‘น้ำพริก’ เครื่องจิ้มที่อยู่คู่ครัวไทยมาช้านาน เมนูถ้วยเล็ก ๆ เพียงถ้วยเดียวสามารถเพิ่มอรรถรสการกินคู่กับสำรับอาหาร กับข้าวกับปลาให้อร่อยมีรสชาติดียิ่งขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ คนไทยนิยมกินน้ำพริกกับผักนานาชนิดตามความชอบแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นผักสดหรือผักลวกตามแต่สะดวก
ปัจจุบันน้ำพริกถูกพัฒนาจากเมนูพื้นบ้านสู่อาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน และสามารถเก็บไว้ได้นานขึ้น ด้วยการทำบรรจุภัณฑ์ให้สะดวกและเข้าถึงทุกกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น พร้อมสร้างภาพลักษณ์จากน้ำพริกแบบเรียบง่ายบรรจุด้วยถุงร้อนมัดยางขายสู่น้ำพริกบรรจุภัณฑ์เหลอค่ามีสลากบรรจุภัณฑ์ผ่านการรับรองจาก อย. ทั้งในรูปแบบถ้วย ตลับ หรือกระปุกเล็ก ๆ ปริมาณ 2 – 3 คนทานกำลังพอดีและราคาไม่แพง วางจำหน่ายตามเชลฟ์ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ร้านมินิมาร์ท
ขณะเดียวกันอิทธิพลของสังคมออนไลน์ทำให้น้ำพริกสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายมากขึ้นเพียงแค่ใช้ปลายนิ้วจิ้มเท่านั้น ในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา ตลาดน้ำพริกเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะคนใช้ชีวิตอยู่กับโซเชียลมีเดีย ประกอบกับอินฟลูเอ็นเซอร์หลายคนก็เติบโตมาพร้อมกับโควิดและผันตัวจากพนักงานประจำมาทำน้ำพริกขายพร้อมกับทำคอนเทนท์เกี่ยวกับอาหารไปโดยปริยาย อีกทั้งการพัฒนาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในปัจจุบันทำให้ปริมาณยอดขายของแบรนด์น้ำพริกออนไลน์ขยายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลอัปเดตล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ (ปี 2020) พบว่า น้ำพริกของไทยได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มูลค่าตลาดน้ำพริกจีนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยพบว่าตลาดอุตสาหกรรมน้ำพริกจีนตั้งแต่ปี 2017 มีมูลค่า 32,400 ล้านหยวน และมาในปี 2020 ขนาดตลาดน้ำพริกมีมูลค่าสูงขึ้นเป็น 37,300 ล้านหยวน มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีถึงร้อยละ 4.8 และคาดการณ์ว่าในปีนี้ตลาดน้ำพริกจีนจะมีมูลค่า 39,000 ล้านหยวนทีเดียว
ส่วนการบริโภคน้ำพริกภายในประเทศไทย คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 2 – 3 พันล้านบาทต่อปี ยังไม่นับรวมตลาดน้ำพริกที่ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะ “ประเทศจีน” ที่แบรนด์น้ำพริกของไทยเรา ภาพรวมส่งออกเทียบเท่ามูลค่าราวกว่า 38,000 ล้านหยวน หรือกว่า 172,000 ล้านบาท โดยเป็นตัวเลขช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 เมื่อประมาณปี พ.ศ.2562 – 2563
สำหรับประเทศที่หลงรักในรสชาติน้ำพริกไทย มียอดส่งออกมากที่สุดใน 3 อันดับแรก ได้แก่
อันดับที่ 1 ประเทศออสเตรเลีย ผลการสำรวจสำมะโนประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลียในปี 2022 ระบุว่ามีผู้ที่พูดภาษาไทยในออสเตรเลีย ทั้งสิ้น 55,444 คน มากกว่าปี 2011 ถึง 25,000 คน และยังพบผู้ที่เกิดในประเทศไทยอาศัยอยู่ในออสเตรเลียทั้งสิ้น 66,229 คน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม ประเทศออสเตรเลีย ถึงได้ครองอันดับหนึ่งตลาดส่งออกน้ำพริกของไทย
อันดับที่ 2 รองลงมาเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีความหลากหลายของชนชาติ และมีคนเอเชียอาศัยอยู่ในอเมริกาอยู่ไม่น้อย ทำให้อเมริกาเป็นตลาดใหญ่ที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อ แถมยังให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ของไทยเป็นอย่างดี จนพาให้ยอดส่งออกน้ำพริกไทยไปอเมริกา มากถึง 11.34% จากสัดส่วนการส่งของไปยังประเทศอื่น ๆ
อันดับสุดท้ายคือเมืองผู้ดี อย่าง ประเทศอังกฤษ ใครจะรู้ว่าผู้ดีอังกฤษก็แอบติดรสแซ่บ ๆ ของน้ำพริกไทยเหมือนกัน ยืนยันได้ด้วยยอดส่งออกน้ำพริกไทยไปยังประเทศอังกฤษ คิดเป็นสัดส่วน 10.10% รองจากอเมริกาไปนิดเท่านั้น
แม้พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปเป็น แต่น้ำพริกไทยก็ยังคงเสน่ห์ไม่เคยเปลี่ยน เพียงแค่ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเท่านั้น แต่วัตถุดิบ ส่วนผสม ความกลมกล่อมไม่ได้แปรเปลี่ยน