ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานยังคงร้อนระอุอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา มีกลุ่มมือปืนได้ก่อเหตุยิงนักท่องเที่ยวที่เมืองพาฮาลแกม (Pahalgam) แคว้นแคชเมียร์ ซึ่งเมืองนี้ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความสวยงามจนถูกขนานนามว่าเป็น ‘สวิตเซอร์แลนด์แห่งอินเดีย’ ทั้งนี้ เหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 26 ราย โดยรัฐบาลอินเดียได้มีการกล่าวโทษว่าปากีสถานมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่ทางปากีสถานได้ออกมาปฏิเสธและเรียกร้องให้มีการสอบสวนที่เป็นกลาง
ถัดมาในวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 กองทัพอินเดียได้เปิดฉากโจมตีด้วยขีปนาวุธใน 9 จุดที่ปากีสถานและพื้นที่บางส่วนในแคว้นแคชเมียร์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลปากีสถาน ส่งผลให้ในเบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 12 ราย ในเวลาต่อมา นายเชห์บาซ ชาริฟ นายกรัฐมนตรีของปากีสถาน ได้ออกแถลงการณ์มีใจความโดยสรุปว่า “อินเดียทำผิดพลาดที่โจมตีทางอากาศและพวกเขาต้องชดใช้” พร้อมกับย้ำต่อว่า “เขาจะแก้แค้นให้กับเลือดทุกหยดของเหยื่อเหล่านี้”
ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานเป็นประเด็นที่หยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์ กล่าวคือ ‘แคชเมียร์’ เป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ระหว่างอินเดีย ปากีสถาน และจีน เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ และศาสนา ว่ากันว่าความขัดแย้งในพื้นที่แห่งนี้ระหว่างอินเดียและปากีสถานเกิดขึ้นก่อนหน้าที่ทั้ง 2 ประเทศจะได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1947 เสียด้วยซ้ำ
ตามแผนการแบ่งแยกประเทศที่ได้บัญญัติไว้ใน ‘พระราชบัญญัติเอกราชของอินเดีย’ (Indian Independence Act) ได้ระบุว่า ผู้ปกครองแคว้นสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าร่วมกับอินเดียหรือปากีสถาน โดยทาง ‘มหาราชา ฮาริ สิงห์ โดกรา’ (Hari Singh Dogra) ที่ในขณะนั้นเป็นผู้ปกครองแคว้นชัมมูและแคชเมียร์ ตอนแรกเขาต้องการให้แคชเมียร์เป็นรัฐอิสระ แต่ช่วงเดือนตุลาคม ปี 1947 เขาได้ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมกับอินเดียเพื่อแลกกับความช่วยเหลือที่อินเดียจะต่อต้านการรุกรานจากชนเผ่าของปากีสถาน เหตุการณ์นี้ได้จุดชนวนให้เกิดสงครามระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวก็กินระยะเวลายาวนานมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อสงครามแคชเมียร์ครั้งแรกเริ่มต้นขึ้น อินเดียได้มีการขอให้สหประชาชาติเข้ามาจัดการเรื่องนี้ สหประชาชาติจึงได้เสนอให้มีการลงประชามติเพื่อตัดสินว่าแคชเมียร์จะเข้าร่วมกับอินเดียหรือปากีสถาน แต่ทว่าทั้ง 2 ประเทศไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องการถอนทหารออกจากพื้นที่ก่อนที่จะมีการลงประชามติ
ต่อมาในปี 1949 อินเดียและปากีสถานได้มีการลงนามข้อตกลงหยุดยิงภายใต้การแนะนำของสหประชาชาติ และได้มีการกำหนด ‘เส้นหยุดยิง’ ที่ต่อมาถูกเรียกว่า ‘เส้นควบคุม’ (Line of Control-LoC) นับตั้งแต่ตอนนั้นแคว้นแคชเมียร์ก็ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
ต่อมาในปี 1965 ก็ได้เกิดสงครามครั้งที่ 2 ขึ้น จนในปี 1999 ทั้ง 2 ประเทศก็มีการปะทะกันอีกครั้งในเหตุการณ์ ‘สงครามคาร์กิล’ (Kargil War) ที่แม้จะกินระยะเวลาไม่นาน แต่ช่วงเวลานั้นทั้งปากีสถานและอินเดียเองก็กลายเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์กันแล้วเรียบร้อย ปัจจุบันนี้ อินเดียและปากีสถานต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์ในการปกครองแคชเมียร์ทั้งหมด ทั้งที่สามารถแบ่งกันควบคุมได้คนละบางส่วนเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งรอบล่าสุดนำมาซึ่งความตึงเครียดอีกครั้ง โดยหลายประเทศทั่วโลกกำลังจับตามองและอาจจะกำลังเป็นกังวลกับสถานการณ์นี้ เพราะดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ทั้งอินเดียและปากีสถานเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในมือ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงครั้งใหญ่ได้
อ้างอิง
- https://www.bbc.com/news/10537286
- https://www.reuters.com/world/india/india-pakistans-history-strife-2025-05-06
- https://ngthai.com/history/18829/kashmirconfliction/
- https://www.thairath.co.th/news/foreign/2857028
- https://www.reuters.com/world/asia-pacific/indian-strike-pakistan-is-worst-fighting-between-neighbours-over-2-decades-2025-05-07/