เชื่อหรือไม่ว่า เทคโนโลยีที่เรากำลังใช้งานกันตอนนี้ อย่าง การส่ง SMS เป็นเทคโนโลยีที่เกิดมา 30 ปีกว่า ๆ แล้ว เรียกว่าเป็นเทคโนโลยีโบราณที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ มากมาย แต่วันนี้เรามีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแล้ว นั่นคือ Rich Communication Service (RCS) ในบทความนี้จะมาเล่าให้อ่านกันว่า มันดีกว่า SMS ที่เรากำลังใช้อย่างไร และในปัจจุบันประเทศไทยของเรามีการรองรับแล้วหรือยัง
SMS ทำงานอย่างไร ?
ก่อนจะไปรู้จักกับ Protocol ใหม่ อย่าง RCS อยากย้อนวัย พาทุกคนไปทำความรู้จักกับเทคโนโลยีที่เราใช้กันอยู่อย่าง SMS กันก่อน
SMS หรือ Short Message Service เกิดเป็นไอเดียขึ้นมาตั้งแต่ปี 1984 และถูกนำมาสร้างใช้งานจริง มีการส่ง SMS เป็นข้อความแรกในปี 1992 แน่นอนว่า ปลายทางยังไม่สามารถตอบกลับได้ เพราะโทรศัพท์ที่ใช้ยังเป็นโทรศัพท์เครื่องใหญ่ ๆ ที่ไม่มี Keyboard ด้วยซ้ำ จนกระทั่งในปีต่อมา Nokia เปิดตัวโทรศัพท์ที่สามารถส่งข้อความได้ และได้พัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ ให้เราสามารถส่ง SMS ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ
อาจจะสงสัยว่า แล้ว SMS มันทำงานอย่างไร มันส่งข้อความไปหาโทรศัพท์อีกเครื่องได้อย่างไร หากคุยกันผิว ๆ มันไม่มีอะไรซับซ้อนมาก เมื่อเรากดส่ง ข้อความจะถูกส่งไปที่เสารับสัญญาณโทรศัพท์ (Base Transceiver Station หรือ BTS) มันจะวิ่งผ่านส่วนต่าง ๆ ของระบบเครือข่ายโทรศัพท์เข้าไปที่ SMSC (Short Message Service Centre) คิดภาพง่าย ๆ ว่ามันเหมือนสถานที่คัดแยกพัสดุ คอยคัดแยกข้อความมที่ส่งเข้ามาว่า ปลายทางนั้นอยู่ในเครือข่ายของเราหรือไม่ หากอยู่ในเครือข่ายแล้วเครื่องเชื่อมต่อกับเครือข่ายหรือไม่ และถ้าเชื่อมต่ออยู่ปลายทางนั้นเชื่อมต่ออยู่กับเสาสัญญาณต้นไหน มันก็จะส่งข้อมูลไปที่ต้นนั้น และถึงปลายทางนั่นเอง
แต่จาก S ตัวแรกของ SMS นั่นคือ Short มันสามารถส่งข้อความได้เพียง 160 ตัวอักษรเท่านั้น นั่นคือเมื่อเราใช้ภาษาอังกฤษ แต่ถ้าเราส่งข้อความเป็นภาษาไทย จะเหลือเพียง 70 อักษรเท่านั้น เพราะวิธีการแปลงรหัสในภาษาไทยใช้ขนาดของข้อมูลมากกว่าภาษาอังกฤษ นั่นแปลว่า หาก ณ วันนั้น SMS ละ 3 บาท นั่นแปลว่า เราส่งอักษรละ 4 สตางค์กว่า ๆ โอ้วแพงมากจริง
ณ วันนั้นถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาก ๆ แล้ว ทำให้เราสามารถส่งข้อความหากันได้โดยไม่ต้องโทรเข้าไปที่ Operator อย่างการส่ง Pager มีผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า สมัยนั้นถ้าจะจีบใคร ไม่น่าจะอายสาว น่าจะอาย Operator มากกว่า
การมาถึงของ Internet Messaging และการเสื่อมความนิยมของ SMS
เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน เทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตบนเครือข่ายโทรศัพท์ได้รับการพัฒนาไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ GPRS จนไปถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง LTE และ 5G ทำให้โทรศัพท์ของเราสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ตลอดเวลา ซึ่ง ณ วันนั้นเอง โลกของเราก็มีวิธีการส่งข้อความผ่านอินเตอร์เน็ต
ทำให้มีคนคิดว่า งั้นทำไมเราจะต้องส่ง SMS ที่จำกัดตัวอักษร และเสียเงินเป็นรายข้อความด้วยละ เราก็ส่งผ่าน Internet มันซะเลยสิ เสียแค่ค่าต่ออินเตอร์เน็ตเท่านั้นเอง ทำให้เริ่มมีการนำ Instant Messaging (IM) ขยับเข้ามาใช้งานในโทรศัพท์กันมากขึ้น ยุคแรก ๆ พวก BBM (Blackberry Messager) ที่ตอนนั้นชอบถามกันว่า “เธอ ๆ ขอ PIN BB หน่อย !” (เด็กสมัยนี้จะรู้จักมั้ยเนี่ย) และได้รับการพัฒนาเติบโตมาเป็นพวก WhatsApp, Line และ iMessage ในปัจจุบัน
พอการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตราคาถูกลงเรื่อย ๆ การใช้ IM เริ่มมีความคุ้มค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ คนเริ่มมูฟออนเป็นเส้นตรงจากการใช้ SMS ไปใช้บริการ IM กันมากขึ้นเรื่อย ๆ จน ณ วันนี้เอง SMS เสื่อมความนิยมในการใช้งานสำหรับผู้ใช้ทั่วไปมากแล้ว เหลือเพียงแค่ฝั่งธุรกิจที่อาจจะใช้เป็นระบบ CRM สำหรับบริหารจัดการลูกค้า และการยืนยันตัวตนผ่าน OTP กันเท่านั้นแล้ว ถ้าคุณอ่านแล้วคิดว่า ไม่หรอก… ลองคิดขำ ๆ กันดูว่า เราส่ง SMS ที่ไม่ใช่ส่งไปธนาคารขอ Cash Back บัตรเครดิต ครั้งล่าสุดเมื่อไหร่
ปัญหาใหญ่ของ IM
เชื่อว่าตอนนี้ทุกคนน่าจะอื้ม ๆ ใช่แล้ว ตอนนี้เราแทบจะเลิกใช้ SMS สำหรับคุยกับเพื่อนกันแล้วไปใช้งานพวก IM สำหรับการพูดคุยกัน แต่ปัญหาสำคัญที่ IM ในปัจจุบันมี แต่ SMS ไม่มีคือ การคุยข้ามระบบกัน
ปัจจุบันนี้ หากเราจะส่งข้อความหาใครสักคนนึง เราจะต้องผูกกับ Platform ตัวหนึ่ง ๆ เช่น สมมติว่า เราจะส่งข้อความหาคุณแม่ผ่าน Line หากคุณแม่เราไม่มี Line ก็จะส่งไม่ได้ใช่ไหม แต่ลองคิดภาพถึง SMS หากเราจะส่ง SMS ไปหาคุณแม่ ไม่ว่าคุณแม่เราจะใช้เครือข่ายเดียวกับเบอร์เราหรือไม่ ยังไงมันก็จะส่งไปถึง
ปัญหานี้ ค่อนข้างถูกแก้ไขโดยกลไกการตลาดหมดแล้ว ด้วยการที่ Platform ไหนมีผู้ใช้น้อย สุดท้ายคนส่งหาเพื่อนและครอบครัวตัวเองไม่ได้ ก็จะตายจากไปเอง เหลือเพียงแค่ Platform ที่มีผู้ใช้จำนวนมากเท่านั้น อย่างในเอเชียเป็น Line ฝั่ง US จะเป็น Apple iMessage เป็นต้น
การถือกำเนิดของ RCS
จนเวลาผ่านไป ในปี 2008 โลกเราได้รู้จักกับเทคโนโลยีที่เรียกว่า RCS เป็นมาตรฐานกลางสำหรับส่งข้อความที่ดูแลโดย องค์กรกำกับดูแลมาตรฐานการสื่อสาร (GSM Association) แต่ตอนนั้น ยังไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร เรียกว่าไม่มีใครใช้เลยดีกว่า
จนกระทั่งในปี 2019 ที่ Google ลุกขึ้นมาบอกว่า ทุกคนเราจะเปลี่ยนผ่านจาก SMS มาใช้ RCS กันนะ ทำให้ในช่วง 2020 Google เปิดการรองรับ RCS บน Google Message ที่ผู้ใช้ Android สามารถดาวน์โหลดได้จาก Play Store โดยตรงได้เลย และตอนนั้น iPhone เขามี iMessage อยู่แล้ว ไม่มีประกาศว่าจะรองรับ RCS แต่อย่างใด
ปีก่อน มันมีประเด็นในโลกอินเตอร์เน็ต ที่ Google และผู้ให้บริการโทรศัพท์ในยุโรป ยื่นจดหมายให้กับ EU บอกว่า iMessage นั้นเข้าข่ายเป็น Platform ขนาดใหญ่ ตามกฏหมาย DMA (Digital Markets Act) จำเป็นต้องเปิดเชื่อมกับคู่แข่ง ยังไม่นับเรื่องการกดดันจากฝ่ายอื่น ๆ จนทำให้งาน WWDC’24 ที่ผ่านมา Apple ประกาศแล้วว่าจะเปิดให้รองรับ RCS บนอุปกรณ์ของ Apple ภายในสิ้นปี 2024 นี้ ต้องมารอดูกันเลยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
อาจจะสงสัยต่อว่า แล้ว RCS มันดีกว่า SMS ยังไง ทำไมเราถึงควรย้ายไปใช้กัน จริง ๆ แล้ว RCS ถูกออกแบบมาในยุคที่เราใช้กัน IM กันอย่างแพร่หลายแล้ว ทำให้มันมีความสามารถเหมือนกับที่ App อื่น ๆ มี อย่างการส่งแบบไม่จำกัดอักษรต่อข้อความ, การส่งรูปภาพความละเอียดสูง เสียง และไฟล์ได้, การส่งสติ๊กเกอร์, การส่ง Reaction ในข้อความ, การแชตแบบกลุ่ม และสำคัญมาก ๆ คือ การเข้ารหัสแบบ E2E ที่เข้ารหัสข้อความ ทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ไม่สามารถอ่านข้อความของเราได้เลย (SMS ส่งเป็น ข้อความเปล่า ๆ ดักกันได้ง่าย ๆ)
เรียกว่า ถ้า IM ทำอะไรได้ RCS ทำได้หมดทุกอย่าง และยังไม่ต้องมานั่งสับสนด้วยว่า ปลายทางจะใช้เครือข่ายอะไร เราก็แค่ส่งไป ระบบหลังบ้านจะจัดการให้เราเอง และในช่วงเวลาปัจจุบันที่อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านจาก SMS ไป RCS ใน Google Message มีความสามารถช่วย หากปลายทางไม่รองรับ RCS มันจะเปลี่ยนไปใช้การส่ง SMS เหมือนเดิมได้ ทำให้เราไม่ต้องกังวลว่า ปลายทางจะมี RCS หรือไม่ (ถ้าส่งผ่าน SMS อาจมีค่าบริการเพิ่มเติม)
อีกกลุ่มที่ได้รับผลดีจากการมี RCS เข้ามาคือ กลุ่มธุรกิจที่มีการส่งข้อความเพื่อทำ CRM หรือการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า ที่เราจะได้เห็นจากพวก SMS โฆษณาสินค้าหรือโปรโมชั่นใหม่ จากเดิมที่ส่งได้เพียงข้อความ และรูปภาพเล็ก ๆ เท่านั้น พอ RCS เข้ามา สามารถส่ง Content ที่มีความสวยงาม ดูดีมากกว่าเดิมมาก ๆ จนไปถึงระบบ CRM ที่จริงจังมากขึ้น อย่างพวกบัตรสะสมแต้ม และการเชื่อมต่อเข้ากับ Chatbot เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสอบถามและเข้าถึงบริการได้ง่ายกว่าเดิม
ประเทศไทยกับการรองรับ RCS
สำหรับในประเทศไทยของเรา เครือข่ายของผู้ให้บริการโทรศัพท์เจ้าใหญ่ ๆ อย่าง AIS และ True รองรับการใช้งาน RCS ได้แล้ว เรื่องที่น่าตกใจจากการไปหาข้อมูลมาเพื่อเขียนบทความนี้คือ ไปเจอว่า ประเทศไทยเรา รองรับการใช้ RCS ตั้งแต่ช่วงปี 2020 กันแล้ว ณ วันที่เขียนตอนนี้ สามารถใช้ได้ใน Android ผ่าน แอป Google Message เท่านั้น และสำหรับฝั่ง Apple ต้องรอออกอัพเดทมา โดย Apple บอกว่าจะรองรับภายในสิ้นปี 2024 นี้
RCS มาตรฐานการส่งข้อความแห่งอนาคต
เราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า RCS กำลังจะเข้ามาเป็นอนาคตสำหรับมาตรฐานการส่งข้อความ แทนที่มาตรฐานเดิมอายุกว่า 30 ปี อย่าง SMS กันแล้ว มันทำให้เราสามารถส่งข้อความหากันได้ง่าย และอิสระมากขึ้น ไม่จำกัด Platform ที่เราใช้งานเหมือนที่ SMS เป็น แต่สามารถส่งข้อความที่มีลูกเล่น มีความสามารถเหมือน IM ที่เราใช้งานกันในปัจจุบันได้ คิดว่า หากสิ้นปี 2024 นี้ Apple เปิดให้รองรับ RCS เมื่อไหร่ น่าจะสนุกมาก ๆ เพราะผู้ใช้จำนวนมากจะสามารถเข้าถึงความสามารถนี้ได้แล้ว