัดนครราชสีมาตอนนั้นไม่สามารถทำอะไรได้เลยนอกจากการเกษตร ทำให้รายได้ต่อวันอยู่ที่ 20 บาทเท่านั้น จึงตามเพื่อน ๆ เข้ามาเป็นพนักงานรับจ้างซ่อมเฟอร์นิเจอร์ในโรงงานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2531 รายได้ตอนนั้นก็ตกอยู่ที่วันละ 40 บาท ‘ณรงค์’ บริหารเงิน 40 บาท ด้วยการกินข้าวไม่เกินวันละ 20 บาท ส่วนที่พักอาศัยสามารถพักพิงในโรงงานได้

หลังจากที่ออกจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ก็ไปทำงานเป็นช่างก่อสร้างอยู่ที่อำเภอป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ทำไปได้สักพักก็กลับมาหางานทำที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง ซึ่งตอนนั้นยังไม่สามารถหางานได้ เพื่อน ๆ ก็เลยชวนมาเป็นช่างซ่อมรองเท้า ทำให้ ‘ณรงค์’ เริ่มต้นจากศูนย์ และค่อย ๆ ฝึกหัดมาเรื่อย ๆ 

“ดารา นักแสดง นักร้อง ของแกรมมี่ เขาเอารองเท้ามาซ่อมกับลุงบ่อยมากเลยนะ” ณรงค์กล่าว

ด้วยความที่ ‘ณรงค์’ รับซ่อมรองเท้าอยู่ในทำเลที่เรียกว่าอโศก และอยู่ไม่ไกลจากตึกแกรมมี่เท่าไหร่ ดารา นักแสดง ไปจนถึงนักร้องของแกรมมี่ก็ได้นำรองเท้ามาซ่อมกับณรงค์อยู่พอสมควร ปัจจุบันรายได้ของณรงค์เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 400 กว่าบาท อาจจะเสียค่าเช่าที่หน้าร้านเพื่อนั่งซ่อมรองเท้าตกวันละ 100 บาท และค่าครองชีพอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ ก็แพงมาก ๆ เช่นกัน ‘ณรงค์’ เล่าว่าเดินเข้าตลาดไปแต่ละทีข้าวของแพงมาก เงิน 100 – 200 บาทได้ของมาไม่กี่อย่าง บั้นปลายเลยอาจจะกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิด แต่จำเป็นต้องหารายได้และสะสมเงินเก็บจากกรุงเทพฯ เสียก่อน และเมื่อถามถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ‘ณรงค์’ ก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้และมองว่าเป็นนโยบายที่ดีเหมือนกัน เพราะทุกวันนี้ค่าครองชีพสูงมากจนคนทำมาหากินอาจจะแบกรับไม่ไหว

🚩 พัทธชัย ยาสุปิ อายุ 42 ปี อาชีพ พนักงานรักษาความปลอดภัย

เดินลัดเลาะมาเรื่อย ๆ ก็มาเจอกับ ‘พัทธชัย’ ผู้ชายในเครื่องแบบพนักงานรักษาความปลอดภัยที่นั่งดูความสงบเรียบร้อยในสวนสาธารณะ ‘พัทธชัย’ วางมือถือในมือที่ใช้ในการสื่อสารกับทีมงาน และเล่าให้พวกเราฟังว่า พื้นเพเป็นคนจังหวัดแพร่ ปีนี้มีอายุครบ 42 ปีเต็ม ‘พัทธชัย’ เป็นพี่ชายคนโต มีน้องสาวแท้ ๆ อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นอีกหนึ่งคน

เมื่อถามถึงครอบครัว ‘พัทธชัย’ เล่าว่าตอนนี้คนที่บ้านย้ายไปทำงานที่ญี่ปุ่นกันหมดแล้ว มีตนคนเดียวที่ยังอยู่กรุงเทพฯ ในใจลึก ๆ ก็แอบอยากย้ายตามไปอยู่และทำงานกับพวกเขาด้วย แต่ด้วยความที่เอกสารค่อนข้างเยอะ บวกกับไม่คุ้นชินกับสภาพแวดล้อม ทำให้ตนตัดสินใจอยู่ที่นี่ต่อ

‘พัทธชัย’ เล่าต่อว่าเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ได้ประมาณ 8 – 9 ปีแล้ว และทำอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัยหรือยามมาโดยตลอด ช่วงแรกที่เข้ามาอยู่ ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 350 บาท/วัน ด้วยความที่เป็นโสด ไม่ได้มีภาระอะไร เงิน 350 บาท/วันก็พอให้บริหารจัดการชีวิตได้แบบไม่เดือดร้อนอะไรเท่าไหร่นัก 

ปัจจุบันค่าแรงของ ‘พัทธชัย’ อยู่ที่ประมาณ 450 บาท/วัน ซึ่งตนพอใจกับรายได้ประมาณนี้ เพราะทำให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ที่ค่าครองชีพสูงมาก ๆ ได้ แต่บางครั้งก็มีควงกะเพื่อหารายได้เสริมบ้าง อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการเป็นยามที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้นมาคือค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตรายเดือน เพราะตนต้องใช้มือถือในการสื่อสารกับทีมและต้องออกค่าใช้จ่ายส่วนนี้เอง และเมื่อถามถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ‘พัทธชัย’ ก็บอกว่าเป็นนโยบายที่ดีเหมือนกันเมื่อเทียบกับช่วงค่าแรงขั้นต่ำ 300 – 350 บาท แน่นอนว่าบางคนไม่พอใช้หากเทียบกับค่าครองชีพ แต่สิ่งที่เป็นกังวลต่อมาก็คือ ทุก ๆ ครั้งเมื่อค่าครองชีพปรับขึ้น สิ่งที่ขึ้นตามมาติด ๆ ก็คือราคาข้าวของ หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำพร้อมกับราคาของที่แพงขึ้น ตนมองว่ามันก็อาจจะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี ‘ประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ’ เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน ทั้งต่อตัวผู้ใช้แรงงานและตัวผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงานหลายคนก้มหน้าก้มตาทำงานหนัก แต่ก็ต้องพ่วงมาด้วยค่าครองชีพที่สูงลิ่ว และเมื่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว คนอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบก็คือผู้ประกอบการ ดังนั้นภาครัฐอาจจะต้องหาเครื่องมือใด ๆ เพื่อมารองรับนโยบายที่เกิดขึ้นนี้

อีกหนึ่งประเด็นที่ค่อนข้างน่าสนใจก็คือ ‘การรวมศูนย์ความเจริญก้าวหน้าไว้ที่กรุงเทพฯ’ จากการลงพื้นที่พูดคุยจะพบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัดที่ไม่สามารถหารายได้จากจังหวัดบ้านเกิดได้อย่างเพียงพอ แน่นอนว่าสิ่งที่พวกเรารู้เท่ากันคือค่าครองชีพในต่างจังหวัดมีราคาถูกกว่ากรุงเทพฯ แน่นอน แต่ช่องทางในการทำมาหากินก็แคบและราคาถูกตามมาด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผู้คนจึงมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ มาเพื่อหารายได้ และหากมองย้อนกลับไปที่ประโยคแรกของเรื่องนี้จะพบว่า จังหวัดที่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำต่ำที่สุดจะอยู่ในโซนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา โดยเคยมีนักศึกษาจบใหม่จากภาคใต้ออกมาสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า ค่าแรงขั้นต่ำ 330 บาท/วัน ยังแทบจะไม่พอใช้ในบ้านเกิดของตนเองอยู่เช่นกัน