รัฐประหาร 2557 / พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

วันนี้ (22 พ.ค. 67) เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ช่วงเวลาเวลา 16:30 น. ใครหลายคนอาจจำได้ไม่ลืมกับการทำรัฐประหารครั้งที่ 13 บนหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังการพ้นสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อันเนื่องมาจากวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อเดือนตุลาคม 2556 เกี่ยวกับการคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ที่ผู้คนบางกลุ่มมองว่าเป็นการเปิดช่องเอื้ออำนวยต่อการกลับมาของนักโทษทางการเมือง โดยเฉพาะ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้เป็นพี่ชาย ทำให้เกิดการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจน 

หลังการเข้ายึดอำนาจผ่านการรัฐประหารของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิทธิทางการเมืองต่าง ๆ ถูกแช่แข็ง ฝ่ายกองทัพมีอำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจกับกลุ่มนายทุนใหญ่ และสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น รวมถึงการกำเนิดเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งวางระบบระเบียบใหม่เพื่อเอื้ออำนวยต่อการดำรงอำนาจของ คสช. รวมถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการออกแบบให้พรรคการเมืองเสียงข้างมากมีสิทธิ์ชนะการเลือกตั้งได้ยาก ผ่านการใช้สมการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สว.) ที่ถูกจัดตั้งโดย คสช. ราวกับว่าทุกอย่างถูกปูทางไว้หมดแล้ว และเนื่องในวันนี้คล้ายวันครบรอบ 10 ปี รัฐประหาร’57 SUM UP จึงอยากจะพาทุกคนมาร่วมนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปในอดีตว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

  • 20 พฤษภาคม 2557
    พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกคำสั่งนำทหารและกองกำลังเข้ายึดสถานีโทรทัศน์และประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร พร้อมจัดตั้งกองกำลังอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.)
  • 21 พฤษภาคม 2557
    กอ.รส. เรียกตัวแทนจาก 7 ฝ่าย เข้าร่วมประชุมที่สโมสรกองทัพบก รวมถึงแกนนำจากฝ่ายความขัดแย้งทางการเมืองด้วย
  • 22 พฤษภาคม 2557
    หลังการประชุม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาลผ่านทุกสถานีโทรทัศน์ โดยจัดตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมสั่งจับกุมคณะรัฐมนตรีและเหล่าแกนนำ
  • 24 พฤษภาคม 2557
    คสช. ยุบวุฒิสภาและให้หัวหน้าคณะทำงานมีอำนาจทางนิติบัญญัติ
  • 25 พฤษภาคม 2557
    คสช. ออกคำสั่งให้ศาลทหารมีอำนาจไต่สวนคดีที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของชาติ รวมถึงการละเมิดกฎของคณะคสช.
  • 26 พฤษภาคม 2557
    พิธีสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ คสช. ซึ่งการแต่งตั้งดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการสนับสนุนการทำงานของ คสช.
  • 22 กรกฎาคม 2557
    รัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราวมีผลบังคับใช้ 
  • 31 กรกฎาคม 2557
    คสช. แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
  • 21 สิงหาคม 2557
    สนช. ลงมติเลือกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
  • 7 สิงหาคม 2559
    การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เห็นชอบร้อยละ 61.35 ไม่เห็นชอบร้อยละ 58.07
  • 6 เมษายน 2560
    ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
  • 24 มีนาคม 2562
    มีการเลือกตั้งสมาชิสภาผู้แทนราษฎร
  • 16 กรกฎาคม 2562
    พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดอำนาจในนามคณะ คสช. โดยโอนหน้าที่ให้กับกองอำนวยการรักษาความสงบมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

อย่างไรก็ตาม การทำรัฐประหารส่งผลให้ประเทศขาดเสถียรภาพทางการเมืองสูง จากปัญหาการกระจุกตัวทางอำนาจ การไม่เปิดกว้างทางความคิด รวมถึงการพยายามปิดปากขั้วตรงข้ามทางการเมือง ส่งผลให้การเมืองถูกแช่แข็งและไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีการทำรัฐประหารมากที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่มีทหารหรืออดีตทหารเป็นนายกรวมกันถึง 57 จาก 85 ปี นับตั้งแต่มีการปฏิวัติระบอบการปกครองในปี 2475 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากเกินไป ถึงแม้ใครก็สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ แต่เราคงไม่อยากได้การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและกฎหมายผ่านปลายกระบอกปืนและรถถัง

AUTHOR

ไม่ชอบคนข้างล่าง