ท่ามกลางสายธารกระแสสังคมออนไลน์ที่รวดเร็ว รุนแรง และตื้นเขิน มันเหมือนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่เราจะคอมเมนต์ด่า วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ หรือประนามใครก็ได้ โดยเฉพาะกับ ‘สื่อออนไลน์’ ที่เปรียบเสมือนทางผ่านสาธารณะ ที่ไม่ว่าใครก็สามารถทิ้งของขวัญหรือขยะลงไปเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะการถ่มถุยคนไร้ใบหน้าแบบสื่อออนไลน์มันง่ายกว่าการด่าคนมีรูปโปรไฟล์และชื่อจริงนามสกุลแบบผู้ใช้แอ็กเคานต์ส่วนตัว
ทว่าในสื่อทุกสื่อล้วนมี ‘มนุษย์’ ทำงานอยู่ในนั้น ซึ่งมนุษย์แต่ละคนล้วนมีความคิดและจิตใจของตนเอง ลองจินตนาการว่าถ้ามีคนเข้ามาคอมเมนต์ในเชิงลบใต้โพสต์ของคุณเพียงไม่กี่คนก็อาจสร้างความว้าวุ่นหรือซึมเศร้าไปได้ทั้งวัน แล้วการรับมือกับ Toxic Comments วันละหลายร้อยพันคนทุกวันทุกอาทิตย์ สภาพจิตใจของผู้รับถ้อยคำในแง่ลบเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร
ซึ่งการวางตัวเปรียบเสมือนหุ่นยนต์หรือระบบปฏิบัติการไร้หัวใจเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กรหรือแสดงความเป็นมืออาชีพในการทำงาน สื่อออนไลน์ที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น หากการวิพากษ์วิจารณ์หรือการถกเถียงในครั้งนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล แต่การคอมเมนต์ในเชิงที่ต่อให้มนุษย์ต่างดาวมองลงมาจากดวงจันทร์ยูโรปาก็รู้ว่าถ้อยคำที่พิมพ์แสดงความคิดเห็นลงไปเป็นการด่าสาดเสียเทเสียมากกว่าการตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่ข้อเท็จจริง สื่อออนไลน์ก็อาจต้องแสดงออกเพื่อปกป้องตัวเองและแสดงขอบเขตในการถกเถียงครั้งนั้น
ในกรณีของบทความ “‘กองขยะ-หนู-คนไม่มีบ้าน’ ‘เยาวราช’ จริงๆ ร้านอาหารย่านร้านอาหารอันดับ 1 ของโลก“ ที่เผยแพร่ทางสำนักข่าวออนไลน์ The Momentum ถูกนำไปโพสต์และแสดงความคิดเห็นในเชิงไม่เห็นด้วย ทว่ากลับมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งนำชื่อจริงนามสกุลพร้อมใบหน้าของผู้เขียนบทความดังกล่าวไปเเผยแพร่ซ้ำใต้โพสต์ผู้วิพากษ์วิจารณ์ อีกทั้งยังใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังและกล่าวหาผู้เขียน ทำให้ในเวลาต่อมาบรรณาธิการบริหาร The Momentum ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อบทความดังกล่าว และจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการกล่าวหาผู้เขียนบทความโดยไร้มูลความจริง และต่อมาผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนั้นทำการลบคอมเมนต์ที่กล่าวหานักเขียนออกไป
จะเห็นได้ว่าการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ทุกคนล้วนมีความคิดเห็นและการแสดงออกเป็นของตัวเอง แต่หากเมื่อใดเกิดการล้ำเส้นจนสร้างความเสียหายให้กับบุคคลอื่นก็อาจจะต้องได้รับการตักเตือนหรือแสดงขอบเขตในการแสดงความคิดเห็นนั้น
ทว่าในกรณีของ Podcast Creator อย่าง Salmon Podcast ที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในการตอบกลับคอมเมนต์จากรายการพอดแคสต์ล่าสุดที่มีเนื้อหาส่อเสียดไปถึงบุพการี มีเสียงแสดงความไม่เห็นด้วยค่อนข้างมาก อาจเป็นเพราะว่าผู้ที่เข้ามาคอมเมนต์ดูโน้มเอียงไปในเชิงวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าแสดงความเกลียดชัง แต่ก็สามารถตีความไปในเชิงลบได้เช่นกัน ทำให้มีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นด้วยในทำนองว่าการตอบกลับแบบนี้ดูไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันผู้คนบางส่วนมองว่าการตอบกลับในลักษณะนี้ถือเป็นการปกป้องตัวเองจาก Toxic Comments
ในเวลาต่อมา Director จาก Salmon Podcast ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และเผยถึงเจตนาที่ว่าทำไปเพียงเพราะต้องการปกป้องพนักงานจากคอมเมนต์ในเชิงลบและการแสดงความคิดเห็นเชิงส่อเสียดอันไม่นำไปสู่การพัฒนาและประโยชน์เท่านั้น ซึ่งทางทีมผู้ผลิตคอนเทนต์รู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและจะนำคำติชมทั้งหมดไปปรับปรุง
อย่างไรก็ตามทุกคำพูดล้วนมีราคาที่ต้องจ่ายไม่ว่าคุณจะเป็นคนธรรมดาหรือสื่อออนไลน์ ทุกอย่างควรดำรงอยู่ในขอบเขตของเหตุและผลที่พอดี มากไปก็เหมือนล้ำเส้น น้อยไปก็เหมือนปล่อยให้เขาเข้ามาทำร้าย ดังนั้นการโต้ตอบระหว่างสื่อออนไลน์และผู้อ่านอาจต้องคำนึงถึงคำง่าย ๆ นั่นคือ ‘ใจเขาใจเรา’ สิ่งที่โลกออนไลน์กลืนกินพวกเราไปคือความเมตตาและเห็นต่อคนอื่นในฐานะเพื่อนมนุษย์ ซึ่งอย่าให้มันทำให้คุณหลงลืมสิ่งนี้