ทุก ๆ เช้าของทุกวันที่ 1 และ 16 ภาพเดิม ๆ ที่เรามักจะเห็นกันอย่างคุ้นหูคุ้นตาก็คงเป็นภาพของคนกลุ่มหนึ่งยืนมุงและปรึกษาเรื่องเลขเด็ดกันอยู่หน้าแผงลอตเตอรี่ ซึ่งเราก็จะเห็นภาพเหล่านั้นซ้ำไปซ้ำมาจนมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา หรืออีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าหวยหรือลอตเตอรี่เป็นสิ่งที่อยู่กับเรามาตั้งแต่เด็ก ๆ ก็คงหนีไม่พ้นกับวลีหลอกเด็กที่ว่า “เอาไว้แม่ถูกหวย แม่ซื้อให้นะ” สิ่งเหล่านี้สะท้อนความสัมพันธ์ของหวย ลอตเตอรี่ กับชีวิตคนไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งเราเคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมกระดาษใบเล็ก ๆ ที่พิมพ์เลขไว้เพียงหกตัวถึงมีอิทธิพลต่อชีวิตคนไทยมากขนาดนั้น
‘ลอตเตอรี่’ เป็นสิ่งที่มีอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งลอตเตอรี่เป็นสิ่งถูกกฎหมายแต่ในบ้านเราก็มีการพนันใต้ดินอื่น ๆ พ่วงมาด้วยหรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อของ ‘หวยใต้ดิน’ ซึ่งไม่ว่าจะลอตเตอรี่หรือหวยใต้ดินหลักการการเล่นไม่ได้ต่างกันคือสุ่มซื้อเลขและถ้าหากเลขเราไปตรงกับแต่ละรางวัลก็จะได้รับเงินรางวัลไปซึ่งโอกาสที่จะถูกรางวัลที่หนึ่งในลอตเตอรี่ต่ำมากมีอยู่เพียง 0.0001% เท่านั้น ทำให้คนบางส่วนเลือกที่จะลงไปเล่นหวยใต้ดินที่กติกาและโอกาสที่จะถูกสูงมากกว่า และอีกสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าลอตเตอรี่กับหวยคือสิ่งที่คนไทยหลงไหลสามารถดูได้จากคอนเทนต์หาเลขเด็ดที่มีไม่ซ้ำในแต่ละวัน
ในงานวิจัยเรื่อง บทบาทของความเชื่อโชคลางต่อพฤติกรรมการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดินของผู้บริโภคชาวไทย ได้จำแนกพฤติกรรมของคนที่ซื้อทั้งหวยใต้ดินและลอตเตอรี่ออกมาเป็น 2 จำพวก ได้แก่ นักเสี่ยงโชคกับผู้เสพลอตเตอรี่ โดยนักเสี่ยงโชคจะซื้อน้อยหรือไม่ได้ซื้อถี่มาก จะซื้อก็ต่อเมื่อตัวเองรู้สึกเชื่อว่าได้รับสัญญะต่าง ๆ ว่ากำลังจะมีโชค คือรอดูจังหวะตัวเองว่าน่าจะมีโชคตอนไหนแล้วถึงซื้อเลข เช่น ได้เลขจากความฝัน ได้เลขจากต้นไม้ เป็นต้น ส่วนผู้เสพลอตเตอรี่จะมีพฤติกรรมที่ซื้อทุกงวด เพราะคิดว่าตนเองสามารถควบคุมโชคชะตาได้จากการครอบครองวัตถุมงคล นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อคนไทยมีระดับการศึกษาสูงขึ้นก็ยิ่งมีพฤติกรรมการซื้อหวยใต้ดินหรือลอตเตอรี่สูงขึ้นตามไปอีกด้วย
โดยพฤติกรรมการเล่นหวยและซื้อลอตเตอรี่ของคนไทยนั้น ผศ.ดร. ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า การเล่นหวยหรือการซื้อลอตเตอรี่ล้วนเป็นความหวังของคนที่ต้องการ ‘เลื่อนชนชั้น’ ของคนชนชั้นกลางไปจนถึงชนชั้นล่าง กล่าวคือ หากเราเป็นคนชนชั้นกลางไปจนถึงชนชั้นล่างในสังคมไทย ทำงานหาเช้ากินค่ำ หรือทำงานแบบเดือนชนเดือน และที่บ้านไม่ได้มีสมบัติในการซัพพอร์ต การขยับชนชั้นขึ้นมาเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยทีเดียว ดังนั้นเราจึงเห็นพฤติกรรมของคนที่เอาความหวังอยากจะขยับชนชั้นทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมไปทุ่มอยู่กับลอตเตอรี่กระดาษใบเล็ก ๆ ใบเดียว เพราะนั่นคือ ‘ความหวัง’ ที่เกือบจะเป็นความหวังเดียวด้วยซ้ำ
ผศ.ดร. ธานี อธิบายเพิ่มเติมว่าปัญหาการเลื่อนชนชั้นในสังคมมีต้นตอมาจาก ‘การยึดรัฐ’ คือการเข้ามามีบทบาทกับนโยบายรัฐจากกลุ่มทุน โดยการยึดรัฐเกิดขึ้นในช่วงแรกหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย ซึ่งผลเสียของการยึดรัฐส่งผลให้เงินและทรัพยากรไปรวมอยู่ที่นายทุนซึ่งส่งผลต่อนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ผลลัพธ์ของมันก็คือ ‘เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ’ อย่างในปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ คือการที่มีคนรวยกระจุกคนจนกระจาย เพราะนโยบายเศรษฐกิจของรัฐดันไปเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนหรือคนกลุ่มคนรวยมากกว่าที่จะเอื้อให้กับกลุ่มคนจนนั่นเอง
อย่างไรก็ดี พฤติกรรมการเล่นหวยใต้ดินหรือลอตเตอรี่ของคนไทยที่นอกเหนือไปจากความสนุกสนานหรือการติดการพนันอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจกัน สิ่งที่สะท้อนออกมาก็คือ ‘ความอยากรวย’ หรือการอยากจะเลื่อนชนชั้นทางสังคม ซึ่งหวยหรือลอตเตอรี่จึงเข้ามาเป็นความหวังของการเลื่อนชนชั้นทางสังคมดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั่นเอง
อ้างอิง
- https://www.chula.ac.th/highlight/102540/
- บทบาทของความเชื่อโชคลางต่อพฤติกรรมการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดินของผู้บริโภคชาวไทย: ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์, ธีรนุช พูศักดิ์ศรีกิจ