โอสถสภา / OSOTSPA

ในอดีต “โอสถสภา” กำเนิดเกิดขึ้นจากการเป็นร้านขายของที่มีการขายยา แต่เมื่อปี 2566 โอสถสภามีรายได้จากกลุ่มธุรกิจยาเพียงร้อยละ 2.2 (โดยรวมในรายได้จากกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ) เท่านั้น แต่มีรายได้หลักมาจากกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มถึงร้อยละ 81 และสิ่งที่เราจะพูดถึงวันนี้ ไม่ใช่เรื่องของที่มา แต่เป็นเรื่องของกลุ่มธุรกิจที่ถูกลืมตั้งแต่ก่อนที่โอสถสภาจะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์อย่างกลุ่ม “ค่ายเพลง”

เริ่มต้นด้วยทำค่ายเพลง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2539 โอสถสภาเคยมีค่ายเพลงที่ชื่อว่า “เออร์ซ่า เมเจอร์” โดยมีศิลปินเบอร์แรกคือ “เตอร์-ปริยะ วิมลโนช” ซึ่งเข้าวงการจากการเป็นแดนเซอร์ให้กับศิลปินน้องใหม่สุดฮิตในตอนนั้นอย่าง “อมิตา ทาทา ยัง” โดยที่เราก็ไม่มีข้อมูลว่าค่ายเพลงนี้อยู่ได้นานเท่าใด… มีข้อมูลแค่เพียงว่าเออร์ซ่า เมเจอร์เป็นค่ายเพลงเล็ก ๆ ที่ในตอนนั้นอาจไม่ได้มีช่องทางโปรโมตมากมาย แต่มีศิลปินในสังกัดเพียงแค่ 5 กลุ่ม บวกกับการผลิตเพลงประกอบละครเป็นระยะ ๆ

แยกฝ่ายการตลาด สู่เอเจนซี่โฆษณา

หากย้อนกลับไปในยุคที่บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างก็มี In-House Agency ในบริษัทตัวเอง โอสถสภาก็เล็งเห็นโอกาส และแยกฝ่ายการตลาดของบริษัทออกมาเพื่อก่อตั้งเป็น “สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง” ในปี 2524 เพื่อรองรับงานโฆษณาทั้งในเครือของตัวเอง และนอกเครือ โดยมีลูกค้ามากมาย เช่น ปตท., บุญรอดบริวเวอรี่ จนประสบความสำเร็จในการพัฒนางานด้านการสื่อสารการตลาดและโฆษณาเป็นอย่างมาก

ในยุคของสปา แอดเวอร์ไทซิ่งนั้นถือว่าเป็นเอเจนซี่ยุคแรก ๆ ที่บุกเบิกตั้งแต่ Music Marketing ในประเทศไทย ผ่านการทำในวาระครบรอบ 30 ปี โตโยต้า (ประเทศไทย) ในเพลง รักแล้วรักเลย ของ ใหม่ เจริญปุระ ที่กลายเป็นกระแสในตอนนั้น หรือการเลือกใช้ K-Idol เจ้าแรก ๆ ในไทยให้กับแบรนด์ 12Plus เช่น Kim Tae Hee, Siwon (สมาชิกวง Super Junior), Lee Min Ho แม้กระทั่งเป็นเอเจนซี่ที่เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังผ่านการทำงานร่วมกับ M-150 ตั้งแต่บุกเบิก ที่เลือกให้ เขาทราย แกแล็คซี่ มาเป็นพรีเซนเตอร์ จนมาถึงการใช้คำว่า “ไม่มีลิมิต ชีวิตเกินร้อย” ที่ทะลุกรอบการสื่อสารแบรนด์ได้อย่างตรงจุด

ย้อนดูบริษัทสื่อในเครือโอสถสภา

จากข้อมูลปี 2552 โอสถสภามีกลุ่มบริษัทที่อยู่ในกลุ่มบันเทิงถึง 6 บริษัท ได้แก่

  • ฟิวเจอร์ คอมมิวนิเคชั่นส์
  • สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง (หรือชื่อปัจจุบันคือ สปา – ฮาคูโฮโด) 
  • ฟอร์ไซท์ รีเสิร์ช (บริษัทวิจัยการตลาด)
  • ฟิวเจอร์ เอนเทอร์เทนเม้นท์
  • ฟิวเจอร์ พับบลิชชิ่ง (เจ้าของนิตยสาร “ผู้หญิงวันนี้”)
  • เออร์ซ่า เมเจอร์ (ดำเนินธุรกิจค่ายเพลง) 

แต่หลังจากนั้นเพียง 9 ปี โอสถสภาก็ทยอย “ล้างบาง” ด้วยการจำหน่ายหุ้นที่ตนเองถืออยู่ในบริษัทเหล่านี้ ไม่ก็ปิดบริษัทไปเลย เช่น เออร์ซ่า เมเจอร์ ที่เสร็จสิ้นการชำระบัญชีในปี 2553 หรือฟิวเจอร์ พับบลิชชิ่ง และ ฟิวเจอร์ เอนเทอร์เทนเม้นท์ ที่เสร็จสิ้นการชำระบัญชีในปี 2557 และในปี 2561 เพียงไม่กี่เดือนก่อนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โอสถสภาได้ทำการ “ล้างบาง” กลุ่มธุรกิจสื่อของตัวเองจนเกลี้ยง โดยการจำหน่ายกลุ่มธุรกิจนี้ให้แก่บุคคลอื่น

ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2561 (แบบ 56-1) ของโอสถสภาระบุไว้ว่า โอสถสภาได้ยกเลิกการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการทางด้านสื่อโฆษณา โดยการจำหน่ายเงินลงทุนทั้งหมดในกลุ่มบริษัท ฟิวเจอร์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมิวนิเคชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท อินเตอร์แอคทีฟ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ที่ถืออยู่ทั้งหมดให้กับบุคคลอื่น โดย “อินเตอร์แอคทีฟ คอมมิวนิเคชั่นส์” ซึ่งดำเนินธุรกิจในนาม FCB BANGKOK ได้ถูกจำหน่ายให้กับ YDM (Thailand) ดิจิทัลเอเจนซี่ 2 สัญชาติ ไทย – เกาหลีใต้ในปีนั้นเอง ส่วน “สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง” ในปี 2552 ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม HAKUHODO กลุ่มบริษัทเอเจนซี่จากประเทศญี่ปุ่น

เหตุผลในการจำหน่ายก็เพราะโอสถสภามองว่าธุรกิจเหล่านี้ “ไม่จำเป็น” สำหรับการดำเนินธุรกิจของโอสถสภาอีกต่อไป… อาจเรียกได้ว่าบริษัท 2 แห่งนี้เป็นบริษัทกลุ่มสุดท้ายในกลุ่มธุรกิจสื่อของโอสถสภา และเป็นการปิดม่านโอสถสภาในวงการสื่อไปแบบเงียบ ๆ…

อ้างอิง

AUTHOR

นักเขียนเล่นผู้สนใจเรื่องของการตลาด การกิน คอสเพลย์ เกมโชว์ และสื่อ ชื่นชอบการออกไปทำงานนอกบ้าน และรักคุณนักเก็ตเป็นที่สุด