ปัจจุบันวงการเพลงทั้งในไทยและต่างประเทศล้วนมีความก้าวหน้าและความไม่แน่นอน ศิลปินเก่าก็อาจจะหายไปตามกาลเวลา ศิลปินใหม่ก็เข้ามาแทนที่ และศิลปินยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องมีกรอบทางหน้าตาเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนในอดีต ขอแค่มีทักษะทางด้านดนตรีและเวลาที่เหมาะสม ก็ดังเป็นพลุแตกแล้ว แต่ในการแข่งขันในวงการนี้ย่อมมีการแจ้งเกิดและดับไป บางคนโด่งดังเป็นดาวค้างฟ้า บางคนดังเป็นช่วงเวลา หรือแม้กระทั่งบางคนที่ดังแค่เพลงเดียว จนถึงขนาดที่มีคำนิยามศิลปินกลุ่มนี้ว่า “One-Hit Wonder”
คำว่า One-Hit Wonder ใช้ระบุถึงศิลปินที่ตลอดทั้งอาชีพมีเพลงที่ดังติดตลาดและรู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมืองเพียงแค่เพลงเดียวเท่านั้น และไม่ว่าจะพยายามออกเพลงใหม่ที่ดีกว่า เจ๋งกว่า หรือโดดเด่นกว่าแค่ไหนก็ตาม ก็จะมีเพียงแค่เพลงดังเพลงนั้นเป็นที่จดจำไปตลอดกาล และบางครั้งก็อาจจะหมายถึงศิลปินที่มีเพลงดังในบ้านเกิดของตนเองเพียงแค่เพลงเดียวเท่านั้น แต่อาจจะมีมากกว่าหนึ่งเพลงที่ไปดังในประเทศอื่น หรือซวยกว่านั้นคือเพลงดังของวงมีหลากหลายเพลง แต่ไม่ว่ายังไงเพลงเหล่านั้นก็ไม่สามารถก้าวผ่านความดังของเพลงที่ฮิตติดกระแสมากที่สุดของพวกเขาได้
แรกเริ่มเดิมทีแล้วคำว่า One-Hit Wonder นั้นไม่ได้ใช้กับวงการเพลงตั้งแต่แรก แต่ใช้กับวงการกีฬาเบสบอล โดยคำนี้ปรากฏครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ The Middletown (N.Y.) Daily Times Press ในพาดหัวข่าวของวันที่ 3 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1914 ว่า “One-Hit Wonder Fails To Hold Locals Down” โดยมีใจความระบุไว้ประมาณว่า “ทีม Middie ชนะทีม Newburgh ด้วยคะแนน 6 ต่อ 1 อย่างสบาย ถึงแม้ว่าคะแนนเดียวของพวกเขาจะได้จาก ‘Let-er-go’ Gallagher คนขว้างลูกครั้งเดียวของพวกเขา” (ออกเชิงเย้ยหยันว่า “ได้แค่นี้เหรอ”)
แต่ในวงการเพลง คำนี้ถูกเอามาใช้ครั้งแรกกับการทำนายอนาคตของวงการเพลงโดย Gord Atkinson ด้วยหัวข้อว่า “Gord Goes Out Of Limb In Predicting Trends” ในหน้าที่ 24 ของหนังสือพิมพ์ The Ottawa Citizen ฉบับวันที่ 4 มกราคม ปี ค.ศ. 1958 โดยมีใจความตอนหนึ่งที่พบเจอคำนี้ว่า “9—Several one-hit wonders of the old years, will vanish into shellac obscurity” (พวกดังเพลงเดียวในอดีตจะค่อย ๆ จางหายไปจากวงการ)
โดย Billboard ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าเพลงไหนเข้าข่ายว่าเป็น One-hit wonder ถึงสองครั้ง โดยครั้งแรกในหนังสือ The Billboard Book of One-Hit Wonders ว่าเพลงนั้นต้องเข้า Top 40 เพียงครั้งเดียวและไม่กลับมาขึ้นชาร์ตอีกเลย หรืออีกครั้งในนิตยสารของ Billboard เองก็ได้ระบุบไว้ว่าเพลงเหล่านั้นต้องเข้า TOP 40 ใน Billboard Hot 100 และหลังจากนั้นก็ไม่เคยกลับขึ้นมาอันดับสูงสุดของตนเองได้อีกเลย
โดยเพลงที่เข้าข่ายว่าเป็น One-hit wonder ในปัจจุบันถือว่าล้านตลาดเลย แต่จะยกตัวอย่างที่ดัง ๆ เลยก็คงมี “Somebody That I Used to Know” ของ Gotye ft. Kimbra, “Let Her Go” ของ Passenger, “Teenage Dirtbag” ของ Wheatus, “The Middle” ของ Jimmy Eats World เป็นต้น สำหรับตลาดเพลงสากล ส่วนตลาดเพลงไทยหากให้ยกตัวอย่างก็คงมี “จอมยุทธ์” ของ P2Warship, “แอบเหงา” ของ เสนาหอย, “2-1=0” ของ Peak, “คนขี้เหงา” ของ นีโน่ เมทนี, “เพ้อเจ้อ” ของ Alarm9, “จั๊กกิ้มกับต๊กโต” ของ ต๊กโต อาร์สยาม, “ห้านาทีบรรลุธรรม” ของ บิทเติ้ล หรือ “รถของเล่น” ของเสือโคร่ง เป็นต้น แล้วทุกท่านล่ะ คิดว่าเพลงไหนในไทยเข้าข่ายดังเพลงเดียว หรือ One-hit wonder บ้าง
อ้างอิง
- https://en.wikipedia.org/wiki/One-hit_wonder
- https://www.oed.com/dictionary/one-hit-wonder_n?tab=factsheet
- https://www.newspapers.com/article/the-ottawa-citizen-one-hit-wonders/59566951/
- https://listserv.linguistlist.org/pipermail/ads-l/2020-September/158142.html
- https://www.phrases.org.uk/meanings/one-hit-wonder.html
- https://www.billboard.com/pro/music-on-tiktok-more-one-hit-wonders/