รถยนต์ไฟฟ้าจีน, รถยนต์ EV, รถยนต์ไฟฟ้า, Electric Vehicle, ภาวะโลกรวน

ยุคนี้ ใคร ๆ ก็พูดถึงการใช้รถยนต์ EV แทนการใช้รถยนต์สันดาป หรือรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นพลังงานกันทั้งนั้น และแน่นอนที่สุดเมื่อพูดถึงรถยนต์ EV ประเทศที่ถูกกล่าวขานว่าเป็นประเทศแถวหน้าในการผลิตรถ EV คงต้องยกให้ประเทศจีน เพราะมีข้อมูลจาก ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช หรือ ผู้กองมาร์ค รองประธานคณะกรรมาธิการ พ.ร.บ. อากาศสะอาดฯ ชี้ให้เห็นว่าบริษัทที่ผลิตรถ EV ในจีนและเป็นแบรนด์สัญชาติจีนมี 100 กว่าแบรนด์

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของรถ EV อย่างต่อเนื่อง หลังจากมีแรงสนับสนุนจากภาคเอกชน รวมถึงจากรัฐบาลจีนมาตั้งแต่ปี 2009 โดยรัฐบาลจีนทุ่มเงินไปกับเรื่องดังกล่าวหลักพันล้านหยวน แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนให้มีการผลิต EV ในประเทศจีน จนมีจำนวนรถยนต์ EV ที่ขายในประเทศในปี 2022 กว่า 6.8 ล้านคัน

แต่กระนั้นอนาคตของ EV จีนอาจสะดุดลงหรือไม่? เหตุมาจากสงครามการค้าระหว่าง สหรัฐอเมริกา-จีน ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศจีนที่ไม่โตเหมือนเก่า ประกอบกับการเกิดสภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก รวมถึงมีข้อมูลจากตะวันตกหลาย ๆ ประเทศที่ชี้ให้เห็นว่าการผลิตวัสดุที่ใช้ประกอบ EV โดยเฉพาะยางและเบรกมีสารอันตรายที่ส่งผลต่อสุขภาพรวมถึงทำให้ก่อมลภาวะซึ่งอาจส่งผลต่อสภาวะโลกเดือด

เรื่องดังกล่าวอาจส่งผลต่ออนาคตของตลาด EV ในจีนที่มีปัจจัยทั้งจากในประเทศและภายนอกเป็นตัวกำหนดอนาคต

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ

ถึงแม้จีนจะเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่ใช้ระบบเศรษฐกิจเปิด หรือ 1 ประเทศ 2 ระบบ จนสามารถนำพาประเทศจีนพลิกฟื้นมาทัดเทียมกับตะวันตกได้นับตั้งแต่แพ้สงครามฝิ่น แต่กระนั้นระเบียบโลกที่ตะวันตกเป็นผู้กำหนดกติกาก็ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อประเทศจีนอยู่ตลอดเวลา เพราะจีนเองยังต้องพึ่งพาตะวันตกในเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ว่าจะทำสงครามการค้าดุเดือดกันแค่ไหนก็คงไม่ปิดเกมด้วยการจ้องทำลายกันจนราบคาบ เพราะหากสหรัฐอเมริกา หรือจีน เป็นอะไรไปล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบกับทั้ง 2 ประเทศดังเช่นที่ อ.อาร์ม ตั้งนิรันดร ได้เคยกล่าวไว้

การเมือง

ปัจจุบันการเมืองของจีนและสหรัฐอเมริกาทวีความตึงเครียดมากขึ้น ทั้งจากปัญหาช่องแคบไต้หวัน ปัญหาเกาหลีเหนือ ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ตลอดจนสงครามรัสเซีย-ยูเครน ล้วนส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ

ไม่ว่าจะรวมกลุ่มการเมืองในการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างประเทศ หรือมีการกำหนดนโยบาย ตลอดจนสงครามตัวแทนเป็นการวัดพลังทางการเมืองที่ล้วนแล้วส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่าง สหรัฐอเมริกา ประเทศยุโรป กับ จีน

เศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันในแง่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาก็ดูเหมือนจะปิดประตูตีจีนสุด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำสงครามการค้า ออกนโยบายต่อต้านสินค้าที่มาจากจีน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ EV ที่เจอกำแพงภาษี หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สหรัฐอเมริกาออกนโยบายมาต่อต้านสินค้าจากจีน และพยายามดึงบริษัทสัญชาติอเมริกาที่มีฐานผลิตที่จีนให้กลับไปที่อเมริกา มีการออกกฎหมายไม่ให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้กับจีน เพราะสหรัฐอเมริกากังวลว่าหากประเทศจีนมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยย่อมส่งผลกระทบกับสหรัฐอเมริกาในแง่เศรษฐกิจและการเมือง

ขณะเดียวกันในประเทศจีนก็กำลังเผชิญปัญหาด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสภาวะอสังหาริมทรัพย์เกิดฟองสบู่แตก จนบริษัทยักษ์ใหญ่ในด้านนี้ต่างออกมาประกาศล้มละลาย เกิดการว่างงานของเด็กจบใหม่จำนวนเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงคนในประเทศใช้จ่ายกันน้อยลงเพราะเริ่มกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ทำให้ไม่มีเงินอัดฉีดที่ทำให้เศรษฐกิจโตอย่างที่เคยเป็นมา

สิ่งแวดล้อม

ขณะที่ทั่วโลกเองหันมาใส่ใจเรื่องอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ได้มีการออกกฎหมาย หรือใช้แนวทาง คาร์บอนเครดิตจูงใจไม่ให้ผลิตสินค้า หรือลงทุนในเรื่องที่ทำให้เกิดสภาวะโลกเดือด

ขณะที่ในยุโรปเองมี European Green Deal เป็นนโยบายหลักของสหภาพยุโรปที่มุ่งสู่การเป็นสังคมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 55% ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปี 1990

ออกกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EU Regulation on Deforestation-Free Products: EUDR) โดยกฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการทำลายป่า

กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เป็นมาตรการทางภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้าบางประเภทที่นำเข้าสหภาพยุโรป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าที่ผลิตจากประเทศที่มีมาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าสหภาพยุโรปเข้ามาแข่งขันในตลาดยุโรปอย่างไม่เป็นธรรม

ล่าสุดมีงานวิจัยออกมาโดย ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ ชี้ให้เห็นว่า แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะลดการปล่อยควันไอเสีย แต่ปัญหาฝุ่นเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่และส่งผลต่อสุขภาพ ตลอดจนสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งงานวิจัยจาก University of California, Riverside ยังได้ระบุว่า ฝุ่นจากยางและเบรกเป็นแหล่งมลพิษที่ไม่ได้รับการควบคุมและมีสารเคมีอันตรายมากกว่าที่คาดคิด ขณะที่ CNN รายงานว่า ฝุ่นจากยางรถยนต์เป็นไมโครพลาสติกที่แพร่กระจายมากที่สุดในอากาศและน้ำ คิดเป็น 90% ของฝุ่นละอองทั้งหมดจากยานพาหนะ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเพิ่มปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่อันตรายต่อสุขภาพมนุษย์

ซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อ EV จีนก็เป็นได้ เพราะหากมีเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยวข้อง สหรัฐอเมริกาอาจใช้เรื่องนี้เป็นการกดดันจีนไปในตัว รวมถึงทำให้นักลงทุนทยอยถอยห่างจากจีน ซึ่งระยะยาวย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจของจีนแน่นอน

ข้อสังเกตที่ส่งผลกระทบกับไทย

หากปัจจัยทั้งหมดส่งผลกระทบกับจีนย่อมมีผลกระทบต่อประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่จีนต้องเร่งระบายสินค้า อย่าง ลด EV ที่ไม่สามารถระบายไปในประเทศตะวันตกได้ ย่อมต้องระบายไปในตลาดอื่น ๆ เช่น ตลาดภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศไทย

และหากงานวิจัยเรื่องการผลิต EV ส่งผลต่อการเกิด PM 2.5 มลพิษทางอากาศและทางน้ำจริง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนคนไทย ที่สำคัญในประเทศไทยได้มีการตั้งโรงงานผลิตวัสดุประกอบ EV ตลอดจนแผนตั้งโรงงานผลิต EV ในอนาคตมากขึ้น หากรัฐบาลไม่เข้มงวดอย่างเพียงพอ สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งเลวร้ายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

ทางออกของปัญหาและโอกาสของไทย

ในวิกฤตย่อมมีโอกาส ทุกปัญหาล้วนมีทางออก หากเราปรับตัวได้ทันท่วงที โดย ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ ชวนมองว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตยางและเบรกรถยนต์รายใหญ่ ควรคิดค้นวัสดุใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันชิ้นส่วนยางมักทำจากยางสังเคราะห์ซึ่งมีสารเคมีอันตรายบางชนิด เช่น สารก่อมะเร็ง หากรัฐบาลขอความร่วมมือจากผู้ผลิตยางให้หันมาใช้ยางจากธรรมชาติมากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มความต้องการยางพาราและดันราคายางในประเทศให้สูงขึ้นได้ นอกจากนี้ การพัฒนายางและเบรกรถยนต์ที่มีคุณภาพสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยังช่วยเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนและปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้น การผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานสากลไม่เพียงแค่สร้างผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในประเทศเท่านั้น แต่ยังสามารถเสริมสร้างบทบาทของไทยในตลาดโลกได้อีกด้วย ถือเป็นการแก้ปัญหาที่สร้างผลประโยชน์สองต่อ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ ยังเสนอว่า หากรัฐบาลขอความร่วมมือจากผู้ผลิตยางให้เพิ่มการใช้ยางพาราธรรมชาติมากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มความต้องการยางและดันราคายางในประเทศ ถือเป็นการแก้ปัญหาที่สร้างผลประโยชน์สองต่อ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ

ข้อเสนอดังกล่าวไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อประเทศจีนเท่านั้น เกษตรกรไทยเองยังได้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตจากการเป็นฐานผลิตวัตถุดิบป้อนตลาดจีน เรียกได้ว่าสมประโยชน์ทั้งสองฝ่ายอย่างไม่ต้องสงสัยเลยก็ว่าได้

อ้างอิง

AUTHOR

ชอบเล่าเรื่องการเมือง ชอบพบเจอผู้คน สนุกกับการพูดคุย ชอบดูการ์ตูน อ่านหนังสือ ที่สำคัญติดบ้าน ติดดิน แต่ไม่ติดลม