PB LGBT Community Center

เมื่อเราเติบโตขึ้นมาสู่ช่วงวัยทำงาน หลาย ๆ คนมักจะพูดว่าช่วงชีวิตมัธยมเป็นช่วงเวลาที่พวกเขามีความสุขมากที่สุด ซึ่งเราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แม้ว่าเวลาจะผ่านมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่โรงเรียนมัธยมปลายก็ยังเป็นสถานที่ที่มีความทรงจำดี ๆ ซุกซ่อนอยู่ตามที่ต่าง ๆ โรงเรียนของเราคือ โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนราว ๆ กว่า 3,000 คน ด้วยความใหญ่และความหนาแน่นของนักเรียนจำนวนมหาศาลทำให้โรงเรียนแห่งนี้เต็มไปด้วย ‘ความหลากหลาย’ โดยเฉพาะความหลากหลายทางเพศ

ย้อนกลับไปสักประมาณ 10 ปีที่แล้ว ในวันที่ชุมชน LGBTQ+ และความหลากหลายทางเพศยังไม่ได้เติบโตอย่างในปัจจุบัน อาจจะพูดได้ว่าโรงเรียนพิบูลเป็นโรงเรียนที่เปิดพื้นที่ให้กับความหลากหลายทางเพศมาตั้งแต่ต้น ทุกคนสามารถแสดงออกในสิ่งที่ทุกคนอยากจะเป็นได้ แต่ในสมัยนั้นไม่ได้มีชมรมหรือ Community อะไรอย่างเป็นทางการ แต่  Community จะเกิดจากที่ทุกคนมีเครือข่ายพูดคุยจนเกิดเป็น Community ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศขึ้นมา แต่ในปัจจุบันได้มีชมรมความหลากหลายทางเพศที่ชื่อว่า ‘ชมรมผู้มีความหลากหลายทางเพศ’ ซึ่งรุ่นนี้นับว่าเป็นรุ่นที่ 6 แล้ว นอกจากนี้ยังมี Community อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศอีกด้วย

ในช่วงบรรยากาศของเดือนไพรด์บวกกับความก้าวหน้าของความหลากหลายทางเพศทั้งทางสังคมและทางกฎหมายในไทย SUM UP จึงอยากชวนทุกคนมานั่งล้อมวงเพื่อพูดคุยกับกลุ่มคนที่สร้างและพยายามรักษา Community ของความหลากหลายทางเพศในสถานศึกษา ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง โดยประกอบไปด้วย ชูวิชญ์ ทองใบ (ออฟ) ผู้อำนวยการองค์การ Pink Monkey ความหลากหลายทางเพศประเทศไทย จังหวัดลพบุรีและที่ปรึกษาชมรม PB LGBT, ชฎาการ มณีรัตน์ (อีฟ) ประธานชมรม PB LGBT รุ่นที่ 6, พีรพัฒ อัศวินโกวิท (บัส) แกนนำสภาโรงเรียนพิบูลและสมาชิก PB LGBT 

PB LGBT Community Center
จากซ้ายไปขวา บัส, อีฟ, ออฟ

กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 แต่จุดเริ่มต้น Community ในสถานศึกษาเริ่มต้นขึ้นอย่างไร?

ออฟ : ก่อนหน้านี้องค์กร Pink Monkey ทำมาก่อน หลังจากนั้นเราก็เริ่มอยากจะทำในสถานศึกษาบ้างเพราะเท่าที่ดูมันยังไม่มีเลย เลยคิดว่าถ้าทำให้โรงเรียนประจำจังหวัดมีพื้นที่สำหรับความหลากหลายทางเพศน่าจะดี เลยลองทำที่โรงเรียนพิบูลนำร่องไปก่อน และเราก็ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารค่อนข้างดีเพราะเขาเปิดรับครับ จากนั้นก็ไปคุยกับอาจารย์แนะแนว พอคุยกันลงตัวเสร็จก็ตั้งชมรมขึ้นมา โดยจะมีองค์กร Pink Monkey เป็นพี่เลี้ยงครับ โรงเรียนก็จัดทำระเบียบออกมา ผู้อำนวยการก็เซ็นต์ลงนามแต่งตั้งเป็นชมรม PB LGBT ความหลากหลายทางเพศเลย นั่นเลยเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งเหตุผลหลัก ๆ เพราะเรามองว่าเราอยากจะสร้างให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ 

ซึ่งในปีนี้จะทำเพิ่มอีก 2 โรงเรียน ภายในจังหวัดลพบุรีนี่ล่ะ ซึ่งจะทำได้ต้องเป็นโรงเรียนที่ใหญ่จริง ๆ บวกกับผู้บริหารต้องเห็นชอบด้วย อันนี้เป็นสิ่งสำคัญครับก็เลยเกิดชมรมนี้ขึ้นมา ตอนวันที่เปิดชมรม ศึกษาธิการจังหวัด, รองผู้ว่าฯ ผู้ใหญ่เราชวนมาหมด ชวนให้มารู้ว่านี่เป็นโรงเรียนต้นแบบเพื่อความหลากหลายทางเพศนะ และเราก็จะส่งต่อกันแบบรุ่นต่อรุ่น รุ่นพี่ก็จะส่งรุ่นน้องไปร่วมงาน น้องอีฟก็เลยเป็นรุ่นประธานชมรมรุ่นที่ 6 ครับ เราก็พยายามร่วมงาน เวลาจะออกงานก็จะเอาน้อง ๆ ออกงาน โดยองค์กรจะเป็นคนหากิจกรรมต่าง ๆ ให้และก็ซัปพอร์ตงบประมาณของชมรมครับ

PB LGBT Community Center

จากสมาชิกชมรมสู่ประธานชมรม PB LGBT และแกนนำสภาโรงเรียน

อีฟ : เราเข้าชมรมมาช่วง ม.4 ตั้งใจเข้ามาเพื่อเก็บประสบการณ์ใส่พอร์ตต่าง ๆ แต่พอได้เข้ามาอยู่ในชมรมจริง ๆ เรามองว่ามันไม่ใช่แค่ชมรม ชมรมหนึ่ง มันเป็นเหมือนครอบครัวค่ะ ครอบครัวที่ให้คำปรึกษากัน รับฟังกัน เรารู้สึกว่าการที่เราเข้ามาอยู่ในชมรมนี้ เราได้คนที่รับฟังและช่วยแก้ปัญหา และในชมรมนี้นอกจากจะมีคนที่เป็น LGBTQ+ แล้ว ทุกคนรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ไม่ตัดสินกันค่ะ

บัส : ผมทำสองอย่าง คือแกนนำสภาโรงเรียนและก็เป็นสมาชิกชมรม PB LGBT การทำงานร่วมกันระหว่าง 2 สิ่งนี้นะครับ ไม่ว่าทางชมรม PB LGBT มีการทำงานอะไร ทางสภานักเรียนจะมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องของชมรมเพื่อเป็นการกระจายข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งที่ชมรมต้องการจะสื่อสาร เพราะว่าสภานักเรียนเป็นจุดศูนย์กลางและเป็นแกนเชื่อมต่อนักเรียนกับนักเรียนเข้าด้วยกัน ถ้าสมมุติเราได้เชื่อมต่อกันในเรื่องของเพศ หากกระจายและประชาสัมพันธ์เรื่องเพศให้มากขึ้น ผมคิดว่าจะทำให้นักเรียนมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศวิถีและความหลากหลายทางเพศมากขึ้นครับ ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่สภานักเรียนได้ทำกันมาแบบส่งไม้ต่อกันรุ่นต่อรุ่นครับ

สังคมมอมเมา เยาวชนในอดีต ‘บูลลี่’ เพศหลากหลาย

บัส : ต้องเล่าก่อนครับว่าโรงเรียนพิบูลวิทยาลัยเป็นโรงเรียนมัธยมปลาย ไม่มีมัธยมต้นเลย พอเราเข้ามาอยู่ก็จะอยู่ในระดับมัธยมปลายเลย เลยจะไม่ได้รับรู้ว่าก่อนมีชมรมสังคมในโรงเรียนเป็นอย่างไร แต่ผมขอเล่าในมุมของโรงเรียนเก่าผมนะครับ ก่อนจะย้ายมาโรงเรียนนี้ ซึ่งโรงเรียนเก่าผมไม่ได้อยู่ในตัวเมือง เด็กนักเรียนจะมีความคิด ความอ่าน ที่ไม่เหมือนกับคนเมือง อันนี้เป็นความจริงในสังคม ไม่ใช่เราอยากเหยียดหรือบิดเบือนอะไรนะครับ มันเลยทำให้นักเรียนมีความเหยียดกันเองบ้าง ไม่เข้าใจเรื่องเพศบ้าง ยกตัวอย่าง LGBT คืออะไร? นักเรียนโรงเรียนเก่าผมไม่มีใครรู้ L คือ Lesbian แล้ว Lesbian คืออะไร? เราไม่รู้ ผู้ชายคือผู้ชาย ผู้หญิงก็คือผู้หญิง และถ้าคุณเป็นผู้ชาย คุณจะต้องมีความ Masculine สมมุติถ้าคุณแสดงออกแบบ Feminine คุณคือตุ๊ด คุณคือกะเทย ความเข้าใจเด็กมันมีเท่านี้ และมันก็จะเป็นชุดความคิดที่เป็นบรรทัดฐาน ซึ่งหากใครทำผิดแปลกไปจากนี้ คุณคือ ‘ผิดเพศ’

ก่อนหน้านี้มันจะมีหลักสูตรหรือเนื้อหาเกี่ยวกับความผิดปกติทางเพศถือเป็นโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งผมไม่เห็นด้วยนะ ทำไมความหลากหลายทางเพศมันถึงมองเป็นเรื่องผิดปกติ ทั้ง ๆ ที่มันคือสิ่งที่เราอยากแสดงออก มันคืออัตลักษณ์ของเราแต่ไม่ใช่ความผิดปกติทางเพศ แต่มันก็มีนะครับในทางวิทยาศาสตร์ระบุไว้ว่า คุณเป็น Asexual แต่สุดท้ายแล้วมันจะถือว่าเป็นความผิดปกติมั้ย ผมก็ไม่สามารถบอกได้ร้อยเปอร์เซ็นว่ามันคือความผิดปกติ เพราะว่ามันคือตัวเรา  ผมว่ามันก็คือคน คือมนุษย์เหมือนกันนี่แหละครับ มันจะเป็นยังไงก็ได้ มันไม่มีอะไรที่จะสามารถมาบังคับ ว่าเราผิดปกติครับ 

อีฟ : ส่วนของเราตอนอยู่โรงเรียนเก่าจะมีการเหยียดเหมือนกัน แต่ไม่ได้เป็นการเหยียดแบบตรงไปตรงมา เป็นการเหยียดทางอ้อม เช่น การเล่นมุก และมันก็จะมีคำพูดที่เป็นคำบูลลี่หรือเหยียดเพศอย่างแน่นอนค่ะ พอเราได้มาเข้าโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย หนูมองว่าอาจจะเพราะโรงเรียนนี้มีชมรมอยู่แล้วด้วย ทำให้รู้สึกว่าการเหยียดหรือสิ่งที่เราเคยเจอแต่ก่อนมันลดน้อยลง หรือแทบจะไม่มีเลยค่ะ

PB LGBT Community Center

ว่าด้วยเรื่อง ‘หลักสูตรสุขศึกษา’ ในปัจจุบัน

อีฟ : สำหรับเรา ตอน ม.4 วิชาสุขศึกษามันมีการเรียนเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งมันจะออกมาในรูปแบบของ Gender Unicorn ที่จะบอกว่าเพศวิถีเป็นอย่างไร เรามีความคิด ความชอบอย่างไร การแสดงออกมาเป็นอย่างไร อีกส่วนหนึ่งในหลักสูตรยังใช้คำว่าเพศทางเลือกอยู่ค่ะ สิ่งนี้ควรจะเปลี่ยนได้แล้ว เพราะเราไม่ได้เป็นคนเลือก 

บัส : ใช่ครับ แบบที่เพื่อนพูดเลยว่า ในโรงเรียนพิบูลหรือหลักสูตรแกนกลางของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเรื่องเนื้อหาให้เกี่ยวกับความหลากหลายเรื่องเพศวิถีเข้ามาในหลักสูตรเพิ่มขึ้น เพื่อให้เด็กมีความเข้าใจเรื่องเพศมากขึ้น ผมรู้สึกว่าเนื้อหามันโอเคขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน แต่ก็ยังรู้สึกว่าบางอย่างมันอยู่ในจุดที่สามารถไปต่อให้มันสุดกว่านี้ได้อีก เพราะว่าบางครั้งตัวเนื้อหายังมีความกล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะสื่อออกไปให้นักเรียนเห็น ไม่รู้ว่ามันมีปัจจัยอะไรที่ทำให้รู้สึกว่าไม่สามารถเขียนได้สุดขนาดนั้น ประมาณนี้ครับ

ออฟ : หลักสูตรชุดเก่าต้องบอกว่าสมัยเรียนมีแค่ผู้หญิงกับผู้ชาย เพศสรีระที่มีแค่ผู้หญิงกับผู้ชาย สมันก่อนยังไม่มีคำว่า LGBT เกย์ เลสเบี้ยน ใด ๆ ไม่มีจริง ๆ มันมีแค่คำว่า กะเทยกับตุ๊ด มีแค่นี้เลย และสมัยก่อนคนที่เป็น LGBT จะเหมือนเก็บกด โรงเรียนมีแค่หญิงกับชาย ไม่สามารถแสดงออกได้ แสดงออกก็จะถูกกีดกัย โดนเกลียด ที่นี้มาในปัจจุบัน ถามว่าหลักสูตรเปลี่ยนไหม อย่างที่บอกเปลี่ยนครับ แต่บางโรงเรียนนำไปใช้หรือเปล่าก็เป็นปัญหาอีก เพราะบางโรงเรียนไม่ได้เอาไปใช้ ครูบางคนอาจจะไม่กล้าสอนด้วยซ้ำเรื่องความหลากหลายทางเพศว่ามี LGBTQ+ จริง ซึ่งมันไม่เห็นจริง ๆ ว่าโรงเรียนไหนบ้างที่สอนเรื่องเพศวิถี และถ้าโรงเรียนไหนสอนแล้วอยากสนับสนุน จัดตั้งเป็นชมรม เรารู้สึกว่าเขาสามารถทำได้เลยนะ เพราะจะเท่ากับว่าโรงเรียนนั้น ๆ เปิดโอกาสให้กับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ซึ่งอันนี้มันจะเห็นได้ชัดจากการสอนของเขา 

หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ พี่เองก็เข้ามาสอนวิชาแนะแนวในโรงเรียนพิบูล ถามน้อง ๆ ได้เลยพี่จะสอนตั้งแต่ ม.4 สอนเรื่องเพศวิถีศึกษา สอนเรื่องยาเสพติด สอนเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ละครั้งสอนไม่เหมือนกันเลย ซึ่งอันนี้แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนเปิดโอกาส มันต้องแบบนี้ครับ ถ้าโรงเรียนไหนเปิดโอกาส สามารถเอาบุคคลภายนอกที่มีความรู้ไปสอนได้เลย นอกเหนือจากหลักสูตรมันมีความรู้มากกว่านั้น เด็ก ๆ เยาวชนก็จะได้รู้มากขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่ความรู้ในตำรา

โรงเรียน = พื้นที่ปลอดภัยหรือยัง?

อีฟ : สำหรับเราเรามองว่าโรงเรียนยังไม่สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้ 100%  ความปลอดภัยด้ายจิตใจน่าจะอยู่ประมาณ 80% แต่ด้านร่างกายอยู่ที่ 40-50% เพราะโรงเรียนพิบูลอยู่จังหวัดลพบุรีซึ่งขึ้นชื่อเรื่องประชากรลิงมาก ก็มีบ้างที่ลิงเข้ามาขโมยข้าวของหรือทำร้ายร่างกายเรา

บัส : มุมมองเรื่องความปลอดภัยทางเพศโดยตรง ผมมองว่า อย่างที่อีฟบอกเลยครับ ไม่สามารถสร้างเป็น 100% ได้แน่นอน เพราะมันก็จะมีบางคน บางส่วน และก็มีเรื่องของ Gap Generation ที่ทำให้เรายังมีความคิดที่ต่างกันอยู่ ยังมองเรื่องความหลากหลายทางเพศคือสิ่งที่มันยังไม่ใช่ ซึ่งน่าจะเข้าใจนะครับว่าคำว่า ‘ไม่ใช่’ ของผมหมายถึงอะไร ซึ่งผมมองว่ามันยังปลอดภัยไม่ได้ 100% แต่ถ้าถามเรื่องความเข้าใจ ความรู้เกี่ยวกับทางเพศของนักเรียนมันมีมากแค่ไหน ผมมองว่าโรงเรียนพิบูลวิทยาลัยค่อนข้างที่จะเข้าใจและก็มีความหลากหลายทางเพศสูงมากนะครับ เพราะว่าผมมองไปทางไหน ทุกคนก็จะมีความรัก ความชอบและอัตลักษณ์เป็นของตัวเองที่แตกต่างกัน เช่น บางคนภายนอกเขาอาจจะเป็นผู้หญิง แต่บางครั้งเขาอาจจะไม่ได้ชอบผู้ชายก็ได้ หรือที่เรียกว่าเลสเบี้ยน เขาอาจจะไม่ได้ชอบเลสเบี้ยนก็ได้ หรือเขาอาจจะชอบทอม ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สามารถเห็นได้ง่ายในสังคมปัจจุบัน ผมมองว่าตรงนี้เรามีความปลอดภัยที่สูงขึ้น เพราะว่าเรามีการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ของเราที่มากขึ้นครับ

PB LGBT Community Center

มองว่าชมรม PB LGBT ช่วยเปิดพื้นที่ความหลากหลายอย่างไรบ้าง?

อีฟ : เรามองว่าการมีชมรม PB LGBT ทำให้น้อง ๆ ม.4 หลายคนที่เป็นชาว LGBTG+ หรือเพศหลากหลายอยากเข้ามาศึกษาต่อ เพราะอย่างประธานชมรมปีก่อน พี่เขาก็เลือกเรียนพิบูลวิทยาลัยด้วยเหตุผลนี้ค่ะ เรามองว่าการมีชมรมทำให้เกิดความสนใจมากขึ้นและเป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่าโรงเรียนนี้เปิดกว้างเรื่องเพศมากแล้วนะ ส่วนเรื่องที่จะผลักดันเพิ่มเติมเป็นเรื่อง Beauty Standard สำหรับเราเรามองว่ามันเป็นสิ่งที่คนทุกเพศต้องเจอและมันอาจจะทำให้กลายเป็นสถานที่ที่รู้สึกไม่ปลอดภัยได้เช่นกันค่ะ 

บัส : การมีชมรมนี้แสดงให้เห็นว่า สังคมเปิดกว้างมากขึ้น ดังนั้นนักเรียนจะตัดสินใจอยากเข้ามาเรียนที่นี่แสดงว่าก็ต้องมั่นใจว่าโรงเรียนนี้ สังคมนี้มันมีความปลอดภัย เรื่องสิทธิการแต่งกายอาจจะยังไม่ 100% แต่เราก็ผลักดันนโยบายนี้อยู่ ทางระเบียบกำลังลงประชาพิจารณ์ ถ้าสมมุติทุกคนมีความหลากหลาย และในความหลากหลายนั้นสามารถแต่งตัวตามเพศของตัวเองที่อยากจะแต่งได้ก็คงเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งตอนนี้กำลังผลักดันอยู่เพื่อให้สังคมของพิบูลวิทยาลัยเป็นสังคมที่ที่คนรู้สึกว่าปลอดภัยและเปิดกว้างสำหรับคนทุกเพศจริง ๆ ครับ

สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของความหลากหลายทางเพศผ่านสายตา ‘เยาวชน’ 

บัส : สำหรับผม ผมรู้สึกโอคอย่างมา เพราะต้องบอกก่อนว่าผมรู้ตัวนะว่าเป็น LGBTQ+ ผมเป็นเกย์มาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่แค่รู้สึกว่าบรรทัดฐานสังคมกำหนดให้ผมต้องเป็นผู้ชาย ผมเคยโดนนะครับมีคนมาบอกว่าทำไมต้องเป็นเกย์ เป็นตุ๊ด เป็นกะเทยด้วย เปลี่ยนซะ ถ้าไม่เปลี่ยนโดนเตะแน่ มันคือความรุนแรงและผมไม่โอเค พอสังคมมันเปิดกว้างมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้นว่าเพศหลากหลายมันไม่ใช่ความผิดอะไรร้ายแรง มันเป็นส่วนที่เขาต้องการแสดงออก ผมโอเคกับสิ่งนี้เป็นอย่างมากเพราะผมรู้สึกเป็นอิสระมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่รู้สึกอึดอัด ผมไม่กล้าที่จะแสดงออกมา ซึ่งหลาย ๆ คนเป็นแบบนั้นนะครับ ไม่ใช่แค่ผม ผมรู้สึกอิสระมากขึ้น รู้สึกได้แสดงออกถึงสิ่งที่มันอัดอั้นและสิ่งที่สังคมกดดันให้ผมเป็น

อีฟ : ในยุคปัจจุบันการยอมรับ LGBTQ+ กันมากขึ้นมันทำให้สังคมเราดีขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ถึงแม้จะยังมีบางกลุ่มไม่ยอมรับ แต่เราก็รู้ดีว่ามันมีกลุ่มคนที่พร้อมซัปพอร์ตเรา ไม่เห็นว่าเราต่างจากคนอื่น เรามองว่าสิ่งนี้แหละค่ะเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมเราดีขึ้นมาก ๆ

อยากฝากอะไรถึงสถานศึกษาอื่น ๆ ที่ยังไม่มีพื้นที่เพื่อความหลากหลายทางเพศ

ออฟ : ในมุมมองขอผมนะครับ อยากให้โรงเรียน, มหาวิทยาลัยมีชมรมผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารนะครับ อันนี้สำคัญเลย ผู้บริหาร บุคลากรโรงเรียนะต้องเห็นชอบ เปิดโอกาสให้น้อง ๆ ที่เป็นเยาวชนหรือนักศึกษามีชมรมมีพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้น และเดี๋ยวองค์กร ภาคสังคมจะเข้าไปซัปพอร์ตเอง แต่โรงเรียนต้องเปิดก่อน มหาวิทยาลัยต้องเปิดก่อน เปิดเรื่องพวกนี้ สมมุติเป็นไปได้ตั้งแต่ระดับมัธยมต้นถึงมัธยมปลาย ไปจนถึงมหาวิทยาลัย มันจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ไปหมดเลย อันนี้ที่จะฝากไว้ให้ผู้บริหาร ทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยนะครับ เปิดโอกาสให้ชมรมความหลากหลายทางเพศ ถ้าอยากรู้ มาดูตัวอย่างของชมรม PB LGBT สามารถมาศึกษาได้ที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จังหวัดลพบุรีครับ ยินดีที่จะเป็นโรงเรียนต้นแบบ

อีฟ : เราอยากให้สถานศึกษาอื่น ๆ เริ่มจากการรับรองพวกเราค่ะ ว่าเราไม่ได้ต่างจากคนอื่น การที่เราอยากจะจัดตั้งชมรมนี้ไม่ใช่เพียงแค่เราอยากจะตั้งขึ้นมาเฉย ๆ แต่เราอยากสร้างพื้นที่ให้เราได้มารวมตัวกัน ได้แสดงความคิดเห็นด้วยกันค่ะ

บัส : สุดท้ายนี้อยากจะทิ้ง Key Word ไว้นะครับว่า เปิดใจ เปิดรับ แล้วก็พร้อมที่จะโอบรับทุกคน เพราะว่าพวกเราคือมนุษย์ครับ  

PB LGBT Community Center