เมื่อเอ่ยถึงวลี “ขอมือขวาหน่อย” ยากที่จะไม่คิดถึง ‘อำพล ลำพูน’ และ ‘วงไมโคร’ ต้นเรื่องที่ริเริ่มวลีนี้ มีส่วนผลักดันแนวเพลงร็อกแบบไทย ๆ ให้ก้าวไกล สร้างมาตรฐานใหม่ให้วงการเพลงในยุค 80s-90s มาจนถึงปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านไปนานเพียงใด เสียงร้องและท่อนฮุคในเพลงของพวกเขาก็ยังถูกร้องตาม และถูกเปิดฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตัวอย่างเช่น “เอาไปเลย เอาไป ใจเราเอาไปได้เลย” ท่อนฮุคจากเพลง “เอาไปเลย” ที่ยังถูกมาผลิตซ้ำ Cover โดยศิลปินรุ่นใหม่ ๆ รวมถึงถูกหยิบยกดัดแปลงมาใช้เป็นเพลงประกอบโฆษณา
ไมโคร เป็นวงดนตรีแนวร็อกสัญชาติไทย ที่ยืนหยัดอยู่บนถนนสายดนตรีมาเป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปีแล้ว โดยเริ่มต้นจากกลุ่มเพื่อน ๆ จากจังหวัดระยอง รวมตัวกันตั้งวงดนตรีเล็ก ๆ ขึ้นมาเล่นตามสถานที่ต่าง ๆ จนวันหนึ่งได้มีโอกาสแสดงภาพยนตร์ของผู้กำกับชื่อดัง เปี๊ยก โปสเตอร์ เรื่องวัยระเริง จนโด่งดังไปทั่วประเทศ จากนั้นจึงได้เปลี่ยนชื่อวงเป็น “ไมโคร” โดยมี สุนทร สุจริตฉันท์ อดีตนักร้องนำวงรอยัลสไปรท์เป็นผู้ตั้งชื่อวงให้ ภายในวงมีสมาชิกฝีมือฉกาจทางด้านดนตรี
ที่ในปัจจุบันยังเป็นที่รู้จัก หนึ่งในนั้นคือ อำพล ลำพูน หรือ “หนุ่ย” ผู้มีน้ำเสียงและบุคลิกโดดเด่นบนเวที
ร็อกมือขวา กับ วลีในตำนาน
บนเวทีคอนเสิร์ตร็อกไทย มีวลีหนึ่งที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น วลีที่ไม่ใช่แค่คำพูด แต่เป็นการเชื้อเชิญพลังจากผู้ชมให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโชว์อย่างแท้จริง นั่นคือคำว่า “ขอมือขวาหน่อย!” และอย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่บรรทัดแรก วลีนี้เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายจากการใช้โดย อำพล ลำพูน หรือ “หนุ่ย ไมโคร” นักร้องนำของวงไมโคร ทุกครั้งที่อำพลขึ้นเวที โดยเฉพาะในช่วงเพลงที่ต้องการปลุกเร้าอารมณ์คนดู เขาจะตะโกนว่า “ขอมือขวาหน่อย!” แล้วผู้ชมก็จะยกมือขึ้นฟ้า โบก โยก และตะโกนตอบรับอย่างพร้อมเพรียง กลายเป็นภาพจำของที่คนรักดนตรีร็อก
“ขอมือขวาหน่อย!” ไม่ใช่แค่วลีลอย ๆ ไม่ใช่แค่การสื่อสารกับคนดู แต่มันคือการขอ “พลังร่วมจากคนดู” เมื่อคนดูยกมือขวาขึ้นพร้อมกันมันคือภาพของการรวมพลังระหว่างเวทีกับคนดู เป็นอารมณ์ที่ไม่มีสคริปต์แต่เต็มไปด้วยความรู้สึกจริง มือขวา แม้จะเป็นคำสั้น ๆ แต่ก็เป็นคำที่เชื่อมโยงอารมณ์ระหว่างศิลปินกับผู้ชมได้
วลีที่ถูกส่งต่อ จากรุ่นสู่รุ่น
แม้ต้นตำรับการใช้วลีนี้ จะเป็น อำพล ลำพูน แต่หลังจากนั้นมีศิลปินและวงร็อคอีกหลายรายที่รับช่วงต่อใช้วลีนี้เวลาเล่นคอนเสิร์ต อาทิ
- “เสก โลโซ” นำวลีนี้ไปใช้เชิงสนุกและเชิงหยอกคนดู สร้างบรรยากาศระหว่างโชว์
- “บอดี้สแลม” ก็เคยมีการใช้วลีนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปลุกอารมณ์คนดูในคอนเ
- สิร์ต
- วงร็อกรุ่นใหม่ อย่าง The Yers, Lomosonic, TaitosmitH เป็นต้น ก็มีการใช้คล้ายกัน เช่น “มือขวาอยู่ไหน!” หรือ “ชูมือขวาโยกไปพร้อมกัน”
“ขอมือขวาหน่อย!” กลายเป็นวลีเชิงวัฒนธรรมของผู้ที่ชื่นชอบดนตรีแนวร็อก รวมถึงเป็นเครื่องมือสื่อสารแบบไม่ต้องแปลระหว่างศิลปินกับคนดู