แพทองธาร ชินวัตร, นายกฯ แพทองธาร, ร้อยเอ็ด, ปัญหายาเสพติด

วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2567) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งนา​ยภูมิ​ธรรม​ เวชย​ชัย​ รองนายก​รัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​กลาโหม,  นางสาวจิราพร​ สินธุ​ไพร​ รัฐมนตรี​ประจำ​สำนักนายก​รัฐมนตรี​ และนางมนพร​ เจริญ​ศรี​ รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวง​คมนาคม ได้เดินทางไปลงพื้นที่ ณ วัดบ้านเขวาทุ่ง ตำบลเขวาทุ่ง อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีพลตำรวจเอกกิตติ์รัฐ​ พันธุ์​เพ็ชร์​ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้รอให้การต้อนรับสำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ 

นางสาวแพทองธาร ได้เป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมทั้งกำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องทั่วประเทศ หลังจากนั้นจึงได้รับฟังการบรรยายรายงานผลดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดย พลตำรวจตรี​ทรงพลัง​ บริบาลประสิทธิ์​ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ดสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งตัวงบประมาณบางส่วนยังไม่เพียงพอ จึงต้องของบประมาณเพิ่มเติม จากนั้นจึงได้รับฟังการบูรณาการจากมณฑล​ทหารบกที่ 21 กองทัพภาคที่ 2​

นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า วันนี้เสียงแหบนิดหนึ่งเพราะยังไม่หายดี ตนรู้สึกดีใจและเป็นเกียรติที่ได้ดำเนินงานต่อจากนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งมีความจริงจังที่จะปราบปรามยาเสพติดทั้งประเทศ โดยมีธวัชบุรีโมเดล จังหวัดร้อยเอ็ด และมีท่าวังผาโมเดล จังหวัดน่าน ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญที่หากไม่เอาจริงจะดำเนินนโยบายอื่นได้ยาก และนโยบายยาเสพติดถือว่าเป็นวาระแห่งชาติดังที่รัฐบาลได้แถลงต่อสภา อีกทั้งจะมีการจัดตั้ง 10 จังหวัดนำร่องเพื่อยกระดับให้การทำงานเข้มข้นขึ้น ประกอบไปด้วย  ภาคเหนือ เชียงใหม่, ภาคกลาง อุทัยธานี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สกลนคร นครพนม ภาคตะวันออก ระยอง และภาคใต้ นครศรีธรรมราช ตรัง นราธิวาส 

นอกจากนี้นายกฯ ยังขอให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ทำเรื่องฐานข้อมูลให้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครรับรู้ข้อมูลร่วมกัน จะได้อัปเดตความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ ส่วนประเด็นเรื่องการปราบปราม นายกฯ ต้องการให้ตัดวงจรและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการยึดและอายัดทรัพย์ รวมถึงต้องการให้ตรวจเช็กข้าราชการด้วย ไม่ใช่ไม่ไว้ใจ แต่เป็นการสร้างความไว้ใจและเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่พี่น้องประชาชน 

ส่วนองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการบำบัด ประกอบไปด้วย ปปส. องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มหาดไทย (มท.) ตำรวจ ทหาร ที่จะคอยดูแลพี่น้องประชาชน รวมถึงอยากให้เร่งพิจารณาสถานพยาบาล, เปิดศูนย์บำบัด และการฝึกอาชีพให้ผู้บำบัด  

อย่างไรก็ดี นายกฯ ได้ย้ำว่า ปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องของทุกคนและทุกภาคส่วนที่จะช่วยทำให้หมดไป และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงกังวลในเรื่องนี้เช่นกัน ส่วนรัฐบาลก็จะจริงจังกับการแก้ไขปัญหาต่อไปด้วยการให้ยาเสพติดลดลง 90% และกลายเป็นพื้นที่สีขาวในทุก ๆ พื้นที่