Creative Talk 2024

“คุณกำลังคิดอะไรอยู่” คำนี้ยังคงวนเวียนอยู่บนหน้าจอแพลตฟอร์ม Facebook ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้เกือบ 20 ปี แต่จนถึงตอนนี้คำที่น่าถามถึงมากกว่าสำหรับเราในแง่คนดูน่าจะเป็นคำว่า “AI น่าจะเอาอะไรมาให้เราดูบ้าง”

‘เอ็ม-ขจร เจียรนัยพาณิชย์’ บรรณาธิการบริหาร RAiNMaker และผู้จัดงาน iCreator จะพาเราไปดูโลกความน่าสนใจของอัลกอริิทึมแบบง่าย ๆ ผ่าน Session บนเวที ‘Creative Talk Conference 2024’ ในหัวข้อ ‘Social Media Algorithm & Creator Landscape 2024 – 2025’

เอ็มเริ่มต้นบอกกับทุกคนใน Session นี้ว่าเรากำลังถึงจุดสิ้นสุดของ Social Media แบบที่เราคุ้นเคย เพราะว่ามันเข้าสู่ยุคใหม่ที่ Algorithm ครองโลกเป็นที่เรียบร้อย

เขาแบ่งโลกออนไลน์บนโลกนี้ออกเป็น 2 วงใหญ่ ๆ ก็คือ ‘Social Media’ ที่มีแพลตฟอร์มอย่าง Facebook, Instagram, LinkedIn, LINE Voom แพลตฟอร์มประเภทนี้จะเน้นการนำเสนอเนื้อหาที่เราติดตามอยู่แล้วกว่า 85% และที่เหลือเพียง 15% ถูกนำเสนอด้วย AI อย่างโพสต์ที่มีแท็ก ‘แนะนำสำหรับคุณ’ ทำให้พื้นที่หน้าไทม์ไลน์ของเราเต็มไปด้วยเนื้อหาเฉพาะที่เราสนใจ และสร้าง Echo Chamber ที่ครอบรูปแบบข้อมูลที่ได้รับ พื้นที่สื่อนี้ขยายการรับรู้ผ่าน ‘คน’ สู่ ‘คน’ เป็นส่วนใหญ่

และวงที่สองอย่าง ‘Recommendation Media’ ที่มีแพลตฟอร์มอย่าง YouTube X และ TikTok เป็นสื่อที่อยู่ในวงจำแนกนี้ ซึ่งเป็นทางกลับกันของแพลตฟอร์มในวงก่อนหน้า เน้นนำเสนอเนื้อหาผ่าน Algorithm กว่า 85% คลิปวิดีโอในยูทูป หรือเธรดบน X ที่เราเห็นทั้งหมดเกิดจากรูปแบบเนื้อหาที่เราติดตาม ก่อนที่มันจะนำเสนอเนื้อหาคล้าย ๆ กันที่มียอดวิวน้อยกว่าและเราไม่เคยเห็นมาให้เราชม

นอกจากนี้เอ็มยังนำเสนอความฉลาดของ AI ในการช่วยเหลือเหล่าผู้สร้างคอนเทนต์ในหลากหลายรูปแบบบนแต่ละแพลตฟอร์ม อย่างเช่นการที่ AI สามารถ Generate Subtitle ของคลิปวิดีโอบนช่องทาง Youtube ได้เอง และที่สำคัญไปกว่านั้นเลยคือหากเรานำ Subtitle บางส่วนไปค้นหาต่อ มันจะลิงก์กลับมายังวิดีโอของเราได้อีกด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่พอดแคสต์หลาย ๆ สื่อขยับช่องทางมาลงใน Youtube มากขึ้นด้วย

หรืออย่างการทำปกคลิป TikTok ที่ทุกอย่างล้วนสำคัญและทำให้ Algorithm จับคีย์เวิร์ดไปแนะนำต่อได้นั่นเอง

มากไปกว่านั้นยังมีการนำเสนอที่ซับซ้อนลงไปมากขึ้น ผ่าน ‘AI Personalize Journey’ ที่พยายามควานหาความเฉพาะตัวของเนื้อหาสายลึกเพื่อนำเสนอเรื่องราวเหล่านั้นผ่านหน้าจอของคุณได้ หน้าตาของการค้นหาความชอบของคุณเปรียบเสมือนการชี้ตัวไฮดร้าที่แตกตัวแผ่ขยายออกเรื่อย ๆ ว่าคุณเป็นคนสนใจสิ่งใดเฉพาะอย่างบ้าง

คุณชอบคอนเทนต์แนวไหน กีฬาหรือ กีฬาอะไรล่ะ ฟุตบอลใช่มั้ย บอลไทยหรือต่างประเทศ ลีกไหน และทีมฟุตบอลอะไรในลีกนั้น อาจจะดูวุ่นวายเหมือนช็อตที่อาไทถามในหนังเรื่อง ATM เออรัก..เออเร่อ แต่มันก็ทำหน้าที่เสิร์ฟสิ่งที่คุณต้องการได้อย่างเฉพาะเจาะจง

ในช่วงท้าย Session เขาขมวดองค์ความรู้ 2 เรื่องมาให้ฟังกัน อย่างสมการที่จะทำให้ Algorithm พาคอนเทนต์ของคุณไปสู่คนดูได้เรื่อย ๆ ประกอบไปด้วย 5 ประเด็น นั่นคือ

  • ‘Interest in page’ หรือรูปแบบความสนใจของผู้คนในเพจเรา เขาชอบ Content อะไรก็นำเสนอให้เยอะขึ้น
  • ‘Type of content’ รูปแบบเนื้อหาที่แพลตฟอร์มแต่ละยุคเน้นโชว์ต่อคนดูจะต่างกัน อย่างเช่น ยุคก่อนจะเน้นนำเสนอ Photo Story หรือยุคนี้จะนำเสนอโพสต์ที่ Text ก้อนโต ๆ จนทำให้คุณเอ็มบ่นบนเวทีเลยว่า “เราจะมีกราฟิกทำไมนะ”
  • ‘Recency’ ความสม่ำเสมอของการนำเสนอเนื้อหา สิ่งนี้น่าจะเป็นฐานในการทำคอนเทนต์ที่ Creator ยึดมั่นเสมอมา และเป็นความเข้าใจองค์รวมที่ถูกต้องมาแต่ไหนแต่ไร
  • ‘Past Performance’ คุณภาพของเพจคุณในช่วงเวลาที่ผ่านมา ว่ายอดเข้าถึง ยอดกดไลก์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร แม้คอนเทนต์นั้น ๆ จะน่าสนใจแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าที่ผ่านมายอดตก งานคราฟต์ชิ้นล่าสุดของคุณก็อาจจะมียอดการเข้าถึงต่ำเช่นเดียวกัน
  • ‘Post Performance’ คุณภาพของคอนเทนต์นี้ที่คุณลงเป็นยังไง การทำภาพปก เนื้อหา แฮชแท็ก ที่คุณต้องใส่ใจทุกอย่างอย่างละเอียด ผ่านวิธีการดูหลายรูปแบบ อาจจะอ้างอิงผ่านสถิติปัจจุบันว่างานชิ้นนั้น ๆ ทำผลงานดีในด้านต่าง ๆ อย่างไรบ้าง

เอ็มปิดท้ายเวทีนี้ว่าการเข้าใจ AI อย่างง่ายที่สุดเลยคือการเปรียบเทียบกับการจีบสาว ถ้าสมมุติคุณอยากจะจีบใครสักคนหนึ่ง เราก็ควรจะต้องมีหลาย ๆ ปัจจัยร่วมกัน ได้แก่

  • ‘มีเสน่ห์’ หรือมียอด Engagement และ Retention ที่ดีเพียงพอ
  • ‘รักเดียวใจเดียว’ หรือหมายถึงการทำคอนเทนต์ที่เหมาะแค่การลงแพลตฟอร์มนั้น ๆ ไม่ใช่การดูดงานจากที่หนึ่งไปลงอีกที่หนึ่งไปเลย
  • ‘เป็นคนชัดเจน’ ชอบฟุตบอลก็บอกไปเลยว่าชอบบอล หรือชอบดนตรีก็บอกไปเลยว่าชอบดนตรี เปรียบเหมือน ‘Content Structure’ หรือโครงสร้างของสื่อที่ต้องแข็งแรงในทิศทาง
  • ‘ไม่โกหก’ หรือการทำตามข้อกำหนดที่แต่ละแพลตฟอร์มพึงพอใจ
  • ‘สม่ำเสมอ’ สิ่งที่ใคร ๆ ต่างชอบ นัดเจอสม่ำเสมอ พาไปกินข้าวสม่ำเสมอ โทรหาสม่ำเสมอ ก็เหมือนกันกับเรื่องของ ‘Consistency’ ที่แต่ละสื่อต้องทำให้เป็นระบบจริง ๆ

CREATED BY

Content Creator

พนักงานมือใหม่ที่สนุกกับการหาเรื่องมาเล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบตายตัว มีแต่สิ่งที่ชอบแล้ว และกำลังหาสิ่งใหม่ที่ชอบต่อไป