ที่ผ่านมามีการตั้งคำถามมากมายต่อการนำเทคโนโลยี AI Generated เข้ามาใช้ร่วมกับงานศิลปะ ในทำนองว่าเราสามารถเรียกผลผลิตจากปัญญาประดิษฐ์เป็นศิลปะได้หรือไม่ เนื่องจากกลไกการทำงานของมันประมวลผลมาจากข้อมูลงานศิลปะชิ้นอื่น ขณะที่คนบางกลุ่มมองว่าสุดท้ายแล้วเทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือในการทำงานเท่านั้น เจ้าของความคิดที่ป้อนข้อมูลไปให้ AI ยังคงเป็นมนุษย์อยู่ดี ท่ามกลางเสียงเสียงวิพากษ์วิจารณ์นี้เต็มไปด้วยคำถามอันหาข้อสรุปไม่ได้ ทว่านักศิลปะก็ไม่ต่างจากนักวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นนักบุกเบิก นักสำรวจ นักตั้งคำถาม นี่จึงอาจเป็นหนึ่งหมุดหมายที่ทำให้ ‘PHOTOGRAPHY NEVER LIES’ นิทรรศการภาพถ่ายของกลุ่มศิลปินไทยและต่างประเทศที่ใช้ AI Image Generated เกิดขึ้น ภายใต้การตั้งคำถามต่อจิตใจและผัสสะขณะเสพชิ้นงานศิลปะที่ถูกสร้างโดยหุ่นยนต์นั้นแตกต่างจากงานที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์หรือไม่อย่างไร ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ที่แตกออกเป็นสองฝั่ง
PHOTOGRAPHY NEVER LIES เป็นนิทรรศการภาพถ่ายที่มีคอนเซปต์ง่าย ๆ คือการตั้งคำถามต่อ ‘การรับรู้’ สุนทรียะของมนุษย์ ผ่านการนำ AI เข้ามาประกอบสร้างภาพถ่าย โดยศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศ Boris Eldagsen, Leslie Shang Zhefeng, Ioanna Sakellaraki, Manit Sriwanichpoom, Maria Mavropoulou, Miti Ruangkritya, Napasraphee Apaiwong, Patrik Budenz and Birte Zellentin, Piyatat Hemmatat, Pumipat Usapratumban, Robert Zhao Renhui, Sai และ Tanapol Kaewpring ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นช่างภาพมากฝีมือที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการภาพถ่าย ต่างสไตล์และแขนงกันไป
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วย
มีผู้คนและช่างภาพบางส่วนแชร์โพสต์ผลงานของนิทรรศการ PHOTOGRAPHY NEVER LIES ลงในบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมเขียนข้อความแสดงคิดเห็นในทำนองว่า ตนไม่ยอมรับว่าสิ่งนี้คือนิทรรศการภาพถ่ายที่แท้จริง องค์ประกอบในภาพ 70 – 100 เปอร์เซ็นเกิดจากผลผลิตของปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งลดทอนมนต์สเน่ห์ของภาพถ่ายลงไป อีกทั้งยังเป็นการดูถูกอาชีพช่างภาพที่ต้องแบกกล้อง ออกเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ กว่าจะได้ภาพที่สวยงามมาสักภาพ ต้องใช้เวลาและทรัพยากรทางความคิดจำนวนมาก ขณะที่ AI ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็สามารถผลิตชิ้นงานออกมาได้ ผ่านการลอกเลียนผลงานของช่างภาพคนอื่น
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เห็นด้วย
ในทางกลับกันก็มีผู้คนและช่างภาพอีกส่วนหนึ่งที่ให้ความคิดเห็นในเชิงเห็นด้วย โดยพวกเขามองว่าการใช้ AI ไม่ต่างจากการใช้เครื่องมือในการทำงานอย่างหนึ่ง มันลดต้นทุน เวลา และเพิ่มความสวยงามทางองค์ประกอบศิลป์ในแบบที่มนุษย์อาจทำได้ยาก หากเราใช้มันให้เป็นก็ไม่ต่างจากการใช้เทคโนโลยีทุ่นแรงอื่น ๆ เพราะสุดท้ายแล้วเจ้าของความคิดและไอเดียที่ป้อนคำสั่งให้กับ AI ก็เป็นมนุษย์อยู่ดี หากแก่นสารที่พยายามจะสื่อไม่ได้ผิดเพี้ยนหรือบกพร่อง ชิ้นงานก็ยังคงทำงานของมันได้อย่างปกติ
ผัสสะจากความงามสังเคราะห์
ในส่วนของผู้ชมที่ไม่มีองค์ความรู้เรื่องกระบวนการการทำงานของช่างภาพสักเท่าไหร่ ก็ต้องยอมรับว่าสัมผัสแรกที่สัญชาตญาณตอบสนองต่องานภาพถ่ายจาก AI นั้นยังคงดำเนินไปตามปกติ เราสามารถบอกได้ว่าภาพไหนสวย ไม่สวย ชอบ ไม่ชอบ และมันกำลังพยายามสื่อสารอะไรกับเรา หากศิลปะคือการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่าการใช้ AI ในภาพไม่ได้บิดเบือนหรือลบเลือนแก่นสารที่งานกำลังจะสื่อเลยแม้แต่น้อย ทว่าหากจ้องมองเข้าไปในรายละเอียดของภาพ เราก็ยังพบกับความไม่สมบูรณ์แบบที่มองออกว่าสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความสามารถของมนุษย์ และเริ่มหวาดระแวงไปพร้อม ๆ กับการตั้งคำถามว่า ‘ภาพไหนคือภาพจริงที่ไม่ได้โกหก’ องค์ประกอบใดที่ถูกเติมแต่งเข้ามาทีหลัง ซึ่งมีทั้งที่แยกออกและแยกไม่ออก
จากการอนุมานเอาเอง นี่อาจเป็นแก่นที่ศิลปินพยายามจะสื่อก็ได้ ว่าสุดท้ายแล้วต่อให้ผลงานของ AI จะดูสวยงามตามองค์ประกอบศิลป์อย่างไร ก็ยังคงมีความแตกต่างจากภาพถ่ายฉบับจริงที่ถูกกดชัตเตอร์ด้วยมนุษย์ และในที่สุดเราก็เป็นหนึ่งในกลไกการทดลองของเหล่าศิลปินนักตั้งคำถามสร้างขึ้น การตอบสนองต่อภาพที่ปลอมและจริงคือมาตรวัดว่างานของมนุษย์ยังมีคุณค่าอยู่หรือไม่ และเราจำเป็นต้องหวาดกลัวมันไหมในอนาคต ซึ่งปฏิกิริยาของคนส่วนใหญ่ในวันนี้เปรียบเสมือนการตอบหลายคำถามระหว่างการทำงาน ศีลธรรม มนุษย์ และปัญญาประดิษฐ์














