กรุงเทพมหานคร, ฝุ่น PM 2.5, ฝุ่น, มลพิษในเมือง, เขตมลพิษต่ำ, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยเครือข่ายตัวแทนจากกระทรวงพลังงาน กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง, กรมควบคุมมลพิษ, สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สสวท.) ร่วมหารือแนวทางการป้องกันและแก้ไขฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือกับค่าฝุ่นที่เกินค่ามาตรฐานในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มีนาคม ของทุกปี 

ธีระพงษ์ วิมลจิตรานนท์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า จากการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นในปี 2568 ที่กำลังจะถึงนี้อาจดีขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเข้มข้นในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลให้สภาพอากาศดีขึ้นและปริมาณฝุ่นลดลงกว่าปี 2566 พร้อมเผยมาตรการและเป้าหมายในการลดค่าฝุ่นในแต่ละพื้นที่ของปี 2568 โดยแบ่งออกเป็น 3 เขต ได้แก่ เขตพื้นที่ป่า เขตพื้นที่การเกษตร และเขตพื้นที่เมือง ซึ่งระบุเป้าหมายไว้ ดังนี้

เขตพื้นที่ป่าจะมีการควบคุมพื้นที่เผาไหม้ โดยกำหนดให้ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนมีค่าฝุ่นลดลง 25% ภาคเหนือตอนล่าง 8 จังหวัดมีค่าฝุ่นลดลง 25% จังหวัดกาญจนบุรีมีค่าฝุ่นลดลง 25% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าฝุ่นลดลง 25% ขณะที่พื้นที่ทำการเกษตรกำหนดให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าฝุ่นลดลง 20% จำนวน 17 จังหวัด ภาคเหนือมีค่าฝุ่นลดลง 30% ภาคกลางมีค่าฝุ่นลดลง 10% และภาคตะวันตก ค่าฝุ่นลดลง 15% ในส่วนของเขตพื้นที่เมืองกำหนดให้ควบคุมการระบายฝุ่นในเมือง โดยโรงงานอุตสาหกรรมยานพาหนะให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมาย 100%

อีกทั้งในปีนี้กรุงเทพมหานครออก 7 มาตรการยกระดับเตรียมรับมือฝุ่น PM 2.5 ดังนี้

มาตรการที่ 1 มาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Low Emission Zone) ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้พื้นที่บังคับใช้ จำนวน 9 เขต และแนวถนนต่าง ๆ ผ่าน 13 เขต 31 แขวง ได้แก่ เขตบางซื่อ (วงศ์สว่าง), เขตจตุจักร (จตุจักร/ลาดยาว/จันทรเกษม/จอมพล), เขตห้วยขวาง (ห้วยขวาง/สามเสนนอก/บางกะปิ), เขตดินแดง (ดินแดง/รัชดาภิเษก), เขตราชเทวี (มักกะสัน), เขตวัฒนา (คลองเตยเหนือ), เขตคลองเตย (คลองเตย), เขตยานนาวา (ช่องนนทรี/บางโพงพาง), เขตบางคอแหลม (บางคอแหลม/บางโคล่), เขตธนบุรี (ดาวคะนอง/สำเหร่/บุคคโล/ตลาดพลู), เขตบางกอกใหญ่ (วัดท่าพระ), เขตบางกอกน้อย (บางขุนนนท์/อรุณอมรินทร์/บางขุนศรี/บ้านช่างหล่อ/ศิริราช) และเขตบางพลัด (บางพลัด/บางบำหรุ/บางอ้อ/บางยี่ขัน) หากค่าฝุ่นอยู่ในระดับอันตราย ทางกรุงเทพมหานครจะประกาศให้ทราบก่อนล่วงหน้า 3 วัน

มาตรการที่ 2 โครงการรถคันนี้ลดฝุ่น กรุงเทพมหานครจะเชิญชวนให้ประชาชนหันมาใช้บริการตรวจสภาพรถ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง และเปลี่ยนไส้กรองอากาศ โดยกำหนดระยะเวลาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 – มกราคม 2568

มาตรการที่ 3 Work from Home เมื่อค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต ต่อเนื่อง 2 วัน 

มาตรการที่ 4 การให้บริการยืมรถอัดฟาง เพื่อลดการเผาในภาคการเกษตร โดยปรับลดเงื่อนไขการยืมรถอัดฟางในส่วนของผู้ยืมและการยกเว้นค้ำประกัน 

มาตรการที่ 5 โครงการนักสืบฝุ่น โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อศึกษาแหล่งที่มาของฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ กทม.

มาตรการที่ 6 การจัดทำห้องปลอดฝุ่นและธงคุณภาพอากาศในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5

มาตรการที่ 7 การเปิดให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 8 แห่ง

ด้านชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครพยายามหาข้อกฎหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมฝุ่นและมลพิษทางอากาศ ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร สามารถใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรณีเกิดเหตุหรือใกล้จะเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ซึ่งทำให้สามารถกำจัดต้นต่อของปัญหาสาธารณภัยได้

CREATED BY

ไม่ชอบคนข้างล่าง