ตั้งแต่บนโลกมีสิ่งที่เรียกว่า ‘สื่อ’ แปลว่าโลกนี้มีหน้าต่างบานใหญ่ที่ช่วยเปิดมุมมองหลายด้านเข้ามาในชีวิต หรือแม้แต่เป็นการรับบางสิ่งบางอย่างเข้ามาในชีวิต ซึ่งอาจกลายเป็นสารตั้งต้นในการนิยามความเป็นไปของโลกทุกแง่มุม
บนเวทีเสวนา ‘สื่อสารอย่างไรให้เท่าเทียม: สิทธิของ LGBTQIAN+ กับการเปิดรับของสังคม‘ ช่วงที่ 2 ที่ได้ผู้ร่วมให้ความเห็นอย่าง ‘ณชเล บุญญาภิสมภาร’, ‘รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น’, ‘ดารัณ ฐิตะกวิน’ และ ‘ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์’ มาช่วยมองมุมมองและประสบการณ์อันหลากหลาย ที่สะท้อน ‘การสื่อสาร’ ระหว่างกันของสังคมไทยที่ยังเป็นปัญหาอยู่หลากหลายด้านด้วยกัน

ทางคุณณชเลที่เป็นนักรณรงค์สุขภาวะของกลุ่มคนข้ามเพศ ให้มุมมองถึงการสื่อสารของกลุ่มคนในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะสุข ซึ่งเป็นสายอาชีพที่กลุ่มความหลากหลายทางเพศส่วนใหญ่กลัวที่จะเข้าไปใช้บริการ จากทั้งบาดแผลที่ได้รับเกี่ยวกับการสอบถามเพศกำเนิด หรือประโยคพูดคุยระหว่างหมอ พยาบาล กับคนไข้ระหว่างใช้บริการ ที่สร้างความกระอักกระอ่วนจนไม่อยากไปใช้บริการอีก
สอดคล้องกับที่คุณดารัณเล่าจากประสบการณ์ที่เพื่อนของเธอพบเจอจากการตรวจภายใน ที่ต้องถูกสอบถามเรื่องที่ไม่พึงประสงค์ที่จะตอบอย่างสะดวกใจ จนก่อให้เกิดความกลัวในการเข้ารับบริการในระบบสาธารณสุขได้เช่นกัน
ฝั่งคุณธัญญ์วารินให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาการสื่อสาร และทำความเข้าใจกลุ่มเพศหลากหลายในเรื่องระบบการศึกษาไทย ที่ถือเป็นจุดหักเหแนวคิด หรือการใช้ชีวิตในช่วงเริ่มต้นของมนุษย์ ซึ่งมีปัญหาทั้งเรื่องของการนำเสนอภาพความหลากหลายทางเพศในแบบเรียนที่ล้าหลัง หรือปัญหาจาก Mindset ของบุคลากรในระบบการศึกษา ที่ส่งต่อการสื่อสารบางรูปแบบซึ่งอาจจะก่อให้เกิดบาดแผลให้กับผู้เรียนได้เช่นกัน

ในมุมกลับกันของชีวิตความเป็นจริงในการสื่อสารของผู้คนในสังคมที่สวีเดน ผ่านมุมมองการใช้ชีวิตของคุณรัศมีแข ที่นั่นมีมุมของการนิยามกลุ่มเพศหลากหลายแบบ Normalize จริงจังหลากหลายด้าน ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดคือเทศกาล Pride Month ของสวีเดน ที่ผู้คนที่ออกมาเดินบางคนก็มีในชุดยูนิฟอร์มของตัวเอง ทั้งตำรวจ ทหาร หมอ หรือตำแหน่งหน้าที่การงานอื่นๆ สะท้อนให้เห็นถึงการสื่อสารอย่างเป็นมนุษย์ ว่าไม่ว่าจะอาชีพอะไรก็มีกลุ่มเพศหลากหลายเป็นส่วนหนึ่ง เหมือนกับเพศกำเนิดชายและหญิงทั่วไปในสังคมนั่นเอง
อีกเรื่องที่ผูกโยงการสื่อสารภาพของกลุ่มเพศหลากหลายได้อย่างชัดเจนเลยคือ ‘สื่อมวลชน’ อย่างละคร หรือซีรีส์ ที่สอดแทรกตัวละครกลุ่มเพศหลากหลายเข้ามา แต่ก็ไม่ใช่ตัวตนที่กลุ่มคนเหล่านี้เป็นกันจริงๆ ทั้งการที่ตัวละครต้องแต่งตัวสีฉูดฉาด ต้องแสดงตัวตนจนเกินเบอร์ทุกครั้งเวลาเข้าซีน หรือการต้องเป็นคนตลกเสมอในระหว่างการพูดแต่ละครั้ง
รวมถึงการที่ตัวละครกลุ่มเพศหลากหลายมักเป็นตัวละครรองหรือสมทบ และมักจะไม่มีเส้นเรื่องของตัวเองชัดเจนเหมือนอย่างตัวละครเอกทั้งหลาย ทั้งหมดสะท้อน Steriotype ผ่าน Mindset ของผู้สร้างสรรค์ละคร ที่ทำต่อ ๆ กันมา และไม่ได้บิดมุมมองให้ทันสมัยเพียงพอ

โดยภาพรวมในงานสัมมนาครั้งนี้ ประเด็นหลักที่สังคมควรตระหนักมากที่สุดในการสื่อสารระหว่างกัน ที่ไม่ใช่เพียงแค่สื่อมวลชนเลย นั่นคือ ‘Mindset’ ที่ดีในการมองความหลากหลายทางเพศ เพราะไม่ว่าปัญหาใดๆ ก็ตามที่ยังไม่ถูกแก้ไขให้ดีเพียงพอ ต้นทางของมันคือความไม่เข้าใจอย่างรอบด้าน และการเปิดใจฟัง เปิดใจรับรู้ และเข้าใจกลุ่มเพศหลากหลายอย่างเพียงพอ
ซึ่งถ้าหากทุกคนเปิดใจให้กว้างขึ้น และเข้าใจความหลากหลายอย่างที่ควรจะเป็น ในอนาคตเราอาจจะไม่ต้องเชิดชูความหลากหลายทางเพศมากขนาดนี้ ไม่ต้องเดิน Pride Month กันทุกปี ไม่ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าซีรีส์วายเลยก็ได้ ถ้าทุกอย่างถูกทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมได้จริงๆ อย่างที่สังคมกำลังขับเคลื่อนสิ่งนี้กันอย่างแข็งขันตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา






