กล้า สมุทวณิช

“กล้า สมุทวณิช” และนักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ จบการศึกษาด้านกฎหมายและทำงานในองค์กรตุลาการ เป็นนักเขียน คอลัมนิสต์  เขาเริ่มเขียนเรื่องสั้นตั้งแต่สมัยมัธยม แต่เริ่มเขียนอย่างจริงจังในปี 2552 

  • รวมเรื่องสั้นเล่มแรก “ข้อความต่างด้าว” (2553) 
  • รวมเรื่องสั้น “หญิงเสาและเรื่องราวอื่น” (2557)

รางวัลที่ผ่านมา: 

  • รองชนะเลิศ นายอินทร์อะวอร์ด (2552) จากเรื่องสั้น “มนุษย์ตับหวาน”
  • ชนะเลิศ รางวัลเรื่องสั้นมติชน (2555) จากเรื่องสั้น “หญิงเสา”
  • รางวัลสุภาว์ เทวกุล (2556) จากเรื่องสั้น “งานศพ” 
  • รางวัลชมเชย หนังสือดีเด่น สพฐ. (2557) จากหนังสือ “หญิงเสาและเรื่องราวอื่น”
  • เข้ารอบสุดท้าย รางวัลซีไรต์ (2557)
  • ชนะเลิศ การประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ อวพช. (2562) จากเรื่อง “ยุติธรรมประดิษฐ์”
  • ชนะเลิศ โครงการ Writer Zeed 4 (2566) จากนวนิยายขนาดสั้น “ถ้าเราชนะตัวเอง (แล้วอย่างนี้ใครจะเป็นคนแพ้ล่ะ)”
  • Shortlist รางวัลซีไรต์ 2567 ประเภทนวนิยายเรื่อง “แมลงอายุสั้นที่เราไม่รู้จัก”

ถือเป็นโอกาสอันดีช่วงงานมหกรรมหนังสือฯ พอดี ทีม SUM UP จึงชวน “กล้า สมุทวณิช” มาพูดคุยเกี่ยวกับ Light Novel ลูกผสมของนวนิยายกับการ์ตูน ที่เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่นักอ่าน ซึ่งคุณกล้าเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ชื่นชอบและสนใจการเขียน Light Novel โดยมีอีกร่างหนึ่งในนาม “Kal Ajin” ผู้สร้างสรรค์ Light Novel สุดล้ำ อย่างเรื่อง “สอบเนติ์ได้ยังไม่ทันใส่ครุย ก็ดันตุยไปเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาที่ต่างโลก”

ถ้าคุณมีความตั้งใจและมีฝัน 
คุณจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้ไม่ว่าคุณจะสวมหมวกกี่ใบก็ตาม

คำกล่าวสั้น ๆ ง่าย  ๆ ที่เราใช้เปิดบทสัมภาษณ์ของ ‘กล้า สมุทวณิช’ ที่ให้เกียรติมานั่งพูดคุยกับเราในวันนี้

“ผมเป็นข้าราชการอยู่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ทำงานเกี่ยวกับนักวิชาการคดี มีหน้าที่สรุปคดีต่าง  ๆ หาข้อมูลทางวิชาการ ทำความเห็นเสนอตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ งานราชการที่ลงในเอกสารราชการ นี่เป็นงานหลัก แต่ว่างานจริงที่ผมถือว่าเป็นงานจริง  ๆ ผมเป็นนักเขียนนิยายและเรื่องสั้น เป็นคอลัมนิสต์ให้กับมติชน สถาบันปรีดี พนมยงค์ ทุกวันนี้ผมสนใจงานเขียนประเภท Light Novel เพิ่มมากขึ้น และกำลังมีผลงานทอยอยออกมาเรื่อยๆ

กล้า สมุทวณิช

“สำหรับผมเรื่องความแตกต่างของอารมณ์ในการถ่ายทอดไม่ใช่อุปสรรคในการเขียนเลย ดีเสียอีกเพราะงานวิชาการเราต้องใช้ภาษาที่คอ่นข้างสละสลวย ผมเลยหยิบเทคนิคการเขียนตรงนั้นมามิกซ์กับการเล่าเรื่องในนิยายของผม อย่าง Light Novel เรื่อง “สอบเนติ์ได้ยังไม่ทันใส่ครุย ก็ดันตุยไปเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาที่ต่างโลก” ผมก็ใช้ความรู้ทางวิชาการในด้านกฎหมายใส่เข้าไปในเนื้อเรื่อง สอดแทรกสังคมการเมืองลงไป เอาเข้าจริง ๆ ถือว่าเป็นประโยชน์มากในงานเขียนตรงนี้กับหมวกอีกใบที่ผมสวมอยู่”

ก้าวแรกของ ‘กล้า’ กับ Light Novel

“น่าจะ 2-3 ปีมาแล้วครับ เริ่มอ่านในงานหนังสือ 3 ปี ก่อนหน้านี้ ปีนี้ 2567 ก็มาลองเขียนที่เป็นผลงานของตัวเอง”
“ผมมีเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเขาเป็นนักเขียน Light Novel ชื่อดัง แล้วเปิดสำนักพิมพ์เกี่ยวกับ Light Novel ด้วย ทำให้ผมได้รู้จักถึงการมีของสิ่งนี้อยู่ แต่ผมไม่ได้สนใจอ่าน จนกระทั่งมีอยู่วันหนึ่งเพื่อนได้แนะนำหนังสือเล่มหนึ่งให้อ่าน ซึ่งเป็น Light Novel ชื่อเรื่องว่า ‘เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ’ ของ StarLess Night หรือว่า คุณหฤษฎ์ มหาทน ซึ่งผมอ่านแล้วรู้สึก ‘เฮ้ย!!! เจ๋งดี’

กล้า สมุทวณิช

จริง  ๆ แล้ว ผมเริ่มจาก Light Novel ภาษาไทยของคนไทยเขียนก่อน แล้วค่อยไปอ่านของญี่ปุ่น เลยได้รู้ว่า ‘เฮ้ย!!! มันมีนิยายในรูปแบบนี้ด้วย’ ซึ่งสนุกแล้วสามารถสอดแทรกประเด็นที่ไม่ธรรมดาลงไปได้ด้วย ทำให้ผมรู้สึกว่า ‘เฮ้ย !!! นี่แหละคือความหวังใหม่ของการเขียน’ สำหรับตัวผม

กล้า สมุทวณิช

Light Novel คือ???

Light Novel เป็นลูกผสมของนวนิยายกับการ์ตูน เราอาจจะรู้จักการ์ตูนมังงะที่เป็นการ์ตูนญี่ปุ่น เป็นช่อง  ๆ แล้วต่อมามีนิยายรูปแบบหนึ่งซึ่งเขาจะใช้วิธีการเขียนนิยายที่ใช้ถ้อยคำให้ง่ายขึ้น คือถ้าเป็นภาษาญี่ปุ่นเขาจะมีการกำหนดว่าต้องใช้คันจิไม่เกินกี่คำ คันจิเป็นคำยาก  ๆ ในภาษาญี่ปุ่น เขาเลยถือว่า ‘โอเค’ ถ้าจะเขียนได้ต้องใช้เขียนตัวฮิรางานะ และ คาตากานะที่ง่าย  ๆ ดำเนินเรื่องได้บทสนทนา แล้วก็บทบรรยายแบบสั้นโดยไม่จำเป็นต้องพัฒนาอะไรให้มากมาย เพราะว่าใน Light Novel ไม่ค่อยจะมีภาพประกอบแต่จะเป็นภาพประกอบแนวการ์ตูนแทรกอยู่เรื่อย  ๆ ทำให้การอ่านและคนอ่านสามารถจินตนาการหน้าตาตัวละครหรือว่าฉากสำคัญต่าง  ๆ ได้ 

ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องพรรณนาอะไรมากมาย แค่บรรยายไปหรือว่าบางช่วงอาจจะเรียกว่าดำเนินเรื่องบทสนทนาอะไรก็ได้ แบบเป็นบทสนทนาต่อ ๆ กันเลย เพราะคนอ่านจะมีภาพอยู่แล้ว Light Novel บางเรื่องเป็นเรื่องที่เขียนมาจากการ์ตูนมังงะ หรือการ์ตูนแอนิเมชันที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว ยิ่งง่ายสำหรับคนอ่านเข้าไปใหญ่ในการจินตนาการ

กล้า สมุทวณิช

ลูกผสมระหว่างนิยายกับการ์ตูน คือ เสน่ห์ของ  Light Novel  

Light Novel เป็นนิยายที่สามารถเล่าเรื่องแบบการ์ตูนได้ เช่น ให้คนทำอะไรที่นิยายปกติทำไม่ค่อยได้ เราสามารถให้ตัวละครมีผมสีเขียวเฉย ๆ ไปเลย โดยไม่ต้องอธิบายอะไร เราสามารถที่จะสร้างเรื่องได้หลากหลายพอ  ๆ กับการเขียนการ์ตูนมังงะ แต่ว่าความที่มันเป็นนิยายทำให้เราสามารถสอดแทรกข้อมูล ความรู้สึก หรือว่าความคิดต่าง  ๆ เข้าไปได้เยอะกว่าการวาดการ์ตูนมังงะเป็นช่อง  ๆ เราสามารถเขียนถึงความคิดของตัวเอก การตัดสินใจต่าง ๆ ได้เยอะกว่า ทั้งในแง่มุมของการเขียนในกระดาษ และเราจะได้รู้จักตัวละครมากกว่าการเห็นแค่ภาพ 

ความแตกต่างระหว่าง Light Novel วรรณกรรม และ นิยาย

“ผมมองว่าไม่ถึงกับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงครับ”

ผมเป็นคนที่เขียนนิยายทั่วไปมาก่อน แล้วค่อยมาเขียน Light Novel ทักษะบางอย่างใช้ร่วมกันได้ เช่น การผูกเรื่อง การบรรยาย การใช้มุมมองในการเขียน Point of View แต่ว่าในการเขียนนิยายบางครั้งเราต้องจินตนาการเป็นภาพจริง แต่ในการเขียน Light Novel เราต้องจำไว้ว่าภาพในหัวของเรา ถ้าให้ดีควรจะเป็นภาพแบบการ์ตูน เราควรจะบรรยายให้เป็นเหมือนกับการ์ตูนมากกว่าที่จะบรรยายให้เป็นคนจริง ๆ ในส่วนของภาษา เราจะต้องเลือกใช้คำที่ง่ายเท่าที่จำเป็น ไม่เยิ่นเย้อ ไม่ต้องพรรณนาเหมือนกับคิ้วนางโก่งเหมือนคันศร ปากน้องนางนั้นแดงปานกุหลาบแล้วไซร้…คือไม่ต้องพรรณาให้เยิ่นเย้อ

กล้า สมุทวณิช

อิทธิพลของ Light Novel กับบริบทของสังคมและวัฒนธรรม

ถ้าในสังคมไทยอาจจะยังเห็นไม่ชัดนัก แต่ถ้าเป็นของญี่ปุ่นจะเห็นภาพชัดกว่า เพราะว่าระยะหลังแม้เราจะได้พบกับความพยายามที่จะปลูกฝังรากลึก หรือสร้างค่านิยมบางอย่างลงใน Light Novel เช่น ญี่ปุ่นช่วงหนึ่งมีปัญหาเรื่องการทำงานหนักแบบขูดรีด ทำแต่งานจนทำให้คนทำงานหนักเสียชีวิตคาที่ทำงานกันเยอะ รัฐบาลเขาพยายามที่จะลดปัญหาตรงนี้ด้วยการออกนโยบายอะไรมากมาย เช่น วันศุกร์ก่อนจะให้เลิกงานเร็วเพื่อไปสังสรรค์ได้ 

การเขียน Light Novel ในเวลานั้นจึงพูดถึงเรื่องโทษภัยของการทำงานหนัก หรือว่าโทษของบริษัทที่ใช้คนหนักเยี่ยงทาสที่เรียกว่า Black Company ให้เป็นผู้ร้ายของเรื่อง ทำคนตายจนต้องไปต่างโลก มี Light Novel ที่พยายามพูดถึงการทำงานแบบญี่ปุ่นแล้วเขาพยายามจะแก้ ขอยกตัวอย่างเรื่อง ‘ล่าสไลม์มา 300 ปี รู้ตัวอีกทีก็เลเวล MAX’  เป็นเรื่องของผู้หญิงชื่อว่า อาสึกะ ไอซาวะ ทำงานในออฟฟิศจนเสียชีวิต แล้วได้เกิดใหม่ในต่างโลกซึ่งเป็นโลกแฟนตาซีของแม่มด อาสึกะใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ไปเรื่อย  ๆ อย่างไม่มีอะไรทำก็ฆ่าสไลม์ไปเรื่อย ๆ เป็นเวลา 300 ปี จนกระทั่งเลเวลตัน กลายเป็นคนที่เก่งที่สุดในโลกนั้น ทำให้เขาสามารถสู้กับมังกรหรืออะไรก็ได้ 

เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า เขาทำงานหนักจนตาย เขาไม่อยากให้ใครทำอย่างนั้น มีมังกรตัวหนึ่งที่มาสู้กับเขาแล้วแพ้ เลยจะสร้างบ้านให้เขา สร้างบ้านทั้งวันทั้งคืน แม่มดอาสึกะบอกว่า ‘เฮ้ย !!! เธอไปพักได้แล้ว’ มังกรบอกว่า ‘ไม่เป็นไร ฉันยังไม่เหนื่อยหรอก’ แม่มดบอก ‘โลกมีทั้งกลางวันกลางคืนเพื่อให้มนุษย์ได้พักผ่อน เธอต้องไปพักผ่อนเหมือนกัน’ 

หรือการทำงานแบบญี่ปุ่นที่ว่าลูกน้องจะทำทุกอย่างแล้วก็เจ้านายมักจะชอบมาเอาหน้า ก็จะมีตอนหนึ่งที่มีชาวบ้านมาขอบคุณว่า ‘โอ้!!!  ท่านแม่มดได้กางบาเรียป้องกันไม่ให้พวกโจรเข้ามาบุกรุกหมู่บ้านเรา แม่มดบอก ‘ไม่หรอก เราช่วยกันกับน้องมังกรคนนี้’ น้องมังกรคนนี้บอกว่า ‘ไม่เห็นต้องเอ่ยชื่อฉันเลย ฉันก็ช่วยคุณเฉย ๆ’ แม่มดก็บอกว่า ‘ไม่ได้หรอก เราทำงานด้วยกันก็ต้องได้เครดิตด้วย’ 

จะเห็นว่านี่คือความพยายามใส่เนื้อหาเชิงสังคมลงไป เพื่อสร้างค่านิยมใหม่ กับอีกเรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจนมากใน Light Novel แม้กระทั่งการ์ตูนแอนิเมะหลัง  ๆ ของญี่ปุ่นก็จะมีเรื่องพวกนี้ คือในประเทศญี่ปุ่นจะอาศัยการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลัก นักเขียนจะผูกเรื่องใน Light Novel โดยมีการแทรกเรื่องการท่องเที่ยวลงไป คนอ่านดูก็รู้ว่าจงใจ เหมือนกับให้พระเอกนางเอกไปเดท หรือไปเที่ยวกันที่เมืองนั้น แต่ใส่รายละเอียดไปในระดับที่ว่าขับรถจะโตเกียวไปต้องขึ้นทางด่วนสายนี้นะแล้วก็ลงตรงนี้นะ เข้าไปแล้วก็ไปกินอาหารที่ร้านนี้ มีร้านเบเกอรี่ที่จุดนี้ เหมือนการ tie in ในซีรีส์ ในหนัง แต่นี่เป็นรูปแบบ  Light Novel ที่เป็นงานเขียน

ในส่วนของคนไทยยังไม่มีการเขียนลงไปให้เห็นชัด  ๆ นะครับ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะยังไม่มีรูปแบบตายตัว แต่ก็มีอยู่บ้างอย่างเรื่อง ‘เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ’ ก็ใส่ความคิดเกี่ยวกับโลกในยุคที่ปกครองกันโดยระบอบศักดินา คนไม่เท่ากัน แบ่งชนชั้นกัน แล้วชนชั้นถูก Fix ไปตั้งแต่การเกิด ถ้าคุณเกิดมาเป็นไพร่ คุณก็ต้องเป็นไพร่ โลกแบบนี้ไม่โอเคตรงไหน ซึ่งอ่านแล้วเห็นภาพ มันได้อารมณ์มาก

วัฒนธรรมของ Light Novel จะถูกกลืนไปกับวัฒนธรรมของมังงะและแอนิเมะด้วย ในการเก็บข้อมูลของสมาคมผู้จัดพิมพ์แห่งประเทศไทย หรือ PUBAT ในงานหนังสือ 2 ครั้งล่าสุด จะพบว่าหนังสือในกลุ่มนิยายวัยรุ่นซึ่งรวมถึง Light Novel มังงะ มียอดขายเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับหนังสือเเนวอื่น ๆ 

ส่วน Light Novel ของไทยทราบว่ามียอดพิมพ์แต่ไม่ค่อยเปิดเผยกันจริงจัง แต่ว่าก็มีหลายเล่มเปิดพรีออเดอร์แป๊บเดียวก็หมด ส่วนใหญ่ได้รับการตอบรับที่ดี เพราะว่ามีสำนักพิมพ์ของไทยที่แปลจากญี่ปุ่นหลายเรื่อง มี Light Novel ออกมาค่อนข้างหลากหลาย แสดงให้เห็นว่าตลาดเติบโต มีการประกาศมากขึ้นว่าลิขสิทธิ์ Light Novel เรื่องไหนมาจากญี่ปุ่นบ้าง

เรื่องที่แปลเป็นภาษาไทยแล้วดังมาก  ๆ แล้วตอนนี้มีเป็นอนิเมะหลายซีซั่นด้วย เช่น ‘เกิดใหม่ทั้งทีก็กลายเป็นสไลม์ไปเสียแล้ว’ หรือว่าถ้าเป็นเรื่องแนว Love Comedy ก็มีหลายเรื่อง แต่ถ้าดังที่สุดน่าจะเป็น ‘คุณอาเรียโต๊ะข้าง ๆ พูดรัสเซียหวานใส่ซะหัวใจจะวาย’ 

เราที่กำลังสัมภาษณ์คุณกล้า ได้ยินได้ฟังชื่อเรื่อง Light Novel แต่ละเรื่องแล้วเกิดความน่าสนใจ เพราะสังเกตได้จากชื่อเรื่องแต่ละเรื่องที่คุณกล้าเล่าให้เราฟัง แทบจะไม่ใช่ชื่อเรื่องแล้ว แทบจะเป็นบทสนทนาหรือบทบรรยายสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเลยทีเดียว เราจึงถามคุณกล้าถึงการตั้งชื่อเรื่อง  Light Novel ว่ามีรูปแบบหรือเอกลักษณ์อย่างไร 

“ชื่อจะยาว พูดง่าย ๆ ว่าบางทีอ่านชื่อเรื่องเหมือนกับเป็นเรื่องย่ออะไรก็มีนะครับ”

เหมือนเป็นธรรมเนียมการตั้งชื่อไปแล้ว เพราะการตั้งชื่อสั้น  ๆ แบบนิยายให้กำกวม อาจจะเป็นไปได้ที่คนอ่านจะไม่รู้ว่าเล่มนี้เกี่ยวกับเรื่องอะไร ก็ขายไม่ออก เลยต้องตั้งชื่อให้ยาวเป็นเรื่องย่อเลย ก็ได้ผลด้วยนะ

Light Novel กับระบบการศึกษาและ Soft Power ของประเทศไทย

ต้องยอมรับว่าถ้าเทียบกับงานญี่ปุ่น งานไทยยังมีน้อยเรื่องมากที่จะสู้กับญี่ปุ่นได้ จำนวนเรื่องพิมพ์จากสำนักพิมพ์ก็ยังมีน้อย แต่ว่าก็ยังไปได้เรื่อย ๆ ณ เวลานี้มีบริษัทที่เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ Light Novel ในญี่ปุ่นมาเปิดโรงเรียนสอนเขียน Light Novel ในเมืองไทยด้วย ก็จะมีนักเรียนไทยที่จบจากโรงเรียนนี้ เขียน Light Novel แล้วได้รับการตีพิมพ์ ทุกวันนี้มีนักเขียนหน้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาก ล่าสุดก็มีเด็กอายุ 17 คนหนึ่งเขียน Light Novel ประกาศตีพิมพ์แล้วเหมือนกัน ก็ต้องบอกว่าสำหรับในประเทศไทย เรายังต้องเรียกว่ามีการเติบโตไปเรื่อย ๆ ดีกว่า 

ถ้าลองมองในแง่ของการศึกษา ผมคิดว่าทำให้เด็กรักการอ่านมากขึ้น ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่เขียน แต่ก็สามารถแทรกคำศัพท์ซึ่งเป็นการเพิ่มคลังคำให้เด็ก และการจะเอา Light Novel มาใช้เพื่อการศึกษาแบบมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาไปเลย จริง  ๆ ทำได้ แต่ว่ายังไม่มีใครทำ ผมคิดอยากจะทำอยู่เหมือนกัน เป็น Light Novel แบบให้ความรู้ แต่ถ้าถามว่าเอา ‘Light Novel ไปเป็นหนังสือนอกเวลาได้ไหม ?’ พูดตรง ๆ เลยว่า ‘ได้แน่นอน’ 

หลายเล่มที่เป็น Light Novel ของคนไทยสามารถเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาได้ แต่ปัญหาคือหนังสือนอกเวลาส่วนใหญ่จะจบในเล่ม แต่หนังสือ Light Novel ไม่จบในเล่มเดียว จะมีเล่มต่อๆไปเรื่อย ๆ เป็น 3 เล่ม 5 เล่ม 10 เล่มเหมือนของญี่ปุ่น ของไทยเราเยอะที่สุดจะอยู่ที่ประมาณ 5-6 เล่ม 
จริง ๆ Light Novel จะเป็นการผนวกรวมกันหนังสืออื่นเอายกตัวอย่างเรื่อง ‘เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ’ มีส่วนที่ทำเป็นการ์ตูนมังงะด้วย ซึ่งการตูนมังงะได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว เราได้ขายลิขสิทธิ์ตอนที่โครงการซอฟท์เพาเวอร์ของรัฐบาลไปจัด Road Show ที่ไต้หวัน Light Novel และมังงะเรื่อง ‘เกิดใหม่ครั้งนี้ฯ’ ถูกนำไปขายด้วย แล้วสามารถขายลิขสิทธิ์ไปได้ในประเทศทางตะวันออกกลางประเทศหนึ่ง แล้วขายให้อินเดียด้วย ฝรั่งเศสก็มาติดต่อ แต่ไม่รู้ว่าตกลงไปหรือยัง ซึ่ง Light Novel ถูกมองว่าเหมือนนิยายวายที่สนับสนุน Soft Power ด้านหนังสือด้วย

กล้า สมุทวณิช

Light Novel ที่เป็นแรงบันดาลใจของ ‘กล้า สมุทวณิช’

‘แผนกอบกู้ชีวิตวัยรุ่นของนายมืดมน ย้อนเวลาทั้งทีจะใช้ชีวิตที่ดีกับเธอให้ได้’ เรื่องนี้เป็นแนวโรแมนติก Love Comedy เป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่เขาใช้ชีวิตผิดพลาดตั้งแต่การเรียน และต้องจบชีวิตด้วยการไปทำงานในบริษัทที่เรียกว่า Back Company คือบริษัทที่เล่าไปว่าใช้งานจนตาย แต่พอได้กลับมาเกิดใหม่ เขาเป็นนักเรียนมัธยมปลายโดยที่เขามีความทรงจำของชาติที่แล้ว เขาเลยได้รู้ว่าผู้หญิงที่เขาแอบชอบในตอนมัธยมปลายสุดท้ายจะฆ่าตัวตายเหมือนกัน เพราะถูกบูลลี่ในที่ทำงาน

แผนกอบกู้ชีวิตวัยรุ่น

เขาเลยคิดว่าไหน  ๆ ได้กลับมาเกิดใหม่ ได้ย้อนเวลากลับมา เขาจะไม่กลับไปใช้ชีวิตอย่างเดิม เขาจะต้องพยายามป้องกันไม่ให้นางเอกของเขาต้องไปประสบชะตากรรมแบบนั้นด้วย ซึ่งเรื่องนี้น่ารักและสนุกมาก เป็นเรื่องที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมของญี่ปุ่น ตอนนี้ภาษาไทยพิมพ์เอามา 2 เล่ม 

เรื่องนี้ทำให้ผมได้ตระหนักว่า ‘ในความเป็นจริง เราย้อนเวลาไม่ได้หรอกนะ แต่ว่าเราสามารถทำปัจจุบันให้ดีได้’ เหมือนกับตอนนี้ ในอนาคต ผมอาจจะมีอนาคตที่ไม่น่าพอใจแต่อยู่ดี ๆ ผมได้ย้อนเวลากลับมาในตอนที่ตัวเองกำลังจะกำลังอายุเท่านี้อีกครั้งหนึ่ง กำลังจะออกหนังสือเล่มแรก ผมจะใช้ชีวิตให้ดีได้อย่างไร ผมจะใช้ชีวิตว่าได้โอกาสที่ 2 ได้อย่างไร เลยได้เรื่องนี้เป็นแนวคิดในการใช้ชีวิต

ถ้าในแง่ของความรัก การที่เรารักใครสักคน รักในที่ไม่ได้หมายถึง รักแบบหนุ่มสาว แต่เป็นแบบ รักแม่ รักน้องก็ได้ ให้เราแสดงออกซึ่งความรักไปเลย เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ทำให้เราเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ คุณค่าของการที่ว่าในตอนนี้เมื่อเราได้อยู่กับคนที่เรารักและเขารักเรา เราทำให้ถึงที่สุดเถอะ เราไม่รู้อนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ดีมาก ๆ เลยครับแนวคิดพวกนี้ 

การพัฒนาตัวละคร การสร้างคาแรกเตอร์ใน Light Novel ของ ‘กล้า สมุทวณิช’

ยกตัวอย่างเรื่องที่กำลังวางขายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติค ครั้งที่ 29 ชื่อว่าเรื่อง ‘ถ้าเราชนะตัวเอง (แล้วอย่างนี้ใครจะเป็นคนแพ้ล่ะ)’ เป็นเรื่องราวของนักศึกษาที่ใช้ชีวิตไปวัน  ๆ เข้าเรียนบ้าง ไม่เข้าเรียนบ้าง กินแต่อาหารขยะ เล่นเกมจนดึก ไปเรียนไม่ทัน ไม่ออกกำลังกาย ในที่สุดก็ล้มป่วย สิ้นเนื้อประดาตัว ชีวิตล้มเหลว แต่ว่าอยู่ดี ๆ เขาได้พบกับเพื่อนห้องตรงข้ามซึ่งเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเดียวกันที่เขาไม่เคยคุยด้วยมาก่อนเลย เข้ามาในชีวิตเขา แล้วมาเปลี่ยนแปลงชีวิตเขา
การพัฒนาตัวละครตัวนี้มาจากปัญหาของคนทั่วไป ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของนักศึกษา แต่เป็นปัญหาของคนทำงานอย่างเราด้วยที่เราอาจจะใช้เวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์ กินอาหารไม่ดี รู้ว่าควรออกกำลังกายก็ไม่ออก หาข้ออ้างต่าง ๆ นานา ซึ่งผมว่าปัญหาพวกนี้เป็นปัญหาร่วมกันของหลายคน เพียงแต่ว่าเราไม่มีใครที่จะมาบอกเราว่า ‘เฮ้ย!!! การใช้ชีวิตให้มันดีขึ้นเนี่ย มันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้นหรอก เพียงแต่มันต้องปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างเท่านั้นเอง’ แต่ที่สำคัญคือเราต้องมีความรักในตัวของเราเองด้วย นี่คือเทคนิคที่ใช้ในการพัฒนา

กล้า สมุทวณิช

เราพยายามหาว่าจุดไหนที่มันเป็น Pain Point ร่วมกันของคนส่วนมากได้ แล้วสร้างตัวละคร ถ้าเราไปดู Light Novel ของญี่ปุ่นจะลักษณะนี้ ตัวละครใน Light Novel ญี่ปุ่นมักจะเปิดมาด้วยการเป็นคนมืดมน เป็นคนที่ไม่มีเพื่อน ไม่มีสังคม หรือใช้ชีวิตไม่ค่อยดี ทำให้เกิดจุดหักเหอะไรบางอย่าง ทำให้เขาจะต้องไปใช้ชีวิตใหม่ ไปเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือเปลี่ยนแปลงคนรอบข้าง ทดลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำอะไรอย่างนี้ ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาร่วมกันของสังคม เขาเลยสร้างตัวละครนั้นขึ้นมา เพื่อคนอ่านให้รู้สึกใกล้ชิดด้วยครับ 

กฎของการเขียน คือ เขียนให้จบ

ถ้าอยากลองเขียน ให้ลองอ่านดูก่อน แล้วเขียนในแบบที่ตัวเองถนัด ในปัจจุบันเราสามารถเผยแพร่งานเขียนของเราในช่องทางออนไลน์ได้ ถ้าดังขึ้นมาอาจจะมีสำนักพิมพ์มาเห็น และได้รับการตีพิมพ์ กฎข้อแรกของการเขียน Light Novel หรืออะไรก็ตามนั้น คือ เขียนให้จบ บางคนไม่สามารถอดทน หรือเขียนให้จบได้ เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย ยิ่งลงในช่องทางออนไลน์ได้เป็นตอน  ๆ บางคนเขียนไปได้ไม่กี่ตอนเกิดไม่อยากจะเขียนแล้ว แบบนี้น่าเสียกาย

การเขียน Light Novel ก็เหมือนกับการเขียนนิยาย มีพล็อตก็เขียนได้ แต่ก็มี Light Novel หรืองานเขียนบางประเภท เริ่มต้นเล่าเรื่องจากตัวละครว่ามีลักษณะอย่างไร มีภูมิหลังอย่างไร เล่าเรื่องของตัวละครนั้นไปเลย ไม่ต้องมีพล็อต 

พล็อตก็จะงอกมาเรื่อย ๆ ถ้าเกิดคุณสามารถรู้จักตัวละครของคุณได้จริง คุณจะรู้ว่าถ้าเกิดสถานการณ์นี้ขึ้นมา ตัวละครของคุณจะตัดสินใจอย่างไร จะพูดอย่างไร แต่ว่าบางคนจะเขียน อยากเล่าเรื่องอะไร พยายามเล่ามาก่อนให้จบเป็นเส้นเรื่อง แล้วค่อยๆเขียนไปตามเส้นเรื่อง ซึ่งจะมีข้อดี เช่น เราไม่สามารถที่จะคงความสนใจในการเขียนนิยายให้ได้ตลอดเล่ม แต่จะมีบางฉากที่เราอยากเขียน เราอยากจะเขียนฉากรัก ฉากที่สู้กัน ถ้าเผื่อเรามีโครงเรื่องที่เป็นเส้นเรื่องบาง ๆ อยู่แล้ว เราจะรู้ว่าโอเคอย่างไร

Light Novel อีก 5 ปี ข้างหน้าในมุมมองของ ‘กล้า สมุทวณิช’ 

ถ้าเป็นเรื่องของญี่ปุ่น ผมคิดว่าน่าจะเติบโตในลักษณะนี้ไปเรื่อย ๆ ช่วงหลังการ์ตูนแอนิเมะมาจาก Light Novel เป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้แอนิเมะขายดีไปด้วย แต่ในไทยไม่อาจบูรณาการได้ขนาดนั้น เรายังไม่มีการสร้างอย่างจริงจัง แต่ก็ยังมีการเขียนอยู่ ถ้าเผื่อมีงาน Light Novel ที่ออกไปในท้องตลาด มีความแหวกแนว หรือความพิเศษอะไรมากขึ้น จะทำให้เรามีเรื่องที่หลากหลายขึ้น หรือว่ามีคนเข้ามาเขียนได้มากขึ้นนะ

Light Novel ในไทยต้องสู้ในเวทีเดียวกับ Light Novel ของญี่ปุ่นด้วย ซึ่งมีไม่กี่เรื่องที่เราจะสู้เขาได้แต่จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมเชื่ออย่างนั้น

แนะนำ Light Novel โดย ‘กล้า สมุทวณิช’

เล่มแรกที่ได้พูดไปแล้วนะครับ คือ ‘เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ’ ของ StarLess Night เรื่องนี้เป็นนิยายไทย เนื้อเรื่องเป็นเรื่องของเลขานักการเมืองคนหนึ่งที่ถูกฆ่าตายเพื่อป้ายความผิดให้ แล้วได้ไปเกิดใหม่ในต่างโลก แต่ว่าต่างโลกของเขาเป็นต่างโลกที่เป็นวัฒนธรรมเหมือนกับล้านนา แต่ว่าในเรื่องเป็นเรื่องแนวต่างโลก เพราะมีการใช้เวทมนตร์ มีมนุษย์หูสัตว์ เหมือนเรื่องแนวต่างโลกของญี่ปุ่น

‘เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ’ เป็นนิยาย Light Novel ที่สามารถสอดแทรกเรื่องความคิดเกี่ยวกับการเมือง เรื่องของประชาธิปไตย แม้กระทั่งจำลองการอภิวัฒน์ 2475 ไปในฉากหนึ่งด้วย ซึ่งเขาเขียนไว้ตรง ๆ ว่าวิธีคลี่คลายของเขาเป็นวิธีที่พระยาทรงสุรเดชใช้ตอนที่ทำอภิวัฒน์ 2475 ที่ใช้คนน้อยแต่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อยู่หมัด

กล้า สมุทวณิช

ผมคิดว่า ‘เฮ้ย!!! สนุกอ่ะ ยิ่งอ่านไปก็ยิ่งสนุก’ คือเรื่องสนุกด้วย ไม่ได้เป็นนิยายการเมืองขนาดนั้น เป็นนิยายแนวแฟนตาซีนี่แหละ มีพระเอก นางเอกน่ารัก มีฉากสวีท ทำอะไรหลุด ๆ โป๊ ๆ นิดหน่อย ตามประสาเหมือนกับนิยายญี่ปุ่น 

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งนะครับ จริง  ๆ เรื่องนี้จะก้ำกึ่งจะเรียกว่า Light Novel ชื่อเรื่องว่า ‘วรรณกรรมที่แท้จริงหน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ’ ซึ่งเรื่องนี้เขียนโดย ร เรือ ในมหาสมุทร แต่ว่าตัวจริงของ ร เรือ ในมหาสมุทร คือ นามปากกาของ คุณจิดานันท์ เหลืองเพ็ญสมุทร ซึ่งเป็นนักเขียนรางวัลซีไรต์ และหนังสือเล่มนี้ได้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ในปีหนึ่งด้วย ที่จริงเป็น Light Novel แต่ว่ามีความเป็นนิยายสูง 

นิยายเรื่องนี้พูดถึงเรื่องของ AI จะเป็นไปได้ไหมที่ AI หรือคอมพิวเตอร์ จะสามารถเขียนงานวรรณกรรมที่เหนือกว่ามนุษย์ได้ แล้วตอนนั้นมนุษย์จะอยู่ที่ไหน คุณค่าของมนุษย์คืออะไร AI ไม่มีจิตใจ ไม่มีจิตวิญญาณ ไม่มีความรู้สึกจริงเหรอ เรื่องนี้ตั้งคำถามไว้ตั้งแต่ก่อนที่เราจะมี Chat GPT ทุกวันนี้เสียอีกครับ เรียกว่าเรื่องนี้ล้ำมาก ๆ 

เรื่องที่ได้แรงบันดาลใจจะมี 2 เรื่องนี้ที่เรารู้สึกว่าสามารถจะสร้างงานในระดับที่ทำงานได้ในระดับเดียวกับวรรณกรรมในรูปแบบ Light Novel ถ้าเราจะทำหรือว่าถ้าเรามือถึง

กล้า สมุทวณิช

ผลงานของ ‘กล้า สมุทวณิช’

ผมเขียน Light Novel อยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรก ‘สอบเนติ์ได้ยังไม่ทันใส่ครุย ก็ดันตุยไปเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาที่ต่างโลก’ เผยแพร่ในออนไลน์เท่านั้น  เป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งซึ่งสอบเนติบัณฑิตไทยได้ที่ 1 ได้เกียรตินิยมด้วย วันหนึ่งเขาถูกรถบรรทุกชนตายที่ถนนกาญจนาภิเษก แล้วเขาได้ไปเกิดใหม่ในต่างโลก โดยไปเกิดเป็นเสมียนรับใช้ในในบ้านของตระกูลผู้พิพากษาซึ่งตอนนั้นผู้พิพากษาของเมืองนั้นเสียชีวิตลงพอดี แต่ลูกสาวเขาซึ่งเป็นเพื่อนในวัยเด็กของตัวเองต้องไปขึ้นตำแหน่งผู้พิพากษาแทน ทำให้เขาได้อาศัยความรู้ทางกฎหมายของไทยที่เจริญกว่าของต่างโลกในการช่วยแก้ปัญหาให้กับคนที่เป็นผู้พิพากษา หรือเป็นเพื่อนในวัยเด็กของเขาครับ 

เรื่องนี้มีให้อ่านในอินเตอร์เน็ตเป็นตอนสั้น  ๆ ก็จะพูดถึงเรื่องของกฎหมายหมิ่นประมาทว่าถ้าในต่างโลกมีกฎหมายหมิ่นประมาท มีคนที่ไปฟ้องคนที่วิพากษ์วิจารณ์นายทุนแล้วเราจะตัดสินคดีกันอย่างไร

กล้า สมุทวณิช

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมในปีที่แล้ว ชื่อว่า WriterZeed ครั้งที่ 4 ประจำปี 2566 เป็นรางวัลที่ได้รับการสนับสนุนโดยกระทรวงวัฒนธรรม กรรมการ คือ อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง ผมเขียน Light Novel ส่งไปเป็นการออกแบบเรื่องอย่างประนีประนอมให้มีความเป็นนวนิยายมากสักหน่อย ผมส่งประกวดก็ได้รางวัลชนะเลิศ คือ เรื่อง ‘ถ้าเราชนะตัวเอง (แล้วอย่างนี้ใครจะเป็นคนแพ้ล่ะ)’ เมื่อได้รับรางวัลแล้ว ได้รับการเผยแพร่ในรูปแบบออนไลน์

กล้า สมุทวณิช

ในปีนี้ผมเลยเอาเรื่องเดียวกันมาเขียนใหม่ โดยใช้โครงเรื่องเดิม ตัวละครชุดเดิม แต่ว่าใส่มิติเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางอย่างของตัวละคร เปลี่ยนแปลงสถานที่สำคัญ โดยเฉพาะที่สำคัญอีกแบบหนึ่งซึ่งแตกต่างกันไปเลยโดยสิ้นเชิง รวมถึงความสัมพันธ์ของตัวละครด้วย

ส่วนอีกเล่ม คือ นวนิยายเรื่อง “แมลงอายุสั้นที่เราไม่รู้จัก” 8 Shortlist รางวัลซีไรต์ 2567 เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มที่เพิ่งหย่ากับภรรยาที่เป็นเพื่อนวัยเด็ก ลืมหนังสือเล่มหนึ่งไว้บนเครื่องบินขากลับ หญิงสาวคนหนึ่งเก็บหนังสือนั้นได้และเริ่มต้นอ่าน ไม่เลย ชีวิตพวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน เรื่องราวอันแตกกระจายดังเช่นความทรงจำที่ประกอบสร้างขึ้นมาเป็นตัวตนของเราในชีวิตของผู้อื่นและชีวิตของผู้อื่นที่มีบางส่วนเพาะสร้างขึ้นมาเป็นตัวเรา

กล้า สมุทวณิช

ความเห็นของกรรมการรอบคัดเลือกรางวัลซีไร้ต์ 2567

“แมลงอายุสั้นที่เราไม่รู้จัก” เล่าเรื่องการปรับตัวของหนุ่มสาวชนชั้นกลางที่ใช้ชีวิตแบบสุขนิยมท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างโกลาหล และความผิดเพี้ยนของสภาพการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศในปัจจุบัน ส่งผลกระทบให้ตัวละครเกิดความแปลกแยก โดดเดี่ยว ไร้ความสุข โหยหาความรักตลอดเวลาตัวละครมักใช้ชีวิตแบบปัจเจกนิยม พึ่งตนเอง ขาดความผูกพันทางสังคม หลีกหนีโลกของความจริงไปสู่โลกจินตนาการ

ผู้เขียนเลือกแนวสมจริง เขียนเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าหลากวิธีทั้งนวนิยายขนาดสั้น เรื่องสั้น นวนิยายคอลลาจและภาพประกอบ สร้างสีสันด้วยฉากและสถานที่จริง เลือกใช้สัญญะ บทเพลง หนังสือ และบทสวดมนต์ ขับเน้นให้สัมผัสความรู้สึกลึกล้ำของตัวละคร นอกจากนั้นยังใช้วิธีการเล่าเรื่องคู่ขนานสลับฉาก 2 เหตุการณ์ไปพร้อม ๆ กัน ยั่วล้อให้ผู้อ่านติดตาม และตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า”

รางวัลซีไร้ต์ ประจำปี 2567 จะมีการตัดสินผลงานในวันที่ 28 ตุลาคม 2567 นี้

สำหรับผู้อ่านที่สนใจอ่าน Light Novel ผลงานของผมสามารถไปอ่านฟรีกันได้นะครับ

ในส่วนของฉบับหนังสือเล่มกระดาษมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สนุกขึ้น และเพิ่มเนื้อหามากขึ้นซื้อกันได้ที่บูธสำนักพิมพ์พะโล้ O28 ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 ที่กำลังจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ – 20 ตุลาคมครับ

กล้า สมุทวณิช

AUTHOR

ทะเล จำปี ดนตรี ทราย และ ฉัน