ในช่วงแรกที่โควิด – 19 กำลังแพร่ระบาด เราต่างหวาดกลัวต่อตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน หลงเชื่อทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ ที่บอกว่าเราจะรอดได้อย่างไร กักขังตัวเองไว้ภายในบ้านไม่พบปะกับใคร ทำตามมาตรการของรัฐอย่างเคร่งครัด ทว่าในปีที่ 2 และ 3 ของการแพร่ระบาดเรากลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม แม้ว่าสถานการณ์ยังไม่ต่างจากเดิมมากนัก เราหวาดกลัวน้อยลง กล้าเสี่ยงมากขึ้น ชัดเจนต่อจุดยืนว่าจะต่อสู้กับโรคร้ายอย่างไร

ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรค หากแต่เกิดควบคู่ไปกับทุกเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตและสังคมโลกของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงคราม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภัยร้ายที่แฝงมากับโลกอินเตอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งคนแย่ ๆ ใกล้ตัว ซึ่งปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ‘Desensitation’ หรือ สภาวะความรู้สึกถดถอย

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในการอธิบายปรากฏการณ์นี้คือ ‘สงครามรัสเซีย – ยูเครน’ ที่ตอนแรกใครหลายคนทั่วโลกต่างให้ความสนใจและออกมาเรียกร้องให้เกิดการยุติสงคราม ทว่าตอนนี้รีแอคชันของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อสงครามดูเปลี่ยนไป ทุกคนดูใจเย็นลงหรือหลงลืม ทั้งที่สงครามยังไม่จบ แม้กระทั่ง ‘ภาวะโลกร้อน’ ที่สะกิดเตือนคุณทุกครั้งที่ออกจากบ้านในตอนกลางวัน แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ทำให้คุณหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกอะไรมากมาย เพราะทั้งหมดทั้งมวลเกิดขึ้นจากความเคยชิน

ดังที่กล่าวไปว่าไม่เพียงแต่สงครามหรือภัยพิบัติเท่านั้นที่สามารถเลือนหายไปจากความรู้สึกของผู้คนได้ แต่แม้กระทั่งเรื่องแย่ ๆ ระหว่างวันก็สามารถจางหายแล้วกลายเป็นความเคยชินได้ไม่ต่างกัน อาทิ ความเคยชินกับระบบขนส่งสาธารณะในประเทศที่ห่วยแตก เพราะมันเป็นเรื่องแย่ ๆ ที่ประสบพบเจอมาอย่างยาวนาน จนไม่มีความรู้สึกแปลกหรือตกใจแล้ว เฉกเช่นเดียวกันกับผู้คน เรามีโอกาสเคยชินกับคนแย่ ๆ ไม่ต่างจากสภานการณ์แย่ ๆ จนแทบไม่รู้ตัวว่ามันทำร้ายเราอย่างไรบ้าง และกลายเป็นบ่อเกิดแห่งปัญหาในอนาคต ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่นักจิตวิทยาหลายคนรู้ดีว่าความรู้สึกหวาดกลัวหรือกังวลใจสามารถถูกลดทอนลงไปได้เมื่อเวลาผ่านไป 

นอกจากภัยร้ายภายนอก ตัวตนภายในของเราก็เคยชินกับนิสัยเลวร้ายของตนเองเช่นกัน ซึ่งงานวิจัยยังบ่งชี้อีกว่าเราสามารถเคยชินกับพฤติกรรมเชิงลบของตนเองได้ โดยในการวิจัย อาสาสมัครต้องโกหกซ้ำ ๆ เพื่อให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์ แล้วพบว่าสมองในส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับอารมณ์ทำงานช้าลงเรื่อย ๆ ในทุกการโกหก จึงทำให้เราพออนุมานได้ว่า ไม่เพียงแต่เราจะเคยชินกับเหตุการณ์หรือภัยคุกคามภายนอกเท่านั้น แต่เรายังเคยชินกับพฤติกรรมแย่ ๆ ในการใช้ชีวิตของตนเองได้ด้วย

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ากระบวนการเหล่านี้เป็นหนึ่งในกลไกการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมของมนุษย์ แต่อย่างไรก็ตามในยุคที่โลกหมุนวนโดยใช้ความเพิกเฉยอย่างเดียวไม่ได้ ความเคยชินจึงเป็นเรื่องเลวร้าย เพราะมันทำให้เราตระหนักเห็นภัยร้ายได้ช้าลง แล้วกว่าจะรู้ตัวมันก็คืบคลานเข้ามาใกล้เราเกินกว่าจะแก้ไขได้ทัน ดังนั้นไม่เป็นไรหากคุณจะวิตกกังวลเกี่ยวกับมันน้อยลง แต่อย่าได้หลงลืมว่าเรื่องร้ายในวันนี้ ยังคงเป็นเรื่องร้ายอยู่ตราบที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและถูกเพิกเฉยไปเรื่อย ๆ

CREATED BY

ไม่ชอบคนข้างล่าง