สิ้นสุดการรอคอยสำหรับแฟนเพลงวง Twenty One Pilots ที่ไม่นานมานี้ได้ปล่อยซิงเกิลล่าสุดอย่าง Overcompensate ซึ่งเป็นเพลงแรกจากอัลบั้ม Clancy ที่ยังคงคอนเซปต์การเล่าเรื่องในเชิงอุปมาอุปไมยเกี่ยวกับการจัดการและตระหนักรู้ในตนเองของนักร้องนำ ไทเลอร์ โจเซฟ (Tyler Joseph) และคู่หูมือกลอง จอช ดัน (Josh Dun) ผ่านการสร้างจักรวาลเรื่องเล่าตามที่ปรากฏในแต่ละ MV ของอัลบั้ม Trench ที่ปล่อยออกมาในปี 2018 พูดถึงลัทธิ การควบคุม และการหลบหนี ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้สะท้อนภาพความคิดของนักร้องนำอย่างไทเลอร์ และแน่นอนว่าในเพลง Overcompensate นี้ก็ยังคงบอกเล่าการเดินทางตามความคิดและการตระหนักรู้ในตนเองอยู่

ก่อนที่จะไปพูดคุยถึงเนื้อหาในจักรวาลเรื่องเล่าที่มีความสลับซับซ้อนของเพลง มาคุยกันเรื่องซาวด์ดีไซน์ที่น่าสนใจกันก่อน โดยปกติแล้วเพลงของ Twenty One Pilots จะเป็นแนว pop rock, alternative rock รวมถึงการร้องในสไตล์ rap นั่นทำให้ดนตรีที่ถูกถ่ายทอดออกมาค่อนข้างมีความหลากหลายและกำหนดแนวเพลงได้ยาก แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในเพลง Overcompensate นี้ คือการนำบีทและการแร็ปแบบ Old School มาสอดผสานเข้ากับซินธ์หรือเสียงดนตรีสังเคราะห์ที่มีรูปแบบเฉพาะตัว 

ที่สำคัญคือมีการแบ่งเส้นชัดเจนระหว่างท่อนคอรัส ท่อนฮุก และท่อนแร็ป ซึ่งนอกจากดนตรีจะแตกต่างกันแล้ว การสื่ออารมณ์และความหมายยังต่างกันด้วย มีการใช้เสียงเปียโนและซาวด์ที่ให้อารมณ์น่าฉงนและตื่นเต้นไปพร้อม ๆ กับเนื้อหาที่เปิดด้วยคำว่า “Welcome back to Trench” เสมือนการแนะนำให้รู้ว่าตอนนี้เพลงกำลังจะนำเราสู่โลกเสมือนที่ถูกสร้างขึ้น ตัดสลับกับท่อนแร็ปบนบีท Old School ที่โดยปกติแล้วการแร็ปสไตล์นี้จะหนักแน่นไปด้วยถ้อยคำและเนื้อหา ซึ่งก็เหมาะสมกับช่วงที่เพลงพยายามจะอธิบายและขยายความให้ผู้ฟังเห็นภาพมากขึ้นว่าตัวเพลงกำลังเล่าถึงอะไร และแน่นอนว่ามันยังคงสไตล์ของ Twenty One Pilots  เอาไว้อย่างสมบูรณ์แบบ

กลับมาสู่ช่วงเนื้อหาของเพลง Overcompensate จะเห็นได้ว่าช่วงแรกของเพลงมีการพูดถึงเนื้อหาในอัลบั้ม Trench ที่เคยปล่อยออกมาในปี 2018 ซึ่ง Trench เป็นโลกเสมือนที่ไทเลอร์สร้างขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงวิธีการในการจัดการกับความคิดของตนเอง โดยแคลนซี ตัวละครใน Trench เป็นตัวแทนของนักร้องนำอย่างไทเลอร์ที่พยายามช่วยผู้คน (อาจหมายถึงผู้ฟัง) จากบรรดาบาทหลวงจอมหลอกลวง เป็นตัวแทนของความวิตกกังวลภายในใจหรือความรู้สึกในแง่ลบของผู้คน ดั่งท่อนหนึ่งที่กล่าวว่า “I created this world to feel some control” หรือแปลว่าฉันสร้างโลกนี้ขึ้นมาเพื่อควบคุมตัวเอง พร้อมบอกว่าโลกที่สร้างขึ้นมานี้จะทุบทำลายเมื่อใดก็ได้ ก่อนที่เพลงจะเข้าสู่ท่อนแร็ป

ไทเลอร์ที่สวมหน้ากากตัวละครสมมุติที่ชื่อว่าแคลนซีเริ่มบรรยายถึงการจัดการทางความคิดของตัวเอง ในทำนองว่าแม้กระทั่งการทำงานของพวกเขาที่สร้างสรรค์บทเพลงจำนวนมากเพื่อสร้างปฏิกิริยาเชิงบวกให้แก่ผู้คน ในบางครั้งก็อาจจะเป็นความพยายามที่มากเกินไปจนไร้ประโยชน์ รวมถึงการพยายาม ‘เป็นคนดีเกินไป’ ในสังคมที่เรียกร้องอะไรหลายอย่างมากเกินไปก็มีแต่จะเจ็บปวด เหมือนกับการเป็นคนดีในโลกที่โหดร้าย ที่คล้ายกับการยืนอยู่บนคมมีดที่มีแต่จะกรีดลึกเข้าตัวเอง ดังนั้นจงก้าวข้ามกรอบคิดหรือตัวตนเก่า ๆ ของตนเอง กบฏต่อสิ่งที่เคยฉุดรั้งตัวเราไว้

อย่างไรก็ตามเพลงของ Twenty One Pilots ขึ้นชื่อเรื่องความยากในการตีความอยู่แล้ว โดยเฉพาะในตอนที่พวกเขาพยายามสร้างจักรวาลแห่งความคิดของตนเองมาบอกเล่าแก่คนฟัง ทว่าในความลุ่มลึกนี้ก็แฝงไปด้วยข้อคิดมากมาย