ในฐานะแฟนรายการเกมโชว์เดนตายคนหนึ่ง เราหวังอย่างยิ่งให้สล็อตรายการโทรทัศน์ยุคนี้กลับมามีรายการประเภทนี้ให้ดูอีกเยอะ ๆ เพราะเราเชื่อว่าเกมโชว์คือสีสันของความสนุกที่ถูกสะท้อนผ่านเกมการแข่งขัน และความครีเอทีฟในกติกา รวมถึงภาพลักษณ์ที่ทำให้เราเห็นผ่านหน้าตาของรายการที่ออนแอร์ไปบนหน้าจอ

แต่ในทางกลับกัน นับวันรายการประเภทนี้ดูจะกลายเป็นเนื้อหาที่ถูกลืมไปบนหน้าจอทีวีเสียแล้ว แม้เราจะเห็นเนื้อหาประเภทเกมโชว์กลายไปเป็นคอนเทนต์บนช่องทางออนไลน์มากมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่าความยิ่งใหญ่ ความแกรนด์ และความทุ่มทุนนั้นต่างกันพอสมควร

ถึงอย่างนั้นก็ยังพอมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อจู่ ๆ ก็มีรายการตอบคำถามที่ชื่อ ‘Genwit อัจฉริยะพันธุ์ใหม่’ เกิดขึ้นมาท่านกลางสมรภูมิรายการโชว์ประกวดร้องเพลงที่ค่อย ๆ ซาลงตามกระแส และสมรภูมิการแข่งขันในช่วงโค้งสุดท้ายของทีวีดิจิทัล

‘Workpoint Entertainment’ จึงเข็นรายการนี้ออกมาบนโจทย์สุดหินจากผู้สนับสนุนรายการหลักอย่างเครือบางจาก ที่ต้องทำให้คนดูทีวียุคนี้อยากดู นั่นคือรายการควิซโชว์ตอบคำถามความรู้เกี่ยวกับ STEM ศึกษา โดยมีผู้เข้าแข่งขันเป็นทีมนักเรียนจากโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะต้องทำให้รายการสนุก เข้าใจง่าย เกลียดคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ก็ยังดูรู้เรื่อง แต่ต้องไม่ทิ้งความยากในตัวคำถามที่ต้องทำให้หัวกะทิจากทุกโรงเรียนได้คิด วิเคราะห์ ผ่านการแข่งขันกันได้อย่างสมน้ำสมเนื้อที่สุด

เป็นเราถ้าเจอโจทย์ในการสร้างสรรค์รายการที่ยากขนาดนี้คงท้อไปแล้ว แต่สำหรับทีมผู้ผลิตรายการ นี่คือความท้าทายที่พวกเขาพร้อมเผชิญ จนทำให้รายการนี้สะท้อนภาพความเจริญงอกงามครั้งใหม่ของรายการแนวควิซโชว์ รูปแบบรายการที่ขายยากที่สุดบนหน้าจอทีวีไทยในขณะนี้

วันนี้ SUM UP เดินทางมาพูดคุยกับตัวแทนทีมผู้ผลิตรายการอย่าง ‘เอ๋ย-ปรวีร์ ศรีอำพันพฤกษ์’ Creative Group Head ประจำรายการ และผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายผลิตรายการของ Workpoint, ‘เจมส์-ภัคพล แซมเพ็ชร’ Creative ประจำรายการ และ ‘นัท-ศิรณัฐ ชัยชนะ Creative ประจำรายการ ถึงที่ไปที่มาในการได้มาทำรายการนี้ของพวกเขา และมุมมองต่อรายการแนวควิซโชว์ในยุคนี้ของประเทศไทยกัน ว่าจากความยากของโจทย์ที่ตั้งต้นมา กลายเป็นรายการทีวีขวัญใจคนดูยุคนี้ได้อย่างไร

‘เอ๋ย-ปรวีร์ ศรีอำพันพฤกษ์’ Creative Group Head ประจำรายการ และผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายผลิตรายการของ Workpoint

ก่อนจะเป็นกลุ่มผู้สร้างสรรค์รายการ ‘Genwit อัจฉริยะพันธุ์ใหม่’

รีแคปสักนิดนึงว่าแต่ละคนเคยผ่านการทำรายการอะไรมาบ้างใน Workpoint

คุณเอ๋ย: “ถ้าในฐานะ Creative รายการแรกที่เราทำเมื่อเข้ามาอยู่ Workpoint คือแฟนพันธุ์แท้ประมาณปี 2007-2008 ปีที่เปลี่ยนจาก ‘ปัญญา นิรันดร์กุล’ มาเป็น ‘แทนคุณ จิตต์อิสระ’ หรือ ‘เอก ฮิมสกุล’ ตอนที่เรายังเป็นเด็ก เราคือแฟนรายการนี้ ตอนสัมภาษณ์งานก็บอกว่าอยากทำรายการแฟนพันธุ์แท้ แล้วพอได้มาทำเขาก็ให้มาทดลอง เห็นว่าทำได้ก็เลยให้ทำจริง”

ในฐานะคนที่ทำเบื้องหลังรายการ คิดยังไงที่คนดูมักนิยามว่าทีมงานรายการนี้ชอบคิดคำถามแบบโรคจิต

คุณเอ๋ย: “พอคนดูบอกว่าทีมงานโรคจิต ความรู้สึกของทีมงานก็คือภูมิใจ (หัวเราะและปรบมือชอบใจ) ถือว่าเป็นคำชมค่ะแล้วเวลาทำ Genwit ก็จะมีคนมา Comment ว่าคำถามโรคจิตคนคิดเป็นทีมงานแฟนพันธุ์แท้หรือเปล่า ก็นั่งมองหน้ากับเจมส์ เพราะเจมส์ก็ทำ ‘แฟนด้อมพันธุ์แท้’ มาด้วยกัน ก็ยิ้มแล้วก็บอกว่าใช่ (หัวเราะ)”

หลังจากนั้นมาได้ดูแลรายการอะไรต่ออีกบ้าง

คุณเอ๋ย: “หลังจากนั้นหลังจากนั้นมาพี่ก็มาทำรายการที่คุณปัญญาเป็นพิธีกรหลังจากพลาดกันมาตอนทำแฟนพันธุ์แท้สุดท้ายก็มาเจอกันอยู่ดี เริ่มจาก ‘ยกสยาม 10 ข้อ’ ช่วงปลาย ๆ แล้ว ตั้งแต่เรายังไม่ได้ทำเต็มตัวจนได้มาทำเต็มตัว แล้วก็มาที่ ‘ราชรถมาเกย’ ที่เราเริ่มต้นตั้งแต่ Day 1 ในวัน Pitching ลูกค้าเหมือนกัน แต่เป็น Creative นะ ก่อนจะมาเป็น Producer ช่วงตอนปลาย ๆ ที่ทำรายการนี้

แล้วก็มาทำ ‘ปริศนาฟ้าแลบ’ อยู่กันไป 4-5 ปี ระหว่างนั้นก็มี ‘ฟ้าแลบเด็ก’ แล้วก็ ‘หัวหน้าห้าขวบ’ แล้วก็ขึ้นมาเป็น Group Head ก่อนที่ปริศนาฟ้าแลบจะเปลี่ยนเป็น ‘กล่องของขวัญ’ พัฒนามาเป็น ‘ปัญญาปันสุข’ และ ‘ปัญญาตลาดแตก’ ก่อนกลับมาเป็นปัญญาปันสุขเหมือนเดิม มันคือแถบรายการ 5 วันของ Workpoint ที่คุณปัญญาเป็นพิธีกร แล้วก็มี ‘แฟนด้อมพันธุ์แท้’

ความยากง่ายในการทำรายการของช่อง Workpoint เอง เหมือนหรือแตกต่างจากตอนทำให้ช่องฟรีทีวีอย่างไรบ้าง

คุณเอ๋ย: “เหมือนเดิมเลยวิธีการทำงาน แต่อย่างปริศนาฟ้าแลบ เรามองว่าเป็นรายการที่ท้าทายกว่าเดิม เพราะเรารู้ว่านี่จะเป็น 1 ใน 3-4 รายการเปิดช่อง Workpoint หนึ่งในนั้นคือ ‘ไมค์ทองคำ’ แต่ปริศนาฟ้าแลบมันมีการแก้ไขหลายรอบเลยกว่าจะมา ทำให้ออกอากาศช้ากว่ารายการอื่น ๆ อย่างไมค์ทองคำประมาณ 1-2 เดือน ปริศนาฟ้าแลบมาตอนเดือนมิถุนายน แต่สถานีเริ่มตอนเดือนเมษายน

เรารู้ว่านี่เป็นรายการเปิดช่อง และเป็นรายการที่คุณปัญญากลับมาเป็นพิธีกรเอง มันเหมือนตอนนั้นพี่ตาหายไปจากทีวีสักพักหนึ่งแล้ว เพราะจำได้ว่าสปอตตัวแรกใช้คำว่า “นี่คือการกลับมาของเจ้าพ่อเกมโชว์” พอมันกลับมาเป็นรายการ Quiz Show แบบปริศนาฟ้าแลบ และเป็นรายการเปิดช่อง Workpoint พูดถึงรายการของบริษัทยังไงก็ต้องนึกถึงคุณปัญญา ซึ่งหลังจากการลอง Demo รายการมาหลายรอบ เราก็ยิ่งเห็นว่าสุดท้ายรายการนี้ต้องเป็นเขาคนเดียวที่เอาอยู่”

คุณนัท: “ผมมาทันรายการนี้ในช่วงท้าย ๆ ก่อนหน้านั้นในฐานะคนดู ความรู้สึกแรกคือรายการนี้มันแปลกใหม่ คิดว่าคำถามเหล่านี้มันคงไม่มีใครเอามาทำรายการ มันเป็นคำถามที่เหมือนเราเล่นมุกกับเพื่อนมากกว่า

พอได้มาทำก็รู้สึกว่ามันคือการเล่นกับธรรมชาติ ไม่ต้องปรุงแต่งเยอะ ด้วยตัววัตถุดิบที่มันดีอยู่แล้วคือ ‘คำถาม’ กับ ‘คน’ผู้เล่นเขาไม่ต้อง Acting อะไรกับเรามากมาย เขาแค่ไหลไปตามธรรมชาติของคำถามที่ชวนให้เขามึนงงในช่วงเวลากดดัน มันเลยกลายเป็นความสนุกที่ลื่นไหลแบบไม่ต้องพยายาม มันเป็น Concept Quiz Show ที่ร่วมสมัยได้ดีมาก ๆ ในมุมมองของผม”

‘นัท-ศิรณัฐ ชัยชนะ‘ Creative ประจำรายการ

จุดนี้น่าสนใจ เหมือนกับที่ ‘แฟนพันธุ์แท้’ กลับมากลายร่างในฐานะ ‘แฟนด้อมพันธุ์แท้’ ที่ลดความเครียด กดดันลง กลายเป็น Quiz Show แบบ Fan Service ที่เหมาะในยุคนี้ด้วย อยากรู้ว่า Era ใหม่ของรายการแนวนี้ของ Workpoint มีลีลาเป็นแบบไหน

คุณเอ๋ย: “มันคือ Quiz Show ที่เกิดขึ้นเพื่อยุคนี้เท่านั้น เกิดเร็วกว่านี้ก็ไม่ดี ช้ากว่านี้ก็ไม่ได้ เอาจริง ๆ ถ้าย้อนกลับไปในรายการแฟนพันธุ์แท้ เมื่อสมัย 20 กว่าปีที่แล้ว มันก็คือการเอา Fanclub มาตอบคำถามนั่นแหละ ซึ่งมันเป็นคำใหม่ของยุคนั้น เหมือนกับที่ Fandom เป็นคำใหม่ของยุคนี้

กลับมาที่ยุคนี้ เราก็มองว่าถ้าเราจะเอารายการแฟนพันธุ์แท้กลับมา มันน่าจะกลับมาด้วยหน้าตาแบบไหน ปรึกษากับผู้ใหญ่แล้วก็เกิดไอเดียขึ้นมาว่ายุคนี้ความเป็น Fandom ของศิลปินมันหนาแน่นกันมาก พี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) ก็บอกว่าทำไมเราไม่ลองทำ เขาเป็นผู้ให้กำเนิดรายการนี้ ก็ยังเป็นต้นกำเนิดไอเดียของรายการนี้ด้วย

แล้วในที่ประชุมก็มีคนเสนอชื่อ ‘แฟนด้อมพันธุ์แท้’ มา เราก็ เฮ้ย! พอชื่อนี้ขึ้นมา ภาพในหัวมันมาหมดเลย เรารู้เลยว่าแฟนพันธุ์แท้รอบนี้มันจะไม่ได้กลับมาแบบเครียด ซีเรียส จริงจัง เพราะเนื้อเรื่องก็เป็นแฟนด้อม แล้วการแข่งขันในรายการก็ยังคงเข้มข้นเหมือนเดิม เพียงแต่คลุมรายการด้วยบรรยากาศที่อยากให้เหมือนงาน Fanmeet

ศิลปินก็จะไม่ได้เอาไปซ่อนอยู่หลังเวที แล้วค่อยออกมาเซอร์ไพรส์ช่วงท้ายรายการเหมือนเดิม เดี๋ยวนี้ไม่มีใครเขาเซอร์ไพรส์เรื่องแบบนี้แล้ว เพราะรู้ว่ายังไงก็มา ถ้ามาก็มาเลย มาอยู่ในรายการด้วยกันเลย มานั่งให้กรี๊ด มานั่งให้เขินกันตั้งแต่ต้นรายการ เพื่อให้ทุกคนได้ React กัน ได้จับมงจับมือ ได้อยู่ใกล้ ได้เล่นมุกกันกับศิลปินที่เราชอบตั้งแต่ตรงนั้นตลอด 2-3 ชั่วโมงที่ถ่ายรายการ มันต้องตามยุคสมัย มันต้องไปด้วยกัน”

คุณเจมส์: “ผมมองว่าคำว่า ‘แฟนด้อม’ ดูเหมาะกับยุคนี้ดี เพราะว่าแฟนคลับเองก็อยากมีโอกาสใกล้ชิดศิลปินที่สุด โอเค มันมีงาน Fanmeet ที่ศิลปินเขาจัดไป หรือบางคอนเสิร์ตเขามีการเปิดโอกาสให้คนขึ้นไปอยู่ใกล้ ๆ ศิลปินบนเวทีตามราคาบัตรด้วย เราก็ขยายต่อจากจุดนี้แหละ คือจุดที่ศิลปินมีชื่อเสียง และมีแฟนคลับที่ชื่นชอบ ‘แฟนด้อมพันธุ์แท้’ เลยเป็นตรงกลางที่จะทำให้ 2 สิ่งนี้เชื่อมโยงกัน

เราเชื่อว่าแฟนคลับเขาอยากเจอศิลปินแน่ ๆ แต่เราก็ไม่เคยเห็นเลยว่าในมุมศิลปินเขาจะรู้สึกยังไงเมื่อเขาต้องมาอยู่ร่วมหรือเผชิญหน้ากับแฟนคลับที่รู้ชีวิตเขาลึกกว่าเขาเองด้วยซ้ำจริง ๆ ซึ่งภาพนี้ก็จะเกิดขึ้นในรายการเรา ไม่ว่าจะหัวข้อไหนที่ถ่ายทำไป

ส่วนตัวคำถามเองที่ผู้คนที่ชื่นชอบรายการแฟนพันธุ์แท้ตอนเก่า ๆ จะรู้สึกว่าความขลังหรือความขึ้นหิ้งของมันไม่เท่าเดิม มันต้องยาก มันต้องลึก หรือคนอื่นบนโลกนี้มันต้องตอบไม่ได้ ต้องมีแต่สุดยอดแฟนพันธุ์แท้คนเดียวที่ตอบได้ ภาพนั้นเราก็ยังอยากได้อยู่ แต่พอมันมาอยู่ในรายการแฟนด้อมพันธุ์แท้ เรารู้อยู่แก่ใจว่าแฟน ๆ ทุกคนรู้สิ่งนี้ใกล้ ๆ กัน จากความชื่นชอบที่มีใกล้เคียงกันอยู่แล้วแหละ เพียงแค่ว่าพอมันอยู่ในเกมก็ต้องหาผู้ชนะ

แต่สุดท้ายสิ่งที่เราอยากเล่าจริง ๆ เราไม่ได้อยากเล่าว่าคนนี้เก่งคนเดียว คนที่มาในรายการทุกคนทั้งผู้เข้าแข่งขันหรือคนดูในรายการก็ตาม เขามาเพื่อส่งพลังบวกให้กับศิลปิน และศิลปินก็ส่งพลังบวกให้กับแฟน ๆ เป็นการแชร์ความรู้สึกดี ๆ ร่วมกันมากกว่า ตัวคำถามก็เลยอาจดูไม่ได้ลงลึกขนาดนั้น แต่เน้นไปทางแง่มุมความประทับใจเป็นส่วนสำคัญ ยิ่งเวลาเขาอยู่ร่วมกันข้างหน้า พวกเขาดูสนิทกันมาก ๆ จนแบบ ไม่ว่าใครก็เป็นคนชนะได้กันหมดเลยด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาแค่อยากมาแสดงความรักต่อศิลปินของเขาร่วมกันเท่านั้นเอง”

‘เจมส์-ภัคพล แซมเพ็ชร’ Creative ประจำรายการ

ที่มาที่ไปของรายการ ‘Genwit อัจฉริยะพันธุ์ใหม่’

แล้วจุดเริ่มต้นของรายการจริง ๆ มาจากไหน

คุณเอ๋ย: “จริง ๆ ไอเดียตั้งต้นเกิดจากทางบางจาก ถ้าได้เห็นในงานแถลงข่าวก็จะได้คำตอบนี้เลยว่าบางจากมีไอเดียขึ้นมาก่อนว่าเขาอยากทำรายการ Quiz Show สำหรับเด็ก ม.ปลาย สายสะเต็มศึกษาเลย (STEM ย่อมาจาก Science, Technology, Engineering และ Mathematic – ผู้เขียน) เนื่องจากว่าทางผู้บริหารบางจากเขาอยากเห็นรายการสไตล์นี้กลับมาสู่หน้าจอทีวีอีกครั้งหนึ่ง แล้วเขาก็อยากสนับสนุนเรื่องการศึกษาสาย STEM อยู่แล้ว

จากนั้นก็ถูกส่งตรงมาที่ Workpoint เลยเพราะเขาก็เลยเห็นว่าเราก็เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ทำรายการแนว Edutainment มาอยู่แล้วคือเป้าหมายเขาก็อยากให้มีเด็กๆเข้ามาเรียนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแล้วก็ STEM มากขึ้น เพราะมันเป็นสาขาวิชาที่พัฒนาชาติได้ แต่เด็ก ๆ เดี๋ยวนี้อาจจะไปสนใจเรียนในสายการเรียนอื่นมากกว่า หรืออาจจะมองไม่เห็นแล้วว่าการเรียน STEM ไปแล้วได้อะไร เอาไปใช้งานอะไรได้บ้าง

โจทย์นี้ส่งมาที่ทีมพี่นี่แหละ ว่าต้องคิดรูปแบบรายการนี้แต่ก็ต้องนำไปเสนอกับทางบางจากซึ่งก็มีการ Presentation มีการ Pitching อะไรอย่างนี้กว่าจะได้มาเป็นรายการขึ้นมาจริง ๆ”

คิดว่าทำไมรายการแนว Quiz Show ระดับมัธยมศึกษาถึงมีโอกาสกลับมาได้ทำอีกครั้งในยุคนี้

คุณเอ๋ย: “อื้อหือ.. เออ แต่พอมาสังเกตอีกที รายการตอบปัญหามัธยมศึกษามักจะตามมาด้วยชื่อสปอนเซอร์ห้อยมาเสมอ ทุกอันเลย จะมีชื่อสินค้าตามมาที่มันทำให้เห็นว่าหน่วยงานนั้นให้การสนับสนุนเรื่องการศึกษาด้วยนะ

เราว่าส่วนหนึ่งที่มันจางหายไปเพราะ Trend ของรายการยุคนี้ด้วย รวมถึงวงการทีวีเองก็ไม่ได้บูมเท่ากับเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ก็เลยค่อย ๆ หายไป ทำอะไรมันต้องมีคนสนับสนุน อย่าง ‘วิทยสัประยุทธ์’ เองก็ต้องได้รับการสนับสนุนระหว่าง Workpoint กับ สสวท. มันต้องมีการร่วมมือกันระหว่าง 2 องค์กร จะเกิดขึ้นมาเลยด้วยการที่บริษัท ๆ หนึ่งอยากผลิตขึ้นมาเลยมีน้อยมาก เราเองยังนึกไม่ค่อยออกเลยว่ามีมั้ย

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือเอกชน รายการแบบนี้มันต้องมีคนสนับสนุน ซึ่งไอเดียของแนวทางแบบนี้ถามว่าดีไหม มันก็ไม่ดีหรอก มันควรเป็นเหมือนรายการประกวดร้องเพลง หรือรายการอะไรทั่วไปที่เราอยากทำแล้วเราก็ได้ทำเลย แต่เราต้องเข้าใจว่ารายการแบบนี้มันเฉพาะกลุ่มมาก ๆ ในการเรื่องการศึกษา วิชาการ การที่คนจะมาสนใจทันทีเลยก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว”

คุณนัท: “คิดว่าจริง ๆ มันมีโอกาสกลับมาได้หมดครับ แต่สำหรับรายการนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะมันหายไปนานด้วย ผมคิดว่าการที่สิ่งที่หายไปนานกลับมาได้จะมีความใหม่ในตัวของมันอยู่ อาจจะมีคนที่คิดถึง คนที่ไม่เคยเห็น อันนี้เป็นโอกาสที่มันน่าจะกลับมาแล้วมีคนดูแน่ ๆ

แล้วก็คิดว่าสิ่งที่ทำให้มันน่าสนใจในการกลับมาในยุคนี้ก็คือตัวของ ‘เด็ก’ ที่พัฒนาจากยุคก่อน ๆมาจนถึงตอนนี้ เด็กสมัยก่อนก็จะเป็นอีกสไตล์หนึ่ง เด็กในยุคนี้ก็จะเป็นอีกสไตล์หนึ่ง ถึงแม้คำถามหรือความรู้มันยังเป็นพื้นฐานรูปแบบเดิมอยู่ แต่วิธีการ Present หรือนำเสนอในเนื้อหาผ่านตัวคนที่ร่วมรายการก็จะมีท่าทีใหม่ ๆ ที่ทำให้รายการน่าสนใจมากขึ้นได้ด้วย”

คุณเจมส์: “ย้อนกลับไปโจทย์ของบางจากนั่นแหละ ตอนแรกที่ได้โจทย์มาเราในฐานะคนทำทีวี เราก็ตกใจนะว่าในยุคนี้ยังมีคนอยากทำรายการวิชาการออกทีวีจริง ๆ หรือ เพราะถ้าว่ากันตามตรง รายการแบบนี้มันขายยาก และมันก็ยากที่จะคาดหวังให้คนมาดู แต่ว่าพอโจทย์มันมา โอเคแหละ บางจากจุดมุ่งหมายที่เขาต้องการ ตัว Workpoint เองก็มีวิธีการเก่า ๆ ที่เคยทำมา แม้ว่ามันจะนานมากแล้วก็ตาม

เราก็เลยพยายามผสมกัน แต่เราทำแบบเดิมไม่ได้ เลยพยายามปรับวิธีที่ทำให้คนดูเห็นว่า Genwit มันคือรายการ Quiz Show วิทยาศาสตร์ก็จริง แต่เราไม่ได้นำเสนอในแบบเดิม ๆ ในขั้นการเตรียมงาน หรือว่าในขั้นการ Pitching รายการ เราก็พยายามตีโจทย์ผ่านวิธีการนำเสนอใหม่ ๆ ให้มันดูแตกต่างจากยุคเก่า เพื่อที่อย่างน้อยถ้าเราทำสิ่งนี้ในยุคนี้มันต้องมีความใหม่ ซึ่งโชคดีที่ในท้ายที่สุด ‘Genwit’ มันก็มีวิธีการเล่าที่ต่างออกไป และก็โชคดีที่คนดูก็ตอบรับด้วยเช่นกันครับ”

คุณเอ๋ย: “เสริมจากที่นัทเล่าเรื่องผู้เข้าแข่งขัน ความหมายของนัทคือเด็กยุคนี้ตรงมากับการมีสื่อเป็นของตัวเอง มีช่อง YouTube มี TikTok มี Social Media เขาจะมีความกล้าแสดงออกมากกว่าเด็กสมัยก่อน ถึงจะเป็นเด็กเรียนดีในระดับโอลิมปิกวิชาการหรืออะไรก็ตาม เด็ก ๆ เหล่านี้ก็แทบจะไม่ใช่เด็กที่พูดกับใครไม่รู้เรื่อง ไม่ใช่เด็กเนิร์ดที่ตอบปัญหาแบบที่พิธีกรถามคำตอบคำ เด็กยุคนี้เด็กเขาเป็นมากกว่านั้น

มันก็เลยเป็นที่มาที่ทำให้พอเราคิดเกมการแข่งขันมา แล้วเราเจอเด็กที่มันมีลักษณะกล้าแสดงออกแบบนั้นจริง ๆ ทั้งเก่งในแต่ละด้าน และเก่งในด้าน Presentation ด้วย มันก็เลยทำให้รายการมันมีความกลมกล่อมไปได้”

คิดว่าส่วนผสมของกลิ่นอายความเป็นรายการนี้ คือรายการไหนของเวิร์คพอยท์บ้าง

คุณเอ๋ย: “อย่างแรกเลยแฟนพันธุ์แท้, อัจฉริยะข้ามคืนแล้วก็จะอาจจะบวกกับบางรายการที่ไม่ใช่รายการของ Workpoint คือรายการแข่งทำอาหาร”

คุณนัท: “หลัก ๆ เหมือนพี่เอ๋ยครับ แฟนพันธุ์แท้กับอัจฉริยะข้ามคืน ถ้าจะเสริมผมรู้สึกว่ามันมีความเป็นชิงร้อยชิงล้านหน่อย ๆ มีความเหมือนแก๊งสามช่าเล่นละครอะไรแบบนี้ คือมีความวาไรตี้อยู่ในรายการแนว Quiz Show ที่มันไม่ได้เป็นแค่ตอบคำถามอย่างเดียว แต่มันมีความหลากหลายอยู่ในตัวรายการด้วย มีการวิ่งไปวิ่งมา กึ่ง ๆ เล่นเกมบ้าง ตามหาข้อมูลนู่นนี่นั่น ซึ่งไม่ได้แค่อยู่กับที่”

คุณเจมส์: “เหมือนกันเลย ภาพในหัวเราคือรายการอัจฉริยะข้ามคืน เพราะชื่อนำหน้ามาก็อัจฉริยะเหมือนกัน แล้วก็มีกลิ่นอายรายการถอดรหัสในห้องอย่างตู้ซ่อนเงินด้วย หรือแม้แต่ความเป็น Game Room ก็มี คือเราจะเห็นว่ารายการ ‘Genwit อัจฉริยะพันธุ์ใหม่’ มันแข่งกัน 4 รอบ รอบ 16 ทีม, 8 ทีม, 4 ทีม แล้วก็รอบชิงชนะเลิศ กติกาเปลี่ยนทุกรอบเลยนะ เพราะว่าพอมีความเป็น Quiz Show ก็จริง แต่เราก็อยากให้มีความเป็น Game Show อยู่ด้วย”

คุณเอ๋ย: “ใช่ ๆ เหมือนที่เด็กแซวเราว่าเหมือนรายการวาไรตี้โชว์ ซึ่งก็ใช่”

คุณนัท: “เพราะฉะนั้นมันมีส่วนผสมของความเป็นเกมด้วยส่วนหนึ่ง แล้วน้อง ๆ ที่มีแข่งก็ไม่ใช่แค่มาเอาชนะโจทย์ในเชิงวิชาการ แต่ต้องเอาชนะวิธีการที่ถูกเล่าผ่านเกมด้วย หรือว่าวิธีการเล่นการ์ด การใช้กล่องสุ่ม ซึ่งรายการนี้ก็มีสิ่งเหล่านี้ผสมอยู่เหมือนกัน”

ภาพจาก Today Play

ฉะนั้นจุดร่วมของกลิ่นอายความเป็น ‘อัจฉริยะข้ามคืน’ คือแก่นหลักที่อยากให้คนนึกตามได้แบบง่าย ๆ หรือเปล่า ในวิธีคิดการทำรายการนี้

คุณเอ๋ย: “สำหรับเราก่อนนะ เราว่าไม่ เพราะรู้ว่าถ้าจะทำรายการใหม่ เราจะต้องไม่ไปยึดกับของเก่าเลย แม้กระทั่ง ‘วิทยสัประยุทธ์’ ที่เป็นรายการคล้าย ๆ กัน เด็ก ม.ปลาย ปัญหาวิทยาศาสตร์เข้มข้น ก็ไม่ได้คิดถึงอันนั้นเลย หรืออัจฉริยะข้ามคืน ก็ไม่กล้าจะเอาตัวเองไปเทียบกับเขาด้วยซ้ำ

วันที่พี่จิกเสนอชื่อว่ารายการนี้ควรชื่อว่า ‘อัจฉริยะพันธุ์ใหม่’ เรายังคิดอยู่เลยว่าคนเขาจะคิดว่ารายการนี้คือตระกูลเดียวกันกับ ‘อัจฉริยะฯ’ หรือเปล่าเหมือนตระกูล ‘ไมค์’ ไมค์ทองคำ ไมค์นู่นไมค์นี่ คนเขาจะเทียบเรากับรายการนั้นหรือเปล่าวะ รายการเราจะทำได้ขนาดนั้นหรือเปล่าเพราะตอนเด็กเราก็ดูรายการนั้นมา แล้วก็รู้สึกว่ามันสุดยอดมากเลย

สุดท้ายแล้วมันก็ไม่ใช่แก่นแกนหลักของรายการนี้ เพียงแต่มันจะมีบางส่วนที่ทำไปทำมา อ้าว เหมือนซะอย่างงั้น อย่างแฟนพันธุ์แท้ พี่ก็ไม่ได้ตั้งธงมาตั้งแต่แรกว่าจะทำท่าทีเหมือนรายการนั้น แต่ทำไปทำมา ปรับกันใหม่ปรับกันมานู่นนี่นั่น อุ๊ย! ทำไมมันเหมือนกันนะ มันมีโครงสร้างบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน

แล้วอีกอย่างก็คือ 2 รายการนี้เป็นของ Workpoint ถ้าเราจะไปซ้ำกับรายการใครก็ควรซ้ำกับรายการตัวเองที่เป็นรายการครูของเราสักรายการ แต่เราก็พยายามหนีไปแหละ ซึ่งการนึกไปถึงรายการเก่า ๆ ถามว่าดีไหม เราว่าดี เพราะคนก็จะได้คิดว่านี่แหละคือรายการแบบ Workpoint

คุณนัท: “ผมว่าเราเหมือนแค่หยิบสิ่งที่เหมาะจะเอามาใช้ได้กับรายการนี้มากกว่า เช่น รูปแบบการวางว่าช่วงแรกอาจจะต้องรวดเร็วเพื่อดึงให้คนดูให้ติดตาม เลยเป็นเกมไว ๆ แบบ 3 วินาทีของแฟนพันธุ์แท้ ช่วงที่ 2 อยากให้มันดูวาไรตี้หน่อย อาจจะเป็นเชิง Action หรือว่ามีการละครเข้ามา

โดยรวมมันคือการดึงเอาจุดเด่นของรายการอื่น ๆ มาใส่ในรายการของเรา ไม่ได้ Fix เลยว่ามันจะถอดไอเดียมาจากรายการไหน เพราะว่ารู้สึกว่ายังไงพื้นฐานของเราก็คือรายการ Quiz Show ของเด็กนักเรียน ซึ่งเราต้องทำให้มันใหม่ เพราะว่าภาพเก่าของ Quiz Show เด็กนักเรียน เราก็เอามา 100% ไม่ได้แน่ ๆ เรารู้เลยว่าในยุคนี้มันเล่นเกมแบบนั้นไม่ได้แล้ว มันน่าจะไม่มีคนดู เลยค้นหากันว่าความสนุกแบบไหนของแต่ละรายการที่หยิบมาผสมกันแล้วมันน่าจะลงตัวได้บ้าง”

คุณเจมส์: “แม้ว่าเราอาจจะมีตัวอย่างรายการที่เราพูดถึงอยู่หลายชื่อ แต่ว่ามันไม่ใช่ทุกรายการรวมกันแล้วจะกลายเป็น Genwit ความจริงแล้วจุดเริ่มต้นของรายการนี้มันเริ่มจาก 0 เรากางกระดาษเปล่ากันเลย แล้วมานั่งคิดว่าจะทำอะไรกันกับสิ่งนี้ดี บนโจทย์ของลูกค้าที่โยนมาให้ และจากความอยากทำของตัวเราเองด้วย

เราค่อย ๆ เริ่มปะติดปะต่อจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กชิ้นน้อยเพื่อให้ตอบโจทย์ไอเดียแรก คือการให้เด็กมาตอบคำถามสะสมพลังงานกัน มันเป็นไอเดียตั้งต้นที่ Basic แล้วก็ง่ายมาก แต่พอมันมี How-to จากคนที่เคยทำงานผ่านในอดีตมาก่อน มันก็ทำให้ตัวกติกามันค่อย ๆ พัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ ตามแต่ละรอบของรายการที่ผ่านไป จนสุดท้ายรายการนี้ก็มี Format ของตัวเองขึ้นมา”

กว่าจะมาเป็นรายการที่ทุกคนได้ดูกัน ผ่าน Draft มาเยอะขนาดไหนบ้าง

คุณเจมส์: “ถ้าเป็น Format ใหญ่ ๆ มีประมาณ 3-4 Draft ที่เราเตรียมงานกัน ซึ่งทุก Draft ไม่ได้ปรับกันนิดเดียว มันคือการคิดอันใหม่ ๆ ๆ ๆ ล้วน ๆ เลย ชื่อรายการก็ยังมาตอนท้าย ๆ ด้วยซ้ำ อย่างที่บอกว่ามันเริ่มจากกระดาษเปล่า แล้วมาช่วยกันสร้างในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ณ วันที่เราเริ่มคิดสิ่งนี้กัน รายการแฟนด้อมพันธุ์แท้ยังไม่เริ่มออกอากาศเลย มันคือช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคมปีที่แล้ว เราเริ่ม Phishing งานนี้ มันค่อนข้างซ้อนงานกันประมาณหนึ่งเลยสำหรับโปรเจกต์นี้”

จุดที่น่าสนใจของรายการนี้ในมุมผู้สร้างสรรค์ที่เห็นมันตั้งแต่เริ่มจนจบคืออะไร

คุณเอ๋ย: “ขอเรียกมันว่าความท้าทายได้มั้ย มันคือความท้าทายทุกจุด อย่างที่คุณบอกเลยว่า Quiz Show มันหายไปนานมากแล้ว แม้กระทั่ง Workpoint เองที่บอกว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญรายการด้านนี้ก็ยังไม่ได้มีรายการประเภทนี้ออกมาเลยหลายปีมากแล้ว นั่นคือความท้าทายแรก

สองคือเนื้อหามันโคตรเฉพาะกลุ่มเลย ไม่ใช่แค่เป็นการตอบปัญหาวิชาการ แต่เป็นวิชาการทางวิทยาศาสตร์ และเป็นวิทยาศาสตร์ระดับเด็ก ม.ปลายที่แข่งโอลิมปิกวิชาการด้วย คือแบบ โห! มันไม่ใช่การตอบปัญหาความรู้ทั่วไปที่เอามาแข่งกัน มันไม่ใช่เลย

อีกอย่างที่เราเพิ่งรู้หลังจากทำไปได้สักพักก็คือรายการนี้จะออนแอร์ช่วง Prime Time โอ้โห! ตอนได้ยินครั้งแรกว่าเป็นรายการวิทยาศาสตร์ ภาพคือออกอากาศวันเสาร์-อาทิตย์ ตอนบ่าย ๆ เย็น ๆ (หัวเราะ) เพราะเป็นเวลาปกติที่เขาจะให้กับรายการประเภทนี้ แต่กลายเป็นว่าทาง Workpoint ให้ออนแอร์ช่วงเวลานี้ มันเลยยิ่งท้าทายแบบทวีคูณ สเกลมันจะไม่ใช่ภาพแบบรายการวันหยุดตอนเย็นแล้ว ความยิ่งใหญ่ ความลุ้นจะต้องมีมากกว่านั้น และความคาดหวังที่ผู้ชมมีมันจะสูงขึ้นมหาศาล เราต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ตอบโจทย์นั้นให้ได้ดีที่สุด”

การเอาเรื่องวิชาการอย่าง STEM มาผสมกับ Quiz Show มันยากยังไงบ้าง

คุณเจมส์: “เราเรียนสายวิทย์-คณิตมาตั้งแต่เด็ก เรามองว่าวิทยาศาสตร์แบบ STEM มันครอบคลุมการใช้ชีวิตทั่วไปในทุกวันของเรา แต่คนส่วนใหญ่ก็จะมองว่าวิทยาศาสตร์คือเรื่องน่ากลัว นี่คือโจทย์ที่เราเอามาตีต่อ แล้วก็ทำยังไงก็ได้ให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นสิ่งน่ารู้ในทุก ๆ วันได้และเข้าถึงมันได้ง่ายขึ้น

แล้วก็ความท้าทายของการผสมผสานความเป็นวิชาการกับ Quiz Show มันคือการทำยังไงก็ได้ให้สามารถเล่าเนื้อหายาก ๆ เอาเด็กที่เก่ง ๆ มาแข่งด้วยนะ แต่ต้องให้คนดูทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพดูแล้วเข้าใจ อินตามไปด้วยได้ นี่คือธงใหญ่ ๆ ของความยากในการทำรายการ

เรื่องวิทยาศาสตร์มันไม่มีทางง่าย มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาของคนทุกยุคทุกสมัย แล้วมันก็ค่อย ๆ พัฒนาตัวเองให้มันยากขึ้น แต่เราไม่ได้เล่าความยากออกทีวีตรง ๆ เราแค่หาอะไรสักอย่างมาช่วยเล่าในมุมมองที่ผู้คนเข้าใจตามไปได้ และมีเป้าหมายคือทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งนี้ใกล้ตัว แล้วเอาไปทำอะไรกับชีวิตต่อได้ต่างหาก”

ภาพจาก Today Play

คุณเอ๋ย: “จริง ๆ เราจะทำให้มันง่ายขึ้นก็ได้นะในแง่ของคำถาม มีคนบอกเราแบบนั้นเหมือนกัน เราก็จะได้ไม่ลำบาก แต่เราจะทำง่ายไปกว่านี้ได้ยังไง เราจะดูถูกผู้เข้าแข่งขันของเราที่เป็นระดับผู้แทนประเทศในเรื่องวิทยาศาสตร์โอลิมปิกนะเว้ย เรารู้ น้อง ๆ อาจารย์รู้ และคนที่เก่งวิทยาศาสตร์รู้ แม้เขาจะไม่ใช่คนส่วนใหญ่ในประเทศ นั่นแหละคือความซับซ้อน และเรารู้วิธีที่จะทำให้คนดูรู้สึกว่าสามารถกลืนสิ่งเหล่านี้เข้าไปได้อย่างง่ายดาย

ความยากของการทำรายการแบบนี้ คือคนทำรายการทุกคนไม่ใช่คนที่จบสายวิทยาศาสตร์เสียส่วนใหญ่ เราพูดเลยว่า 90% ที่ควานหาในบริษัทมาในบริษัทแล้ว (หัวเราะ) ไม่มีใครจบสายวิทย์แต่น้องนัทกับน้องเจมส์จบสายวิทย์มาโดยตรงเลย”

คิดว่าลีลาการย่อยเนื้อหายาก ๆ ในเข้าถึงง่ายของเวิร์คพอยท์เป็นแบบไหน

คุณเอ๋ย: “บอกเลยว่าตอนทำแฟนพันธุ์แท้ยังไม่ยากขนาดนี้ ถึงจะเป็นเรื่องพระเครื่องหรืออะไรก็ตามนะ มันยังเป็นสายสังคมศาสตร์ ถ้าเราเป็นคนมีความเข้าใจหรือทำความเข้าใจกับอะไรได้ไว ๆ บุคลิกหนึ่งของ Creative รายการแฟนพันธุ์แท้คือต้องเป็นคนอินง่าย และเข้าใจกับทุกเรื่องได้อย่างว่องไว ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องศิลปินหรือเรื่องแบบไหนก็ตาม

แต่ความยากของ Genwit มันมากไปกว่านั้น เพราะถ้าเราไม่ได้จบสายวิทย์มา เราจะไม่มีทางเข้าใจมันได้อย่างถ่องแท้เลย ไม่อย่างนั้นเราคงเลือกเข้าเรียนมันตั้งแต่ ม.ปลายแล้วล่ะ นั่นคือความยากในมุมมองของเรา

รวมถึงรายการนี้ต้องเป๊ะทุกคนเลย ตั้งแต่ Pre Production ไปถึง Post Production การตัดต่อ ใส่ CG คนทำงานทุกคนไม่ได้มีใครเข้าใจมันจริง ๆ กันหมด (หัวเราะ) มีคนเข้าใจมันจริง ๆ น้อยมากความยากเลยเต็มไปหมด อย่างขั้นตอนก่อนถ่ายทำที่ต้องไปสั่งทำ Prop มันต้องดูกันละเอียด ไม่สามารถฝากให้ใครดูแทนได้ หรืองาน Post Production จะทำ CG ก็ต้องละเอียดมากเพราะหากสมการผิดแค่ 1 สัญลักษณ์หรือตัวเลขผิดไปแม้แต่ตัวเดียว เคาะเว้นวรรคผิดก็ไม่ได้เลย เพราะมันมีคนที่เขารู้

ไหนจะอุปกรณ์ที่ใช้แข่ง ปริมาณน้ำ ภาชนะ อุปกรณ์ชั่ง ตวง วัดต่าง ๆ ของที่ให้ยืมในห้องแลป เอกสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในนั้นข้อมูลถูกต้องมั้ย สะกดถูกหรือเปล่า ตัวเลขถูกไหม เพราะทุกอย่างมันเป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ในทุกโจทย์”

ทำไมใน Draft สุดท้ายที่เราได้ดูถึงมี 4 รอบการแข่งขัน

คุณเอ๋ย: “จริง ๆ ก็คิดง่าย ๆ ด้วยระยะเวลารายการประมาณนี้ 1 ชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง มันจะถูกแบ่งออกเป็น 4 เบรกอยู่แล้วด้วย งั้นทำเกมให้เล่นกัน 4 รอบเลยแล้วกัน ประมาณนี้ก่อน หลังจากนั้นก็ค่อยคิดลงไปในรายละเอียดว่าในแต่ละเบรกจะทำอะไรบ้าง”

คุณนัท: “เราต้องพยายามวางให้มันรู้สึกว่าก็ไล่ลำดับความสนุกไป อันแรกอยากให้คนดูรู้สึกไม่เอื่อย รู้สึกไปไว ถามไว ตอบไว ให้คนรู้สึกอยากติดตาม ให้เขาเห็นอะไรเยอะ ๆ ก่อน จนรู้สึกว่ารายการนี้มันมีอะไรเยอะ เลยกลายเป็น ‘Speedy Quiz’ เกมตอบคำถาม 3 วินาที ที่ผู้เล่นทุกคนจะต้องตอบคำถามแบบต่างคนต่างเล่น เพื่อให้คนดูเห็นคาแรกเตอร์ของแต่ละคนก่อน สมมติเราให้เกมแรกทุกคนช่วยกัน มันก็อาจจะดูปรือ ๆ แล้วอาจจะมีคนช่วยกันเล่นสัก 3 คนและอีก 1 คนยืนเป็นตัวประกอบแบบนี้หรือเปล่า เกมแรกก็จึงให้ทุกคนมีส่วนร่วมหมดแบบจริง ๆ จัง ๆ เลย”

คุณเจมส์: “ความจริงการคิดเกมทั้ง 4 รอบมันมาจากจุดเริ่มต้นจากสิ่งที่เราเรียกว่า ‘Energy’ คือระบบการคิดคะแนนของรายการ มันเป็นเหตุที่มาของความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบเกมว่าในแต่ละรอบ เราจะเลือกอะไรมาเล่นกัน จะเห็นว่าสิ่งที่เป็นแกนหรือเป็นเส้นเวลาของรายการมันคือ Energy นี่แหละ เกมแรกให้สะสม เกมที่ 2 และ 3 ให้แบ่งมาใช้ ส่วนเกมสุดท้ายถือเป็นโบนัสของทีมที่บริหารเวลาได้ดีจนเหลืออยู่แปลงมาเป็นเงินให้กับทีมตัวเอง”

เหตุผลที่พิธีกรเป็น ‘กันต์ กันตถาวร’ คืออะไร

คุณเอ๋ย: “หนึ่งคือเราต้องการพิธีกรที่มีทักษะทางการทำงานรายการ Quiz Show มาก่อน รายการนี้มันยากในแง่เนื้อหาอยู่แล้ว ผู้เข้าแข่งขันก็เยอะ เป็นเด็กที่ไม่เคยออกทีวี ไม่ใช่ดารา ถ้าผู้เข้าแข่งขันเป็นดารา การทำงานของตัวพิธีกรอาจจะง่ายกว่านี้เพราะเขาจะรู้จังหวะจะโคนกัน มีม้งมีมุก ไม่ต้องมาดึง Energy น้อง ๆ เพื่อให้คนนั้นตอบ คนนี้พูด ฝั่งนี้ Boost พลังเพิ่มหน่อยอะไรทำนองนั้น

ส่วนคาแรคเตอร์ของพี่กันต์ที่เราวางไว้ เขาคือตัวแทนของ ‘คนดู’ ทั้งเวทีมีแต่คนเก่ง อาจารย์ก็เก่ง เด็กก็เก่ง แม้กระทั่ง Lab Boy ก็เป็นครู มันต้องมีสักคนที่เป็นตัวแทนคนดูที่คอย React ว่า “ห๊ะ” “อะไรนะ” เหมือนรายการญี่ปุ่นที่เขาชอบมีดารามานั่งแล้วก็ “ว้าว” “หูว” แต่รายการนี้ไม่ได้มีให้คนดูมานั่ง หรือถ้าจะมีอย่างในตอนสุดท้ายของรายการเด็กที่มานั่งก็คือเด็ก ๆ ที่น่าจะรู้หรือเก่งในวิทยาศาสตร์มันเหมือนกับคนแข่ง

ฉะนั้นมันไม่มีใครเป็นตัวแทนของคนดูเลยที่จะเป็นมิตรกับเขา ว่าฉันไม่รู้เหมือนกับเธอ และฉันตื่นเต้นเหมือนกันที่เขาตอบได้ ฉันก็ทึ่งไปพร้อมกับเธอ ฉันก็ไม่รู้ ไหนน้อง ๆ อธิบายให้ฟังหน่อยอาจารย์เพิ่มเติมข้อมูลให้เราได้ยินหน่อย พี่กันต์คือคนนั้น

“คุณไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนที่เก่ง ไม่ต้องเป็นหมอหรือนักวิทยาศาสตร์มาจากไหนเลย คุณคือตัวแทนคนดู” นี่คือสิ่งที่บอกพี่กันต์ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นทำงานในโปรเจกต์นี้ด้วยกัน เพื่อให้เขา Relax ด้วยว่าไม่ต้องเครียด พี่กันต์ไม่ต้องจบสายวิทย์ เขาบอกว่าเขาเครียดมาก เราก็เข้าใจเขาเพราะเราก็ไม่ได้จบสายวิทย์มาเหมือนกัน

เลยบอกเขาว่าเรามาเป็นตัวแทนคนดูกัน มาทำให้คนดูเข้าใจ อันไหนเราไม่เข้าใจเราก็ถามเลย สงสัยแบบไหนก็ถามแบบนั้นเลย แทนใจคนดู เหมือนตอนที่น้อง ๆ ตอบคำถามแล้วพูดสูตรสมการอะไรออกมา พี่กันต์ก็ทำหน้าเหวอจนกลายเป็นพวก Meme ทั้งหลายที่มันออกมาจากการแสดงสีหน้าของเขา มันคือความรู้สึกจริงที่เกิดขึ้นเหมือนกับที่คนดูรู้สึก แม้แต่เราเองฟังแล้วก็ยัง “ ห้ะ เมื่อกี้ว่ายังไงนะลูก”

ออกแบบตำแหน่งของผู้รู้ในรายการทั้ง 2 ท่านและครูกาแฟในฐานะ labboy ยังไงบ้างในรายการนี้เพราะปกติรายการอื่นจะมี Commentator นั่งรวมกัน แต่รายการนี้มีการแบ่งหน้าที่ที่ต่างกัน

คุณเอ๋ย: “จุดเริ่มต้นมาจากที่เรามองว่าเราควรมีอาจารย์ เพราะเรารู้แล้วว่าหน้าที่ของพี่กันต์คือคนดูที่ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นต้องมีคนที่รู้ลึก รู้จริง ละเอียด และเก่งกว่าเด็ก ๆ ที่เก่งมากแล้วขึ้นไปอีก เพื่อคอยอธิบายให้คนดูฟังว่าโจทย์เมื่อกี๊มันเป็นยังไง หรือถ้าเด็ก ๆ เกิดความสงสัยตรงไหน คน ๆ นี้ก็จะเป็นคนช่วยอธิบายให้เด็กฟังได้

มันก็คล้ายๆ Commentator ในรายการประกวดร้องเพลงนั่นแหละ แต่อันนี้คืออยู่ในรายการวิทยาศาสตร์ มันเลยเป็นที่มาของตำแหน่งอาจารย์ปอ (รศ.ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) และอาจารย์ยอ (รศ.ดร.สุรเชษฐ์ หลิมกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ที่คอยอยู่เคียงข้างกัน และช่วยกันแล้วก็คอยอธิบายให้คนดูฟังด้วย รวมถึงครูกาแฟเอง (อำพล ขวัญพัก) ในฐานะ Lab Boy ที่ก็มีส่วนช่วยในการพัฒนาเนื้อหารายการเหมือนกัน”

อาจารย์ยอ (รศ.ดร.สุรเชษฐ์ หลิมกำเนิด) และอาจารย์ปอ (รศ.ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ) – ภาพจาก Genwit อัจฉริยะพันธุ์ใหม่
ครูกาแฟ (อาจารย์อำพล ขวัญพัก) – ภาพจาก Genwit อัจฉริยะพันธุ์ใหม่

คุณเจมส์: “ถ้าพูดถึงตำแหน่งของอาจารย์ปอกับอาจารย์ยอ แน่นอนที่สุดว่าภาพแทนของเขาคือคนที่เก่งที่สุดในรายการ เพราะนอกจากพวกเขาจะเป็นผู้อธิบายน้อง ๆ และอธิบายคนดูแล้ว อีก พาร์ตหนึ่งเขาก็เป็น Partner ของตัวรายการด้วย ก็คือเป็นที่ปรึกษารายการ รวมถึงตัวอาจารย์ก็ Develop ตัวเองมาเพิ่มเติม

แม้เขาจะเป็น ‘ผู้รู้’ ก็จริง แต่เขาจะไม่ทำให้ตัวเองดูเป็น ‘ผู้สอน’ เขาจะวาง Position ของตัวเองว่าเป็นไม่ได้มาเป็นแค่คนมอบความรู้ แต่ยังมาเป็น ‘เพื่อน’ ที่น้อง ๆ สบายใจด้วยได้ เหมือนที่จะเห็นในรายการว่าอาจารย์จะไม่ทำตัวให้ดูน่ากลัว จนน้อง ๆ ไม่กล้าถามคำถาม เหมือนเวลาเราเจออาจารย์จริง ๆ ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย

หลาย ๆ โมเมนต์จะเห็นว่าอาจารย์พยายามส่งกำลังใจให้เด็กอยู่ตลอด ถ้าดูในเทปจะเห็นว่าบางจังหวะที่น้อง ๆ คิดคำตอบกันนาน ๆ อาจารย์ก็จะลงไปดูด้วยความเป็นห่วง อยากเอาใจช่วย อยากรู้ว่าผิดตรงไหน ติดอยู่ตรงไหนอยู่ และเขาพยายามเปิดพื้นที่ให้เด็กมากกว่าตัวเองด้วยซ้ำ มีหลายช็อตที่น้อง ๆ สามารถอธิบายได้ อาจารย์ก็ปล่อยให้พวกเขาได้อธิบายเลย แล้วอาจารย์ค่อยมาเสริมนิดหน่อยในบางประเด็น”

คุณเอ๋ย: “เมื่อกี๊ที่บอกว่ารายการนี้เหมือนรายการแข่งทำอาหารก็ตรงที่ว่าต้องมีเชฟผู้รู้ที่เก่งมาก ๆ มาคอยชิม คอยวิพากษ์วิจารณ์ นี่แหละ อาจารย์ทั้งสองท่านก็ทำหน้าที่นั้น รวมถึงยังคอยทำให้การอธิบายความรู้แก่คนดูง่ายขึ้น เป็นมิตรมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่เราใช้อยู่ตลอด “โจทย์ข้อนี้เป็นมิตรกับคนดูมั้ย” เจมส์จะชอบพูดประโยคนี้อยู่เสมอ

นี่คือสิ่งที่เราบอกอาจารย์ไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว ว่าเป้าหมายของรายการคือการทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องรอบตัวเรา และทำให้คนรู้สึกใกล้ตัว เพราะฉะนั้นโจทย์ทุกโจทย์ คำอธิบายที่เราเขียนร่วมกับอาจารย์จะพยายามหาทางเชื่อมโยงว่ามันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันยังไงได้บ้าง อาจารย์ก็จะเข้าใจ Concept ตรงนี้

มันจะมีทั้งข้อมูลที่เราหามาเพื่อให้อาจารย์ช่วยเสริมหรืออธิบายให้คนดูฟังในบางคำอธิบาย หรือบ่อยครั้งอาจารย์ก็ทำการบ้านมาเอง อาจารย์จะได้เห็นโจทย์จากการเอาโจทย์ในรายการไปตรวจก่อน เขาก็จะคิดวิธีการอธิบายให้คนดูเข้าใจง่าย ๆ จากการหาข้อมูลมาให้เราเพิ่ม แล้วก็ยังเสริมว่าบางทีมันอาจจะเชื่อมโยงกับเรื่องนี้ในชีวิตประจำวันได้ด้วยนะ ซึ่งบางทีเราก็ไม่รู้

มีหลายครั้งมากที่เราจะได้ยินอาจารย์บอกว่า “ลองนึกภาพตามดูนะครับ” แม้แต่เราเองฟังอาจารย์แล้วยังทึ่งเลยว่า เออว่ะ ทำไมสมัยเราเรียนไม่มีคนอธิบายแล้วเข้าใจแบบนี้บ้างนะ เราจะได้เข้าใจวิชาเลข เข้าใจฟิสิกส์เบื้องต้นง่าย ๆ แบบนี้บ้าง อาจารย์ทุกคนในรายการมีส่วนในการ Develop สิ่งเหล่านี้ขึ้นมามาก ๆ เลย”

เจาะเบื้องหลังกติกา ที่ต้องเล่าเรื่องยากให้เข้าใจง่าย

เล่าถึงเกม ‘Speedy Quiz’ ให้เราฟังหน่อยว่าเบื้องหลังการสร้างสรรค์ช่วงนี้ทำยังไงกับมันบ้าง

คุณเอ๋ย: “จุดนี้มันคือจุดที่จะทำให้คนดูได้อุ่นเครื่องก่อนที่จะเจอของที่ยากกว่านี้ มันเป็นช่วงที่ดูเป็นมิตรที่สุดแล้วของรายการ ที่พาให้คนดูให้แบบ “โอเค มานะคะ แล้วเราจะได้รู้ว่าวิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเราจริง ๆ”

พวกคำถามที่สร้างสรรค์มาจะเป็นสิ่งที่ถูกคิดบนพื้นฐานที่ว่าสิ่งนี้อยู่ในชีวิตของเราจริง ๆ ใช่ไหม แล้วมันจะต้องหลากหลาย ครอบคลุมทุกวิชาใน 8 ข้อนี้ เราต้องมานั่ง LIst กันว่ามันกินความรายวิชาไหนไปแล้วบ้าง แล้ววิชานี้กินเนื้อหาในสาขาอะไรด้วยนะ ชีววิทยาในแต่ละข้อก็ต้องเป็นชีววิทยาที่ไม่เหมือนกัน บางข้อเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ บางข้อเกี่ยวกับพืช บางข้ออาจจะเป็นชีววิทยาผสมเคมีเลยด้วยซ้ำ

เราต้องพยายามกระจายความรู้ให้ครบทุกสาขา แล้วก็ค่อย ๆ ไล่ลำดับไปจากเรื่องใกล้ตัวสุด ๆ และค่อนข้างเดาได้ง่าย รึเปล่านะ (หัวเราะ) บางทีน้อง ๆ ก็ตอบผิดตั้งแต่ข้อแรกก็มี ข้อหลัง ๆ ถึงจะเริ่มออกไปอวกาศบ้างแล้ว

สำคัญเลยคือหลักสูตรของการทำ Quiz Show คือการทำให้คนดูอยากมีส่วนร่วมกับรายการ ก็คือฟังโจทย์แล้วอยากเล่น อยากทายด้วย มันต้องไม่ง่ายซะจนรู้ว่ายังไงก็ตอบข้อ A ง่ายมาก มันไม่สนุกที่จะเล่น ต้องทำให้ตอบมันได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ให้เป็นสีสัน แล้วก็เราดีใจมากที่มีคนบอกว่าอยู่บ้านก็นั่งตอบคำถามแข่งกันกับลูก มันทำให้คนดูรู้สึกว่าเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของรายการก็ตั้งแต่เบรกนี้นี่แหละ” 

มาที่เบรกสอง น่าสนใจมาก อยู่ ๆ มันก็มาเป็น ‘Scene Analysis’ เลย ไอเดียมันมาจากไหน

คุณเจมส์: “ความจริง ‘Scene Analysis’ มันแทบจะเป็นโครงสร้างแรกของรายการเลยตอนที่คิดรายการ Draft ต้น ๆ ด้วยซ้ำ คือเราคิดภาพรายการนี้เป็นเหมือนเกมไขปัญหาจากสถานการณ์สมมติ ซึ่งมันเป็นไอเดียที่คนทำอยากทำมากเลย มันเหมือนการ์ตูนหรือหนังสืบสวนสอบสวนที่มันดูสนุก เราอยากให้มีภาพแบบนี้ในรายการ แต่มันต้องถูกเล่าด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์นะ ช่วงนี้มันเลยเกิดขึ้นมา”

คุณเอ๋ย: “ใช่ ๆ เป็นเกมแรก ๆ ที่เกิดขึ้นมาในรายการ”

คุณเจมส์: “เราว่าเรื่องของการเกิดคดี หรือการไขปริศนาที่เกิดขึ้นในภายในรายการมันเป็นการเอาสถานการณ์ในชีวิตประจำวันมาใส่ การพายเรือในน้ำ การเปิดร้านชาบู เราก็เอามาทำเป็น Scene Analysis ได้เหมือนกัน มันคือเรื่องปกติที่ถ้าคนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์หรือ STEM สักนิดนึง จะเข้าใจสิ่งนี้ได้มากขึ้น

แต่อย่างในเกมพอมันเป็นโจทย์ที่ต้องใช้วิธีการสืบหาคำตอบ มันก็ต้องมีการเตรียมการแล้วว่าหากเราจะถามสิ่งนี้ เราต้องเอากุญแจสำคัญไปซ่อนไว้ตรงไหนดี อันนี้คือหลักการทางการออกแบบรายการที่ทำให้ช่วงนี้มีการผสมผสานกันของหลาย ๆ อย่างที่เราอยากเล่าเพื่อทำให้เรื่องเหล่านี้มันใกล้ตัวคนดู อยากให้มันสนุก แต่ก็อยากให้มันเป็นเกม ซึ่งในมุมคนทำเราสนุกมาก และเชื่อว่าคนดูน่าจะอยากเห็นสิ่งนี้บนรายการทีวี”

เอาจริง ๆ หากเราเอาความเป็นเกมออก เอาภาพของความเป็นรายการตอบปัญหา STEM ออก มองแค่โจทย์ในแต่ละข้อของช่วงที่ 2 และ 3 มันเป็นโจทย์ที่ยาวมาก เหมือนคำถาม O-NET เลย เราทำยังไงให้คำถามเหล่านั้นย่อยง่ายและน่าติดตาม

คุณเจมส์: “เอาจริง ๆ คำถามนี้ตลกมาก เพราะตั้งแต่แรกโจทย์เหล่านี้มันก็อยู่บนกระดาษทั้งหมดเลยที่เราร่างและสร้างสรรค์ไว้แล้วในไบเบิล แล้วไบเบิลนี้ต่อเทปมันคือ 30-40 หน้ากระดาษเลยที่อาจารย์ยอและอาจารย์ปอจะได้อ่านก่อนมาออกรายการ

ตอนคิดคำถาม เราก็ต้องไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนออกข้อสอบในสำนักงานสอบวัดผลการเรียนรู้ระดับชาติ แต่เราเป็นคนเล่าเรื่องที่ต้องคิดคำถามเพื่อให้ทั้งน้อง ๆ และคนดูเข้าใจ ตัวคำถามสุดท้ายที่จะนำมาซึ่งคำตอบที่ระบุโจทย์เป็นจำนวนตัวเลขก็ถือเป็นคำถามไป แต่องค์ประกอบรอบ ๆ คำถามนั้นจะต้องมีความเป็นเหตุเป็นผลรองรับ ข้อมูลมีอะไรบ้างที่บอกได้ ใครเป็นคนบอก บอกได้แค่ไหน ข้อมูลอื่น ๆ ที่น้องจะต้องค้นหาเองมีอะไรบ้างด้วยความรู้ที่มีอยู่ และมีข้อมูลไหนบ้างที่น้อง ๆ น่าจะต้องเข้าไปหาในห้องแลปเพื่อเอามาประกอบ

สิ่งเหล่านี้เราจำเป็นต้องใช้เวลาในการออกแบบตัวคำถามอยู่นาน นานกว่าตอนคิดโจทย์ด้วยซ้ำ เพราะพอเราได้โครงร่างคำถาม เราต้องทำให้มันดูเป็นจริงได้ในเชิงภาพบนทีวี เรื่องนี้คือเรื่องที่ Workpoint เข้ามาเสริมในการสร้างสรรค์รายการนี้ออกมา ทำให้ตัวรายการนี้ต้องแสดงภาพชัดทั้งในเรื่องของวิชาการและการเล่าเรื่อง คนที่ชอบวิชาการต้องฟินกับสิ่งนี้ได้ และคนที่ดูทีวีปกติก็ต้องเข้าใจมันได้ด้วย ถามว่ายากมั้ย ยาก และมันต้องใช้เวลามากด้วย บางทีเราใช้เวลากระชั้นชิดก่อนจะใช้งานจริงในรายการก็มี

ก็ถ้าจะให้เล่าการทำงานให้เข้าใจแบบง่าย ๆ เนื้อหาแบบนี้มันก็เริ่มจากโครงร่างโจทย์ก่อน แล้วก็สิ่งที่เราอยากถาม หลังจากนั้นเราก็ไปออกแบบตัวละครประกอบที่เกี่ยวข้องโจทย์นี้ว่าจะมีกี่คน รวมถึงคิดธีมสถานการณ์สมมติมาประกอบ”

คุณเอ๋ย: “บางทีธีมเกิดก่อน บางทีโจทย์เกิดก่อนจะคิดธีมมารองรับโจทย์นี้ มันมีทุกท่าเลย”

คุณเจมส์: “พอวางตัวละครเสร็จ ก็มาลองดึงเนื้อหาที่อาจจะเป็นโจทย์เพื่อกำหนดตัวแปรว่าตัวละครแต่ละตัว ใครจะเป็นคนกุมกุญแจอะไรในการตอบคำถามทั้งหมดได้บ้าง”

คุณเอ๋ย: “แล้วต้องให้มันสมเหตุสมผลด้วยนะ บางที่ตัวละครแม่ในเรื่องนี้ที่ไม่มีทางรู้เรื่องนี้ได้จะรู้เรื่องนี้ได้ยังไง ตัวละครนี้ที่ไม่มีทางตอบเรื่องนี้ได้อย่างสมเหตุสมผล เขาจะให้ข้อมูลเรื่องนี้ได้ยังไง มันก็ต้องสร้างอีกตัวละครหนึ่งมารองรับ แล้วก็ต้องเป็นละครด้วย ต้องเขียนสคริปต์ให้พิธีกรหรือตัวละครพูดจาเป็นบทละคร ทุกคนมีหน้าที่ในการเล่าเรื่องทั้งหมดเพื่อครอบเนื้อหาให้มันกลมกล่อม จากความตั้งใจที่เราไม่ได้อยากให้มันเป็นข้อสอบ แต่นี่คือละคร สถานการณ์ในการทำให้โจทย์ปัญหาน่าสนใจขึ้น

อย่างตอนแม่นาค ที่เราก็ต้องให้แม่นาคพูดหน่วยมาตรวัดแบบไทยดั้งเดิม เพราะแม่นาคไม่มีทางเทียบค่าเป็นแบบสากลได้แน่ ๆ หรือตอนคู่กรรมที่อยู่ดี ๆ อังศุมาลินก็พูดถึงระยะทางไปทางช้างเผือก ถามว่ารู้ได้ยังไง อ๋อ เพราะอังศุมาลินเป็นสาวอักษรศาสตร์ที่อ่านหนังสือเยอะมาก เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องบอกว่าทำไมเขาถึงรู้ข้อมูลนี้ได้ แม้แต่โจทย์บางข้อที่ไม่สมเหตุสมผลเลย อาจารย์ยอเห็นเขาก็จะทัก ตัวเลขความสูงที่บั้งไฟลูกนี้ขึ้นไปมันน่าจะเป็นตัวเลขนี้ไม่ได้นะ มันน่าจะสูงเกินความเป็นจริงไปแล้วอะไรประมาณนี้”

มันจะดูไม่เวอร์เหมือนตัวอย่างการคิดโจทย์ปัญหาที่ไม่สมเหตุสมผลอย่าง “สมพงศ์มีกล้วย 8,000 ลูก” ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้

คุณเอ๋ย: “ใช่ เราไม่อยากให้มันเป็นแบบนั้น อย่างที่เราบอกว่าวิทยาศาสตร์ และมันคือโลกแห่งความเป็นจริง พายเรือด้วยความเร็วเท่านี้ กี่นาที กี่วินาที ระเบิดตกแล้วโกโบริตายห่างจากจุดศูนย์กลางกี่เมตร มันก็ต้องเป็นค่าตามความเป็นจริงที่โกโบริมีโอกาสเสียชีวิตได้ แต่ก็ไม่ใช่การตายร่างแหลก มันต้องตายในแบบที่บทประพันธ์ของสถานการณ์สมมติว่าเอาไว้ ทุกอย่างมันจะต้องสมเหตุสมผล และสมจริงที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ตัวอย่างคำถามสุดสร้างสรรค์ในรอบ ‘Scene Analysis’ ที่นำฉากมะนาวตกจากเรื่อง ‘แม่นาคพระโขนง’ มาเป็นโจทย์ปัญหา – ภาพจาก WorkpointOfficial

เพราะการทำ Quiz Show ยุคนี้มันไม่ง่าย

การทำรายการนี้ทำให้ทั้ง 3 คนเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ อะไรในการทำ Quiz Show ยุคนี้ในไทยอย่างไรบ้าง

คุณนัท: “อย่างแรกที่นึกออกคือรายการ Quiz Show มันน่าจะไม่ได้มีแค่คำถามอย่างเดียวแล้วในยุคนี้ ตัวคำถามอาจจะแบกเนื้อหาทั้งรายการไม่ได้ขนาดนั้น อาจจะหาได้ยากมาก ต้องหาอย่างอื่นมาผสม สร้างความสนุกสนาน ใส่ความเป็นวาไรตี้หน่อย ๆ

มันคงไม่ได้เป็นเหมือนเมื่อก่อนที่รายการเน้นถามคำถามกันอย่างเดียว ความขี้เล่นและการคาดเดาไม่ได้อาจจะเป็นลีลาสำคัญของรายการ ผมว่าถ้ามันเป็นอะไรเดิม ๆ ไปเรื่อย ๆ คนดูอาจจะรู้สึกเบื่อ อย่าง Genwit ที่เรายังคง Pattern เดิม แต่เปลี่ยนกติกาบ่อยจนคนดูตามไม่ทัน ต้องมาทำความเข้าใจใหม่ คนแข่งจะได้เจอเกมใหม่ด้วย คนดูก็จะได้รู้สึกถึงความเข้มข้นขึ้นด้วย”

คุณเจมส์: “ความจริงมันแปลกมากเลย เทรนด์การดูทีวีหรือดูสื่อของคนไทยเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ถ้ายุคเก่าเราอาจจะดูรายการตอบคำถามแบบนี้เป็นชั่วโมงได้โดยไม่เบื่อ และยอมรับในการติดตามเนื้อหาไปทั้งรายการด้วย จนมาถึงยุคที่เราดูคลิปความยาว 7 วินาทีแล้วก็เปลี่ยน จนมายุคนี้ คนก็กลับมาดูรายการยาวอีกที

เทรนด์มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้เรื่อย ๆ จนมองภาพรวมแบบกว้างไม่ได้มาก แต่ถ้ากลับมามองในตัวรายการ Genwit ว่ามีอะไรที่น่าจะไปต่อได้สำหรับเราเลยคือคนดูรู้สึกว่าเนื้อหาวิชาการแบบนี้ก็ยังมีที่มีทาง มีจุดที่ไปต่อได้ในยุคนี้ เหมือนที่รายการบนช่องทางออนไลน์ก็เล่าเรื่องประวัติศาสตร์หนัก ๆ ลึก ๆ กันเยอะขึ้น คนดูก็ตามดูเพราะความอยากรู้ เนื้อหาเหล่านี้มันยังมีทั้งคนทำและคนดูอยู่เสมอเลย สิ่งเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนไป แต่วิธีการเล่าต้องเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และก็หวังว่าเนื้อหาเหล่านี้จะช่วยสร้างสังคมที่ดีขึ้นในมุมนี้ได้ดีมากกว่าเดิม”

คุณเอ๋ย: “เห็นด้วยกับเจมส์เลย คือมันเป็นเรื่องวิชาการ เรื่อง Niche เรื่องเฉพาะกลุ่มที่คนบางคนอาจจะเชื่อว่ามันไม่มีคนฟัง แต่จริง ๆ มันมีคนฟังและคนสนใจ เหมือนอย่างที่ช่องยูทูปที่เล่าเรื่องแนวนี้อย่าง Farose หรือ Point of View ที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์เฉพาะทางแล้วมีคนรอฟัง เพียงแต่เราทำรายการทีวี ไม่ใช่ Podcast การจะย่อยเนื้อหาให้เข้าใจง่ายและน่าติดตาม มันก็ต้องใช้ศาสตร์การสร้างสรรค์ในรูปแบบรายการทีวีมาทำให้เนื้อหาแบบนี้มีคนสนใจมากขึ้นเหมือนอย่างที่เราทำ”

เรียนรู้อะไรจากการทำงานโปรเจกต์นี้บ้าง

คุณเอ๋ย: “ในฐานะที่เป็นคนทำรายการทีวี เรานำเสนอเนื้อหาผ่านรายการ Game Show หรือ Quiz Show โปรเจกต์นี้มันทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่าจริง ๆ ต่อให้มันจะยากแค่ไหน ก็น่าจะทำมันได้ ต่อให้โจทย์มันท้าทายสุด ๆ สุดท้ายมันจะมีทางให้เราไปถึงเป้าหมายของเราได้”

คุณเจมส์: “ผมว่าในมุมคนดู เรื่องที่ในโลกแห่งความเป็นจริงมันดูยาก แต่เราเชื่อว่าจะมีคนดูให้การตอบรับมันอยู่เสมอ มันคือจุดเริ่มต้นของคำว่าสังคมแห่งการเรียนรู้ คนดูที่เขาพร้อมเปิดรับสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริง ๆ ในจำนวนไม่น้อยเลย แล้วก็เชื่อว่าคนไทยเองก็ไม่ได้อี๋กับรายการวิทยาศาสตร์ แล้วดูแค่รายการประกวดร้องเพลง เขามีมุมอื่นในชีวิตที่อยากลองเปิดรับเนื้อหามุมอื่น ๆ ด้วยเหมือนกัน ที่มันจะกลายเป็นประโยชน์ในชีวิตให้กับเขาได้”

คุณนัท: “สิ่งที่สัมผัสได้เลยคือเรื่องแบบนี้มันอยู่ที่จังหวะและยุคสมัยด้วย อาจเป็นเพราะว่าช่วงนี้รายการมันคล้ายกันไปหมดด้วย ลึก ๆ แล้วคนดูก็ต้องการเปิดรับรายการแนวใหม่ในยุคนี้ ที่อาจจะดูเป็นแนวเก่า ๆ ในยุคก่อนที่หายไปจากความคิดของคน อาจจะเป็นสิ่งที่เคยมีหรือไม่มีมาก่อนก็ตาม พอมันมีสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา คนก็พร้อมที่จะสนใจและเรียนรู้ที่จะลองดูเนื้อหาเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน ถึงเราจะไม่ใช่รายการท่ามาตรฐาน เกมจ๋า วาไรตี้จ๋า หรือร้องเพลงจ๋าก็ตาม”

ข้อสุดท้าย มีเกร็ดความรู้อะไรที่แต่ละคนเพิ่งได้รู้จากการทำรายการนี้

คุณนัท: “สิ่งที่ผมว้าวมาก ซึ่งไม่รู้คนอื่นจะว้าวเหมือนผมรึเปล่า คือผมเพิ่งรู้ว่าการที่เครื่องบินมันลอยได้ มันไม่ได้มีแรงผลักจากด้านล่าง แต่มันลอยได้จากแรงดันอากาศของเหนือปีกกับใต้ปีกที่มันไม่เท่ากัน มันเลยเกิดแรงยกให้เครื่องบินขึ้นในแนวดิ่งได้ เรานึกว่ามันจะมีไอพ่นส่งขึ้นไป แล้วส่งแรงไปข้างหน้าอีกทีหนึ่งเสียอีก แต่มันมีไอพ่นแค่แนวเดียว กับเรื่องการดีไซน์ปีกให้โค้งรับกับอากาศ”

คุณเจมส์: “มีข้อหนึ่งที่มีคำถามที่ถามว่าทำไมไฟบนเรือไดหมึกถึงเป็นสีเขียว แล้วตัวเลือกเรามี 3 ข้อ คือหมึกชอบสีเขียว อาหารของหมึกชอบสีเขียว หรือชาวประมงชอบสีเขียว ในรายการเราเฉลยไปว่าเพราะอาหารของหมึกชอบสีเขียว หมึกเลยตามมากินอาหารของมัน

เราว้าวตรงที่หลังจากคำถามข้อนี้ออกไป มันเกิดการพูดต่อ มันถูกนักวิทยาศาสตร์ในหลาย ๆ แขนงมาอธิบายเรื่องนี้ต่อ จนทำให้เรารู้ว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นไปได้ทั้ง 3 ข้อเลยต่างหาก ทั้งเรื่องของการที่หมึกสามารถรับความเข้มแสงได้เหมือนกัน ซึ่งแสงสีเขียวก็เป็นแสงที่มีความเข้มที่ชัดเจนในมุมมองของหมึกด้วย หรือข้อสองมันก็ถูกส่วนหนึ่งในแง่ของการเฉลย และข้อสาม ชาวประมงชอบสีเขียวที่เรากะตั้งโจทย์มาเอาฮาเลย ก็มีคนอธิบายว่าอาจจะเป็นไปได้ เพราะประเทศอื่นเขาไม่ได้ใช้สีเขียวกัน คือการเฉลยคำตอบข้อที่ 2 ของเรามันมีเรื่องราวที่เราต้องการเล่า แต่มันน่าว้าวตรงที่แม้แต่เรื่องแค่นี้ในรายการ ยังมีคนเอาไปขยายต่อได้เป็นเรื่องเป็นราว แล้วน่าสนใจด้วย ซึ่งเราดีใจมากที่มีคนพูดต่อ แล้วพยายามหาเหตุผลมาช่วยอธิบาย ทำให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ขึ้นได้จริง ๆ”

คุณเอ๋ย: “ถ้าที่เราชอบเลยคือการทดลองทรายสั่นที่เอาขวดน้ำวางบนทราย แล้วสั่นถังทราย ขวดนั้นก็จมลง คือแบบ โห เราโหหลายโหมากว่ามันเกิดสิ่งนี้ได้จริงเหรอ เราสนุกมากตอนทดลองหลาย ๆ ครั้ง เอามือตัวเองลงไปลอง เอาของนู่นนี่ลงไปลอง แล้วพอยิ่งรู้ว่ามันเชื่อมโยงกับทรายดูดก็ยิ่งว้าวไปใหญ่ เพราะทั้งชีวิตก็ไม่เคยสงสัยเลยว่าทำไมทรายถึงดูดได้นะ ทำไมฉันไม่เคยสงสัยวะ ทำไมฉันไม่เคยถามว่าทรายมันดูดได้ยังไง”

คุณเจมส์: “คือข้อนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการเอาวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ในชีวิตประจำวันเลย มันเชื่อมโยงกับความสงสัยในชีวิตประจำวันของผู้คน จากจุดเริ่มต้นของคำถามที่มันเป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์ พอเราเอามาเล่ามันก็เชื่อมโยงไปสู่วิธีการแก้ปัญหาอันตรายในชีวิตจริงได้ด้วยว่าถ้าเราเจอทรายดูดจะทำยังไง มันจะช่วยชีวิตเราได้”

คุณเอ๋ย: “แล้วตอนนั้นมันมีหนังเรื่อง Dune เข้ามาอีก แล้วก็มีคนมาเชื่อมโยงว่านี่แหละคือสาเหตุที่หนอนทะเลทรายในเรื่องมันผุดขึ้นมาจากใต้ดิน เพราะมันวิ่งถึงใต้ดินแล้วพื้นดินมันสั่นอะไรอย่างนี้ คือมันประจวบเหมาะกันไปหมดเลย เราได้ทดลองมันก็สนุก พอได้ดูหนังมาแล้วรู้เรื่องราวมันก็ยิ่งอิน เราเป็นตัวแทนคนดูอย่างที่บอก เราไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ แต่เราเชื่อว่าอะไรที่เราว้าว คนดูก็จะว้าวไปกับมันได้เหมือนกัน”

AUTHOR

Content Creator

พนักงานมือใหม่ที่สนุกกับการหาเรื่องมาเล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบตายตัว มีแต่สิ่งที่ชอบแล้ว และกำลังหาสิ่งใหม่ที่ชอบต่อไป