คอลัมน์ Walk a Trip วันนี้ขอพาทุกคนเดินทางออกมาย่านชานเมืองกรุงเทพฯ กันสักหน่อย เพราะเราจะพาทุกคนไปสักการะและเยี่ยมชมหนึ่งใน ‘พระพิฆเนศ’ ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ ณ ศาลหลักเมืองพระประแดง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 

เริ่มแรกเรานั่งรถไฟฟ้า BTS มาลงที่สถานีวงเวียนใหญ่ และต่อรถแท็กซี่ในราคา 120 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาทีจากสถานีรถไฟฟ้า ไม่นานเราก็เดินทางมาถึงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองซึ่งห่างจากที่ว่าการอำเภอพระประแดงประมาณ 40 เมตร เราจะเห็นซุ้มประตูทางเข้าที่ตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมจีน สลักป้ายเด่นชัดว่า ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองพระประแดง

ใต้ซุ้มประตูจะมีตรอกเล็ก ๆ ที่สองข้างทางเป็นอาคารพาณิชย์เก่า ๆ บรรยากาศดูซบเซาแต่หากเดินเข้าไปอีกนิดก็จะเจอศาลเจ้าพ่อหลักเมืองที่ประดิษฐาน ‘พระพิฆเนศ’ ไว้ด้านหน้า โดยทุกคนสามารถเข้าไปสักการะองค์ท่านได้เลย

บริเวณด้านในจะมีตู้รับบริจาคที่เราสามารถใส่เงินร่วมทำบุญได้ตามศรัทธา จากนั้นหยิบธูปเทียนและพวงมาลัยนำมาสักการะพระพิฆเนศ อ่านคาถาและอธิษฐานตามความต้องการ จากนั้นนำธูปเทียนไปไว้บริเวณด้านหน้า และเอาพวงมาลัยไปวางไว้ที่ด้านหลัง ซึ่งระหว่างการไหว้จะมีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิที่ดูแลศาลเจจ้าพ่อหลักเมืองคอยอำนวยความสะดวกและบอกขั้นตอนการไหว้อย่างละเอียด ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าจะไหว้ผิดไหว้พลาดเลย

นอกจากองค์พระพิฆเนศแล้วยังมีพระพุทธรูปหลวงพ่อโสธร พระแม่ลักษมี เจ้าแม่กวนอิม รวมถึงไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน บอกได้เลยว่ามาที่เดียวครบจบทุกศาสนาความเชื่อ ใครใคร่บูชาสิ่งใดก็สักการะบูชาสิ่งนั้นตามที่ใจปรารถนา พร้อมมีบริการเครื่องบูชาและของไหว้

ยิ่งไปกว่านั้น เราได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลพบว่า พระพิฆเนศองค์ที่ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าเป็นหนึ่งในพระพิฆเนศที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ถูกนำมาไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งขณะนั้นอำเภอพระประแดงมีชื่อว่านครเขื่อนขันธ์ พระพิฆเนศองค์นี้จึงถือว่าอยู่คู่คนพระประแดงมาอย่างยาวนาน และเป็นหนึ่งในสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจที่สำคัญของคนที่นี่ อยู่มายาวนานแค่ไหนก็สังเกตได้จากอายุของกรรมการผู้ดูแลศาล เพราะท่านมีอายุถึง 80 ปีแล้วในปีนี้

อย่างไรก็ตามเราจะเห็นได้ว่าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองพระประแดงเปรียบเสมือนสถานที่ศักดิ์สิทธ์ที่คอยยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คนมาอย่างยาวนาน มีทั้งพุทธ พราหมณ์ ผี ที่สะท้อนถึงยุคสมัยและความหลากหลายทางความเชื่อที่สอดผสานอยู่กับผู้คนจนร้อยเรียงเป็นวัฒนธรรม