หลังจากเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมามีชายวัย 59 ปีพลัดตกท่อร้อยสายไฟบริเวณซอยลาดพร้าว 49 โดยท่อนี้จะมีความลึกถึง 15 เมตร แต่ฝาท่อเป็นเพียงไม้อัดธรรมดา ๆ ส่งผลให้ชายคนนี้เสียชีวิต เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจให้กับประชาชน และคนที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลว่า เอาเข้าจริง ๆ แล้ว กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ช่วยให้เรามีชีวิตดี ๆ ที่ลงตัวได้จริง ๆ หรือ? เพราะขนาดเดินออกไปซื้อของเฉย ๆ ความปลอดภัยในชีวิตยังไม่มั่นคงเลย วันนี้จึงอยากรวบรวมเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ว่า เอาเข้าจริงแล้วกรุงเทพฯ ยังคงเป็นเมืองชีวิตดี ๆ ที่ลงตัวอยู่หรือไม่?
กรุงเทพฯ เป็นเขตการปกครองที่มีพื้นที่ประมาณ 1,568.750 ตารางกิโลเมตร และเป็นเขตการปกครองที่ไม่ได้มีพื้นที่มากมายอะไร แต่มีการย้ายเข้ามาอยู่ของประชากรแฝงเป็นจำนวนมาก ‘ประชากรแฝง’ ก็คือคนที่เดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เป็นเวลาหลายปี แต่ยังมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่เป็นภูมิลำเนาเกิดอยู่ซึ่งก็คือต่างจังหวัด และด้วยประชากรแฝงที่ว่านี้ส่งผลให้ความหนาแน่นของประชากรในกรุงเทพฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 3,524 คนต่อตารางกิโลเมตร
วกกลับมาที่เรื่องของ กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว เอาเข้าจริง ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจจะเป็นเช่นนั้นในบางแง่มุม กล่าวคือ ในต่างจังหวัดการหาอาชีพที่มีรายได้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตมีทางเลือกน้อยกว่าในกรุงเทพฯ อย่างไม่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้พวกเขาเหล่านี้มุ่งหน้าเดินทางเข้ามาในเมืองหลวงและกลายประชากรแฝง เนื่องจากพวกเขาก็ต้องการมาหาอาชีพและรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต รวมถึงดูแลครอบครัวให้เพียงพอเช่นกัน ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และเมื่อถามถึงวิธีการแก้ปัญหาก็ไม่ได้ต่างไปจากปัญหาโลกแตกที่หาทางออกได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากการรวมศูนย์ความเจริญไว้ที่เดียวจึงดึงดูดคนให้ไปอยู่ในเมืองนั้น ๆ ที่เดียวด้วยความจำเป็น
กรุงเทพฯ ในปัจจุบันเกิดปัญหาหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาสภาพอากาศไปจนถึงปัญหาเรื่องทางเท้า หรือปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในตัวเมือง และที่สำคัญที่สุดคือ ‘ผู้คน’ ซึ่งอาจจะพูดไม่ได้เสียทีเดียวว่าปัญหาเรื่องผู้คนเป็นแค่เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่อาจจะเป็นกันทุก ๆ จังหวัด แค่เพราะกรุงเทพฯ มีประชากรอยู่มาก ทำให้ปัญหาก็มากตามไปด้วย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 หากยังพอจำกันได้เคยมีกรณีของ ‘หมอกระต่าย’ หรือ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล แพทย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ถูกรถบิ๊กไบค์ชนเสียชีวิต ขณะข้ามถนน ‘บนทางม้าลาย’ บริเวณเขตราชเทวี กรุงเทพฯ แม้แต่ ‘ทางม้าลาย’ ที่ดูเหมือนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนเดินเท้าและใช้สัญจรบนถนน กลับกลายเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป เมื่อคนขับรถไม่เคารพกฏจราจร และเมื่อไม่นานมานี้ก็เกิดเหตุการณ์คล้าย ๆ กันขึ้นที่ย่านเจริญกรุง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 แท็กซี่ได้พุ่งชนคนขณะข้ามถนนบนทางม้าลาย และมีสัญญาณไฟสำหรับให้คนข้าม โดยความเร็วที่แท็กซี่ขับมาไม่ได้มีทีท่าว่าจะชะลอ หรือช้าลงแต่อย่างใด ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ซึ่งปัญหาเรื่องการละเลยสัญญาณไฟสำหรับคนข้ามถนนตรงทางม้าลายในกรุงเทพฯ นี้เป็นปัญหาเรื้อรัง และสร้างความไม่ปลอดภัยในชีวิตให้กับผู้คนในกรุงเทพฯ อย่างมาก หากจะตั้งข้อสังเกตชัด ๆ อีกสักนิด แถวอโศก หน้าตึกจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีรถสัญจรไปมาตลอดทั้งวัน และก็มีผู้คนเดินข้ามถนนไปมาอยู่ตลอด แต่ปัญหาที่สามารถมองเห็นได้เลยคือ บ่อยครั้งที่สัญญาณไฟกำลังจะเปลี่ยนเป็นให้คนข้ามทางม้าลาย รถส่วนใหญ่ไม่หยุด แต่กลับเร่งความเร็วแทน ย้อนกลับไปเมื่อสิบปีที่แล้ว เคยมีครีเอทีฟจากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถูกรถชนเสียชีวิตขณะข้ามบนทางม้าลายหน้าตึกดังกล่าว
ปัญหาต่อมาก็ยังคงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบนพื้นดินก็คือ ‘ทางเท้า’ ทุกคนคงทราบกันดีว่าถนนในกรุงเทพฯ มีรถสัญจรค่อนข้างมาก บ่อยครั้งในช่วงเวลาเร่งรีบ รถติด ทำให้คนขับรถโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ไม่อยากที่จะขับไปอ้อมไกล ๆ จึงเลือกที่จะขับรถย้อนศร หรือขับไปบนทางเท้าแทน ทำให้บ่อยครั้งอุบัติเหตุก็เกิดขึ้นบนทางเท้า ทั้ง ๆ ที่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าคือ ‘ทางเท้า’ แต่อุบัติเหตุก็ยังคงมุ่งตรงเข้ามาหาผู้คนที่สัญจรไปมาแบบปกติจนได้ หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพขึ้นมาอีกนิด เคยมีกรณีของหนุ่มไรเดอร์หัวร้อนที่ขับรถชนคนบนทางเท้า แถมยังมีปากเสียงและทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ก่อนจะออกมาขอโทษในเวลาต่อมา หรืออย่างกรณีเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2566 แถวเขตลาดกระบังมีไรเดอร์คนหนึ่ง ขับรถชนหญิงวัย 60 ปี ล้มและได้รับบาดเจ็บ แต่ไรเดอร์ก็ไมไ่ด้ให้การช่วยเหลือแต่อย่างใด พร้อมขับรถหลบหนีไป โดยอาชีพ ‘ไรเดอร์’ เป็นอาชีพที่ต้องแข่งกับเวลาในการส่งอาหารหรือส่งของ แต่การขับรถขึ้นไปบนทางเท้าของไรเดอร์หรือประชาชนบางคนเอง ก็ทำให้ความเสี่ยงของคนที่ใช้ทางเท้ามีมากไม่แพ้กับการข้ามถนนบนทางม้าลาย
🚩 คุณลุงวัย 59 ปีเดินตกท่อเสียชีวิต เรื่องนี้สะท้อนอะไร?
เหตุการณ์นี้สะท้อนความไม่ปลอดภัยในชีวิตของคนเมืองได้ดีที่สุด เพราะฝาท่อมีลักษณะเป็นไม้อัด ซึ่งทาง การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ออกมาชี้แจงถึงประเด็นนี้ว่า ก่อนหน้านี้จะใช้เป็นฝาท่อโลหะแต่ถูกขโมย จึงได้เปลี่ยนมาเป็นฝาท่อไม้อัดชั่วคราว และหลังจากที่ลุงวัย 59 ปีเสียชีวิต จึงได้แก้ไขให้เป็นฝาท่อคอนกรีตชั่วคราวแล้ว หากดูจากข้อมูลที่ได้รับมาจะมองเห็นว่า การที่ฝาท่อเป็นไม้อัดมีความสุ่มเสี่ยงสูงมากที่ใครเดินไปเหยียบแล้วจะตกตอนไหนก็ได้ จนในที่สุดก็มีผู้โชคร้ายเดินตกลงไปและเสียชีวิตจริง ๆ จากกรณีทำให้เห็นภาพว่าชีวิตของคนกรุงเทพฯ อาจจะใช้คำว่าแขวนอยู่บนเส้นด้ายก็ว่าได้
อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงไม่กี่ปัญหาในกรุงเทพฯ ที่ยกมา ทุก ๆ เช้าที่ตื่นขึ้นมาเราอาจจะมองเห็นหลาย ๆ ข่าวที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยและรู้สึกไม่อยากจะออกไปทำงาน เช่น รถไฟฟ้ารางหลุดล้อหลุดบ้าง, Pm2.5 ขึ้นสูงปรี๊ดจนแค่เดินออกไปทำงานก็รู้สึกแสบคอได้เพราะน้อง ๆ ฝุ่นขอเข้ามาอาศัยอยู่ในร่างกายด้วย, หรือจะข้ามทางม้าลายก็รู้สึกหวาดระแวง จะเดินบนทางเท้าก็ให้ความรู้สึกไม่ต่าง นอกเหนือจากความปลอดภัยที่น้อยลงไปทุกทีของคนเมือง ค่าครองชีพก็สูงลิ่ว กลายเป็นมีอีกหลายปัญหาที่ต้องแบกรับ ครั้นจะกลับต่างจังหวัดก็ไม่รู้จะทำอะไรดี แต่ฝืนอยู่ในกรุงเทพฯ ต่อไปเรื่อย ๆ สุขภาพกาย สุขภาพจิตก็อาจจะพังลงในไม่กี่ปี แล้วอย่างนี้ กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองชีวิตดี ๆ ที่ลงตัวได้อยู่หรือไม่? คงต้องรอให้คนกรุงเทพฯ มาคำถามที่ว่านี้
อ้างอิง
- https://www.theprachakorn.com/newsDetail.php?id=661
- https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2608843
- https://www.youtube.com/watch?v=7yU3xIsxARo
- https://www.thairath.co.th/news/local/469887
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/312458
- https://www.youtube.com/watch?v=Zp9lJCecPAc
- https://www.facebook.com/share/p/CcQu2VuPef7R2jFj/?mibextid=WC7FNe