สภากาแฟ, สภากาแฟอิสลาม, กิจกรรมสภากาแฟ, วงสนทนา, การเมือง, บทบาทนักการเมือง, ชาวมุสลิม

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘สภากาแฟ’ ภาพที่หลาย ๆ คนนึกถึงก็คงจะเป็นภาพที่มีผู้คนเป็นกลุ่มนั่งเล่นหมากรุก หมากฮอส หรือนั่งจิบชา กาแฟ ไปพร้อมกับการพูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งพื้นที่ที่ถูกเรียกว่าสภากาแฟดูเหมือนจะเป็นพื้นที่เปิดที่ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหน อายุเท่าไหร่ เชื้อชาติอะไร ก็สามารถมานั่งพูดคุยเพื่อสานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในสถานที่แห่งนี้ได้ 

‘กิจกรรมสภากาแฟ’ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากฝรั่งเศส ในช่วงศตวรรษที่ 17 มีร้านกาแฟชื่อว่า Café Procope เป็นร้านกาแฟแห่งแรกที่ไม่ใช่รถเข็นบนถนนและด้วยความที่ร้านถูกตกแต่งและออกแบบมาอย่างสวยงาม ทำให้ดึงดูดผู้คนให้มาอยู่ที่ร้านแห่งนี้และนั่งพูดคุยกันเป็นระยะเวลานาน ๆ ซึ่งในเวลาต่อมา Café Procope ได้กลายเป็นสถานที่สำคัญสำหรับการต่อต้านและการปฏิวัติ ทั้งยังเป็นเหมือนพื้นที่สำหรับศิลปินและนักการเมืองในยุคนั้นอีกด้วย

บทบาทสภากาแฟในไทยก็ไม่ได้ต่างไป ทั้งยังสอดแทรกเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนจนกลายมาเป็นวัฒนธรรมโดยเฉพาะในแถบภาคใต้ หากยังพอจำกันได้ตั้งแต่ปี 2547 ได้เกิดเหตุความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้อย่างต่อเนื่อง ความไม่สงบที่ว่าทำให้ความสัมพันธ์ของหลาย ๆ ภาคส่วนเป็นไปในทิศทางที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก สิ่งที่ทางตำรวจชุมชนสัมพันธ์ของ สภ.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา ทำในตอนนั้นก็คือ การจัดกิจกรรมสภากาแฟ โดยชวนคนจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นประชาชน, ผู้ใหญ่บ้าน, กำนัน, โต๊ะอิหม่ามมัสยิด, ข้าราชการต่าง ๆ มานั่งล้อมวงพูดคุยกันยามเช้า สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นบทบาทในการรักษาความสัมพันธ์ของผู้คนเอาไว้ด้วยการจัดพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุย และการเปิดพื้นที่เพื่อพูดคุยในเรื่องต่าง ๆ อย่างไม่เป็นทางการเท่าไหร่นักนี้เองจะช่วยลดช่องว่าง ทั้งช่องว่างระหว่างรัฐกับประชาชน หรือช่องว่างเรื่องความแตกต่างทางความเชื่อหรือศาสนา

นอกจากนี้ เรื่องราวต่าง ๆ ในวงของสภากาแฟที่ชอบพูดคุยกันคงหนีไม่พ้นเรื่องการบ้านการเมือง นั่นอาจจะเพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวพวกเขามากที่สุด อาจจะเพิ่มเติมข้อมูลที่เป็นรูปธรรมได้ด้วยงานวิจัยเรื่อง การมีส่วนร่วมต่อการปฏิรูปการเมืองของประเทศไทยในมิติของชุมชนผ่านสภากาแฟ กรณีศึกษา : อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดย นายคอลัฟ ต่วนบูละ และ นายมานาเซ มะลาเฮง ที่ได้ลงไปสำรวจร้านน้ำชาที่ภาคใต้ และสรุปบทสนทนาที่เกิดขึ้นในวงร้านน้ำชาได้ว่าพวกเขามักพูดคุยกันในเรื่องของบทบาทนักการเมือง, อำนาจของนักการเมือง, การใช้อำนาจมาตรา 44 และเหตุผลการยึดอำนาจของ คสช. เป็นต้น ซึ่งด้วยความที่มันเป็นร้านน้ำชาและมันเป็นเหมือนการเปิดพื้นที่ที่ทำให้พวกเขากล้าที่จะเปิดเผยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแบบที่ตรงไปตรงมาที่สุด

อย่างไรก็ดี บทบาทของสภากาแฟดูเหมือนจะไม่ใช่เพียงพื้นที่ที่ใช้สำหรับการนั่งเล่นหมากรุกหรือกินไข่ลวกเท่านั้น การมีพื้นที่เช่นนี้ทำให้เกิดบทสนทนาที่ไม่เป็นทางการ และเป็นการช่วยสะท้อนความคิดเห็นที่ผู้คนมีต่อสังคม การเมือง รวมถึงเป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่มาจากความแตกต่างไม่ว่าจะมิติใดก็ตามนั่นเอง

อ้างอิง