Perfectionism ยึดติดความสมบูรณ์แบบ

“ความสมบูรณ์แบบเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง” เราทุกคนคงเคยได้ยินประโยคนี้กันอยู่บ่อย ๆ แต่ในโลกความเป็นจริงหลายคนคงพอจะเห็นว่า ความทะเยอทะยานในการใช้ชีวิตอาจจะส่งผลให้คนเรามีลักษณะนิสัยที่ยึดติดอยู่กับความสมบูรณ์แบบตลอดเวลา และแน่นอนว่ามันมีผลกระทบตามกันมา ทั้งในด้านสุขภาพจิตหรือคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ

ในบทความของนักจิตวิทยาอย่าง ‘พอล ฮิววิตต์’ (Paul Hewitt) และ ‘กอร์เดน เฟลตต์’ (Gorden Flett) ที่ตีพิมพ์ในปี 1991 ได้แบ่งการยึดติดอยู่กับความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) ออกมาเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 

  1. การยึดติดกับความสมบูรณ์แบบในตนเอง ลักษณะก็คือ พวกเขาจะตั้งมาตรฐานกับตัวเองที่สูงเกินจริง และยึดมั่นกับมาตรฐานเหล่านั้น ทั้งยังมักจะโทษตัวเองและตำหนิตัวเองอย่างรุนแรงหากไปไม่ถึงมาตรฐานที่ตนตั้งเอาไว้ 
  2. การยึดติดความสมบูรณ์แบบจากผู้อื่น ซึ่งลักษณะก็จะคล้ายกับแบบแรก แต่พวกเขาจะโยนความคาดหวังที่สูงเกินจริงไปไว้ที่คนอื่นแทน นอกจากนี้ เขามักจะตำหนิหรือวิจารณ์ผู้อื่นเมื่ออีกฝ่ายไม่สามารถทำได้ตามที่เขาคาดหวังไว้
  3. การยึดติดกับความสมบูรณ์แบบที่เกิดจากแรงกดดันทางสังคม ลักษณะก็คือ พวกเขามักจะรู้สึกว่าตัวเองต้องแบกรับความคาดหวังของสังคมหรือคนรอบตัว และกลัวว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์หากไม่สามารถทำตามความคาดหวังนั้น ๆ ได้ 

ทั้งนี้ การมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้ออกมาดีที่สุดจะมีความแตกต่างกับคนที่ยึดติดในความสมบูรณ์แบบ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือ คนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจมักจะทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มที่ และแม้ผลลัพธ์จะออกมาไม่สมบูรณ์ 100% พวกเขาก็รู้สึกว่าถ้าได้ทำมันอย่างเต็มที่ก็เพียงพอแล้ว แต่สำหรับคนที่ยึดติดในความสมบูรณ์แบบไม่ได้มองแบบนั้น เขามองว่าพยายามอย่างเต็มที่ยังไม่พอ พวกเขาจะทำทุกอย่างให้ผลลัพธ์ออกมาสมบูรณ์ที่สุด แม้จะต้องแลกมาด้วยสุขภาพกายหรือสุขภาพใจก็ตาม

ทีนี้ หากถามว่าแค่ไหนถึงเรียกว่าเป็นคนยึดติดอยู่กับความสมบูรณ์แบบ คำตอบก็คือ หากคุณมีลักษณะนิสัยที่ชอบตั้งมาตรฐานกับทุก ๆ เรื่องสูงเกินความเป็นจริง และพอทำไม่ถึงมาตรฐานนั้นก็รับตัวเองไม่ได้ หรือชอบวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองอย่างรุนแรง กลัวความล้มเหลว มุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ไม่สนระหว่างทาง ทำงานอย่างหนักเพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังของตัวเองที่สูงลิ่ว รวมถึงเป็นคนผัดวันประกันพรุ่งเพราะมองว่าถ้าไม่สามารถทำให้สมบูรณ์แบบได้ตั้งแต่ต้นก็ขอผัดไปก่อน หากคุณมีสิ่งเหล่านี้ในตัวก็มีแนวโน้มว่าอาจจะเป็นคนที่ยึดติดอยู่กับความสมบูรณ์แบบจริง ๆ

ผลกระทบที่ตามมาก็คือ เกิดความรู้สึกไม่พอใจหรือผิดหวังในตนเอง คิดวน ๆ ซ้ำ ๆ ไปมาจนอาจจะทำให้ความสุขตรงหน้าเลือนรางไป หรือในแง่ของความสัมพันธ์ก็ส่งผลกระทบเช่นกัน กล่าวคือ การที่คุณอยากเป็นลูกที่สมบูรณ์แบบ เพื่อนที่สมบูรณ์แบบ คุณก็อาจจะปรับพฤติกรรมเพื่อให้มันเข้ากับบทบาทนั้น ๆ หรือในทางกลับกันคุณอาจจะมีความคาดหวังที่สูงมากกับคนรอบตัว และก็รู้สึกผิดหวังเมื่อมันไม่เป็นตามที่คาดหวังเอาไว้ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบกับเรื่องอื่น ๆ อย่าง การใช้เวลาทำงานให้เสร็จนานขึ้น รวมถึงส่งผลให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล และสามารถนำไปสู่โรคย้ำคิดย้ำทำ โรควิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้าได้

อย่างไรก็ดี คำพูดที่ว่า “ความสมบูรณ์แบบเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง” อาจจะเป็นเรื่องจริง และการหมกมุ่นอยู่กับความสมบูรณ์แบบอาจจะค่อย ๆ กัดกินหรือทำร้ายเราในแบบที่เราก็ไม่ทันรู้ตัวเช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่พอจะช่วยได้ก็คือ การปรับความคาดหวังใหม่ หรืออาจจะลองพูดคุยกับคนรอบตัวเพื่อให้พวกเขาช่วยย้ำกับคุณว่า ต่อให้คุณไม่สมบูรณ์แบบ พวกเขาก็จะยังรักคุณเหมือนเดิม นอกจากนี้การโอบรับความล้มเหลวของตนเองและไม่วิพากษ์วิจารณ์ตนเองมากจนเกินไปก็เป็นแนวทางที่ดี รวมถึงการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเมื่อคิดว่าจำเป็นก็น่าจะเป็นสิ่งที่พอช่วยได้บ้าง

อ้างอิง