สืบเนื่องจากกรณีมีการเผยแพร่เรื่องราวของเภสัชกรหนุ่มที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองหลังถูกหัวหน้ากดดันในที่ทำงาน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ใช้โซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ถึงระบบการทำงานในสถานประกอบการที่เภสัชกรคนดังกล่าวทำอยู่ว่า ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของบุคลากรในที่ทำงาน อันเป็นเหตุให้พนักงานถูกกดดันจนถึงแก่ความตาย
ล่าสุดวันนี้ (31 ตุลาคม 2567) โรงพยาบาลพระรามเก้า แถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของบุคลากรจากกรณีดังกล่าว พร้อมชี้แจงถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า ทันทีที่ทางโรงพยาบาลทราบเรื่อง คณะผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างใกล้ชิด และทำการติดต่อไปยังครอบครัวของผู้เสียชีวิต เพื่อแสดงความเสียใจต่อการจากไปของบุคลากร พร้อมทั้งยืนยันถึงความรับผิดชอบและความมุ่งมั่นในการดำเนินการให้เป็นไปอย่างยุติธรรมทุกขั้นตอน
ในส่วนของประเด็นการออกแถลงการณ์ล่าช้า ทางโรงพยาบาลตอบคำถามว่า ด้วยความที่องค์กรจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนและคำนึงถึงจิตใจของครอบครัวผู้เสียชีวิต เพื่อให้แน่ใจว่าการแถลงในครั้งนี้จะสะท้อนถึงความเคารพและห่วงใยต่อผู้เสียชีวิตและครอบครัวอย่างแท้จริง จึงทำให้การออกมาชี้แจงในครั้งนี้เป็นไปด้วยความล่าช้า ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลยินดีที่จะดูแลและสนับสนุนครอบครัวผู้สูญเสียอย่างเต็มที่ รวมถึงการดูแลและให้กำลังใจบุคลากรทุกคนอย่างใกล้ชิด และเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติต่อกันด้วยความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น
ขณะที่พี่สาวของผู้เสียชีวิตออกมาโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียของน้องชายว่า ขอบคุณทุกคนที่ร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของน้องชาย และขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่านที่ให้ความสนใจกับประเด็นปัญหาในที่ทำงาน ทว่าครอบครัวอยากให้การจากไปของน้องชายเป็นไปด้วยความสงบ ที่ผ่านมาทางครอบครัวได้ทำการพูดคุยและปรึกษาหารือกับทางโรงพยาบาลที่น้องชายทำงานแล้ว ซึ่งทางโรงพยาบาลรับรู้และจะดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับปัญหาในที่ทำงาน พร้อมยืนยันว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างบุคคล อีกทั้งน้องชายมีภาวะซึมเศร้าอยู่แล้วจึงตัดสินใจแบบนั้น ครอบครัวจึงคาดหวังให้เรื่องนี้จบลงอย่างสวยงามและเคารพในการตัดสินใจของน้องชาย
ด้านผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียจำนวนมากยังคงแสดงความคิดเห็นต่อการปฏิบัติตนไม่เหมาะสมในที่ทำงาน รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในกรณีที่คล้ายกันกับที่ผู้เสียชีวิตเผชิญ พร้อมตั้งคำถามกับทัศนคติในการทำงานของผู้คนในแต่ละองค์กร ในทำนองว่ายังมีคนอีกมากมายที่พบเจอปัญหาเดียวกัน โดยเป็นความกดดันในรูปแบบของสังคมในที่ทำงาน ซึ่งองค์กรควรรับฟังและดำเนินการแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดเหตุน่าเศร้าอีกหรือไม่